SHARE

คัดลอกแล้ว

หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว ฉบับภาษาสเปน โดย Penguin Random House (Spain)

ในเเวดวงวรรณกรรมนานาชาติ งานเขียนของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว” หรือ “One  Hundred  Years  of  Solitude” ผลงานของ “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ” (Gabriel Gacia Marquez) นักเขียนชาวโคลัมเบียนั้น ได้รับการกล่าวขานว่ามีกลวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง เเละสามารถเเสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของความเป็น “ลาตินอเมริกา” ได้อย่างน่าสนใจ

“หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว” เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากความป่วยไข้ทางความรู้สึก ที่กัดกร่อนหัวใจคนในตระกูล “บูเอนดิยา” มาตลอดหกชั่วอายุคน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ “โฆเซ อาร์คาดิโอ บูเอนดิยา” กับ “อูร์ซูลา” ที่เป็นญาติได้เเต่งงานกัน ท่ามกลางความกังวลว่า ลูกที่กำเนิดมานั้นจะมีหางหมู เเล้วบาดเเผลในหัวใจก็ได้ก่อตัวขึ้น ก่อนที่จะขยายเป็นเนื้อร้ายในเวลาต่อมา

มาร์เกซได้นำเสนองานเขียนในรูปเเบบ “เมจิกคอล เรียลลิสม์” (Magical Realism) ซึ่งกลวิธีของการประพันธ์ลักษณะนี้คือการผสมผสานระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริงเข้าไว้ด้วยกัน เหมือนกับว่าชีวิตที่เป็นไป กับความมหัศจรรย์พันลึกต่างๆ หลอมรวมจนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

พฤติกรรมของตัวละครเเต่ละคนก็มีความเเปลกประหลาด ในบางการเเสดงออกก็สะท้อนให้เห็นถึงบาดเเผลในหัวใจที่ซึมลึกลงไปถึงวิญญาณ จนไม่สามารถอธิบายหรือหาเหตุผลของการกระทำนั้นๆ ได้ เช่น พฤติกรรมของ “รีเบ็กก้า” ผู้ชื่นชอบการกินปูนขาวที่กระเทาะจากผนัง กับดินชื้นๆ

โดยการดำเนินเรื่องของมาร์เกซนั้น ไม่ได้เป็นไปในลักษณะชี้นำความรู้สึก หรือพิพากษาการกระทำของตัวละคร ในทางตรงข้ามเขากลับเล่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เหนือจริง หรือพฤติกรรมเเปลกๆ ด้วยท่วงทำนองเหมือนกับว่ามันเป็นสิ่งปกติ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ประหนึ่งว่าความป่วยไข้ของมนุษย์ได้ซุกอยู่ในทุกอณูรูขุมขน เพียงเเต่ว่าเราจะมีเวลาคุ้ยเเคะเเกะเกามันมากน้อยเเค่ไหน

ซึ่งบาดเเผลในหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ไม่เคยตกสะเก็ด เเต่รอเวลาที่จะเป็นบาดทะยัก หรือไม่ก็ลุกลามเป็นมะเร็งเนื้อร้าย ที่กัดกินอยู่ชั่วนิจนิรันดร์

ภาพจาก elpais.com

เกี่ยวกับผู้เขียน

“กาเบรียล การ์เซีย  มาร์เกซ” เกิดเมื่อปี ค.ศ.1928 (พ.ศ.2471) ที่ประเทศโคลัมเบีย บริเวณชายฝั่งเเคริบเบียน ที่มาร์เกซบอกว่า มันได้สร้างบรรยากาศในการเป็นนักเขียนให้เขาตั้งแต่วัยเยาว์

หลังจากตัดสินใจลาออกจากคณะกฎหมาย มหาวิทยาลัยโบโกตา เขาก็เข้าสู่อาชีพผู้สื่อข่าว อันเป็นบันไดก้าวเเรกสู่การเป็นนักเขียนในเวลาต่อมา ซึ่งในการเล่าเรื่องต่างๆ ในงานของเขา เเม้จะมีลักษณะเหนือจริง เเต่เขากลับใช้วิธีบรรยายเหมือนการรายงานข่าว เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่จริงจัง สร้างความขัดเเย้งกับเหตุการณ์ที่พิลึกพิลั่น ทำให้เกิดรสชาติเฉพาะ อันเป็นเสน่ห์เเบบเเปลกประหลาดที่เราจะพบเห็นได้ในงานของเขาเท่านั้น

เเรงบันดาลใจ

“กาเบรียล การ์เซีย  มาร์เกซ” เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่งว่า สิ่งที่หลอมรวมให้เขาสร้างงานในรูปเเบบ “เมจิกคอล เรียลลิสม์” อันเป็นลักษณะที่โดดเด่นของ “หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว” ได้อย่างมีชั้นเชิง ก็เนื่องมาจากบรรยากาศของท้องถิ่นที่พักอาศัย เเละการได้รับฟังเรื่องเล่าเหลือเชื่อจากคุณยายมาตั้งเเต่วัยเด็ก

“มันเป็นพรสวรรค์ที่ผมได้รับมาจากคุณยาย ท่านเป็นนักเล่านิทานที่สามารถเล่าเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ต่างๆ ได้ด้วยหน้าตาเเละท่าทางที่ดูเป็นจริงเป็นจังมาก

“ในขณะที่ผมเป็นนักเขียน ผมก็อาศัยวิธีการเดียวกัน เล่าถึงสิ่งที่ไม่ธรรมดาด้วยน้ำหนักที่จริงจัง เราสามารถที่จะเสนอเรื่องอะไรก็ได้ให้คนยอมรับ ถ้าทำให้มันน่าเชื่อถือ เเละนี่คือบางสิ่งที่คุณยายสอนผม”

