Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สงครามในประเทศซีเรีย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2011 เมื่อรัฐบาลของ บาชาร์ อัล อัสซาด ใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล การประท้วงโดยสงบจึงแปรเปลี่ยนเป็นการต่อสู้กันด้วยกำลัง จนในที่สุดกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army หรือ FSA) ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีผู้นำกองทัพและทหารบางส่วนจากกองทัพซีเรียประกาศตัวแปรพักตร์ และรวมตัวกับกลุ่มประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาลอัสซาด

หลังจากนั้นเป็นต้นมา มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงหลายประเทศในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี อิสราเอล รวมถึงกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ได้เข้ามาสัมพันธ์ ขัดแย้ง และเป็นส่วนหนึ่งในสงครามกลางเมืองซีเรีย ที่มีทีท่าว่าอาจจจะขยายวงกลายเป็นสงครามที่ไม่จำกัดอยู่แค่ภายในเขตแดนของซีเรียเท่านั้น

โดยหากแบ่งคร่าวๆ โดยมีรัฐบาลของ บาชาร์ อัล อัสซาด เป็นศูนย์กลาง กลุ่มผู้ที่สนับสนุนประธานาธิบดีมือเปื้อนเลือดผู้นี้ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนกองทัพปลดปล่อยซีเรีย หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือร่วมต่อต้านรัฐบาลของนายอัสซาดกลายๆ ด้วย ได้แก่ สหรัฐฯ และพันธมิตร (ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร) ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี อิสราเอล และชาวเคิร์ด

อย่างไรก็ดี ต้องกล่าวไว้ในที่นี่ด้วยว่า แม้จะมีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลของนายอัสซาดเหมือนกัน แต่บางกลุ่มก็อาจขัดแย้งกันเอง เช่นตุรกีและชาวเคิร์ด ซึ่งมีความขัดแย้งกันเองโดยตรงอยู่ด้วย เนื่องจากชาวเคิร์ดในซีเรียต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ในขณะที่ตุรกีกลัวว่าหากชาวเคิร์ดในซีเรียเป็นอิสระ ชาวเคิร์ดในตุรกีอาจก่อความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันและสร้างความวุ่นวายในตุรกี 

และในท่ามกลางความวุ่นวายของไฟสงคราม แต่ละฝ่ายก็มีจุดประสงค์และความต้องการของตัวเอง ที่ยิ่งทำให้ความขัดแย้งในครั้งนี้อาจยุ่งเหยิงจนสางไม่ออก

 

กองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army หรือ FSA)

กองทัพปลดปล่อยซีเรีย หรือ FSA ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2011 หลังจากที่กองกำลังส่วนหนึ่งจากกองทัพซีเรียแปรพักตร์ และได้รวมตัวกับกลุ่มประชาชนที่จ้องจะโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาด จุดมุ่งหมายหลักของ FSA คือการโค่นล้มระบอบเผด็จการโดยบาชาร์ อัล-อัสซาด ลง

ทั้งนี้กองกำลังปลดปล่อยซีเรียถือเป็นกองกำลังหลักที่ปะทะกับกองทัพของรัฐบาลซีเรีย โดยได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธ การฝึกฝน และฐานที่มั่นจากทั้ง ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐฯ

 

รัสเซีย

รัสเซียเป็นพันธมิตรกับซีเรียมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารในซีเรียในปี 1970 ซึ่งส่งผลให้ อาเฟซ อัล-อัสซาด บิดาของ บาชาร์ อัล-อัสซาด ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี โดยหลังขากที่อาเฟซได้เป็นประธานาธิบดี ได้มีการตกลงกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ให้มาเปิดฐานทัพเรือที่ท่าทาร์ทัส (Tartus) ในประเทศซีเรีย

ในปัจจุบัน ฐานทัพเรือที่ท่าทาร์ทัสถือเป็นฐานทัพเรือแห่งเดียวของรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนั้นแล้ว ซีเรียยังเป็นที่ตั้งฐานทัพของรัสเซียแห่งเดียวในตะวันออกกลาง ดังนั้นซีเรียจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารที่สำคัญยิ่งของรัสเซีย

