SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมขนส่งพัสดุเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันรุนแรงดุเดือด มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาหลายเจ้า และแต่ละรายก็อาศัยกลยุทธ์การลดราคาเพื่อแย่งลูกค้า จน ‘สงครามราคา’ ปะทุ กระทบกับพี่ใหญ่ของวงการที่อยู่คู่ไทยมานาน 140 ปีอย่าง ‘บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การแข่งขันและสงครามราคาส่งผลให้ไปรษณีย์ไทยค่อยๆ มีรายได้และกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประสบกับภาวะขาดทุนหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยผลประกอบการของไปรษณีย์ไทยตั้งแต่ปี 2561-2565 มีดังต่อไปนี้

  • ปี 2561 รายได้ 29,298 ล้านบาท กำไร 3,809 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 27,162 ล้านบาท กำไร 589 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 23,712 ล้านบาท กำไร 238 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุน 1,730 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุน 3,018 ล้านบาท

และไม่ใช่เพียงแค่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้น ปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทขนส่งพัสดุรายใหญ่ๆ หลายรายในไทย ก็ประสบภาวะขาดทุนไม่ต่างกัน เรียกได้ว่าสงครามราคาครั้งนี้กระทบกับแทบทุกเจ้าในอุตสาหกรรม

แต่ถึงอย่างนั้น ครึ่งปีแรกของปี 2566 นี้ ไปรษณีย์ไทยรายงานผลการดำเนินงาน รายได้ 10,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12.67% และที่น่าสนใจก็คือ ครึ่งปีแรกนี้มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 157.72 ล้านบาทแล้ว

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ฉายภาพให้ฟังว่า สองปีที่ผ่านมา โควิดได้เร่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภค กล่าวคือ ผู้บริโภคหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเยอะมาก ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เมื่อขนส่งเติบโต ใครๆ ก็เห็นโอกาสนี้เหมือนกัน จึงทำให้มีคนอยากเข้ามาเป็นผู้ให้บริการมากขึ้น แม้แต่บริษัทที่พื้นเดิมเป็น Tech Company ก็เข้ามาในตลาดนี้ จนเกิดภาวะแข่งขันกันด้านราคา

“และต้องยอมรับว่าธุรกิจขนส่งระดับแมส โครงสร้างต้นทุนไม่ได้ยืดหยุ่นขนาดนั้น เมื่อจำนวนพัสดุในตลาดรวมเยอะขึ้นจนมากกว่าจำนวนผู้ให้บริการที่มี ทำให้ทุกคนต้องแข่งกันแย่งงานส่ง เกิดการลดราคาค่าบริการต่อชิ้นลงอย่างหนัก นำมาสู่ภาวะขาดทุนตามมาในภายหลังนั่นเอง”

“ไปรษณีย์ไทยมีภารกิจหลักคือทำให้คนไทยส่งของได้ตลอดเวลา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรามีการปรับตัวหลายมิติ มีการปรับโครงสร้างบุคลากรอย่างจริงจัง ทำให้สามารถบริหารทรัพยากรบุคคลได้สูงมาก จนกระทั่งตอนนี้ เราเป็นหน่วยงานรัฐหน่วยงานเดียวที่สามารถให้บริการได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด และควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ไม่เพียงเท่านั้น แต่เรายังช่วยเหลือชุมชนและประชาชนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาในช่วงโควิดระบาด ส่งผลไม้ในช่วงผลผลิตการเกษตรล้นตลาด หรือเอากล่องพัสดุมาทำเตียงสนาม

“การให้บริการอย่างต่อเนื่องและพยายามควบคุมคุณภาพเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด ในเรื่องการแข่งขัน แม้จะมีเรื่องราคาแต่ผู้คนก็ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพด้วย ซึ่งไปรษณีย์ไทยเราคุณภาพค่อนข้างดีกว่า ที่ผ่านมาเราพยายามโฟกัสเรื่องคุณภาพและประสบการณ์ของผู้บริโภคมาก

“เรามีการปรับกระบวนการให้ขั้นตอนการขนส่งกระชับมากขึ้น พยายามให้มีจำนวนพนักงานที่ต้องจับพัสดุให้น้อยที่สุด เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหายของพัสดุ มีกระบวนการคัดแยกที่ดีขึ้น แบ่งประเภทรถขนส่งตามพัสดุ จนสามารถสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคได้

“ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ไปรษณีย์ไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้ลดลง 15% กลุ่มขนส่ง/โลจิสติกส์มีชิ้นงานเพิ่มขึ้น 29% ซึ่งรายได้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 22% ด้วย

“และในสภาวะที่ตลาดโลจิสติกส์แข่งขันสูง การมีรายได้เติบโตและพลิกกลับมากำไรได้ของเรา เรียกได้ว่าเราสามารถต่อสู้ในตลาดได้อยู่ และสะท้อนว่าไปรษณีย์ไทยยืนหยักได้อย่างแข็งแรง”

สำหรับสัดส่วนรายได้ของไปรษณีย์ไทยในครึ่งปีแรกนี้ มีดังนี้

  • กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 44.11%
  • กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 36.04%
  • กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.60%
  • กลุ่มบริการค้าปลีก 2.35%
  • กลุ่มบริการการเงินและบริการอื่นๆ 2.84%
  • รายได้อื่นๆ 1.06%

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ไปรษณีย์ไทยได้สนับสนุนการให้บริการพื้นฐาน เข้าถึงทุกพื้นที่ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท

ดร.ดนันท์ยังกล่าวอีกว่า ผลประกอบการที่ขาดทุนหนักในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างของบริษัทที่มีการเปิดโครงการ Early Retire ให้พนักงาน โดยปัจจุบันมีพนักงานอยู่ราว 38,000 คน จากสองปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 42,000 คน เรียกได้ว่าต้นทุนพนักงานลดลงไปถึง 6%

“สำหรับจำนวนคนเรียกได้ว่าตอนนี้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม เราอาจมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บ้างในบางอย่าง แต่ปีนี้คิดว่าไม่มีการลดคนแล้ว”

ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดการเดินทาง 140 ปีที่อยู่เคียงข้างเศรษฐกิจและสังคม ไปรษณีย์ไทยถือเป็นผู้เปิดเส้นทางและเพื่อนร่วมทางที่เห็นโอกาสที่สำคัญทั้งในเชิงธุรกิจ และโอกาสใหม่ๆ สำหรับทุกภาคส่วน โดยวางกลยุทธ์ในปีนี้คือ 1-4-0

โดย 1 คือ การเป็นที่หนึ่งเรื่องคุณภาพ หลีกหนีจาเกมสงครามราคา 4 คือ เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางอากาศทางดิจิทัลครอบคลุมทั่วไทย ทั่วโลก ครบถ้วนทุกไลฟ์สไตล์ และ 0 คือ Zero Complaint ลดข้อร้องเรียนเป็นศูนย์ หรือแก้ปัญหาให้ผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด และ Net Zero เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065

สำหรับปีนี้ ดร.ดนันท์วางเป้าหมายรายได้ไว้ว่าน่าจะมากกว่า 20,000 ล้านบาท แต่ยังประเมินได้ยากเนื่องจากช่วงไตรมาส 3 และ 4 เป็นช่วงท้าทายมาก ผู้คนเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวและช้อปปิ้งน้อยลง ส่งผลให้จำนวนพัสดุน้อยลงด้วย

“ส่วนสงครามราคา คาดว่าจะยังไม่จบในระยะใกล้ๆ นี้ ยังมีโอกาสที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เพราะอุตสาหกรรมขนส่งไม่มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลและควบคุมตลาด แต่เชื่อว่าสุดท้ายจะค่อยๆ เกิดการปรับตัวจนเหมาะสมกับสภาพตลาดได้” ดร.ดนันท์ กล่าวทิ้งท้าย

และสำหรับครึ่งปีหลัง ไปรษณีย์ไทยพร้อมใช้เทคโนโลยีพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อคนไทยอีกมากมายโดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก

-ไปด้วยกันที่มากกว่าการส่ง ซึ่งจะเน้นการนำศักยภาพที่มี และสร้างศักยภาพใหม่ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ที่มากกว่าการขนส่ง โดยเฉพาะการก้าวสู่ Data Company จากการเป็น Information Logistics ที่มีข้อมูลแบบไร้ขีดจำกัด

เช่น บริการ Prompt Post ที่จะทรานส์ฟอร์มเอกสารทุกรูปแบบสู่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงระบบจ่าหน้าหรือที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบ Digital Post ID การให้บริการในรูปแบบ Postman as a service ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ ความเข้าใจในทุกพื้นที่มาต่อยอดนำเสนอบริการที่ตรงใจ พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนพี่ไปรฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ

-ไปด้วยกันกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านบริการและโซลูชันที่จะทำให้คนไทยทุกคนและไปรษณีย์ไทยได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าผ่าน Post Family ที่ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 600,000 ราย และตั้งเป้าให้ครบ 1,000,000 รายภายในปีนี้

การรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ของคนทุกเจเนอเรชันด้วยการใช้บริการไปรษณีย์ไทย เชื่อมโยงไปสู่ทุกจุดหมาย พร้อมเป็นแบรนด์ Top of Mind ที่ทุกคนนึกถึงทั้งในการช้อปปิ้ง ทำธุรกิจ ตลอดจนเป็นผู้นำด้านการให้บริการขนส่งที่หลากหลายในตลาดทั้งส่งใหญ่ ส่งยุ่ง ส่งยาก ส่งยา ส่งเย็น

-ไปด้วยกันให้ทุกชีวิตดีขึ้นได้จริง จะเป็นการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยหลัก ESG+E หมายถึง Environment, Social, Governance และ Economy ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนโดยการสร้างเครือข่ายการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย เช่น การก้าวสู่ผู้ให้บริการไปรษณีย์ด้วยระบบประหยัดพลังงาน โครงการ reBOX ที่ขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรกล่อง ซองอย่างคุ้มค่า การส่งเสริมรายได้สินค้าชุมชนผ่านไทยแลนด์โพสต์มาร์ทและโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข เป็นต้น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า