SHARE

คัดลอกแล้ว

ภาพจากเฟซบุ๊ก: Chitrapon Vanaspong

ศูนย์เพื่อน้องหญิง เปิดเผยจดหมายลับ “น้องหนูนา” เด็กหญิงวัย 12 ปี ถูกพ่อแม่ขายให้ไปแต่งงานกับชายวัย 50 ปี พร้อมถอดบทเรียน 8 ข้อ หลังเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ในการพยายามเข้าช่วยเหลือ

เมื่อเวลา 22.12 น. วันที่ 8 พ.ย.62 นางสาวจิตราภรณ์ วนัสพงศ์ ประธานกรรมการศูนย์เพื่อน้องหญิง จังหวัดเชียงราย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chitrapon Vanaspong ระบุข้อความ บทเรียนของเราจากการช่วยเหลือเด็กหญิงให้ไม่ต้องไปแต่งงานกับชายวัย 50

เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ศูนย์เพื่อน้องหญิงได้รับจดหมายน้อยจากเด็กหญิงคนหนึ่งที่ขอความช่วยเหลือ เพราะแม่จะบังคับให้ไปแต่งงานกับผู้ชายอายุ 50 แล้วเราก็พยายามจะช่วยให้เค้าไม่ต้องแต่งงานไปจนได้ แต่กว่าจะช่วยได้ก็ล่วงเข้าปี 62 เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์เลย อยากจะขอถอดบทเรียนใน case นี้ดังนี้

 

  1. สิ่งที่เราคิดว่ากรณีนี้เป็นความสำเร็จที่สำคัญ ก็คือ เราช่วยเค้าออกมาจากบ้านได้ “ก่อน” ที่น้องเค้าจะถูกล่วงละเมิด ก่อนที่เค้าจะถูกส่งไปแต่งงานกับผู้ชายเฒ่า ซึ่งการช่วยได้ก่อนมันมีความหมายมาก เพราะหมายถึงว่าเราป้องกันและเฝ้าระวังได้สำเร็จ การช่วยเหลือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดไปแล้ว ก็เหมือนกับแก้วที่ร้าว จะซ่อมแซ่มให้กลับมาดีสนิทเหมือนเดิมก็คงยาก และต้นทุนในการทำงานบำบัดเยียวยา มีราคาแพงและใช้เวลานานมากนัก ดังนั้น ป้องกันย่อมดีกว่ารักษามากนัก

 

  1. เหตุผลที่เราได้จดหมายน้อยจากน้องหนูนา (นามสมมติ) ก็คือผ่านเพื่อนสนิทเค้า ศูนย์เพื่อน้องหญิงไปอบรมเรื่องสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็กให้เด็กๆ ป. 6 ที่หมู่บ้าน โดยหวังว่าให้เด็กกลุ่มนี้จะได้เป็นแกนนำสิทธิเด็กในหมู่บ้าน ซึ่งเราพูดเรื่องการแต่งงานเด็กด้วยว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างหนึ่ง เพื่อนก็เลยไปบอกหนูนาที่กำลังเป็นทุกข์เพราะเหตุนี้ ในที่สุดหนูนาก็ฝากจดหมายมา เราไม่เคยเห็นผลจากการอบรมเด็กเรื่องสิทธิเด็กได้ชัดเจนเท่ากรณีนี้เลย ฉะนั้น เราจะเสริมศักยภาพของเด็กๆ ในหมู่บ้านต่อไปค่ะ เพื่อให้เค้าสามารถช่วยเฝ้าระวังกรณีที่เพื่อนๆของเค้าถูกทำร้าย ทารุณ หรือล่วงละเมิดได้อย่างทันท่วงที

 

  1. ทางเราก็ไปคุยกับหนูนาหลายรอบ ทราบเรื่องราวในรายละเอียดมากขึ้น คือพ่อแม่หนูนาจะให้เค้าแต่งงานกับผู้ชายคนนี้หลังจากเรียนจบ ป.6 หนูนาชัดเจนว่าไม่อยากแต่ง พ่อกับแม่ใช้ความรุนแรงกับลูกมากด้วย พี่สาวของหนูนาก็ถูกขายไปแต่งงานไปแล้วคนหนึ่ง ทางเราเห็นว่าน่าจะแยกเด็กออกจากบ้าน ให้เค้าได้ไปอยู่ที่อื่นและได้เรียนต่อตามประสงค์ เราก็ประสานงานกับกลไกคุ้มครองเด็กและค้ามนุษย์ระดับจังหวัด ซี่งมีทีมสหวิชาชีพที่ทำงานตามขั้นตอนของพรบ.คุ้มครองเด็กและพรบ. ค้ามนุษย์ ซึ่งทีมคุ้มครองระดับจังหวัดเห็นว่า ยังไม่ควรแยกเด็กออกมาจากครอบครัว แต่ขอให้ทางเราเฝ้าระวังสถานการณ์ไปก่อน เพราะเหตุที่เด็กถูกล่วงละเมิดยังไม่เกิดจะแยกได้อย่างไร ทางทีมมีหลักการคิดว่า “ถ้าเด็กถูกข่มขืนแล้วก็จะแยกออกมาได้ง่าย”