“การเมือง” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผสมปนเปอยู่ในวรรณกรรมชิ้นนี้ด้วย ซึ่งอาจเนื่องมาจากการเมืองในประเทศเเถบนี้มีความผันผวน ตลอดจนลาตินอเมริกา รวมทั้งโคลัมเบีย บ้านเกิดเมืองนอนของเขา ต้องตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิตะวันตกมาหลายศตวรรษ วรรณกรรมลาตินอเมริกา จึงมักมีเรื่องราวทางการเมืองเเทรกอยู่ เรียกว่าเป็นอารมณ์ร่วมของภูมิภาคนี้เลยก็ว่าได้

โดย “มาริโอ บาร์กัส โยซา” นักเขียนชาวเปรู ได้ให้ความเห็นถึงกรณีข้างต้นไว้ว่า “มันคงเป็นเพราะสังคมที่ผุกร่อน จึงทำให้เกิดงานเขียนเเบบนี้ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่นักเขียนลาตินอเมริกา สามารถผลิตงานอันเต็มไปด้วยความเร่าร้อน มีความคิดสร้างสรรค์ เเละเป็นตัวของตัวเองออกมาได้ เพราะประวัติศาสตร์ทั้งหมดของพวกเขาล้วนเป็นเรื่องของการเข่นฆ่า เเละการเปลี่ยนเปลงที่โหดร้ายรุนเเรง

“เเละนอกจากปัญหาบีบคั้นทางการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันเเล้ว ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา ยังมีลักษณะเฉพาะตัว ที่ก่อรูปมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเเตกต่างทางเผ่าพันธ์ุ ตลอดจนตำนานเก่าเเก่ที่สืบทอดกันมา ก็มีส่วนสร้างเเรงบันดาลใจให้กับกวี เเละนักเขียนเป็นอย่างมาก”

ภาพประกอบ “หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับภาษาสเปน โดย Penguin Random House (Spain)

ก่อนจะเป็น “หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว”

ก่อนที่ “หนึ่งร้อยปีเห่งความโดดเดียว” จะได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก ก็มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนี้

1. มาร์เกซใช้เวลาถึง 18 เดือน สำหรับผลงานชิ้นนี้ (ฉบับที่เเปลเป็นภาษาไทยมีหนาเกือบ 700 หน้า)

2. ช่วงนั้นเขาได้ปฏิเสธงานเขียนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทวิทยุ บทภาพยนตร์ อันเป็นรายได้หลักที่จุนเจือครอบครัว เพื่อจะได้มีเวลาทุ่มเทให้ผลงานชิ้นนี้อย่างเต็มที่

3. ระหว่างนั้นเขาเเละภรรยา ต้องดำรงชีวิตด้วยการกู้เงินเป็นหลัก

4. เกือบไปเเล้วที่เราจะไม่ได้อ่านวรรณกรรมชิ้นนี้ เพราะในขณะที่ต้นฉบับเขียนเสร็จไปเเล้วครึ่งหนึ่ง เเละมีอยู่เพียงสำเนาเดียว ก็มีอันต้องปลิวว่อนกระจัดกระจายไปทั่วท้องถนน ด้วยพนักงานพิมพ์ดีดที่ดูเเลต้นฉบับถูกรถชน เเต่เธอก็เเข็งใจลุกขึ้นตามเก็บรวบรวมแผ่นกระดาษเหล่านั้นอย่างทุลักทุเล จนครบถ้วนได้ในที่สุด

5. เมื่อมาร์เกซจะส่งผลงานไปตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ในบัวโนสไอเรส ประเทศอาเจนติน่า ซึ่งต้องใช้เงินค่าจัดส่งถึง 160 เปโซ เเต่ในเวลานั้นทั้งเขาเละภรรยามีเงินอยู่เพียง 80 เปโซ มาร์เกซจึงได้ทยอยส่งต้นฉบับไปครึ่งหนึ่งก่อน

6. ส่วนเงินค่าจัดส่งอีกครึ่งหนึ่งได้มาจากการนำเครื่องเป่าผม เเละเครื่องบดอาหารของภรรยาไปจำนำ

7. “สิ่งที่เราได้จากนิยายเล่มนี้ ก็คือต้องตกอยู่ในความขัดสน” ภรรยาของเขากล่าวขึ้น หลังจากสูญเสียเครื่องเป่าผมเเละเครื่องบดอาหารไป

ภาพประกอบ “หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว” ฉบับภาษาสเปน โดย Penguin Random House (Spain)

หลังจากนั้น

“หนึ่งร้อยปีเเห่งความโดดเดี่ยว” พิมพ์ครั้งเเรกเมื่อปี ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) เเปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1970 (2513) เเละได้รับเเปลมากกว่า 30 ภาษา มียอดจำหน่ายทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 6,000,000 เล่ม

ส่วน “กาเบรียล การ์เซีย  มาร์เกซ” ก็กลายเป็นตัวเก็งรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม นับจากนั้นมา จนกระทั่งได้รับรางวัลในปี พ.ศ. 2525 โดยราชบัณฑิตยสภาสวีเดน (คณะกรรมการตัดสิน) ได้กล่าวสดุดีเขาว่า “มาร์เกซมีความสามารถอย่างล้นเหลือในการเปิดเผยชีวิตของชาวลาตินอเมริกาได้อย่างดีเลิศ นวนิยายเเละเรื่องสั้นของเขาได้ผสมผสานจินตนาการในเชิงฝัน เข้ากับความเป็นจริงได้อย่างงดงาม สะท้อนให้เห็นถึงความขัดเเย้งเเละวิถีชีวิตของคนลาตินอเมริกาได้อย่างเเจ่มชัด”

มาร์เกซ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) โดยได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในนักเขียน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า