SHARE

คัดลอกแล้ว
กสศ. วุฒิสภา ทีดีอาร์ไอ และภาคี ระดมสมองรับเปิดเทอมใหม่ เสนอแนวทางจัดการศึกษากลับด้าน ให้อิสระโรงเรียนจัดการตามบริบทพื้นที่ แนะลดความเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีนครูก่อนเปิดเทอม พร้อมใช้ “ฐานข้อมูล” ออกแบบมาตรการลดความเหลื่อมล้ำตรงจุด ชู อสม.การศึกษาตัวช่วยครูนำการศึกษาไปให้ถึงเด็ก
 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือภาคีพันธมิตร วุฒิสภา TDRI The Reporters และ The Active Thai PBS จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม: สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึง’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในแวดวงการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมพูดคุยกันถึงประเด็นการศึกษาแบบ New Normal ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เพื่อร่วมกันแบ่งปันการทำงานในการศึกษาปัญหาและหาทางออกให้กับเด็กยากจน เด็กยากจนพิเศษ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ พร้อมตัวแทนคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้มาร่วมแบ่งปันนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ที่ใช้ได้ผลสำเร็จจากประสบการณ์จริง
นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา กล่าวว่า ทาง กมธ.ได้ลงไปทำวิจัยผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการศึกษา พบว่าในรอบที่ 3 สาหัสมาก หนึ่งในข้อเสนอคือ ควรให้เกิดการจัดการศึกษาได้ตามสภาพจริง บางพื้นที่วิกฤต แต่บางพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ จึงควรให้พื้นที่ที่ไม่มีโควิด-19 ระบาด จัดการเรียนได้เต็มหลักสูตรเต็มเวลา โดยยึดหลักควบคุมโรคระบาด ตามมาตรการวัดไข้ รักษาระยะห่าง ใช้เจลล้างมือ และต้องทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ 1. กระทรวงมหาดไทย 2. กระทรวงสาธารณสุข และ 3. กระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนี้ การจัดการศึกษาในพื้นที่บนเขา เกาะ ชนบท มีเทคนิคจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ควรนำวิธีเหล่านั้นมาถอดบทเรียนเพื่อจัดการเรียนการสอน อีกทั้งที่ผ่านมาพบว่าการบริหารจัดการการศึกษาที่สั่งการจากฝั่งกระทรวงศึกษาธิการไม่ประสบความสำเร็จ วันนี้สถานศึกษาควรจะเป็นคนกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนและส่งขึ้นมาให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจะได้เห็นความแตกต่างหลากหลาย ไม่ต้องเหมือนกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะมีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณและมาตรการช่วยเหลือ
นายตวงกล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญควรมีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่นำมาถอดเป็นบทเรียนชุดความรู้ ที่เกิดการมีส่วนร่วมจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อในอนาคตไม่ว่าจะเกิดวิกฤตรอบที่ 4 รอบที่ 5 ก็สามารถรับมือได้ โดยเชื่อมโยงทั้งพื้นที่ สถานศึกษา อสม. ว่าจะต้องจัดการศึกษาอย่างไร อีกทั้งบทเรียนที่ผ่านมาการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ DLTV มีปัญหาอะไรบ้างนั้น ยังมีอุปสรรค ทักษะบางอย่างเรียนออนไลน์ไม่ได้ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ต้องเป็นแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ไปจนถึงมีกระบวนการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาอารมณ์ สติปัญญา อีกทั้งหลังโควิด-19 อาจจะเป็นการสิ้นสุดของโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กลายเป็นโรงเรียขนาดพอดี เพื่อสามารถควบคุมดูแล รักษาระยะห่างในชั้นเรียนได้ ทำให้ผู้เรียนไม่ต้องหยุดเรียน ไม่ลืมบทเรียน ไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา
“ที่สำคัญคือ บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการต้องปรับใหม่ ต้องไม่ใช้การสั่งการ แต่ใช้การสร้างแรงจูงใจบุคลากรทางการศึกษา และอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ที่มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลว่า ควรมีการจัดสรรงบพิเศษ ไม่ใช่ให้โรงเรียนไปหักจากงบเดิมที่ใช้ไม่พออยู่แล้ว อีกทั้งควรมีกระบวนการให้โรงเรียนที่พร้อมเปิดเรียนได้ โดยมีความเป็นเอกภาพทางนโยบาย แต่หลากหลายทางปฏิบัติ โรงเรียนไหนพร้อมก็เปิดก่อนได้เลย ไม่ต้องรอพื้นที่อื่น และควรจะได้นำแนวคิดที่ผ่านมาไปต่อยอดนวัตกรรมจัดการศึกษาต่อไป” นายตวงกล่าว
