ประเด็นคือ – เสียงจากผู้ทดลองใช้บริการ รถโดยสารมาตรฐานใหม่ ชอบรถแล่นนิ่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หวังใช้ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ – บัตรแมงมุม” ได้
หลังเปิดให้ทดลองนั่งรถโดยสารประจำทาง มาตรฐานใหม่ ฟรี 5 วัน ตั้งแต่ 16 – 20 ม.ค. ได้เริ่มเข้ามาวิ่ง ในเส้นทางย่านบางพลี จ.สมุทรปราการแล้ว “รถเมล์ใหม่” มีจุดเด่นที่มีทางขึ้น – ลง สำหรับรถเข็นของผู้พิการ, สัญญาณเตือนประตูเปิด – ปิด เพื่อบอกผู้พิการทางสายตา ครบครันด้วยระบบเทคโนโลยีใหม่ ทั้งจีพีเอส และระบบบัตรอี -ทิกเก๊ต (eTicket)

ทางขึ้นลงสำหรับผู้พิการ
โดยเส้นทาง สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี มีบริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง รวมระยะทาง 61 กิโลเมตร เป็นรถโดยสารปรับอากาศขนาด 31 ที่นั่ง และมีที่ยืนสำหรับผู้โดยสาร ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 13-25 บาท
ส่วนอีกเส้นทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต มีบริษัท ชัยวิเศษ แทร์นสปอท จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง ใช้รถโดยสารปรับอากาศ มีที่นั่งผู้โดยสาร 21-30 ที่นั่ง ไม่มีที่ยืน อัตราค่าโดยสาร 40 บาทตลอดสาย คาดว่า รถเมล์ใหม่ทั้งสองเส้นทาง จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้
เสียงสะท้อนจากประชาชนที่ได้ทดลองนั่งรถโดยสารแบบใหม่ ส่วนใหญ่พึงพอใจ และยังคาดหวังให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือมีบัตรแมงมุม เพื่อช่วยลดค่าโดยสาร แต่ในภาพรวม พึงพอใจกับระบบที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ซึ่งผู้โดยสารปกติ จะต้องเอื้อเฟื้อ และใจเย็นสำหรับการใช้รถเมล์ใหม่นี้ด้วย
“มันจูงใจมากเลยค่ะ มันดีกว่ารถเมล์ที่วิ่งกระตุกๆ ดีกว่ามาก เปลี่ยนได้หมดก็ดี”
“มันก็โดนใจนะครับ โดนใจอย่างแรก คือมีเสียงปี๊บๆ ไว้ เพื่อคนพิการทางสายตา จะได้รู้เมื่อได้ยินเสียงปี๊บๆ แสดงว่าประตูเปิดอยู่ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไป ถนนศรีนครินทร์ อยากทดลองว่า รถเมล์จะวิ่งดีอย่างไร”
“ถ้ามีบัตรสวัสดิการ หรือ บัตรแมงมุม ใช้ได้ก็ยิ่งดี ที่นั่งมาสภาพโดยรวมก็สะอาดสะอ้านดีครับ”
ด้านพนักงานขสมก ไม่กังวลเรื่องการแข่งขัน เชื่อว่า พนักงานทุกคนพร้อมให้บริการประชาชน แต่เพราะรถเก่า ทำให้ภาพลักษณ์ของการบริการไม่ดี
“เรามีรถใหม่ การซ่อมบำรุงก็น้อยลงไป เรามีหนี้อยู่เป็นแสนล้าน หนี้ค่าน้ำมัน ค่าเหมาซ่อมทุกอย่างก็เกี่ยวกับรถเราเก่า ถ้ามีรถใหม่ เรื่องซ่อมบำรุงก็ตัดปัญหาไป 5 หรือ10ปี ”
การให้ใบอนุญาตใหม่กับผู้ประกอบการเอกชน เป็นแผนปฏิรูประบบขนส่ง หลังมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อ 17 ก.ย.2559 ยกเลิกการให้ ขสมก.เดินรถรายเดียว ขสมก. จึงมีสถาะเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้เกิดการแข่งขัน และการพัฒนาเชิงคุณภาพเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก จะเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการรถโดยสารประจำทางใน 2 เส้นทางใหม่ ทางแฟนเพจ เฟซบุ๊ก “การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม.” เพื่อนำข้อเสนอแนะมาประเมินและปรับปรุงการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดตัวรถเมล์มาตรฐานใหม่ นำร่อง 2 เส้นทาง พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย