SHARE

คัดลอกแล้ว

สรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตนักข่าวเบอร์ 1 ของประเทศไทย จะออกจากเรือนจำในวันที่ 14 มีนาคมที่จะถึงนี้ เราจะย้อนกลับไปดูอีกครั้งว่าเขาทำผิดอะไร ถึงกับต้องเข้าเรือนจำ และทำไมเขาถึงถูกปล่อยตัวอย่างรวดเร็วจากเรือนจำ ทั้งๆ ที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเขามากกว่า 6 ปี workpointTODAY จะสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้เข้าใจใน 19 ข้อ

1) สรยุทธ สุทัศนะจินดา เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 3.8 ในปี พ.ศ.2530 หลังเรียนจบเขาได้งานทันที เป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ในตำแหน่งนักข่าวสายรัฐสภา ก่อนที่จะสร้างชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ ก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้าข่าวการเมืองในปี พ.ศ.2537 จากนั้นในปี พ.ศ.2540 ได้เลื่อนเป็นบรรณาธิการข่าวพร้อมทั้งจัดรายการวิเคราะห์ข่าวให้กับเนชั่นหลายรายการ

2) นอกจากการวิเคราะห์แบบเดี่ยวๆแล้ว ในช่วงที่ทำงานกับเนชั่น สรยุทธร่วมจัดรายการกับ กนก รัตน์วงศ์สกุล ด้วยความที่สองคนนี้ อายุใกล้เคียงกัน (กนก อายุมากกว่า 2 ปี) และมีสไตล์การวิเคราะห์ข่าวที่แตกต่างกันชัดเจน ทำให้สองคนนี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีเคมีที่เข้ากัน

3) พ.ศ.2546 สรยุทธ ในวัย 37 ปี ได้รับการติดต่อจากบีอีซีให้ไปร่วมงานกันที่ช่อง 3 โดยต้องการให้สรยุทธ เป็นพิธีกรหลักในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ที่จะออนแอร์ทุกวันเวลา 6.00 น. สรยุทธตกลง และลาออกจากเนชั่นมาทำงานกับช่อง 3 เต็มตัว โดยในช่วงเช้า จันทร์ ถึง ศุกร์ สรยุทธจะจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 แต่ช่วงดึกจะจัดรายการชื่อ “ถึงลูกถึงคน” ทางช่อง 9 อสมท. โดยมีคอนเซ็ปต์คือ เอาคนสองฝั่งมานั่งคุยกัน แลกหมัดกันตรงๆไปเลยว่าใครคิดอย่างไร โดยสรยุทธจะเป็นคนกลาง คอยดึงจังหวะ เบรกจังหวะ และทำให้การสนทนา จบลงได้ตลอดรอดฝั่ง

ซึ่งทั้งเรื่องเล่าเช้านี้ และ ถึงลูกถึงคน ได้รับความนิยมสูงมากๆ เรตติ้งของรายการพุ่งกระฉูด ยอดโฆษณาเข้ามาสู่ช่อง 3 และ ช่อง 9 อย่างมหาศาล และชื่อเสียงของสรยุทธตอนนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงอันดับ 1 ของวงการ นั่นทำให้วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 สรยุทธตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทของตัวเอง ชื่อบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สรยุทธเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.99% โดยจะผลิตรายการเพิ่มอีก 2 รายการชื่อจับเข่าคุย ออนแอร์ช่อง 3 และ รายการ คุยคุ้ยข่าว ออนแอร์ทางช่อง 9

4) จุดเด่นของสรยุทธ ที่ไม่เหมือนใครเลย คือการ “เล่าข่าว” ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เขาจะหยิบจับข่าวที่เกิดขึ้น กลั่นกรองด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุด นำเรื่องยากๆ มาย่อยให้ประชาชนนึกภาพออก นั่นทำให้เรตติ้งของเรื่องเล่าเช้านี้ พุ่งขึ้นสูงที่สุดในช่วงเช้า

ไม่แปลกที่สรยุทธ กลายเป็นคนข่าวที่ประชาชนเห็นหน้าบ่อยที่สุด เพราะนอกจากเรื่องเล่าเช้านี้ตอนเช้าแล้ว ในช่อง 3 ยังมีรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” จับเอา 15 นาที มาคุยกันในประเด็นสำคัญที่สุดของวัน สอดแทรกในช่วงข่าวเย็น และ “เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์” ออนแอร์เวลา 11.00-12.15 น. คือเรียกได้ว่า จันทร์ ถึง อาทิตย์ 7 วัน คุณจะเห็นหน้าสรยุทธเสมอ

