SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 9 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2462 คือวันสิ้นพระชนม์ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พระราชโอรสพระองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาติดต่อกับต่างประเทศ ในครั้งที่สยามกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตการแย่งชิงดินแดนของเหล่าประเทศมหาอำนาจ

ในปีนี้ เมื่อกาลเวลาเวียนผ่านมาครบ 100 ปี จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่คนไทยจะได้หวนรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและผลงานความสำเร็จที่พระองค์ได้สร้างไว้

เจ้าฟ้าองค์นี้มีความสำคัญอย่างไร ?

คำถามนี้จักต้องเล่าย้อนไปในห้วงเวลาที่พระมหากษัตริย์แห่งสยาม กำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมต่างชาติ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

หนึ่งในการตัดสินใจอันแสนสำคัญและเฉียบขาดของพระองค์ คือการส่งพระราชโอรส 4 พระองค์ไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรป เพราะในสมัยนั้นการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของชนชั้นปกครองที่เป็นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การคลัง การทหาร และการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแช่ม (กัลยาณมิตร) บุตรีพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) จึงเป็นหนึ่งในพระราชโอรสพระองค์โตทั้งสี่ ที่ได้รับเลือกให้เป็นกลุ่มที่ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศชุดแรก ในปี พ.ศ. 2428

ร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระอัยกาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง และองค์ผู้ก่อตั้งกระทรวงการคลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บิดาแห่งกฎหมายไทย และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช จอมพลพระองค์ที่ 2 ของกองทัพบกสยาม มีบทบาทในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม

จากรายนามพระราชโอรสทั้ง 4 จะเห็นว่าพระราชโอรสองค์แต่ละพระองค์ ล้วนนำความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียน มาใช้ในการบริการประเทศกันอย่างเต็มที่ เห็นได้จากมรดกความเจริญรุ่งเรืองมากมาย ที่ประจักษ์เด่นชัดมาจนถึงยุคหลัง

แต่เหตุผลที่นามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี ไม่เป็นที่พูดถึงแพร่หลายนัก เป็นเพราะสิ่งที่พระองค์ศึกษามาจากยุโรปคือ การร่ำเรียนด้านภาษา เพื่อนำมาช่วยงานด้านอักษรแก่พระราชบิดา

ดังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาจากทั้งประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในปี 2439 พระองค์จึงเสด็จกลับสยามและเข้าทรงงานที่กรมราชเลขาธิการ โดยดำรงตำแหน่งเป็นทั้งสภานายกกรมสัมปาทิก หอพระสมุดวชิรญาณ เป็นราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และเป็นเลขานุการให้แก่คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ด้วยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่หนึ่ง

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้น นับว่าประสบความสำเร็จด้านการเจริญสัมพันธ์ไมตรีเป็นอย่างมาก เพราะทำให้สยามเริ่มมีทั้งเจ้านายต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายเจ้าหญิงจากอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ฯลฯ เดินทางมาเยือนอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็ได้พระองค์เจ้าประวิตรฯ ผู้มีความรู้ด้านภาษามาต้อนรับขับสู้

และด้วยความที่สยามในยามนั้น อยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศ ทั้งยังมีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศที่กำลังถูกมหาอำนาจแย่งกันจับเข้าสู่อาณานิคม ความสามารถของพระองค์เจ้าประวิตรฯ จึงไม่ต่างจากสมบัติล้ำค่า และกุญแจสำคัญที่ใช้ทั้งในการสื่อสารและการต่อรองกับต่างประเทศ

เรียกได้ว่าในหลากหลายภารกิจกับต่างประเทศ พระองค์ทรงงานอยู่ด้านหลังฉากความสำเร็จเหล่านั้นแทบจะตลอดมา และทรงงานอยู่เช่นนั้นตลอดพระชนม์ชีพ แม้จะไม่โดดเด่น หรือไม่ถูกพูดถึง แต่ก็นับว่าเป็นหน้าที่อันแสนสำคัญ ที่ทำให้สยามกลายเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง และโดดเด่นล้ำหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