แนะใช้ “ฐานข้อมูล” ออกแบบมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การทำงานบนฐานข้อมูลรายบุคคล รายโรงเรียน และรายพื้นที่ ด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้มองเห็นสถานการณ์หน้างานจริง สามารถออกแบบมาตราการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ข้อมูลในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ช่วยทำให้เห็นภาพจริงในปัจจุบันของเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ครัวเรือนมีรายได้น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ล่างของประเทศ
ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ กสศ. พบว่า ประชากรผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีบริบทความยากลำบากที่หลากหลาย ซึ่งจำเป็นที่รัฐต้องมีมาตรการที่หลากหลายและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาวะวิกฤตโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอมนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น
ปัจจุบันมีสถานศึกษามากถึง 510 แห่ง ที่มีนักเรียนยากจนพิเศษทั้งโรงเรียน โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และตาก นอกจากนั้นข้อมูลระบบ iSEE ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันยังมีสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Stand Alone) มากกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังต้องการการพัฒนาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นที่หลายด้าน เพื่อให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 นี้ ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีสถานศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้มากที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และแพร่ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานศึกษาที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้จำนวน 255 แห่ง กระจายตัวอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอนแก่น และร้อยเอ็ด มากที่สุด เป็นต้น
ดร.ไกรยสกล่าวว่า ปีการศึกษา 2563 ยังมีพื้นที่กว่า 78 ตำบล ที่ไม่มีโรงเรียนอยู่ในตำบลแล้ว ทั้งที่ในท้องถิ่นเหล่านี้ยังมีเด็กวัยเรียน 4,580 คน ที่ต้องข้ามตำบลไปเรียน และบางคนที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันยังมีเด็กวัยการศึกษาภาคบังคับ (6 – 14 ปี) มากกว่า 400,000 คน ที่ยังไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบการศึกษา นอกจากนั้น จากการสำรวจสภาพความพร้อมเรียนรู้ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในปี 2564 พบความแตกต่างระหว่างนักเรียนในครอบครัวฐานะดี ร้อยละ 20 อันดับแรก สามารถเข้าถึงโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ในพื้นที่เรียนรู้แบบส่วนตัวมากถึงร้อยละ 90 ในขณะที่นักเรียนในครอบครัวยากลำบากที่สุดร้อยละ 20 ลำดับล่าง โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีมีเพียงร้อยละ 10
บทเรียนจากการทำงานของ กสศ. ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลถือเป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีศักยภาพสูง การมีข้อมูลช่วยให้เรามองเห็นสถานการณ์จริงในพื้นที่ ได้ยินเสียงจากในพื้นที่ และทำให้ช่วยเหลือได้ตรงจุด อีกทั้งการมีข้อมูลยังสามารถแชร์ข้อมูลเหล่านี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียน และสุดท้ายการมีข้อมูลจะเชื่อมโยงไปสู่นโยบายที่มาจากปัญหาหน้างานจริง จากคนทำงานจริง ซึ่งไม่ใช่แค่การทำงานในช่วงเปิดเทอมปีนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปีต่อๆ ไป โดยการทำงานบนฐานข้อมูลที่มีคุณภาพสูงจากหน้างานจริงจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรามีการศึกษาที่เสมอภาคได้ในอนาคต” ดร.ไกรยสกล่าว
สแกนพื้นที่ทำความเข้าใจปัญหาออนไลน์และการศึกษาที่เข้าไม่ถึงเด็ก
นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยด้านการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดการศึกษามีความเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงเด็กบางกลุ่ม ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งคือ “เวลา” เนื่องจากโรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ตามกำหนด การจัดการเรียนการสอนทำตามปกติไม่ได้ ยิ่งตอกย้ำให้บางโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาต้องลดเวลาเรียนลง เด็กจึงเข้าถึงหลักสูตรได้ไม่ครบถ้วน ค่าเฉลี่ยของปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องลดเวลาเรียนจาก 200 วัน เหลือราว 180 วัน หายไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และจากบทเรียนในการจัดการศึกษาแบบ 4อ. คือ
ออนไลน์ ออนแอร์ สอนผ่าน DLTV ออนแฮนด์ ให้ครูเดินทางไปแจกใบงานในพื้นที่ และออนไซต์ คือให้เด็กสลับวันเข้ามาเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ พบว่ายังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีความพร้อมจะรับผลกระทบมากที่สุด นั่นทำให้เห็นว่า หากแก้ปัญหาเพียงเฉพาะหน้าโดยไม่เปลี่ยนวิธีการสอน เวลาที่มีอยู่จะไม่พอกับการเรียนรู้เนื้อหาทั้งหมด ดังนั้นการจัดการศึกษานอกจากแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์แล้ว ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เพื่อผลการศึกษาในระยะยาว หมายถึงการเรียนในภาวะวิกฤตที่เด็กจะยังได้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นรอบด้าน คือ ต้องมีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ใช้เวลาเรียนน้อยลง และสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่อยู่นอกโรงเรียนได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม นายพงศ์ทัศกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะเปิดเทอมใหม่ มาตรการระยะสั้นคือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เร็วที่สุด ก่อนเปิดเรียน เริ่มจากพื้นที่สีแดงเข้มก่อน ทั้งนี้ประเด็นหนึ่งคือ ต้องสร้างความมั่นใจในเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน เช่น คำแนะนำทางการแพทย์ในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละคนก่อนการรับวัคซีน และต้องมีมาตรการชดเชยกรณีที่เกิดการแพ้วัคซีนร่วมด้วย เชื่อว่าถ้ามาตรการเหล่านี้สื่อสารไปถึงทุกโรงเรียนได้ชัดเจน ก็จะทำให้ครูมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น
ในมุมของผู้ที่ทำงานในพื้นที่ ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า สภาพปัญหาของโรงเรียนพื้นที่สูงมักพบปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางและความแตกต่างทางวัฒนธรรมชนเผ่า โดยพบโรงเรียนที่มีปัญหาทั้งสิ้น 1,190 โรงเรียน แบ่งเป็นปัญหายุ่งยากมาก 259 โรงเรียน ยุ่งยากปานกลาง 565 โรงเรียน และยุ่งยากน้อย 366 โรงเรียน กระจายตัวอยู่ตามเขตชายแดน ไล่ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก และกาญจนบุรี ซึ่งพบว่านักเรียนหลายคนไม่สามารถเรียนออนไลน์ หรือเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ได้ สำหรับคุณครูที่เข้าไปในพื้นที่ก็พบกับความลำบาก มีพื้นที่เป็นภูเขาชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง บางครั้งชุมชนก็ไม่ไว้ใจครู เพราะเป็นคนแปลกหน้า กลัวว่าจะนำโควิด-19 เข้าไปติดเด็กๆ
โรงเรียนและการเรียนที่ต้องเปลี่ยนไป 
รศ. ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวิทยบริการ มหาววิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่า การจัดการศึกษาในช่วงหลังการเกิดวิกฤตโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไป อย่างแรกคือ วิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ทำให้คนเดินทางน้อยลง สื่อสารกันลดลง การวัดผลการศึกษาที่จากเดิมเน้นเรื่องศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเข้าสู่สถานประกอบการขนาดใหญ่ข้ามชาติ จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่ทำแบรนด์ท้องถิ่น เน้นการสร้างอาชีพใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ผลที่ตามมาคือ ความคาดหวังเรื่องผลลัพธ์ทางการศึกษาจะมุ่งเน้นที่เรื่องความคิด ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต ทักษะสังคม และการเป็นนักเรียนรู้เชิงรุกตลอดชีวิต
