SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันที่ประเทศต่าง ๆ จะเฉลิมฉลองและเน้นย้ำถึง ‘สิทธิเด็ก’ เนื่องจากเป็นวันสิทธิเด็กสากล และในปี 2566 นี้ เราอาจจะต้องเน้นย้ำเรื่องสิทธิเด็กมากกว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากเด็กจำนวนมากกำลังตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติและความขัดแย้งที่รุนแรงทั่วโลก แต่ทั้งนี้วันเด็กสากลนั้นหมายถึงอะไรและสำคัญแค่ไหน?

วันที่ 20 พฤศจิกายนถูกกำหนดให้เป็นวันเด็กสากลขึ้นครั้งแรกในปี 2497 ซึ่งเป็นวันที่สมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นช่วงเวลาที่โลกต่างเผชิญกับผลกระทบที่หนักหนาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีเด็กหลายสิบล้านคนต้องเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ หรือกลายเป็นเด็กกำพร้า นั่นคือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิเด็กซึ่งเป็นหลักสำคัญภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน และในวันเดียวกันของปี 2532 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติก็ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนในทุกหนแห่ง โดยเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่นานาประเทศได้ให้สัตยาบันไว้มากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นคำมั่นสัญญาที่ก้าวข้ามเขตแดน ความแตกต่างทางวัฒนธรรม และภูมิทัศน์ทางการเมือง ซึ่งสะท้อนกึกก้องไปยังท้องถนนอันพลุกพล่านของมหานครนิวยอร์ค กระหึ่มป่าแอมะซอน และก้องกังวาลทั่วท้องทุ่งของประเทศไทย ข้อความในอนุสัญญาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังนั้น กล่าวว่า เด็กทุกคนในโลกนี้เกิดมาพร้อมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม แต่น่าเสียดายว่าเด็กจำนวนมากบนโลกนี้ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ  ซึ่งเราทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมกันคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฯ ในปี 2535 โดยได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเด็กในประเทศ  ในช่วง 75 ปีที่ยูนิเซฟได้ดำเนินงานในประเทศไทย ต้องถือว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ  และได้ก้าวจากประเทศรายได้ต่ำไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ซึ่งช่วยให้ผู้คนหลายสิบล้านคน รวมถึงเด็ก ๆ ได้หลุดพ้นจากความยากจน เมื่อยูนิเซฟเริ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อ 75 ปีก่อนนั้น เด็กมากกว่า 1 ใน 5 คนต้องเสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ปี เนื่องจากขาดสารอาหารหรือเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ แต่ทุกวันนี้มีเด็กเพียงไม่กี่คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้เหล่านั้น และเกือบทุกคนเข้าโรงเรียนก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ยูนิเซฟยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม หนทางนั้นยังอีกยาวไกล เพราะความท้าทายเก่า ๆ หลายอย่างก็ยังไม่จบสิ้น ในขณะที่ความท้าทายใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ เด็กในประเทศไทยจำนวนมาก เช่น เด็กชาติพันธุ์ เด็กผู้อพยพ หรือเด็กในพื้นที่ชนบท ยังคงเกิดมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำและมีแนวโน้มว่าจะประสบกับความยากจน เผชิญปัญหาด้านสุขภาพ ขาดโอกาส และเรียนไม่จบ นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ ที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพจิต ช่องว่างระหว่างรุ่น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกยุคนี้  ภัยออนไลน์ โรคอ้วน และ ‘ภาวะโลกรวน’ 

ความท้าทายเหล่านั้นปรากฏอยู่ในข้อมูลสถิติต่าง ๆ  เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ประมาณ 1 ใน 10 คนต้องเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ เช่น เตี้ยแคระแกร็น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือภาวะอ้วน และถึงแม้ว่าเด็กเกือบทุกคนจะได้เข้าเรียนแต่ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาเรียนรู้ได้ดี ผลสำรวจระดับชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 เกินครึ่งขาดทักษะการอ่านและการคิดเลขขั้นพื้นฐาน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ซึ่งหมายความว่า ศักยภาพของเด็กทุกคนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ

เด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากคิดว่า ระบบการศึกษาไม่ได้เตรียมพร้อมพวกเขาสำหรับตลาดแรงงานของศตวรรษที่ 21  และเสียงของพวกเขาก็ไม่ถูกรับฟัง ในขณะเดียวกัน เด็ก 7 ใน 10 คนเผชิญปัญหาสุขภาพจิต และเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปีจำนวน 1.4 ล้านคนในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม หรือที่เรียกว่ากลุ่ม NEET 

ความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยบนโลกออนไลน์ กำลังทำให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงสูงกว่าในอดีต ในปี 2564 เพียงปีเดียว มีเด็ก 400,000 คนในประเทศไทย หรือเกือบ 1 ใน 10 เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศและการแสวงหาผลประโยชน์ผ่านช่องทางออนไลน์ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การใช้ชีวิตลำบากยิ่งขึ้น ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงต่อผลกระทบด้านภาวะโลกรวนมากที่สุด และหากเราไม่ลงมือแก้ไขอะไรเลย ภายในปี 2593 เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาจากคลื่นความร้อนสูงบ่อยมากขึ้นและกินระยะเวลายาวนานขึ้น

จริง ๆ แล้ว เราสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้เฉกเช่นเดียวกับที่เราเคยเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ในอดีต แต่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยยูนิเซฟ รัฐบาลไทย ตลอดจนภาคประชาสังคมและภาคเอกชนต้องทำสิ่งใหม่ ๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ ยืดหยุ่น และปรับตัวกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญคือ เราต้องดึงเอาเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนอนาคตของพวกเขา เราต้องทำงานร่วมกับเด็ก ๆ  รับฟังมุมมองและเรียนรู้จากข้อมูลเชิงลึกของพวกเขา เราต้องช่วยให้พวกเขามีทักษะที่สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคต และพร้อมนำพาประเทศไทยให้รุ่งเรืองก้าวหน้า โดยเป็นสังคมที่เด็กทุกคนมีศักยภาพเต็มเปี่ยมและสิทธิของพวกเขาได้รับการคุ้มครอง  

ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะช่วยให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้และเติบโต มีความฝันและแรงบันดาลใจ เล่นและหัวเราะได้ เราจะไม่หยุดพักจนกว่าเด็กทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีโภชนาการที่ดี มีน้ำสะอาด และเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ช่วยให้เด็กไม่เพียงแต่มีชีวิตอยู่รอดเท่านั้น แต่เจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่อไปเพื่อให้โลกของวันพรุ่งนี้เป็นที่ ๆ เด็กทุกคนจะมีตัวตน มีคนรับฟังและมองเห็นคุณค่าของพวกเขา  และเป็นโลกที่ให้ความสำคัญกับเด็กในฐานะที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบอนาคต

เด็กทุกคนต้องมีความหวัง เด็กทุกคนต้องมีโอกาส เด็กทุกคนต้องมีอนาคต นี่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ถูกต้องที่เราต้องทำ แต่ยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนลสัน แมนเดลลา เคยกล่าวไว้ว่า “การจะมองว่าจิตวิญญาณของสังคมนั้นเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรที่จะชัดเจนไปกว่าการดูว่าสังคมนั้นปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร”  ดังนั้น ในวันนี้ เราอาจต้องมองเข้าไปในจิตวิญญาณของเราทุกคน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า