Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สภาผู้แทนราษฎร เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ขณะที่วานนี้ปิดการประชุมไปเมื่อเวลา 00.12 น.

วันที่ 1 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันที่สอง เพื่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565  วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท วาระแรก หลังวานนี้ (31 พ.ค.64) ประธานสั่งพักการประชุมเมื่อเวลา 00.12 น. โดยวันแรกของการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งฝ่ายค้านมุ่งเน้นอภิปรายภาพรวมการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมท่ามกลางสถานการณ์โควิด -19

ขณะที่รัฐบาล ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญในการดูแลประชาชนโดยใช้ศักยภาพของกำลังพล  ยุทโธปกรณ์และเครื่องมือช่วยสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 แม้ว่างบประมาณจะถูกปรับลดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563-2565 พร้อมยืนยันจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงรายละเอียดการใช้เวลาในการอภิปรายว่า กำหนดเวลาในการอภิปรายจำนวน 3 วัน คือ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 ใช้เวลาในการอภิปรายจำนวนทั้งสิ้น 47 ชั่วชั่วโมง 30 นาที เวลาของรัฐบาล 22 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมงประธาน 3.30 ชั่วโมง ฝ่ายใดประท้วงหักเวลาของฝ่ายนั้น พิจารณาจนถึงเวลา 01.00 นาฬิกา ของทุกวันและหากผู้ใดประสงค์จะถอดหน้ากากอภิปราย ต้องมาอภิปราย ณ แท่นอภิปรายที่กำหนดให้

นายสุทิน คลังแสง ประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ชี้แจงว่า เวลาในการอภิปราย เป็นไปตามข้อตกลง และเป็นไปตามที่ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจง 

เรื่องด่วนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ)

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลักการและเหตุผลร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ด้วยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมเอกสารประกอบงบประมาณ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องด่วนจึงขอเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมด้วยเอกสารประกอบงบประมาณ บันทึกหลักการและเหตุผล บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ และเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หลักการ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,100,000 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,074,424,773,300 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 596,666,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย เป็นจำนวน 24,978,560,000 บาท

เหตุผลเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณพ.ศ. 2565

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565

  1. เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลกตามความคืบหน้าของการรอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการ
    ผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่องประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและกิจการลงทุนร่วม รวมทั้ง
    การปรับตัวตามฐานการขยายตัวต่ำผิดปกติในปี 2563

อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจมีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มมีความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงาน และกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นมีการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยว นับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7

  1. นโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565 แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายสำคัญของรัฐบาล ให้ประสบผลสำเร็จและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้

1) ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและความจำเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

2) ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการในทุกมิติ ทั้งมิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่ให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้อง สนับสนุน ซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาล เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้

3) ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นแก่ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ที่จะต้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น

4) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ได้แก่ เงินงบประมาณ ของภาครัฐ เงินกู้ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน และการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ หรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงาน เป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็นเพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายสำคัญ หรือโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนมีความพร้อมในการดำเนินการสูง เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ 2564 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า
ในการใช้จ่ายงบประมาณ

5) ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและความต้องการของประชาชน ทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ ภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ให้มีการกระจายอย่างเป็นธรรม มีความคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน โดยยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดผลสัมฤทธิ์ของประเทศ

6) ให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.87 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันโดยมีประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.84 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.04 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาวโดยได้กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้

(1) นำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565 แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายสำคัญของรัฐบาลยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมทั้งการบูรณาการในทุกมิติ (มิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่) เป็นกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนงาน/โครงการ ให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

(2) พิจารณาทบทวนและปรับปรุงเป้าหมาย กลยุทธ์ ผลผลิต/โครงการ กิจกรรม ตัวชี้วัด ผลสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

(3) ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและความต้องการของประชาชน ทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ ภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการ

ในพื้นที่ให้มีการกระจายอย่างเป็นธรรม โดยยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีรายละเอียด ค่าใช้จ่ายที่มีความชัดเจน และสมเหตุสมผล

(4) ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นแก่ประชาชนให้มี คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่จะต้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(5) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ได้แก่ เงินกู้การลงทุนจากเงินงบประมาณของภาครัฐ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) และการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็นเพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุน นโยบายสำคัญ หรือโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมในการดำเนินการสูง เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และพ.ศ. 2564 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด

(6) ให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงของการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19)

(7) ดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ รวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ใน กรอบสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด โดยมีโครงสร้างงบประมาณ สรุปได้ดังนี้

  1. รายจ่ายประจำ รายจ่ายประจำกำหนดไว้เป็นจำนวน 2,360,543.0 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 177,109.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.98 และคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 77.23 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
  1. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง กำหนดไว้เป็นจำนวน 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 596.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณ
  1. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย กำหนดไว้เป็นจำนวน 24,978.6 ล้านบาท เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่ได้นำไปใช้จ่ายตามนัยมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 24,978.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.81 ของวงเงินงบประมาณ
  1. รายจ่ายลงทุน รายจ่ายลงทุน กำหนดไว้เป็นจำนวน 624,399.9 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 24,910.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.84 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 19.76 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
  1. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.01 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.22 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 3.01 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,518.2 ล้านบาท) รายจ่ายประจำกำหนดไว้เป็นจำนวน 2,360,543.0 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 177,109.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.98 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 77.23 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท จำแนกเป็น 8 กลุ่มงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย

1) งบประมาณรายจ่ายงบกลาง กำหนดไว้เป็นจำนวน 571,047.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 18.4 ของวงเงินงบประมาณ

2) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ กำหนดไว้เป็นจำนวน 1,032,010.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.3 ของวงเงินงบประมาณ

3) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กำหนดไว้เป็นจำนวน 208,177.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของวงเงินงบประมาณ

4) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร กำหนดไว้เป็นจำนวน 770,160.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.8 ของวงเงินงบประมาณ

5) งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน กำหนดไว้เป็นจำนวน 195,397.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.3 ของวงเงินงบประมาณ

6) งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กำหนดไว้เป็นจำนวน 297,631.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 ของวงเงินงบประมาณ

7) งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง กำหนดไว้เป็นจำนวน 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณ

8) งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย กำหนดไว้เป็นจำนวน 24,978.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.8 ของวงเงินงบประมาณ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกตามตามกระทรวง การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกตามกระทรวง ดังนี้

1) งบกลาง 571,047.3 ล้านบาท

2) สำนักนายกรัฐมนตรี 34,017.3 ล้านบาท

3) กระทรวงกลาโหม วงเงิน 203,282 ล้านบาท

4) กระทรวงการคลัง 273,941.3 ล้านบาท

5) กระทรวงการต่างประเทศ 7,618.7 ล้านบาท

6) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,161.6 ล้านบาท

7) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,664.8 ล้านบาท

8) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 124,182.8 ล้านบาท

9) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 110,126.5 ล้านบาท

10) กระทรวงคมนาคม 175,858.7 ล้านบาท

11) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,979.1 ล้านบาท

12) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 28,325.5 ล้านบาท

13) กระทรวงพลังงาน 2,717.5 ล้านบาท

14) กระทรวงพาณิชย์ 6,523.3 ล้านบาท

15) กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท

16) กระทรวงยุติธรรม 24,321.1 ล้านบาท

17) กระทรวงแรงงาน 49,742.8 ล้านบาท

18) กระทรวงวัฒนธรรม 7,104.4 ล้านบาท

19) กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท

20) กระทรวงสาธารณสุข 153,940.5 ล้านบาท

21) กระทรวงอุตสาหกรรม 4,380.1 ล้านบาท

22) ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้ การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 112,729.9 ล้านบาท

23) จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 17,411 ล้านบาท

24) รัฐวิสาหกิจ 130,586.4 ล้านบาท

25) หน่วยงานของรัฐสภา 8,208.1 ล้านบาท

26) หน่วยงานของศาล 22,947.8 ล้านบาท

27) หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 18,468.6 ล้านบาท

28) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 78,305.1 ล้านบาท

19) หน่วยงานอื่นของรัฐ 479 ล้านบาท

30) สภากาชาดไทย 8,265.4 ล้านบาท

31) ส่วนราชการในพระองค์ 8,761.4 ล้านบาท

32) ทุนหมุนเวียน 195,397.9 ล้านบาท

33) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท

34) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดทำขึ้น ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด–19 พ.ศ. 2564 – 2565 แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปดังนี้

