ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป เช็คธนาคารที่มีการแก้ไขจะไม่สามารถขึ้นเงินได้ ผู้สั่งจ่ายเช็คจะสั่งจ่ายเช็คใหม่ให้ถูกต้องจึงจะขึ้นเงินได้ ส่วนตั๋วแลกเงินให้ลูกค้าฝากเรียกเก็บล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
วันที่ 17 ม.ค. 2562 จากกรณีพนักงานบัญชีปลอมแปลงเช็คของนายอามิตร จาวลา ผู้จัดการทั่วไปร้านอุปกรณ์เสริมสวยและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมไปขึ้นเงินธนาคารชั้นนำ 4 แห่ง รวม 63 ใบ มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับเงินปลายทางเป็นชื่อสามี ลูกชาย รวมทั้งชื่อของตนเอง จากนั้นนำฝากเข้าบัญชีต่างๆ กรณีนี้กลายเป็นประเด็นสงสัยของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ออกประกาศสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการเช็คมาแล้ว ข้อความระบุว่า
ด้วยปัจจุบันสถิติการทุจริตจากการใช้เช็คในประเทศไทยมีอยู่พอสมควร อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าและธนาคาร เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ธนาคารจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คโปรดสั่งจ่ายเช็คด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการแก้ไขข้อความ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป หากลูกค้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความให้นำฝากเฉพาะที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น
ข้อแนะนำในการใช้เช็ค
ผู้สั่งจ่ายเช็คให้ระมัดระวังในการเขียนเช็ค โดยไม่แก้ไขข้อความ ตัวเลขบนหน้าเช็ค เพื่อป้องกันการทุจริตจากการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้ง เก็บรักษาเช็คให้อยู่ในที่ปลอดภัยและต้องแจ้งธนาคารทันทีเมื่อทราบว่าเช็คหาย
ลูกค้าผู้ทรงเช็ค ตรวจสอบทุกครั้งที่มีการรับเช็ค โดยไม่รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ/ตัวเลข, หากได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ/ตัวเลข ให้นำไปให้ผู้สั่งจ่ายเปลี่ยนเช็คใหม่ หรือให้นำไปขึ้นเงินที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น และไม่ควรพับเช็คหรือทำให้เช็คชำรุด เพราะจะทำให้เช็คไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเรียกเก็บได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเช็คคืน โปรดติดต่อสาขาของธนาคารเจ้าของเช็ค นอกจากนี้ในใบคำขอซื้อเช็ค นับจากนี้จะระบุข้อความว่าการสั่งจ่ายเช็คต้องไม่มีการแก้ไข หากมีการแก้ไขธนาคารผู้จ่ายมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินได้
https://www.facebook.com/amit.chawla.37/posts/10156869612883905