 

  1. การตัดสินของทีมระดับจังหวัดค้านกับความรู้สึกของศูนย์เพื่อน้องหญิง เพราะเราคิดว่าน่าจะมีเหตุอันควรที่จะแยกเด็กออกจากบ้านได้ เพราะตาเฒ่านั้นยังวนเวียนไปหาหนูนาอยู่บ่อยๆ เราก็เลยปรึกษาพี่ๆ ที่กทม. ได้รับคำแนะนำว่าให้ทำหนังสือถึงอธิบดีในส่วนกลาง เพื่อกระตุ้นให้ทีมจังหวัดทำงานอย่างแข็งขันกว่านี้ ผลที่ตามมาคือ อธิบดีส่งจดหมายของศูนย์เรากลับไปที่หน่วยงานระดับจังหวัดย้ำเตือนให้จัดการเรื่องนี้ด้วย ทำให้ทีมจังหวัดเคืองเรามากที่ต้องเอาเรื่องนี้ขึ้นไปถึงผู้บังคับบัญชาเค้า โดยเห็นว่า “มีอะไรทำไมไม่มาคุยกันในจังหวัดของเรา” จะเห็นได้ว่า กรณีนี้ บทบาทการแทรกแซงของหน่วยงานกลางมีจำกัด เนื่องจากตามโครงสร้างสายงานบังคับบัญชา แขนขาในการทำงานเคสก็เป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ ซึ่งเค้าก็ต้องส่งต่อกลับมาที่นี่อยู่ดี

 

  1. เมื่อยังเอาเด็กออกมาจากบ้านไม่ได้ เราก็เลยไปคุยกับผู้ชายคนนั้นซึ่งอยู่อีกอำเภอหนึ่ง เพราะเรารู้จากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเขาก็ยังเที่ยวไปเที่ยวมาหาหนูนาที่บ้าน ซื้อมือถือมาให้ และแม่ส่งเสริมให้เค้าพาหนูนาไปเที่ยว ตอนที่ไปหาผู้ชายที่บ้าน น้องเราเอาตำรวจในสภอ.อำเภอผู้ชายไปด้วยคนนึง เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ชวนกันไป ที่ทำการกำนันตำบลที่ผู้ชายอยู่ แล้วเอาประมวลกฎหมายอาญาไปกางอ่านให้ฟังเลยว่า ถ้าเค้าจะเอาเด็กไปแต่งงานด้วยจริง จะมีโทษตามกฎหมายอย่างไร เค้าก็ปฏิเสธว่า ไม่ได้คิดอะไรกับเด็ก เอ็นดู ซื้อมือถือให้เพราะเรียนเก่ง จากนั้นเราก็บังคับให้เค้าลงชื่อในกระดาษ เป็นการรับทราบว่าเรามาคุยกับเค้าเรื่องนี้แล้ว พอเรากลับไป เค้าก็ไปต่อว่ากำนันว่า พวกเราไปยุ่งเรื่องของเค้าทำไม สรุปว่า คนจำนวนมากไม่ได้คิดว่ากฎหมายจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมพฤติกรรมเค้าเลย แต่มีไว้หลบเลี่ยงให้จับไม่ได้ต่างหาก

 