1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 387,909.6 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคงในทุกมิติ ทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง การบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพโดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางสถาบันหลักของชาติ สนับสนุนการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศการรักษาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน พัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ เสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดหลักนิติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรมและบริการประชาชน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติ และความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย ป้องกันบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ พัฒนาระบบและมาตรการด้านการฟื้นฟูและความปลอดภัย พัฒนาศักยภาพการรักษาความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์ พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวมพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก

2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 338,547.6 ล้านบาท เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าด้านการเกษตร เช่น เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรชีวภาพ และเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล วางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยว พัฒนาระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ส่งเสริมเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของพลังงาน รองรับสังคมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทาง เศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ

3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 548,185.7 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างให้คนไทยมีความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดี ส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ปฐมวัย วัยเรียน/วัยรุ่น การส่งเสริมทักษะวัยทำงานให้มีคุณภาพสอดคล้องกับตลาดแรงงานและเทคโนโลยี สมัยใหม่ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะให้ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีการส่งเสริมความสามารถของพหุปัญญา รวมทั้งการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน พร้อมรองรับต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติช้า ตลอดจนพัฒนาศักยภาพทางการกีฬา

4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 733,749.6 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดความพออยู่ พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้และส่งเสริมการยกระดับศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ สร้างหลักประกันทางสังคมให้กับคนไทยทุกคน สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา เตรียมความพร้อมที่จะรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ สนับสนุนความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และส่งเสริมมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมการออมและบริหารจัดการหนี้ภาคครัวเรือนให้เป็นระบบ

5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 119,600.3 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ โดยใช้ประโยชน์และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล สังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เพื่อลดผลกระทบจากการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นฐานในการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 559,300.5 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถตอบสนอง ความต้องการของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบและการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

7) รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 412,706.7 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การชำระหนี้ภาครัฐ การชดใช้เงินคงคลังและการชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายบูรณาการ รวม 11 แผนงาน จำนวน 208,177.3 ล้านบาท

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เพื่อให้การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องการให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ หรือเงินสะสมมาใช้สมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการลงทุน
ในท้องถิ่นมากขึ้น จึงเห็นสมควรจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสัดส่วนร้อยละ 29.58 ของ

รายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) เป็นจำนวน 709,866.98 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 73,261.08 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.35 โดยจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 299,586.98 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 15,988.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.07

ทั้งนี้ รัฐบาลจะบริหารจัดการงบประมาณโดยคำนึงถึงความจำเป็น และอยู่บนพื้นฐาน ความต้องการของประชาชน ภายใต้การกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม คุ้มค่า รวมถึงให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และจะให้เป็นไปตามแผนงบประมาณ ด้านการคลัง โดยให้มีการตรวจสอบคัดกรองจัดทำแผนงานงบประมาณให้เป็นไปด้วยความสุจริตโปร่งใส

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในประเด็นดังต่อไปนี้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การตั้งงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณต้องครอบคลุมการแก้ไขปัญหาวิกฤต มีการบริหารจัดการ และกระจายทรัพยากรที่มีให้ทั่วถึง เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ไม่เป็นไปตามที่ตนคาดหวังไว้ ขณะนี้ประชาชนมีความลำบากจากวิกฤตโควิด-19 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ไม่เห็นมีแนวทางหรือกำหนดยุทธศาสตร์การดูแลสถานการณ์โควิด–19 แต่อย่างใด มีการเขียนแผนงานที่ขาดเอกภาพและความถูกต้อง ประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับจัดสรรงบประมาณเหมือนภาวะปกติ อาทิ งบประมาณของกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงสาธาณสุข ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกับการบริหารจัดการภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่นายกรัฐมนตรีกลับไม่ฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชน ไม่จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ มีการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาวิกฤตของประเทศ ไม่มีการประเมินสถานการณ์ แบบองค์รวม ทำให้ประชาชนและธุรกิจ SMEs เดือดร้อน

ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเชื่องช้า จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายระลอก รัฐบาลไม่มีความพร้อมทั้งการจัดสรรวัคซีน และการบริหารจัดการสถานการณ์ ไม่มีการวางแผน ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ประชาชนไม่ได้รับวัคซีนทันเวลา มีปัญหาเรื่องขาดแคลนวัคซีน และประชาชนไม่สามารถเลือกวัคซีนได้ตามความต้องการ ความผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์วัคซีนทำให้ประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนวัคซีน อีกทั้งยังมีการกระจายวัคซีนอย่างไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีวัคซีนจำนวนจำกัด และไม่มีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีศักยภาพในการบริหารงาน และไม่มีการวางแผนการบริหาร ที่ชัดเจน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลบริหารจัดการภาวะวิกฤตวัคซีนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ มีการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนตกงาน ธุรกิจต้องปิดตัวหลายธุรกิจ มีการกู้เงินมาเยียวยา แต่กลับไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย SMEs ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ กลุ่มแรงงานไม่ได้รับเงินเยียวยา แต่กลับเอาเงินไปเยียวยากลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลบริหารจัดการล้มเหลวจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย มีภาวการณ์ตกงานและว่างงานเพิ่มขึ้นการจัดสรรงบประมาณโดยไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่ตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีการกู้เงินบ่อยจนเกิดกับดักทางเศรษฐกิจ และจากการบริหารจัดการของรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่ไม่มีแนวทางและแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จึงไม่สามารถเห็นชอบงบประมาณฉบับนี้ได้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบชี้แจงว่า ได้มีการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการโควิด–19 ไว้แล้ว ในกลุ่มงบประมาณรายกระทรวงต่าง ๆ การบริหารจัดการวัคซีนมีการเตรียมการ แผนหลัก แผนรอง และแผนฉุกเฉิน เป็นไปตามที่กำหนด ทั้งการจัดหาวัคซีนโดยภาครัฐและวัคซีนทางเลือก อย่างไรก็ตามการนำเข้าวัคซีนจำเป็นต้องผ่านการดำเนินแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น โดยต้องผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยา และเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ในการนี้ขอยืนยันว่าในเดือนมิถุนายนจะมีวัคซีนอย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สำหรับงบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้นเป็นการดำเนินการงบประมาณเกี่ยวกับบุคลากร การปฏิบัติภารกิจประจำ และงบพัฒนากองทัพ อีกทั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีการปรับลดงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีงบประมาณของหน่วยงานแล้ว ยังมีงบประมาณของกองทุนภายใต้สังกัดกระทรวงอีก 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จำนวน 141,741 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณของกระทรวง 153,940.47 ล้านบาท รวมเป็นจำนวน 295,681 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพียงแค่ 5,930 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.7 เท่านั้น ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการจัดสรรงบประมาณมีความโปร่งใส ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยผ่านการศึกษากลั่นกรองมาแล้วอย่างรอบคอบ และฟังเสียงประชาชน อีกทั้งขอย้ำว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน

สมาชิกฯ อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2565 ในประเด็นอาทิ การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์โควิด–19 จึงจำเป็นต้องจัดงบประมาณแบบขาดดุล มีการปรับลดงบประมาณลงตามความเหมาะสมและความจำเป็น เป็นงบประมาณที่สอดคล้องกับสภาวะและสถานการณ์โควิด-19การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ จึงเป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว อีกทั้งรัฐบาลยังให้ความสำคัญในการดำเนินภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ประสบความสำเร็จและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยการกำหนดนโยบายไว้ในหลายแนวทาง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเกี่ยวกับสวัสดิการที่จำเป็นต่อกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อให้กลุ่มเปราะบางมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบายการให้ความสำคัญศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังของท้องถิ่นและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการของพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการต่อเนื่องในการพัฒนาระบบขนส่งอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการความต้องการของประชาชนทั้งปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ สมาชิกฯ อภิปรายให้ข้อสังเกต ในประเด็นว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวง หรือหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความพร้อมของประเทศในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความเท่าเทียมทางเพศ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และร่วมมือร่วมใจกันเพื่อฝ่าฝันวิกฤตประเทศ โดยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ถือเป็นความหวังของประชาชนในการแก้ปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ แม้ทั้งสองปัญหานี้ จะมิใช่ความผิดของรัฐบาลโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในวันที่ภาคเศรษฐกิจกำลังประสบภาวะวิกฤต สิ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการได้เร็วที่สุด คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในภาคเศรษฐกิจทั้งสองส่วน ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจจริง ในภาคการผลิตและการบริการ 2. เศรษฐกิจฐานราก

อย่างไรก็ตามนโยบายในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ทั้งสองส่วน อีกทั้งในเชิงปริมาณ การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ทั้ง 15 แผน มีเพียง 3 แผน ที่มีการอัดเงินลงไปในเศรษฐกิจจริง คือ 1. เกษตรสร้างมูลค่า, 2. เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และ 3. พัฒนา SMEs คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 53,198 ล้านบาท คำนวณเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.72 ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่ในประเทศไทยมีจำนวน SMEs ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านกว่าราย มีอัตราการจ้างงานประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังบาดเจ็บสาหัส แต่แผนงานและงบประมาณนั้น เหมือนการเอายาแดงไปทาบนแผลเพื่อปฐมพยาบาล ทำให้มองไม่ออกว่าจะช่วยให้รอดชีวิตได้อย่างไร จึงขอให้มีการปรับงบประมาณส่วนดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าอัตรา GDP จะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2554 แต่ประชาชนกลับมีจำนวนเม็ดเงินในกระเป๋าลดลง และมีอัตราหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับมาจากสถาบันทางการเงินเท่านั้น และยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีกจำนวนมหาศาล ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลขับเคลื่อน GDP ผ่านการลงทุนของภาครัฐ สวนทางกลับอัตราการบริโภคของประชาชนที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาล ควรทบทวนมาตรการการใช้งบประมาณปกติให้ถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง

 สมาชิกฯ อภิปรายให้ข้อเสนอแนะในประเด็น อาทิ จัดสรรงบประมาณไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ ไม่ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมือง และไม่ตรงกับนโยบายหลักของประเทศ งบประมาณที่ควรปรับลดไม่ลด แต่งบประมาณที่ควรเพิ่มกลับไม่เพิ่ม ในขณะที่งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขควรได้รับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นหน่วยงานสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด–19 แต่กลับถูกปรับลดลงมากถึง 4,300 ล้านบาท ถือเป็นการลดงบประมาณครั้งแรกในรอบ 12 ปี ส่วนงบประมาณสำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 กลับไม่ได้ถูกจัดสรรในงบประมาณฯ ครั้งนี้ อีกทั้งรัฐบาลยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ การช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน และเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล ใช้งบประมาณจำนวนมากในการบริหารงาน แต่กลับไม่สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ลงลด สวนทางกับการใช้งบประมาณในภาครัฐและงบประมาณประจำ ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในภาวะที่ไม่มีศึกสงคราม
แต่อย่างใด การแต่งตั้งผู้บริหารในองค์กรรัฐวิสาหกิจ เป็นการตั้งผู้ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ จนทำให้รัฐวิสาหกิจขาดทุน อีกทั้งงบประมาณภาคประชาชนกลับไม่ได้รับจัดสรรให้เพียงพอ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณด้านยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 จัดสรรงบประมาณเหมือนว่าประเทศไม่อยู่ในภาวะวิกฤต ทำให้ไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและฟื้นตัวขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังประเมินสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ผิดพลาด รัฐขาดความรับผิดชอบ ไม่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดจนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาด ทำให้สถานการณ์รุนแรงบานปลาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน จึงควรมีการนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับไปแก้ไขใหม่ โดยการปรับโครงสร้างงบประมาณเพื่อให้เป็นงบประมาณสำหรับการป้องกัน รักษา เยียวยาฟื้นฟูประชาชนและประเทศชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 และไม่ควรให้บางหน่วยมีบัญชีเงินนอกงบประมาณ หากไม่ปรับปรุงประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ และจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนการนำเข้าวัคซีนล่าช้าทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด–19 จนทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากเป็นค่ารักษาพยาบาลประชาชนที่ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และไม่มีการจัดสรรงบประมาณเยียวยาชดเชยหากได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

