นาซาเฮลั่น อินไซต์ หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารตัวใหม่ ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จตามกำหนดในคืนวันที่ 26 พ.ย. หลังจากผ่านช่วงเวลาการลงสู่พื้นนาน 7 นาที พร้อมส่งภาพถ่ายแรกให้กับนาซา
วันที่ 27 พ.ย. 2561 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อ 26 พ.ย. ทีมงานองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ที่ห้องปฏิบัติการ JPL เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ฉลองกันอย่างปลาบปลื้ม หลังควบคุมยานสำรวจอินไซต์ (InSight lander) ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ หลังเดินทางจากโลกไปนาน 6 เดือน ระยะทาง 482 ล้านกิโลเมตร นับเป็นภารกิจสำรวจอวกาศครั้งแรกที่มุ่งจะศึกษาโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์สีแดงโดยเฉพาะ โดยยานสำรวจอินไซต์ได้ลงจอดบนที่ราบเอลีเซียม แพลนิเทีย ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรดาวอังคาร ตามแผนที่วางไว้ทั้งยังถ่ายภาพภูมิประเทศรอบตัว และส่งกลับมายังโลกภายใน 30 นาทีแรกที่แตะพื้นดาวอังคาร ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้

ภาพพื้นผิวดาวอังคารที่ยานส่งมายังโลกหลังจากลงจอด
สร้างความปลาบปลื้มให้กับทีมงานนาซาที่พากันลุ้นระทึกกับภารกิจนี้มาก เนื่องจากมีความยากลำบากมากมาย ทั้งสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของดาวอังคาร รวมทั้งปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ อีกทั้งบรรยากาศของดาวอังคารที่เบาบางเพียง 1% ของบรรยากาศโลกทำให้เกิดแรงเสียดทานที่จะช่วยชะลอความเร็วของยานได้น้อย ทำให้ภารกิจในอดีตล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง
ทั้งนี้ ยานอินไซต์ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่แบบเดียวกับยานฟีนิกซ์ ซึ่งเคยลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จมาแล้ว ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวอังคารมาแล้วในปี 2550 ส่วนครั้งสุดท้ายที่นาซาส่งยานไปลงจอด คือคิวเรียสซิตี โรเวอร์ เมื่อปี 2552
สำหรับภารกิจต่อไปคือการสำรวจโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์สีแดง ตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่ช่วยบ่งบอกถึงสภาพชั้นหินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาภายใน และมีหุ่นยนต์ตัวตุ่น คอยวัดอุณหภูมิใต้ดินของดาว โดยจะฝังตัวอยู่ลึกลงไปจากพื้นผิว 5 เมตร เพื่อให้ทราบว่าดาวอังคารยังคงมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในอยู่มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยานจะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุเพื่อวัดว่าดาวอังคารเหวี่ยงตัวรอบแกนหมุนของตนเองอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากการตรวจสอบและทดลองทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
Tweets by NASAInSight