กระทรวงการคลัง ขยายเวลารับเรื่องร้องทุกข์เงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” โดยเปลี่ยนสถานที่เป็นธนาคารรัฐทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18-29 พ.ค.นี้ ย้ำผู้ได้รับ SMS แจ้งไม่ได้รับสิทธิเพราะมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลหัวหน้าครัวเรือนเกษตร ยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ
วันที่ 15 พ.ค.2563 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง สั่งการให้ขยายเวลารับเรื่องร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 18-29 พ.ค.นี้ เนื่องจากยังมีประชาชนที่ตกหล่นต้องการมาร้องทุกข์เงินเยียวยา 5,000 บาทในโครงการเราไม่ทิ้งกัน อีกเป็นจำนวนมาก โดยจะเปิดรับร้องทุกข์และสอบถามข้อมูลได้ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคาร ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาทมาร้องทุกข์ที่กรมประชาสัมพันธ์ ได้ถึงวันที่ 15 พ.ค.2563
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีการส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณายื่นขอทบทวนสิทธิภายใต้มาตรการเยียวยา 5,000 บาท โดยมีกลุ่มผู้ยื่นขอทบทวนสิทธิจำนวน 4.7 แสนรายได้รับแจ้งว่า ไม่ได้รับสิทธิเนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลหัวหน้าครัวเรือนเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรแล้ว
กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบพบว่า ฐานข้อมูลเกษตกรที่กระทรวงการคลังได้รับจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเดือนมีนาคม 2563 และใช้ในการพิจารณาตรวจสอบคัดกรองผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีผู้เป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรจำนวน 9 ล้านคน ต่อมาในเดือนเมษายน 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดให้เกษตรกรปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันเพื่อรับสิทธิมาตรการเยียวยาเกษตรกร ทำให้ฐานข้อมูลเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไป โดยมีผู้เป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรลดลงเหลือ 8.3 ล้านคน
กระทรวงการคลังขออภัยในความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าผู้ขอทบทวนสิทธิกลุ่มนี้ยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ กระทรวงการคลังจะตรวจสอบคัดกรองให้อีกครั้งกับฐานข้อมูลชุดล่าสุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร็วที่สุด หากผ่านเกณฑ์การคัดกรอง กระทรวงการคลังจะโอนเงินเยียวยาให้เรียบร้อยภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ได้มีการส่ง SMS แจ้งให้ผู้ขอทบทวนสิทธิทราบแล้ว นอกจากนี้ ผู้ขอทบทวนสิทธิสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ปุ่มสีเทา “ตรวจสอบสถานะ” อีกทางหนึ่งด้วย