อีกทั้งยังมีการนำงบประมาณไปใช้ในมาตรการที่ไม่จำเป็น อาทิ โครงการเรารักกันเราชนะ เป็นการแก้ปัญหาอย่างไม่ตรงจุด ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประชาชนต้องตกงาน ต้องย้ายจากประกันสังคมมาใช้บัตรทอง แต่งบประมาณประมาณบัตรทองกลับลดลง นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังทำให้เด็กมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่งบประมาณอุดหนุนด้านการศึกษาและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากลับลดลง สะท้อนให้เห็นว่าสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนและประเทศ  สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ประเมินผลสำเร็จของการใช้งบประมาณ และกรมบัญชีกลางเบิกจ่ายเงินล่าช้า ยุ่งยาก การจัดซื้อจัดจ้างเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติราชการ งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะต้องสร้างนวัตกรรมให้ระบบราชการเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ได้ระบบการจัดทำงบประมาณต้องไม่รวมศูนย์ที่สำนักงบประมาณ แต่ควรกระจายให้ท้องถิ่นได้มีโอกาสจัดทำงบประมาณ และต้องจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับสถานการณ์

สำหรับการจัดสรรงบประมาณส่วนท้องถิ่น มีบางโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นความเดือดร้อนประชาชน กลับถูกตัดออกจากงบประมาณ โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการกระจายอำนาจ นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณประมาณในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ได้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในปี 2564 มีการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวน 4,800 ล้านบาท แต่ปี 2565 กลับถูกตัดเหลือเพียง 2,800 ล้านบาท เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีการตัดงบประมาณประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท อีกทั้งค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 6,000 ล้านบาท สำนักงบประมาณยังโอนมาให้ไม่ครบ อีกทั้งยังมีการตัดงบประมาณของกรมควบคุมโรค 500 ล้านบาท เช่นเดียวกับ งบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถือเป็นความเจ็บปวดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสวนทางกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ขณะที่การดูแลบุคลากรทางการแพทย์และอสม. โดยเฉพาะเบี้ยเสี่ยงภัยยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้วกว่าหนึ่งปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

นอกจากนี้การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น เกิดภาระผูกพันด้านหนี้สิน และภาระการเงินการคลังของประเทศ ทำลายวินัยทางการเงินการคลัง อีกทั้งที่ผ่านมามีการกู้เงินมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะใช้หนี้เหล่านี้ได้อย่างไร ดังนั้น จึงไม่อาจให้การสนับสนุนการบริหารงบประมาณของรัฐบาลได้ และไม่อาจจะลงคะแนนรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้

พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณกระทรวงกลาโหมว่า ทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมช่วยสนันสนุนภารกิจด้านสาธาณสุขในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวน 28 แห่ง ใน 21 จังหวัด จำนวน 4,154 เตียง การจัดตั้งสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) จัดยานพาหนะสนับสนุนการรับ-ส่งผู้ป่วย การดูแลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สนับสนุนเตียง ที่นอน และเครื่องนอนโรงพยาบาลสนาม และโครงการต่าง ๆ สำหรับช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด–19 กระทรวงได้ส่งคืนงบประมาณเพื่อนำไปช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาผลกระทบ ที่เกิดขึ้น สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 นั้น ได้รับการจัดสรรลดลงจำนวน 11,249 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรปฏิบัติภารกิจของหน่วย ร้อยละ 74 การพัฒนากองทัพ ร้อยละ 17 ด้านก่อสร้างปรับปรุงอาคารสถานที่ ร้อยละ 9 ภาพรวมของงบประมาณของทุกหน่วยงานลดลงทั้งหมด แต่ยังจำเป็นต้องมีการสำรองด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อรองรับสถานการณ์ด้านความมั่นคง และปกป้องผลประโยชน์ของชาติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งงบประมาณด้านการจัดหายุทโธปกรณ์นั้นกำหนดไว้ไม่เกิน 1 ใน 3 โดยจัดหาเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพให้มีความพร้อมมากที่สุดและมีความต่อเนื่อง หรือยุทโธปกรณ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่วนยุทธโธปกรณ์ที่มีอยู่แล้วจะใช้การซ่อมบำรุงปรับปรุงเพื่อยืดอายุการใช้งานและลดงบประมาณในการจัดหาใหม่ พร้อมทั้งพยายามผลิตยุทโธปกรณ์ใช้เอง เพื่อลดการจัดซื้อจากภายนอก ทั้งนี้ขอยืนยันว่ากองทัพใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ตอบชี้แจง ประเด็นต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันว่า ต้นทุนของพลังงานหรือน้ำมัน มีส่วนของเนื้อน้ำมัน ภาษี  กองทุน และค่าการตลาด สำหรับต้นทุนเนื้อน้ำมัน และโรงกลั่นนั้น มีการดูเรื่องของต้นทุนที่แท้จริงและมีผู้ชำนาญการตรวจสอบราคาที่แท้จริงอยู่ตลอดเวลา ส่วนค่าการตลาดเป็นค่าที่ดูจากต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่ต้องอยู่ในราคาที่ผู้ประกอบการอยู่ได้ ค่าการตลาดที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร บวกลบประมาณ 40 สตางค์ มีกระบวนการดำเนินการควบคุมดูแลให้ได้ต้นทุนพลังงานที่มีคุณภาพด้านการให้บริการที่เป็นสากล และราคาเป็นธรรมต่อผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการที่มีกำไรจากผลประกอบการนั้น อาจมาจากส่วนของ non-oil และการค้าปลีกซึ่งเป็นการหารายได้เสริมของผู้ประกอบการ กำไรของผู้ประกอบการ รัฐบาลมีมาตรการขอให้รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนช่วงโควิด–19  ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ประเด็นอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการติดตามต้นทุนและความเสี่ยงในการตลาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด–19 ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ ในการเลื่อนดอกและต้นในการชำระหนี้ของลูกหนี้ กำหนดให้มีการรักษาเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ให้มั่นคงเพื่อเป็นความมั่นใจของเสถียรภาพของระบบการเงิน บังคับงดจ่ายและควบคุมการจ่ายหน่วยอนุพันธ์ เพื่อให้แต่ละธนาคารมีกองทุนที่สูงเพียงพอ คำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้สูงสุดร้อยละ 3 และคิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมให้กับลูกหนี้มากขึ้น นี้คือการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ช่วงวิกฤตโควิด – 19 ส่วนเรื่องของผู้ประกอบการ SMEs เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ Soft Loan มากขึ้น พยายามช่วยเหลือ SMEs ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น โดยความร่วมมือกับภาคเอกชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบชี้แจง ประเด็นการจัดทำงบประมาณ การประมาณการรายได้และการประมาณการเศรษฐกิจ สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก ทั้งในธุรกิจขนาดใหญ่ SMEs Micro SME และการจ้างงาน อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาเศรษฐกิจไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก องค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ให้แนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยการผ่อนคลายนโยบายทางด้านการคลัง และออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ย่อมส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้

