SHARE

คัดลอกแล้ว

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศลาออกจาก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ทำไม่ได้ สร้างบาป และฝ่าฝืนมติพรรค ไม่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

(อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. / 5 มิ.ย. 62)

วันที่ 5 มิ.ย. เวลา 10.13 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนที่หน้าหอประชุมใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งใช้เป็น สถานที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว หลังพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.จำนวน 53 คนของพรรคประชาธิปัตย์จะต้องโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 30

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา ตนได้แสดงจุดยืนทางการเมืองไปยังคนทั้งประเทศ และไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การแสดงจุดยืนขณะนั้นทำในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมั่นใจว่าสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่วันก่อตั้งพรรค เป็นเวลากว่า 70 กว่าปีแล้ว และยังสอดคล้องกับเป้าหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอกับประชาชนในการเลือกตั้ง คือต้องการเห็นประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต

อย่างไรก็ตามเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ตนจะแสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าพรรคด้วยการลาออก แต่มีประชาชนเกือบ 4 ล้านคนที่ตัดสินใจลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องขอบคุณประชาชนเกือบ 4 ล้านคน และสำนึกบุญคุณของคนเหล่านั้นตลอดเวลา

นับตั้งแต่การเลือกตั้งผ่านพ้นมา ตนยังคงยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าวและพยายามโน้มน้าว สมาชิกและผู้เกี่ยวข้องในพรรคประชาธิปัตย์ให้รักษาจุดยืนดังกล่าวไว้ และจนถึงวันนี้ตนก็ยังคงยืนยันจุดยืนเช่นเดิม ซึ่งมองว่าทั้งพฤติกรรมและเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่แสดงจุดยืนจนถึงวันนี้ ยังคงยืนยันได้ว่า ประเทศชาติยังคงต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ และประชาธิปไตยสุจริต

สิ่งพวกเราหลายคนประสบมาในช่วงการเลือกตั้งที่ได้เห็นอำนาจรัฐ ใช้เงิน การได้คะแนนเสียงมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ ไล่เลียงมาจนถึงวิธีการอื่นๆ เช่น พฤติการณ์สรรหาสมาชิกวุฒิสภา แทรกซึมเข้าไปในสื่อมวลชนบางแขนง และส่งผลให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบรักษาความถูกต้องการกติกาได้ ตนยืนยันว่ายังมีอยู่จริง และการที่เราใช้คำว่า สืบทอดอำนาจไม่ใช่เรื่องของวาทะกรรม แต่ความเป็นจริง ที่ไม่ต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในวันที่ตนยืนหยัดต่อสู่กับระบอบทักษิณ

“ถ้านึกไม่ออกผมขอแนะนำให้ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ จอร์จ ออร์เวลล์ ท่าจะได้ซาบซึ้งและเข้าใจว่า พฤติการณ์ของการต่อสู้บางสิ่งบางอย่างแต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วกลับทำเสมือนกันทุกประการเป็นอย่างไร ผมก็หวังว่าคงไม่ต้องแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มต่อไปของผู้เขียนคนเดียวกันที่ชื่อ 1984 ไปดูก็แล้วกันว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตนได้พยายามอย่างมาก ในการประชุมร่วม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคว่า ประชาธิปัตย์ควรเลือกเส้นทางใด บัดนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติเลือกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และจะเข้าไปร่วมรัฐบาล ด้วยความเคารพเสียงข้างมาก ตนต้องยืนยันว่า ตนไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ได้บอกไปแล้วว่า พรรคมีมติเช่นใด สมาชิกพรรคก็ควรที่จะปฏิบัติเช่นนั้นไม่ควรฝ่าฝืนมติพรรค ที่ตนไม่เห็นด้วย ยอมรับว่า ยังแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่า สิ่งที่พรรคพยายามจะทำ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นจะประสบความสำเร็จ รวมถึงสมาชิกในพรรคที่ต้องการแก้ไขเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน แอบหวังลึกๆ ว่า คนที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปพายเรือให้ จะกลับใจสร้างประชาธิปไตย และสร้างธรรมาภิบาล

