SHARE

คัดลอกแล้ว

โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลมีมติเห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โดยอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายโครงการด้วยกัน และปัจจุบันได้ทยอยเปิดให้บริการไปแล้วบางเส้นทาง

อย่างช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เส้นทางที่เปิดให้บริการล่าสุดคือรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โดย รฟท. ให้ประชาชนได้ทดลองใช้งานอย่างเป็นทางการ หลังจากรอมานานหลายปี

นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าอีก 3 สาย ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง ภายใต้การรับผิดชอบของ รฟม. ได้แก่ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี), สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งบางเส้นทางนั้น เดิมคาดการณ์ว่าจะสร้างแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565

คำถามที่ตามมาก็คือ รถไฟ 3 สายดังกล่าวจะเสร็จตามกำหนดการหรือไม่ และความหวังของคนเมืองที่จะได้ใช้งานรถไฟฟ้าอย่างทั่วถึงนั้นจะเป็นจริงเมื่อไหร่

ยิ่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา พบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างหลายแห่ง ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผ่านการออกประกาศให้หยุดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ และสั่งปิดแคมป์คนงาน ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นระยะเวลา 30 วัน

มาตรการนี้กระทบต่อโครงการรถไฟฟ้าโดยตรง ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไปพอสมควร เพราะขาดแคลนแรงงาน แม้จะมีการผ่อนผันมาตรการแล้วก็ตาม ก่อนหน้านี้ทาง รฟม. ได้แจ้งว่าต้องมีการปรับแผนการก่อสร้างของทั้ง 3 สัญญาและเลื่อนเปิดให้บริการ โดยอาจช้ากว่าแผนเดิมไป 2-3%

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ รัฐบาลได้เริ่มคลาย Lockdown โครงการก่อสร้างต่างๆ ดำเนินการได้ตามปกติ แต่ก็ยังต้องคุมเข้มมาตรการป้องกัน Covid-19 อย่างเคร่งครัด TODAY Bizview จึงอยากชวนมาอัปเดตรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายว่าความคืบหน้าถึงไหนแล้วบ้าง

[สายสีเหลืองคืบหน้ามากที่สุด 84.9% คาดพร้อมใช้งานปีหน้า 2565]

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่มีการร่วมทุนกับเอกชนในรูปแบบPublic Private Partnership (PPP Net Cost) ซึ่ง ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้วงเงินโครงการรวม 51,810 ล้านบาท

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นโครงสร้างยกระดับ ระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี เส้นทางนี้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโครงการอื่นๆ ได้ถึง 4 สาย มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าวที่สถานีรัชดา ซึ่งตรงกับสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล วิ่งไปตามถนนลาดพร้าว

จากนั้นเข้าไปยังโซนศรีนครินทร์ ตัดกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่แยกลำสาลี พร้อมเชื่อมรถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และไปสิ้นสุดที่สถานีสำโรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

ปัจจุบันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองคืบหน้าไปค่อนข้างมาก อัปเดตปลายเดือน ก.ย. 2564 งานโยธาก่อสร้างอยู่ที่ 87.07% งานระบบไฟฟ้า 82.06% ความคืบหน้าโดยรวมอยู่ที่ 84.90% การก่อสร้างสถานีต่างๆ เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ยกตัวอย่างสถานีที่น่าสนใจอย่างศรีกรีฑา ซึ่งเป็นสถานที่มีความสูงมากที่สุดถึง 17.87 เมตร ตอนนี้ได้มีการติดตั้งคานทางวิ่งบริเวณข้ามทางต่างระดับกรุงเทพ-กรีฑา และลงเสาเข็มสถานีทางขึ้นลงเป็นที่เรียบร้อย

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2565 ราคาค่าโดยสารจะอยู่ในช่วงราว 14-42 บาท และสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

[สายสีชมพูไม่น้อยหน้า คืบแล้วกว่า 81% จ่อคิวต่อเปิดใช้งาน ปี 2565-2566]

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โครงการนี้อยู่ในแผนลงทุน PPP Fast Track ของรัฐบาลร่วมกับบริษัทเอกชนเช่นเดียวกัน มีวงเงินลงทุนอยู่ที่ 53,490 ล้านบาท สำหรับลักษณะแนวเส้นทางเป็นทางยกระดับ โดยจะเชื่อมการเดินทางจากโซนนนทบุรีไปยังฝั่งมีนบุรี และมีสถานีเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นได้ 4 สาย

