กลัวส่งผลกระทบมากกว่าผลดี กทม.ยกเลิกใช้โมลาสผสมน้ำแก้ปัญหาฝุ่น พร้อมเริ่มปฏิบัติภารกิจนำโดรนเพื่อการเกษตรขึ้นบินพ่นละอองน้ำ 6 จุด พื้นที่ฝุ่นหนาแน่น
วันที่ 31 ม.ค. 2562 จากกรณีที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร แถลงถึงมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบประชาชนนานต่อเนื่องเกือบ 1 เดือน โดยระบุว่า ทาง กทม.ได้มีการประสานงานร่วมกับชมรมโดรนนครราชสีมา เตรียมนำโดรนขนาดเล็กจำนวน 50 ตัว ที่บรรทุกน้ำได้ ตัวละ 10 ลิตร พร้อมคนบังคับมาพ่นน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งน้ำที่ใช้จะผสมโมลาส หรือกากน้ำตาล ลงไปด้วย เพราะโมลาสสามารถช่วยจับฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งจะตกลงมาบนพื้นเปลี่ยนเป็นหยดน้ำสีดำได้
ล่าสุดนายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงความเห็นกันว่าจะยกเลิกการพ่นของเหลวจากโมลาส โดยจะใช้น้ำเปล่าแทน ด้วยสภาพอากาศฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างสูง จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง รวมถึงขณะนี้ยังไม่มีผลงานวิจัยจากหน่วยงานใดว่าโมลาสสามารถจับฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ จึงสรุปยกเลิกการใช้โมลาสโดยจะใช้น้ำเปล่าแทน
สำหรับภารกิจบินโดรนพ่นละอองน้ำจะเริ่มภารกิจ 2 วัน คือวันนี้และ 1ก.พ.62 เบื้องต้นแจ้งฐานการบินโดรนไว้ 6 จุด ประกอบด้วย
จุด 1 ลานคนเมือง
จุด 2 วัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน)
จุด 3 ฐานบิน ม.เกษตรฯ
จุด 4 ฐานบินสวนจตุจักร (บินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว)
จุด 5 ฐานบินสวนลุมพินี (บินบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6 และถนนพระราม 4)
จุด 6 ฐานบินสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร เขตบางคอแหลม
ทั้งนี้ เป็นการน้ำโดรนเพื่อการเกษตรขึ้นบินครั้งแรกในเขตกรุงเทพฯ จะมีการทดลองบินที่ลานคนเมืองเป็นจุดแรก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.เผชิญปัญหาฝุ่นขั้นวิกฤต ประกาศ 50 เขตคุมมลพิษทางอากาศ ปิด 437 โรงเรียน
สทป. ทดลองบินโดรนพ่นละอองน้ำ ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ 19.23 %