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนเสียดายโอกาส แม้พรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคกลาง แต่น่าจะสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติในระยะยาว ด้วยการทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่ 3 ที่เป็นกลางพร้อมที่จะตรวจสอบรัฐบาล ที่คาดหมายกันว่า จะเป็นการตั้งรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั่นเอง อะไรที่ดีก็สามารถสนับสนุนได้ อะไรไม่ดีก็พร้อมจะตรวจสอบ และแสดงออกถึงความเป็นอิสระที่จะไม่เห็นด้วย เป็นการถ่วงดุลที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายนิติบัญญัติ และการมีพื้นที่เล็กๆ เติบโตเป็นทางสายหลัก ไม่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาอ้างคำว่า ประชาธิปไตยบังหน้า หรือเสื้อคลุม แต่ไม่มีพฤติการณ์ที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

“ผมเสียดายโอกาสที่ไม่สามารถจะสร้างพื้นที่ถูกบีบบังคับให้เลือกข้างด้วยอารมณ์ ด้วยเผด็จการ หรือด้วยการกลัวทักษิณ จึงขอเรียนทุกท่านว่าความพยายามของผมที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมก็ต้องมีการตัดสินใจว่าสิ่งที่สมควรดำเนินการต่อไปเป็นอย่างไร ประการแรกคือกราบขอโทษพี่น้องประชาชนทุกคนที่ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา

ประการที่สอง ที่ต้องทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วาระของการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ผมคงไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องประชุมและลงคะแนนที่เป็นการฝ่าฝืนมติของพรรคได้ ผมเป็นนักการเมืองที่สนับสนุนระบบพรรคการเมือง ได้รับโอกาสจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวหน้าพรรคยาวนานกว่า 10 ปี ผมทราบว่า นักการเมืองที่ดี สมาชิกที่ดีต้องมีวินัย จะให้ผมเดินเข้าไปแล้วออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่ว่ามติพรรคคือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ

ผมขอบคุณเพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวานนี้ ที่พยายามเสนอทางออกให้กับผมใช้คำว่า ต้องการรักษาเกียรติภูมิให้กับผมด้วยการเสนอให้ผมนั้นงดออกเสียง ผมได้ตอบไปในที่ประชุมว่า พรรคคงไม่มีหน้าที่ที่จะมารักษาเกียรติภูมิให้คนหนึ่งคนใด พรรคมีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของพรรค ส่วนการรักษาเกียรติภูมิของผมเป็นหน้าที่ของผม ผมจึงปฏิเสธแนวทางที่จะให้ผมเป็นข้อยกเว้นและงดออกเสียงในที่ประชุม แต่ผมทราบดีว่าปัญหาทั้งหมดไม่จบในวันนี้ ทุกสัปดาห์ก็ต้องมาเผชิญกับปัญหานี้ทุกสัปดาห์เหมือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องยอมรับว่า ใน 27 ปีของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผม ไม่เคยอึดอัดเท่ากับการลุกขึ้นลงมติเพื่อให้เลื่อนการเลือกประธานสภา ทั้งที่ไม่มีเหตุผลตอบกับสังคม ถือโอกาสนี้ขอโทษพี่น้องประชาชน แต่ที่ทำไปเพราะว่าผมไม่ต้องการฝืนมติพรรค และลดน้ำหนักที่จะไปต่อสู้ภายในพรรคเพื่อเดินทางไปในทิศทางที่ถูกต้องในเรื่องที่ใหญ่กว่า

ดังนั้นเมื่อมาถึงวันนี้ผมเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะผม แต่เกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน เพราะการทำงานทางการเมือง ผมยึดถืออุดมการณ์และหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเลื่อนลอย แต่เพราะผมเชื่อว่า การเมืองที่มีอุดมการณ์และหลักการเท่านั้นถึงจะสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนและประเทศชาติในระยะยาวได้ 

คานธี เคยส่งจดหมายให้กับหลานพูดถึง บาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่ต้องจะต้องตัดสินใจ ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ ภายหลังจบการแถลงข่าว นายอภิสิทธิ์ ได้เดินออกไปจากโพเดี้ยมทันที ไม่ได้ตอบคำถามว่า จะยังคงเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ต่อไปหรือไม่

ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ ได้ยืนยันจุดยืน “ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาคนโกง” นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

https://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva/videos/328038424510339/

เวลาต่อมา นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบุทุกคนในพรรคก็เชื่อว่า นายอภิสิทธิ์จะยังช่วยงานของพรรคต่อไปเพื่อวันข้างหน้า เพราะท่านยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า