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีบนถนนรัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นสถานี Interchange กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวเข้าถนนติวานนท์และแจ้งวัฒนะ ก่อนจะไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีหลักสี่

จากนั้นวิ่งเข้าถนนรามอินทรา โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จากนั้นวิ่งยาวไปจนถึงแยกมีนบุรีและเข้าสู่ถนนรามคำแหง และไปสิ้นสุดที่แยกร่มเกล้าที่สถานีมีนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทางทั้งหมด 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี

งานก่อสร้างในเดือน ก.ย. 2564 ความก้าวหน้าโดยรวมอยู่ที่ 81.16% เฉพาะส่วนงานโยธา 82.58% ส่วนงานระบบไฟฟ้า 78.89%

ยกตัวอย่างความคืบหน้าสถานีรามอินทรา กม.4 ปัจจุบันได้มีการติดตั้งหลังคาใกล้เสร็จสมบูรณ์ งานก่อสร้างภายในสถานีเริ่มมีการปูพื้น ทำห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารและห้องควบคุม เช่นเดียวกับสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ก็ได้ติดตั้งหลังคาและก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมภายในเช่นกัน

หากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดให้บริการ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คน/ทิศทาง ซึ่งตามแผนจะทยอยเปิดให้บริการในระยะที่ 1-2 ภายในปี 2565 และระยะที่ 3 ในปี 2566 ด้านค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 14-42 บาทเช่นเดียวกับสายสีเหลือง

[รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) งานโยธาคืบ 86% เปิดใช้ปี 2568]

ปิดท้ายกันที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Transit System) สำหรับเส้นทางช่วงตะวันออก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือน เม.ย. 2559 ภายใต้วงเงิน 79,221.24 ล้านบาท

ปัจจุบันความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 86.26% โดยได้ดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินเสร็จแล้ว พร้อมติดตั้งระบบรางรถไฟฟ้าและก่อสร้างสถานี

เส้นทางช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าที่มีทั้งแบบใต้ดินและทางยกระดับ เริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน วิ่งยาวไปทางทิศตะวันออกผ่านแนวถนนพระราม 9 ไปถึงถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี

แล้วเปลี่ยนขึ้นมาเป็นทางยกระดับข้ามถนนกาญจนาภิเษก จนกระทั่งมาสิ้นสุดที่บริเวณแยกถนนรามคำแหงตัดกับถนนสุวินทวงศ์ ระยะทางทั้งหมด 22.57 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 17 สถานี

แม้ก่อนหน้านี้ทาง รฟม. จะติดปัญหาเรื่องหาเอกชนมาร่วมลงทุน PPP รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาไปและจัดประมูลใหม่ แต่สำหรับงานโครงสร้างสถานีช่วงตะวันออกยังสามารถดำเนินการได้ โดยมีความคืบหน้าว่า 98% ในหลายสถานี

ยกตัวอย่างเช่น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, สถานีวัดพระราม 9, สถานี รฟม. ส่วนสถานีอื่นๆ ได้ก่อสร้างเกินกว่า 50% แล้วทั้งหมด

คาดว่าเส้นทางช่วงตะวันออกจะเปิดใช้ได้ในปี 2568 และโดยรวมตลอดเส้นทางสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) น่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ในปี 2570

ด้านราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท เมื่อเปิดให้บริการน่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 เที่ยว-คน /วัน เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่ารถไฟฟ้าแต่ละสาย อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย ที่อาจเข้ามาแทรกในขั้นตอนต่างๆ ส่งผลต่อระยะเวลาการก่อสร้าง กำหนดการการส่งมอบ และการทดสอบระบบในอนาคตให้เกิดความล่าช้าได้

ดังนั้นช่วงเวลาการเปิดให้บริการก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อย่างรถไฟฟ้าบางสายก่อนหน้านี้ กว่าจะเปิดใช้งานได้ก็โดนเลื่อนไปหลายรอบเช่นกัน

 

ที่มา :

https://www.facebook.com/CRSTECONPINKLINE  

https://www.facebook.com/CRSTECONYL

https://www.facebook.com/MRTOrangeLineEast

https://www.mrta-pinkline.com

https://mrta-yellowline.com/

https://www.mrta-orangelineeast.com

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=OGRiUmlGS0hqVTQ9

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า