การที่รัสเซียพยายามปกป้องรัฐบาลอัสซาดสุดความสามารถ จึงไม่ใช่แค่เพราะความสัมพันธ์ในอดีตที่มีมา แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของรัสเซีย ที่ยังคงต้องการมีฐานที่มั่นทางารทหารไว้ในตะวันออกกลางด้วย

 

สหรัฐฯ และพันธมิตร

สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army หรือ FSA) ในการสู้รบกับรัฐบาลอัสซาด โดยที่ผ่านมา การสนับสนุนที่สหรัฐฯ ให้นั้น เน้นไปที่การช่วยฝึกกองกำลังของ FSA โดยไม่ได้ส่งกองกำลังของสหรัฐฯ เข้าไปช่วยรบ

ปฏิบัติการทางทหารโดยตรงเพียงอย่างเดียวของสหรัฐ ในซีเรีย คือการใช้ขีปนาวุธ โดยนับแต่ความขัดแย้งในซีเรียปะทุขึ้น สหรัฐฯ ได้ยิงขีปนาวุธเข้าไปในซีเรียแล้ว 3 ระลอก ได้แก่ หนึ่ง การโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) ในซีเรีย สอง การใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศของซีเรียที่เชื่อว่าถูกใช้ในปฏิบัติการยิงอาวุธเคมีของซีเรียในปี 2016 และสาม การร่วมกับฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรใช้ขีปนาวุธสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ผลิต เก็บ และวิจัยอาวุธเคมีของซีเรีย

อย่างไรก็ดี เป็นที่เชื่อกันว่าลึกๆ แล้ว สหรัฐฯ หวังจะให้ฝ่ายต่อต้านสามารถโค่นประธานาธิบดีอัสซาดลงให้ได้ เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองของซีเรียไปสู่ประชาธิปไตย และในขณะเดียวกันยังถือเป็นการกำจัดอัสซาด พันธมิตรสำคัญของรัสเซียไปในเวลาเดียวกันด้วย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีจุดประสงค์สำคัญอีกอันหนึ่ง ที่ทำให้ต้องเข้าร่วมในสงครามในซีเรีย นั่นคือการกำจัดกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS)

 

อิหร่าน

อิหร่านเป็นอีกหนึ่งชาติพันธมิตรของรัฐบาลซีเรีย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่อิหร่านสนับสนุนรัฐบาลของนายอัสซาด ส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่าเกิดจากปัจจัยด้านศาสนา ที่ทั้งคู่นับถือมุสลิม นิกายชีอะห์เหมือนกัน แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือ ซีเรียถือเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่านในโลกอาหรับ โดยซีเรียถือเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่านในสงครามอิรัก-อิหร่าน ในทศวรรษ 1980

นอกจากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีมาแต่เดิม อิหร่านยังต้องสนับสนุนซีเรียเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับมหาอำนาจในตะวันออกกลางอีกชาติหนึ่ง นั่นคือซาอุดิอาระเบียด้วย เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของกองทัพปลดปล่อยซีเรีย

 

ซาอุดิอาระเบีย

ซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านมีความขัดแย้งกันมายาวนาน มิหนำซ้ำพรมแดนของซีเรียก็ติดกับซาอุฯ ดังนั้นแล้วหากอิหร่านมีอิทธิพลเหนือซีเรียมากเกินไป ก็อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านและซาอุฯ ได้ ดังนั้นเพื่อลดอิทธิพลของอิหร่านในซีเรียและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอิหร่าน ซาอุดิอาระเบียภายใต้การนำของกษัตริย์ซัลมานจึงต้องสนับสนุนกองทัพปลดปล่อยซีเรีย โดยหลายครั้งให้การช่วยเหลือผ่านประเทศอื่นๆ อีกที เช่น ตุรกีและเยเมน เป็นต้น