พระองค์เจ้าประวิตรฯ ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติเช่นนั้นเรื่อยมา แม้กระทั่งเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในปี 2453 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ต่อ พระองค์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นองค์มนตรี และราชเลขานุการในรัชกาลที่ 6 ต่อ

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2462 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี สิ้นพระชนม์ ขณะอายุได้ 44 ปี  6 เดือน 13 วัน ณ วังเชิงสะพานเทเวศรนฤมิตร ถนนลูกหลวง

พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคไต และจากไปอย่างกะทันหัน สร้างความตกอกตกใจให้แก่พระประยูรญาติเป็นอย่างมาก เพราะทรงประชวรแต่มิได้บอกใคร เป็นที่ทราบดีว่าตลอดเวลาที่ดำรงชีวิตอยู่ พระองค์ทรงอุทิศเวลาให้แก่งานราชการเหนือสิ่งอื่นใด การสูญเสียพระองค์ไปจึงนับเป็นนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญ ของบุคคลที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อประเทศชาติ

ในปีนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี นายสรวิช ภิรมย์ภักดีภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด ในฐานะของเหลน ผู้สืบเชื้อสายราชสกุลประวิตรโดยตรง จึงตัดสินใจรวบรวมเอกสาร รวมทั้งรูปภาพเก่าเกี่ยวกับพระองค์เจ้าประวิตรฯ ที่ไม่เคยมีใครเห็นที่ไหนมาก่อน จัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเล่าอัตชีวประวัติของพระองค์ จนออกมาเป็น จนสำเร็จเป็นหนังสือ “รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พ.ศ. 2418-2462” ขึ้นมา

หนังสือ “รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พ.ศ. 2418-2462” จะเล่าเรื่องในช่วงปีที่พระองค์เจ้าประวิตรฯ ทรงมีพระชนม์อยู่เป็นส่วนใหญ่ ผู้อ่านจะได้เห็นแนวทางการใช้ชีวิตที่น่าสนใจของพระองค์เจ้าประวิตรฯ ตั้งแต่ช่วงที่เรียนหนังสือ จนถึงช่วงที่พระองค์กลายเป็นหนึ่งใน 4 พระองค์โต ที่ถูกส่งไปศึกษาต่อที่เมืองนอกชุดแรก และกลับมารับใช้ประเทศชาติในหลายตำแหน่ง

ทั้งยังได้เห็นหน้าตาของเมืองไทยในสมัยร้อยกว่าปีก่อน ผ่านรูปภาพ และเอกสารสำคัญกว่า 300 ภาพ นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังมีคำสอนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่พระราชโอรสทั้งสี่ก่อนไปเรียนเมืองนอก ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญที่หลายคนคงไม่เคยได้อ่านอีกด้วย

“ผมตัดสินใจทําหนังสือเล่มนี้ด้วยความรัก และคิดว่าการระลึกถึงพระองค์ด้วยการเขียนหนังสือ เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเหลนที่จะทำถวายทวด ผมพยายามรวบรวมข้อมูลจากทุกแห่งเท่าที่หาได้ ทั้งจากหอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุ กระทั่งไปประมูลภาพถ่ายและเอกสารเก่าๆ มาก็มี ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผมจะสามารถสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจ และรู้จักกับคุณทวดมากขึ้นผ่านหนังสือเล่มนี้ได้” นายสรวิช กล่าว

หนังสือ “รฦกแห่งที่รัก จากเหลนแด่ทวด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี พ.ศ. 2418-2462” ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย เพราะเราจะได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการบริหารประเทศของพระองค์เจ้าประวิตรฯ รวมถึงครอบครัวของพระองค์ ในการนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตการเสียดินแดนต่างๆ ผ่านการเจริญสัมพันธไมตรีกับทูตจากต่างประเทศ ท่านที่สนใจสามารถหาซื้อได้ที่ Open House Bookshop by Hardcover ห้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ, ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ (Kinokuniya), เอเชียบุ๊คส์ (Asia Books) หรือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ www.singhaonlineshop.com ในราคา 679 บาท

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า