“เราจะไม่ยึดโยงกับโรงเรียนอีกแล้ว กระบวนการเรียนรู้จะไม่เป็นรายวิชาอีกต่อไป แต่จะเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการสาระวิชาต่างๆ ลงไป โรงเรียนจะลดความสำคัญลง การเรียนตามอัธยาศัยหรือการศึกษาทางไกลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ การเรียนจะพึ่งพิงกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ปัญหา สำหรับบทบาทของครูก็จะเปลี่ยนเป็นผู้แนะนำและประสานงานแทน” รศ. ดร.ธันยวิชกล่าว
ครูเคลื่อนที่ – อสม.การศึกษา – ครูหลังม้า นวัตกรรมการเรียนการสอนจากโควิด-19
ในการเสวนาออนไลน์ยังได้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่พิเศษ ที่ประสบความสำเร็จจากการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยก้าวข้ามข้อจำกัดของพื้นที่ มีการผสมผสานการสอนทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ บางพื้นที่มีอาสาสมัครการศึกษาที่อยู่ในชุมชนเข้าไปช่วยเสริมการเรียนการสอน เช่น ศิษย์เก่า รุ่นพี่ และปราชญ์ รวมไปถึงการระดมความร่วมมือจากผู้ปกครองและชุมชน ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยนกกก ตั้งอยู่ในเขตชายแดนจังหวัดตาก มีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีหมู่บ้านกระจายเป็นหย่อม ที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด-19 แต่ละระลอก ได้ลองจัดการศึกษาตามนโยบาย แต่ไม่ได้ผลดีนัก จึงคิดค้นวิธีแก้ปัญหาหลายรูปแบบ ทั้งให้เด็กพื้นที่ห่างไกลมาพักนอนและเรียนที่โรงเรียน จัดครูเคลื่อนที่เข้าไปสอนตามหมู่บ้าน รวมถึงคัดเลือกและมอบหมายให้ “พี่ครู” ทำหน้าที่สอนน้องๆ ในหมู่บ้าน
โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี ใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบหย่อมบ้าน แบ่งออกเป็น 7 หย่อม ใช้พื้นที่ศาลาวัด โบสถ์คริสต์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมู่บ้าน เพื่อแยกนักเรียนไม่ให้มารวมตัวกันมากเกินไป ลดการแพร่ระบาด มีการประสานความร่วมมือกับทั้งผู้นำชุมชน อบต. นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ผู้นำศาสนา พร้อมทั้งมีครูอาสาที่เป็นทั้งศิษย์เก่า ปราชญ์ชาวบ้าน คนในท้องถิ่น มาช่วยสอนเด็กๆ บางส่วนมีค่าตอบแทน บางส่วนไม่มีค่าตอบแทน เกิดการเชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เกิดการต่อยอด เรียนรู้จากแหล่งเรียนในชุมชน
โรงเรียนล่องแพวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนกระจายอยู่ตามเขาสูงทุรกันดาร ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต คนในพื้นที่รายได้น้อย ทำให้ร้อยเปอร์เซ็นต์เข้าไม่ถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จึงเกิดโครงการครูหลังม้าที่เป็นนวัตกรรมในอดีตของแม่ฮ่องสอน ซึ่งเปลี่ยนจากม้าเป็นมอเตอร์ไซค์บรรทุกสื่อการสอนไปตามพื้นที่แบบคละชั้น
นายประหยัด อุสาห์รัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยนกกก จังหวัดตาก กล่าวว่า สำหรับวันเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง ทางโรงเรียนได้มีมาตรการเตรียมพร้อมโดยให้ครูทุกคนกักตัว 14 วัน ส่วนนักเรียนให้กักตัวอยู่ที่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกแห่งต้องรู้และสามารถประเมินภาวะความเสี่ยงในพื้นที่ โดยแจ้งข้อมูลบุคคลเข้าออกหมู่บ้านให้ทางโรงเรียนทราบ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ในรูปแบบใด หากยังเปิดเรียนเต็มรูปแบบไม่ได้ การจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีครูเคลื่อนที่ การสอนแบบเว้นระยะห่างที่โรงเรียน และระบบพี่ครู ก็จะนำมาใช้ต่อไป
ด้านนายสยาม เรืองสุขใสย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาปลดล็อกทั้งระเบียบการจัดซื้อหนังสือ เพื่อให้สามารถใช้นำมาจัดทำแบบฝึกให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษา รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ที่มีการวัดผลต่างออกไป เน้นการวัดผลตามสภาพจริง ไม่ได้ยึดตามตัวชี้วัด แต่ยึดสาระที่คิดว่าสำคัญ ดูจากสภาพจริง ชิ้นงาน พัฒนาการผู้เรียน และให้พิจารณาการเปิด-ปิดสถานศึกษาตามความพร้อม หากพื้นที่ไหนพร้อมก็ให้เปิดออนไซต์ ซึ่งจะดีกว่าเรียนอยู่ที่บ้าน เรียนได้เต็มที่ และใช้มาตรการควบคุมการระบาด รวมทั้งอยากให้มีการสนับสนุนเรื่องเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และค่าใช้จ่าย เช่น เบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ให้กับบุคลากรที่ต้องลงพื้นที่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า