 

ตุรกี

ตุรกีถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญของกองทัพปลดปล่อยซีเรีย โดยให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียตั้งแต่ช่วงต้นของความขัดแย้งในปี 2011 โดยตุรกีโทษรัฐบาลซีเรียว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งในซีเรียบานปลาย ตุรกีให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านหลายอย่าง ทั้งจัดหาอาวุธให้ ฝึกฝนกองกำลังของฝ่ายต่อต้าน รวมถึงให้ที่หลบภัยและฐานที่มั่นในการปฏิบัติการแก่กลุ่มต่อต้านตั้งแต่ยังไม่ได้ประกาศตัวเป็นกองทัพปลดปล่อยซีเรีย 

ด้วยจุดยืนเช่นนี้ ตุรกีจึงเป็นพันธมิตรร่วมกับสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียในภารกิจโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาด
.
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตุรกีจะเห็นด้วยกับสหรัฐฯ ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของขาวเคิร์ด ซึ่งตุรกีปฏิเสธจะให้การช่วยเหลือชาวเคิร์ดในซีเรียทุกรูปแบบ แม้ว่าชาวเคิร์ดจะเป็นพันธมิตรกันสหรัฐฯ เนื่องจากตุรกีเกรงว่าหากชาวเคิร์ดประสบความสำเร็จในการแยกตัวเป็นอิสระจากซีเรีย กลุ่มชาวเคิร์ดในตุรกีอาจจะคิดแยกตัวจากตุรกีเช่นเดียวกัน และทำให้เกิดความวุ่นวายในตุรกีตามมา

 

ชาวเคิร์ดในซีเรีย

กลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียรวมตัวกันตั้งกลุ่ม YPG ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากซีเรียและปกครองตนเอง ในขณะเดียวกัน กลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียก็เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยถือเป็นกองกำลังติดอาวุธสำคัญในปฏิบัติการกำจัดกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ISIS ในซีเรีย

และแม้จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ แต่กลุ่ม YPG ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี เนื่องจากตุรกีเกรงว่าหากชาวเคิร์ดในซีเรียแยกตัวออกมาได้สำเร็จ กลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียจะเกิดการเคลื่อนไหวและคิดแยกตัวออกมาปกครองตนเอง

 

ฮิซบอลเลาะห์

ฮิซบอลเลาะห์คือกองกำลังติดอาวุธจากเลบานอน ที่นับถือมุสลิมนิยายชีอะห์ อิหร่านสนับสนุนกองกำลังกลุ่มนี้ให้เข้าไปช่วยรบและช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียของนายอัสซาด

 

อิสราเอล

อิสราเอลอยู่ติดชายแดนทางด้านใต้ของประเทศซีเรีย ความกลัวหนึ่งของอิสราเอลคือการกลัวว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านจะเข้ามาสร้างความวุ่นวายในอิสราเอล มีกระแสข่าวออกมาว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้โจมตีฐานที่มั่นของอิสราเอลบริเวณชายแดนซีเรียและเลบานอนอยู่หลายครั้ง ส่วนอิสราเอลเองก็ตอบโต้โดยการส่งเครื่องบินรบไปโจมตีรถที่ขนอาวุธไปให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ การเข้ามายุ่งเกี่ยวในสงครามซีเรียในครั้งนี้ของอิสราเอล ส่วนหนึ่งจึงเพื่อกดปราบกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก่อนที่จะเข้ามาสร้างความวุ่นวายให้อิสราเอลมากกว่านี้

ในอีกแง่หนึ่ง อิสราเอลเกรงว่าอิหร่านจะมีอิทธิพลเหนือดินแดนตะวันออกกลางมากเกินไป และเพื่อกำจัดกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และอิหร่านออกจากซีเรียอิสราเอลจึงต้องเลือกกำจัดประธานาธิบดีอัสซาดไปด้วยอย่างเสียไม่ได้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า