ในขณะที่รายจ่ายมีจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะขาดดุลงบประมาณและมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี แม้ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระยะที่ 2 และ 3 ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าปี 2565 ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากในปี 2563 – 2564 แต่ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเปิด
การท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด สำหรับในช่วงปี 2563 – 2564 มีมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้กับประชาชนในระดับฐานราก โดยรัฐบาลมีแหล่งรายได้ 4 แหล่ง คือ 1. การจัดเก็บภาษี 2. รายได้นำส่งภาครัฐของรัฐวิสาหกิจ 3. รายได้จากส่วนราชการ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และ 4. เงินกู้ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะมาปิดช่องการทำงบประมาณที่ขาดดุล และสามารถสนองตอบความต้องการงบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ได้มีการปรับสัดส่วนทางนโยบายของการเงินการคลังเพื่อจัดสรรเงินจากงบประมาณแผ่นดินในการแก้ปัญหาฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการปรับกลับมาในรูปแบบเดิมเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น สำหรับประเด็นการคาดการณ์รายได้ของปี 2564 จำนวน 2,677,000 ล้านบาท ในรอบ 7 เดือน มีการจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการ 128,000 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 9.5 อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูผลการจัดเก็บในรอบ 5 เดือน ที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อีกครั้ง ซึ่งในมาตรการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ยังอยู่ในกรอบเวลาของเดือนกันยายน 2564 นอกจากนี้ จากการติดตามตัวเลขจัดเก็บภาษีมูลค่าเพื่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนเมษายน 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกเดือน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ไว้ว่า 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 การจัดเก็บรายได้จริงจะต่ำกว่าประมาณการไม่มากนัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขาดดุลงบประมาณ ปี 2564

ส่วนปี 2565 คาดการณ์ไว้ที่ 2,400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการทำธุรกิจในปี 2564 และสัญญาการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลดีในเรื่องการส่งออก โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐซึ่งมีการเพิ่มขึ้นในไตรมาศที่หนึ่งของปี 2564 สำหรับการกู้เงินภายใต้พระราชบัญญัติบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 สำหรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยังคงยึดหลักภายใต้ความพร้อมของโครงการ และมีการทบทวนแผนบริหารหนี้สาธารณะ โครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก็ต้องเร่งรัดส่วนโครงการที่จะยื่นเข้ามาใหม่นั้น ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาให้เรียบร้อยก่อนจะเข้ามาบรรจุในแผนโดยในปัจจุบันหนี้สาธารณะ ณ เดือนเมษายน คิดเป็นร้อยละ 54.91 คาดว่าในเดือนกันยายน ซึ่งมีการรวมพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท จะคิดเป็นร้อยละ 58 ซึ่งยังอยู่ในเพดานหนี้สาธารณะ ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ

 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอบชี้แจง ประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้รับจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอย่างสมดุลที่สุดในทุกมิติ แต่มีข้อจำกัดคือวิกฤตด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็จัดสรรตามความเป็นจริง และตั้งใจช่วยคนจน คนยากลำบาก คนด้อยโอกาส โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับวัคซีนนั้น พยายามให้ทุกคนได้รับโดยเร็วแต่การจัดหาวัคซีนนั้น เนื่องจากประเทศผู้ขายมีเพียง 6 ประเทศ และบางประเทศไม่ยอมจำหน่ายให้
ประเทศใดเลย อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประเทศพันธมิตร และใช้วัคซีนที่ได้รับให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และในปีนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนที่ผลิตได้เอง ด้านงบประมาณสำหรับเด็กแรกเกิดนั้น วันนี้งบประมาณสำหรับพัฒนาเด็กแรกเกิดที่รัฐบาลทำนั้นเป็นการพัฒนาทุกช่วงวัย ไม่ใช่ดูแลแค่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เท่านั้น แต่มีเงินสงเคราะห์ให้กับเด็กยากจน เงินสงเคราะห์ครอบครัวอุปถัมภ์ ตลอดจนเด็กอายุครบ 18 ปี นอกจากนี้ ยังมีกองทุนคุ้มครองเด็ก ให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี ส่วนในระดับอุดมศึกษารัฐสนับสนุนร้อยละ 65 เด็กจ่ายเองร้อยละ 35 เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศ รวมถึงการมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ากระทรวงดูแลและพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย เด็กด้อยโอกาส และพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสูงวัยอย่างครอบคลุมทุกมิติ นอกจากนี้ยังสร้างวินัยการออมให้กับผู้สูงวัย ทุกอย่างต้องมีความสมดุล มีความพอดีในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ รัฐบาลจะไม่ทิ้งคนจน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นอันขาด

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า