5) สมภพ รัตนวลี อดีตบรรณาธิการบริหารเนชั่นแชนแนล เคยเขียนทรรศนะเอาไว้ว่า สรยุทธได้สร้างนิยามใหม่ให้กับวงการข่าวมากมาย เช่น
– เปลี่ยนรูปแบบจากข่าวเคร่งขรึม มาเป็นข่าวที่จับต้องได้ ชาวบ้านเข้าถึง
– หยอกล้อกับคนดูได้ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพวกเดียวกัน
– ปฏิวัติราคาโฆษณาข่าวจากเดิมหลักหมื่น พอมีสรยุทธ วงการข่าวกล้าขายโฆษณาหลักแสน
– รายการฮาร์ดทอล์ก คุยประเด็นตึงเครียดไม่มีใครทาบสรยุทธได้ หลายเรื่องที่มาจากรายการของเขา ถูกภาครัฐนำไปแก้ไขอย่างจริงจัง
– สรยุทธไม่ใช่แค่นักข่าว แต่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ น้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยพิบัติ ผู้คนนึกถึงสรยุทธก่อนภาครัฐอีก

6) สำหรับรายได้ของสรยุทธนั้น เคยมีการประเมินว่า ช่วงปี 2552 เขาได้รับเงินขั้นต่ำปีละ 300 ล้านบาท และไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนสรยุทธได้รับฉายาในวงการว่า “กรรมกรข่าวพันล้าน” ซึ่งขณะที่ชีวิตของสรยุทธกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นที่สุด ก็มีดราม่าครั้งสำคัญใน วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2555 เมื่อสรยุทธในวัย 46 ปี ถูก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลว่า สรยุทธ ได้ร่วมมือกับ นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทุจริตกรณีเงินโฆษณาเกินเวลาเป็นจำนวน 138 ล้านบาท

7) รายละเอียดของ ป.ป.ช. มีใจความสำคัญคือ ในรายการคุยคุ้ยข่าว ถ้าหากบริษัท ไร่ส้ม ขายโฆษณาให้ลูกค้าเกินเวลาที่กำหนด ต้องจ่ายส่วนต่างให้อสมท. นาทีละ 240,000 บาท อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึง 30 มิถุนายน 2549 มีการโฆษณาเกินเวลาหลายครั้ง แต่นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด พนักงานอสมท ที่รับผิดชอบเรื่องการจัดคิวโฆษณา กลับไม่แจ้งเรื่องนี้ให้ผู้บริหารทราบแต่อย่างใด

นอกจากนั้น นางพิชชาภา ยังได้รับเช็คจำนวน 6 ใบ สั่งจ่ายด้วยลายมือของสรยุทธ์ เป็นจำนวนเงิน 7.3 แสนบาท ซึ่ง ป.ป.ช. เชื่อว่าเป็นการมอบสินบนให้นางพิชชาภา เพื่อจะได้ไม่ต้องรายงานเรื่องเวลาโฆษณาเกินให้เบื้องบนได้รับรู้ ซึ่งผู้บริหารอสมท ได้ตรวจสอบย้อนหลัง ปรากฎว่า รายการคุยคุ้ยข่าวโฆษณาเกินเวลาไป

8) กรกฎาคม 2549 ผู้บริหาร อสมท. ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัท ไร่ส้ม รับโฆษณาเกินเวลาไปถึง 578 นาที คิดเป็นเงิน 138.79 ล้านบาท ซึ่งพออสมท. ทวงถามเรื่องเงินมา บริษัท ไร่ส้ม ก็จ่ายคืนให้อสมท. พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมเป็นเงิน 152.9 ล้านบาท

9) อย่างไรก็ตาม แม้จะจ่ายเงินคืนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ทาง ป.ป.ช. ต้องการเอาผิด บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โทษฐานสนับสนุนพนักงานในหน่วยงานรัฐกระทำความผิด ซึ่งบริษัท ไร่ส้ม มีสรยุทธเป็นผู้ถือหุ้น 99.99% นั่นก็แปลว่า ป.ป.ช. ต้องการมีบทลงโทษสรยุทธ สุทัศนะจินดานั่นเอง โดยในคดีนี้นอกจากสรยุทธแล้ว อีกคนที่โดนรัฐเอาผิดด้วยเช่นกัน คือ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัทไร่ส้ม โดยในกรณีเรื่องเงินลักษณะนี้ ถ้าหากเป็นบริษัทเอกชน การจ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยอาจทำให้เรื่องยุติได้ แต่อสมท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทำให้ ทางกฎหมายกลายเป็นว่ามีความผิดอาญาด้วย ในข้อหา “สนับสนุนพนักงานรัฐกระทำความผิด”

10) วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีไร่ส้ม สั่งจำคุกนางพิชชาภา 20 ปี ส่วน สรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่ทั้งหมดขออุทธรณ์คดีต่อ โดยหลังจากมีคำตัดสินของศาลชั้นต้น สรยุทธประกาศยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 และหลังจากนั้น เรื่องเล่าเช้านี้ก็เปลี่ยนพิธีกรหลักเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี โดยนำพิภู พุ่มแก้ว มาเป็นพิธีกรหลักคู่กับ ไบรท์ พิชญทัฬห์ แต่อยู่ได้พักเดียวก็เปลี่ยนมาเป็นไก่ ภาษิต

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อไม่มีสรยุทธ์ ความนิยมของเรื่องเล่าเช้านี้ก็ดิ่งลงอย่างชัดเจน มีโฆษณาถอนตัวออกมากขึ้น เรตติ้งข่าวช่วงเช้ากลายเป็น เช้านี้ที่หมอชิต จากช่อง 7 แซงขึ้นเป็นอันดับ 1 แทนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

11) สรยุทธ์ยังคงคิดถึงการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนอยู่เสมอ วันที่ 29 ธันวาคม 2559 เขาตัดสินใจเปิดเพจของตัวเองชื่อ “สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ทำหน้าที่เล่าข่าวเป็นการส่วนตัว ไม่อิงกับรายการ หรือช่อง 3 ซึ่งเปิดเพจมาแค่ 1 เดือน มีคนแห่กดไลค์ 3 แสนคน คนดูคลิปมียอดวิวมากที่สุดในบรรดาเพจข่าวทั้งหมดในประเทศ

12) วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอุทธรณ์ประกาศยืนคำตัดสินของศาลชั้นต้น สั่งจำคุกนางพิชชาภา 20 ปี ส่วน สรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่สรยุทธขอสู้ต่อที่ศาลสุดท้ายคือศาลฎีกา

วันที่ 21 มกราคม 2563 ในที่สุด วันชี้ชะตาก็มาถึง ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษา และยังคงยืนยันว่า จำเลยทั้งหมดมีความผิดจริง โดยนางพิชชาภา ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ โดนจำคุก 12 ปี , บริษัท ไร่ส้ม โดนปรับเงิน 72,000 บาท ขณะที่ นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา รับโทษจำคุก 6 ปี 24 เดือน ศาลฎีกาอธิบายเหตุผลว่า นายสรยุทธ เป็นสื่อมวลชนอาวุโส แต่กลับกระทำผิดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทั้งๆที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับวงการสื่อมวลชน จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ และจำเลยทั้งหมดจะเข้าสู่เรือนจำทันทีหลังจากสิ้นสุดคำพิพากษา

13) ในมุมของสรยุทธ์ได้อธิบายว่า บริษัท ไร่ส้ม โฆษณาเกินจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาจะทุจริต ที่ผ่านมาไม่เคยมีการปกปิดใดๆ และเงินที่จ่ายให้นางพิชชาภา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการจ้างให้ช่วยโกงเงินรัฐแต่อย่างใด และพอเขาทราบว่าบริษัท ไร่ส้ม ติดหนี้อสมท.อยู่ 138 ล้านบาท ก็รีบชำระคืนทันทีตั้งแต่ยังไม่เป็นคดีด้วยซ้ำ

“แต่เมื่อมันชดใช้สิ่งที่เห็นว่าผิดไปแล้วไม่ได้ ผมก็ยอมรับ วันนี้ผมคงติดคุกตามคำพิพากษาของศาลสูงสุด ความยากลำบากเดียวคือทำใจ ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าจะทำได้ขนาดไหน จะต้องใช้เวลาเท่าไรห่ ที่จะทำความคุ้นเคยกับมัน แต่ที่สุดผมก็ต้องยอมรับให้ได้”

” แม้จะต้องเริ่มต้นจากติดลบอยู่ในคุกตะราง จุดต่ำสุดของชีวิตแต่ก็ได้เริ่มต้น ซึ่งมันจะมีวันหนึ่งในที่สุด ที่จะได้นับหนึ่งใหม่ ขอบคุณทุกคนที่เจอกันก็เข้ามาจับมือให้กำลังใจ ไม่ได้เจอกันก็ส่งกำลังใจมาให้ จนกว่าจะมีโอกาสพบกันใหม่ครับ”

14) สรยุทธเข้าเรือนจำในวัย 54 ปี โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุว่า สรยุทธได้รับการปฏิบัติเหมือนนักโทษคนอื่นๆ อาหารมื้อแรกคือข้าวสวยกับแกงเผ็ดไก่ ไม่มีการดูแลอย่างพิเศษจากราชทัณฑ์แต่อย่างใด ขณะที่ชีวิตในช่วงแรก สรยุทธ พยายามจะเรียนรู้ทักษะอาชีพ เช่นไปเรียนการสอนทอดปาท่องโก๋ เป็นต้น

15) วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการล็อกดาวน์กันแล้ว จากภาวะโควิด-19 ทางกรมราชทัณฑ์จึงตัดสินใจใช้ความสามารถของสรยุทธให้เป็นประโยชน์ โดยนำมาจัดรายการพิเศษที่ชื่อ “เรื่องเล่าชาวเรือนจำ” เป็นการเล่าข่าวเกี่ยวกับโควิดทั้งหมดจากโลกภายนอก รวมถึงบอกเล่ามาตรการของรัฐ เพื่อส่งสารให้ผู้ต้องขังทั่วประเทศ เกิดความเข้าใจว่าโควิดไม่ใช่โรคระบาดรุนแรงที่ติดเชื้อแล้วต้องตายทันที และที่สำคัญสามารถป้องกันได้ ถ้ารักษาความสะอาดอย่างเพียงพอ ทางกรมราชทัณฑ์เผยแพร่เทปบางส่วนของ เรื่องเล่าชาวเรือนจำออกไป ปรากฎว่า บนโลกออนไลน์ แสดงความเห็นเป็นทางเดียวกันคือ คิดถึงลีลาการ “เล่าข่าว” ของสรยุทธ

16) เดือนสิงหาคม 2563 นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รายงานว่า สรยุทธ ได้รับการลดโทษตามสัดส่วน จากการพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง รัชกาลที่ 10 อย่างไรก็ตาม การลดโทษที่สรยุทธได้รับ ยังไม่มากพอที่จะปล่อยตัวเขาออกจากเรือนจำได้

อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่สรยุทธกล่าวว่า “ผมอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะกำลังใจจากแม่ที่มองผมจากบนฟ้า” เป็นการยืนยันว่าเขายังยืนหยัดอยู่ได้ไหว

17) วันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน ในประเทศมีนักโทษในเรือนจำมากกว่า 380,000 คน โดย 80% ของนักโทษติดด้วยคดียาเสพติด ซึ่งส่งผลให้เรือนจำทั่วประเทศ มีความแออัดเป็นอย่างมาก ดังนั้นกระทรวงยุติธรรม จึงนำ “กำไลอีเอ็ม” หรือกำไลสัญญาณที่จะติดข้อเท้าของนักโทษ เอามาใช้งานจริง โดยจะปล่อยตัวนักโทษชั้นดี ที่รับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่งหรือใกล้เคียง ให้ออกจากเรือนจำได้ แต่จะติดกำไลไปที่ข้อเท้า เพื่อเป็นสัญญาณติดตามว่านักโทษจะไม่หลบหนี แน่นอนว่าวิธีนี้ จะช่วยลดปริมาณความแออัดของนักโทษในเรือนจำลงไปได้เยอะมาก

18) วันที่ 5 ธันวาคม 2563 ในวาระวันพ่อแห่งชาติ มีการพระราชทานอภัยโทษอีกครั้ง คราวนี้สรยุทธ ลดโทษตามสัดส่วนอีกครั้ง เหลือโทษเพียง 2 ปี กับอีก 8 เดือนเท่านั้น และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ยืนยันว่า ด้วยอายุโทษที่ลดลง ทำให้สรยุทธจะเข้าเกณฑ์การพักโทษ ในวันที่ 14 มีนาคม 2564 นี้ โดยจะได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระจากเรือนจำ แต่ต้องติดกำไลอีเอ็มไว้ที่ข้อเท้า และรายงานตัวกับกรมคุมความประพฤติ จนกว่าโทษที่แท้จริง จะหมดลง ในปี 2565

19) บทสรุปของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ติดคุกวันแรก 21 มกราคม 2563 และตามกำหนดการจะได้รับการปล่อยตัว 14 มีนาคม 2564 รวมแล้วรับโทษอยู่ในเรือนจำ 1 ปี กับอีกเกือบ 2 เดือน

และต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อสรยุทธออกจากเรือนจำได้แล้ว เส้นทางใน “วงการข่าว” ของเขาจะเดินหน้าไปในทิศทางใดต่อ จะกลับไปอยู่ช่อง 3 ตามเดิม หรือออกไปหาความท้าทายใหม่ที่ช่องอื่น ซึ่งก็น่าสนใจว่า สรยุทธจะทวงบัลลังก์นักเล่าข่าวเบอร์ 1 ของประเทศ กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วเลยหรือไม่ ประการใด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า