สธ.เผยความคืบหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สหรัฐและอังกฤษมีการทดลองระยะที่ 3 จำนวน 7 วัคซีน ตั้งเป้าป้องกันโรคได้ในระยะเวลา 6 เดือน ถ้าทำได้ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐจะจดทะเบียนให้
วันที่ 11 ส.ค.2563 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวิจัยวัคซีนรักษาโควิด-19 ว่าขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนที่อยู่ในระยะการทดลองกว่า 180 วัคซีน เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์แล้วประมาณ 135 วัคซีน และเริ่มทดสอบในมนุษย์ 38 วัคซีน แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่ 1 จำนวน 18 วัคซีน ทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวนไม่เกิน 100 ราย
ระยะที่ 2 จำนวน 12 วัคซีน ทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง ดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและปลอดภัย
ระยะที่ 3 จำนวน 7 วัคซีน เป็นการทดสอบในสหรัฐและอังกฤษ ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถป้องกันโรคได้ในระยะเวลา 6 เดือน หากองค์การอาหารและยาของสหรัฐรับรองจดทะเบียนให้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ภาครัฐได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยพยายามใช้มาตรการภาคบังคับให้น้อยที่สุดและเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาวิจัยวัคซีนเร่งจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัยเพื่อนำมาใช้ป้องกันโรค คาดว่าจะได้เร็วที่สุดไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ตามวัคซีนไม่ได้ทำให้โรคหมดไปจากประเทศ เพียงช่วยลดการแพร่ระบาดใหญ่และความรุนแรงของโรค
ทั้งนี้ อย่าตั้งความหวังว่าประเทศไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ หากเจอจะต้องจำกัดไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ต้องเตรียมพร้อมเสมอตั้งแต่ระดับ ตนเอง ครอบครัว องค์กร ชุมชน ไม่ตื่นตระหนกในการรับมือกับปัญหา
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยวานนี้ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 9 ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,160 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.3 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 133 ราย หรือร้อยละ 3.97 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,351 ราย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศไทยในระยะหลังเป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ทุกคนได้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในประเทศ อย่างไรก็ตาม การไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อได้อีก เพราะเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการในระยะต่างๆ ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงสูงตามมา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อได้คือ ประชาชนต้องเข้มในมาตรการป้องกัน ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและตลอดเวลาขณะที่อยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด โดยเฉพาะในสถานที่ปิดระบบถ่ายเทอากาศไม่ดี เช่นในห้องแอร์ เนื่องจากมีโอกาสในการติดเชื้อมากกว่าพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท ที่โล่งแจ้งได้ถึง 19 เท่า