เมื่อวานนี้ (20 ธันวาคม 2566) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ทาง TODAY LIVE กรณีความสงสัยของประชาชนถึงอาการป่วยของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างรับโทษคดีทางการเมือง
หลังถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจเนื่องด้วยอาการป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจนถึงขณะนี้เหลือเวลาเพียง 120 วันที่ทักษิณจะเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ จึงทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยถึงอาการป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงท่าทีของกรมราชทัณฑ์ที่มีการออกระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำที่หลายคนมองว่าความเคลื่อนไหวนี้อาจเอื้อประโยชน์ให้กับ ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า สำหรับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ มีการออกกฎกระทรวงยุติธรรมในปี 2563 ให้ผู้ป่วยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำ หากโรงพยาบาลหรือสถานรักษาพยาบาลของราชทัณฑ์ในเรือนจำไม่สามารถให้การรักษาได้ผู้บัญชาการเรือนจำนั้น ๆ สามารถอนุญาตให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวนอกเรือนจำได้ หากว่าทักษิณมีอาการป่วยจริง การส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการ อย่างไรก็ตามนี่ควรเป็นสิทธิที่เปิดกว้างให้กับผู้ต้องขังทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่กับคนใดคนหนึ่งส่วนน้อย
ด้านอำนาจในการอนุมัติการรับการรักษานอกเรือนจำ ผศ.ดร.ปริญญา อธิบายว่า อำนาจในการอนุมัติเป็นของผู้บัญชาการเรือนจำ หากต้องออกนอกเรือนจำเกิน 1 เดือนจะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เช่นเดียวกันหากออกนอกเรือนจำเกิน 3 เดือนการอนุมัติยังขึ้นอยู่กับอธิบดีกรมราชทัณฑ์แต่จะต้องรายงานกับปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบด้วย แต่เมื่อครบ 4 เดือนต้องรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกรณีของทักษิณ ที่รักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลตำรวจจะครบระยะเวลา 4 เดือนในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 นี้
ผศ.ดร.ปริญญา เสริมว่า หากทักษิณมีอาการป่วยจำต้องรักษาภายในโรงพยาบาลจริง เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา แต่กรมราชทัณฑ์ต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่าทักษิณมีอาการป่วยจริง ซึ่งในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลเชิงลึกของสภาพร่างกายหรืออาการของผู้ป่วย แต่อาจเป็นคำยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาว่ามีอาการป่วยจริงต้องทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงจะทำให้ประชาชนหายเคลือบแคลงสงสัย
“ความจริงไม่ต้องรู้หรอกว่าความดันเท่าไหร่ น้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ หัวใจชีพจรกี่ครั้งต่อนาที หรือป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง ไม่ต้องรู้หรอก ขอเพียงแค่แพทย์ท่านยืนยันว่ากลับเรือนจำไม่ได้ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจต่อไป”
อีกทั้งหลังจากครบ 6 เดือนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ทักษิณจะเข้าเกณฑ์ในการพักโทษเสมือนกับการพ้นโทษก่อนเวลา จึงเป็นคำถามว่าขณะนี้หากประชาชนยังคงสงสัยในอาการป่วยของคุณทักษิณไปจนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์จะทำอย่างไร
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า กรณีการป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอาจกลายเป็นเรื่องการเมือง เนื่องจาก 17 ปีผ่านมานับตั้งแต่การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 มีความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ ซึ่งก็นับว่าสิ้นสุดไปแล้วนับตั้งแต่การจับมือกันระหว่างฝั่งผู้ยึดอำนาจและฝั่งถูกยึดอำนาจ แต่ในห้วง 17 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีความ ไม่ได้มีเพียงแค่ทักษิณที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ก็ต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับทักษิณ
นี่จึงเป็นแรงกดดันกลับมายังพรรคเพื่อไทย และถูกมองว่าจะกลายเป็นเรื่องทางการเมือง นอกเสียจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตั้งสสร. หรือการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตามแม้ว่าเพื่อไทยจำต้องทำด้วยแรงกดดัน แต่อาจมีความแตกต่างจากก้าวไกล เนื่องจากก้าวไกลมองว่าหลัง 22 พฤษภาคมปี 2557 ยังมีการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง ขณะที่เพื่อไทยจะนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ลงไป
ผศ.ดร.ปริญญา ได้กล่าวถึงกรณีที่ ราชทัณฑ์ออกระเบียบราชทัณฑ์ล่าสุด ซึ่งมีเนื้อหาหลักการเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ม.33 สามารถให้ผู้ต้องขังในเรือนจำสามารถไปคุมขังที่อื่นนอกเรือนจำได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยมีผู้ต้องหาและจำเลยอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจำนวน 50,000 กว่าคน และตามรัฐธรรมนูญ ม.39 จะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังไม่มีความผิดทั้งมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และการจับกุมคุมขังจำเลยจะทำได้เพียงเพื่อป้องกันการหลบหนี จึงไม่สมควรที่จะนำประชาชนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลกว่า 50,000 คนไปขังรวมอยู่ในเรือนจำ