  1. ตัดกลับมาที่บ้านหนูนา เราก็ได้พบหนูนาหลายครั้ง คุยกับพ่อแม่ก็แล้ว ทางพ่อแม่ดุมาก และยืนยันว่าหนูนาเป็นลูกของเค้า เค้าจะทำอะไรก็ได้ ทางบ้านหนูนาเป็นชนเผ่า สถานภาพของพวกเราที่เป็นองค์กรช่วยเหลือเด็ก เป็นอะไรที่เค้าไม่เข้าใจว่าจะมายุ่งกับเรื่องที่บ้านเค้าทำไม ทางเราก็ยื้อคุยกับพ่อแม่เด็กอยู่หลายเดือน จนกระทั่งวันหนึ่งที่ศูนย์ไปจัดค่ายเด็กในหมู่บ้าน พอจะกลับ หนูนาก็วิ่งออกมาบอกว่า หนูไม่อยู่แล้ว หนูจะขอไปด้วย ณ จุดนั้นเลยต้องเอาหนูนาออกจากบ้านมาแล้วไปอยู่ที่ศูนย์ ก่อนที่จะดำเนินการส่งต่อไปที่บ้านพักเด็ก อีกด้านหนึ่งก็ต้องไปเจรจากับพ่อแม่เด็กอีก ทีนี้ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทีมงานเราไปนั่งเจรจากับพ่อแม่ เพื่อขอให้ลูกไปอยู่ที่อื่นและไปเรียนต่อ แม่เค้าโกรธมาก เอาไม้กวาดมาปัดหยากไย่ในบ้านจนหยากไย่หล่นใส่พวกเราหมดเลย ทางผู้นำชุมชนเกรงใจในความโกรธของแม่ ก็เลยเลี่ยงออกมายืนรอหน้าบ้านกันหมด ปล่อยให้น้องทีมงานของเราและตำรวจอีกคนนึงนั่งเผชิญหน้ากับพ่อแม่หนูนาตามลำพัง ผู้นำชุมชนเห็นดีเห็นงามกับศูนย์เราที่จะท้าทายอำนาจของพ่อแม่เด็ก แต่เค้าไม่ค่อยอยากจะลงมาเปลืองตัวกับเราด้วย ก็จะยืนดูให้กำลังใจเราอยู่ห่างๆ ค่ะ แม้กฎหมายไทย เช่น พรบ. คุ้มครองเด็กจะห้ามไม่ให้พ่อแม่ล่วงละเมิดสิทธิเด็ก แต่มันก็เอากฎหมายไปคุยกับพ่อแม่เด็กไม่ได้ เพราะเราคิดว่ามันรุนแรงไปและไม่น่าจะคุยกันเข้าใจ ในที่สุดก็หว่านล้อมให้เค้ายอมให้หนูนาออกมาอยู่ที่อื่นแล้วเรียนต่อได้จนสำเร็จ

 

  1. ปัจจัยความสำเร็จของกรณีนี้คือความเด็ดเดี่ยวของหนูนาเอง คือเค้าเป็นเด็กที่มีความชัดเจนมากว่าชีวิตเค้าต้องการอะไร ตอนแรกก็เหมือนเด็กอื่นๆ ที่รู้สึกผิดว่าตัวเองอกตัญญูต่อพ่อแม่หรือเปล่าที่ไม่ทดแทนบุญคุณ แต่พอทางเราอธิบายเรื่องสิทธิเด็ก เค้าก็เข้าใจทะลุปรุโปร่งและเดินหน้าไม่ถอยหลัง เรา refer เค้าให้ไปอยู่ศูนย์เอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัด หนูนาพักที่ศูนย์และมีรถรับส่งไปเรียนที่โรงเรียนใกล้ๆ สองเดือนก่อนเราไปเยี่ยมหนูนา พบว่าเค้าสบายดี เค้าบอกว่าไม่คิดถึงบ้าน ถามเค้าเรื่องอนาคต เค้าก็บอกว่าจะเรียนให้จบม. 3 ก่อนจากนั้นค่อยว่ากัน หนูนาเป็นเด็กเรียนเก่งแต่เค้าไม่อยากเรียนสูงๆ อยากรีบจบจะได้หาเงินมาเลี้ยงพ่อแม่

 

  1. องค์กรเอกชนระดับท้องถิ่นอย่างศูนย์เพื่อน้องหญิงมีบทบาทมากในการทำงานแบบ proactive ที่จะประสานงานกับหน่วยงานรัฐให้กับเคสในพื้นที่ นโยบายและกฎหมายคุ้มครองเด็กประเทศเราดีมาก แต่ในทางปฏิบัติมันยังทำไม่ได้เพราะติดขัดหลายอย่าง เช่น ส่วนผู้นำชุมชนเอง เค้ามีตำแหน่งเป็นพนักงานคุ้มครองเด็ก แต่ตัวเค้าไม่ได้ internalise ตำแหน่งนี้ เค้าก็ยังอยู่ในกรอบของความคิดเดิมว่า “เราจะไปยุ่งอะไรกับเรื่องของครอบครัวที่พ่อแม่เค้าจะทำอะไรกับเด็กก็ได้” ฉะนั้น หน้าที่เค้าในการเป็นพนักงานคุ้มครองเด็กตามกฎหมาย ก็แทบจะไม่ได้ exercise เลยเนื่องจากข้อจำกัดในการคิดดังกล่าว

 

ตอนนี้ศูนย์ได้รับงบประมาณก้อนเล็ก ๆ เพื่อมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้พ่อแม่ขายเด็กไปแต่งงานในหมู่บ้านของหนูนา ซึ่งจะดำเนินการในปีหน้านี้ โครงการน้อยๆ นี้เป็นโครงการที่เน้นประเด็นการแต่งงานในเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งในหลายปัญหาที่ต่อยอดกับกลไกคุ้มครองเด็กในระดับหมู่บ้านที่เราทำไว้ และทางเราก็จะเดินหน้าต่อไปค่ะ

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า