ผศ.ดร.ปริญญา ชี้ให้เห็นช่องโหว่ของระเบียบราชทัณฑ์ โดยระบุว่า ตัวระเบียบมีการเนื้อหาไว้แบบกว้าง ๆ โดยผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ระเบียบคือกลุ่มนักโทษที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ และถูกศาลสั่งให้กักขังแทนการชำระค่าปรับ และกลุ่มผู้ถูกดำเนินการทางวินัย มีเพียง 2 กรณีนี้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ และกลุ่มที่เหลือเข้าเกณฑ์ระเบียบของการคุมขังนอกเรือนจำทั้งหมด อีกทั้งในข้อ 6 ของระเบียบมีการระบุว่า สถานที่กักขังจะเป็นที่อยู่อาศัยก็ได้ ซึ่งจะกลายเป็นว่าให้กลับบ้าน จึงมองว่าระเบียบมีเนื้อหาที่กว้างจนน่าสงสัย
ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่ในการคุมขังในระเบียบ ก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่คุมขังจะเป็นผู้ดูแลสถานที่หรือเจ้าของสถานที่ก็ได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นเจ้าของบ้าน ทั้งนี้การคุมขังนอกสถานที่ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะทำงาน มีคณะอธิบดีฝ่ายทัณฑวิทยา ตรวจสอบและแยกแยะว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน และส่งไปที่เรือนจำ ส่วนทางเรือนจำเห็นชอบจะส่งใครไปก็ส่งให้ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์อนุมัติ
เมื่อถามว่าคุณทักษิณเข้าเกณฑ์การคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า ทักษิณเข้าเกณฑ์ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ด้วยเนื้อหาเกณฑ์ที่กว้างมาก ในทางปฏิบัติหากระเบียบนี้เป็นการเฉพาะเจาะจงเพื่อเอื้อให้กับทักษิณ ก็อาจเป็นปัญหาได้ แต่หากบังคับใช้ระเบียบอย่างครอบคลุมในเรือนจำทั้งประเทศ ก็จะเป็นผลดีกับกลุ่มคนที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาหลายหมื่นคนซึ่งยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ รวมถึงคุณทักษิณก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนั้นด้วย ระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำฉบับนี้ก็ยังคงฟังขึ้น
“ถ้าหากไปเป็นการเฉพาะเจาะจงช่วยคุณทักษิณเป็นเรื่องแน่ แต่ถ้าหากทำแล้วทำทั้งประเทศทุกเรือนจำและเข้าเกณฑ์หลายหมื่นคน มีกลุ่มผู้ต้องขังที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ศาลยังไม่พิพากษา จัดที่ให้ใหม่ มีกลุ่มไหนกลุ่มไหน แล้วคุณทักษิณอยู่ในกลุ่มนั้นด้วยก็ยังฟังขึ้น แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงหรือมากหน่อยอาจจะแค่หลักสิบหลายสิบ ผมว่าเป็นเรื่อง”
อย่างไรก็ตาม ด้วยระเบียบนี้ออกมาระหว่างทักษิณต้องอยู่ในเรือนจำ จึงทำให้ประชาชนอาจมองได้ว่านี่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคุณทักษิณหรือไม่ ซึ่ง ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่าส่วนตัวตนเห็นใจเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่ปัจจุบันก็เอาจริงเอาจังกับการลดนักโทษในเรือนจำ ก็ต้องเรียนตรง ๆ ว่าเรื่องนี้ต้องทำให้ประชาชนหายสงสัย
ผศ.ดร.ปริญญา ทิ้งท้ายว่า ระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ฉบับนี้ เป็นระเบียบที่ว่าด้วยเรื่องการคุมขังในสถานที่คุมขัง จึงต้องไปตรวจทานว่าสถานที่คุมขังมีนิยามว่าอย่างไรเป็นไปตามกฎหมายราชทัณฑ์ มาตรา 33 จึงมีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่นำคำว่า นอกเรือนจำมาใส่ไว้ในระเบียบให้ถูกต้องและตรงตามเนื้อหาของระเบียบ เป็น ‘ระเบียบพระราชทานว่าด้วยการคุมขังในสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ’ ทำไมจึงใช้ชื่ออื่น
ก็สันนิษฐานว่า คงกลัวว่าประชาชนจะมองว่าการออกระเบียบดังกล่าว จะเป็นการเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ ตัดคำว่านอกเรือนจำออก แต่เมื่อตัดคำนี้ออกไปแล้ว กลับทำให้ประชาชนทวีความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งที่เรียนมาทั้งหมดเพียงจะชี้เห็นว่าที่ประชาชนสงสัยเป็นเพราะอะไร เพราะเรื่องนี้สำคัญมากและวนกลับมาเรื่องการเมืองอันกระทบมาถึงพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาล หากพูดในภาพรวมความยุติธรรมมันต้องเสมอภาคกับทุกคน ประชาชนต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
“จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกันก็ลำบากนิดนึง เพราะคุณทักษิณดันกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม แล้วก็พูดตรง ๆ นะครับว่า คุณทักษิณก็ใช้บริการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำไมไม่กลับประเทศไทยตอนที่คุณเศรษฐาเป็นนายกแล้วล่ะ ทำไมกลับประเทศไทยตอนที่คุณประยุทธ์เป็นนายก นำมาสู่การที่ สว. ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ยกมือให้คุณเศรษฐา ทางรวมไทยสร้างชาติทางพรรคพลังประชารัฐยกมือให้ ผมแค่วิเคราะห์ให้เชื่อมโยงกัน” ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าว