SHARE

คัดลอกแล้ว

รับต้นปี 2023 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่ง แห่ปลดคนออก ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Salesforce, Microsoft และ Google

ถ้านับตั้งแต่ปีที่แล้ว 2022 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีปลดคนไปแล้วกว่า 150,000 คน ทั่วโลก จนมาถึงปีนี้บริษัทเทคหลายแห่งยังเลย์ออฟพนักงานต่อเนื่อง หรือนี่เป็นแค่สัญญาณแรกเริ่ม เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ทำไมธุรกิจเทคโนโลยีจึงไม่สดใสเหมือนก่อน คนทำงานสายเทคจะทำอย่างไรต่อไป?

ย้อนรอย-ปลดต่อเนื่อง บริษัทไหนเลย์ออฟพนักงานไปแล้วบ้าง

เพียงช่วงเดือนแรกของปี 2023 บริษัทหลายแห่งได้ประกาศเลิกจ้างพนักงาน ไปแล้วหลายหมื่นตำแหน่ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี อย่างกรณีบริษัท Amazon ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ ประกาศปลดพนักงานระลอกใหญ่ 18,000 คน หรือคิดเป็นเกือบ 3 % ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 

และในวันเดียวกัน Salesforce ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ธุรกิจของสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศจะเลิกจ้างคนอีกประมาณ 8,000 คน หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนพนักงาน

ทางด้านของ Google ก็เอาด้วยปลดชุดใหญ่ 12,000 คน ส่วน Micrsoft ปลด 11,000 คน หรือ 5% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด หลังจากปีที่แล้วปลดพนักงานไปหลายพันคนในธุรกิจเกม

นอกจากนี้ บริษัท Adobe ก็ได้ประกาศลดพนักงานลงเช่นกัน ราว 100 ตำแหน่ง หรือจะเป็น Chime Financial สตาร์ทอัพธนาคารดิจิทัล ปลดพนักงาน 160 ตำแหน่ง และ Vimeo แพลตฟอร์มโฮสต์วิดีโอก็ได้ประกาศผ่าน LinkedIn ว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงาน 11% และบอกว่านี่คือ ‘ช่วงเวลาที่ยากลำบาก’

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต่อเนื่องมาจากปี 2022 หลายบริษัทได้ปลดพนักงานไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้ง Meta, Twitter, Tesla, Netflix, Soundcloud, Intel, Apple, Alibaba, Xiaomi และ Shopee 

ข่าวการปลดพนักงาน ได้สร้างความหวาดหวั่นใจให้กับคนที่ทำงานในสายนี้ไม่น้อย ธุรกิจเทคที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มั่นคงรายได้สูง แต่สถานการณ์ปัจจุบันชีวิตแปรเปลี่ยนแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ 

ข้อมูลจาก layoffs.fyi เว็บไซต์ที่ศึกษาและติดตามประเด็นการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี บอกว่า พนักงานจำนวนกว่า 152,000 คน ถูกเลิกจ้างในปี 2022 จากบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 แห่ง นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า การปลดพนักงานในกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งสูงขึ้นมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีการลดพนักงานเกือบ 53,000 คน

อัตราการเลย์ออฟพนักงานในธุรกิจเทคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างในปี 2022 มีจำนวนมากกว่าแรงงานเทคที่ตกงานจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ทั่วโลกในช่วงปี 2008 ซึ่งเคยอยู่ที่ราว 65,000 คน และในปี 2023 นี้มีความเป็นไปได้มันจะรุนแรงมากขึ้น 

เปิดสาเหตุธุรกิจเทคโนโลยี เสื่อมมนต์ขลัง 

ปี 2023 นี้ สถานการณ์ยังเสี่ยงสูงมากที่บริษัทเทคอีกหลายแห่ง อาจเลย์ออฟพนักงานเพิ่มเติมอีกล็อตใหญ่ กลายเป็นปรากฏการณ์ The Great Layoff ซึ่งถ้าเราไปย้อนไปดูสถานการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายสาเหตุที่ทำให้บริษัทเทคทั้งหลายจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายโดยการปลดคนออก

สาเหตุแรก คือการฟื้นตัวของสถานการณ์โควิด 19 ช่วงต้นปี 2020 โควิดระบาดหนักจนทำให้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์ ผู้คนใช้ชีวิตและทำงานที่บ้านกันมากขึ้น เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครือข่ายเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งในการทำงานและการเรียน รวมถึงกลุ่มธุรกิจเดลิเวอร์รี่ และ E-commerce ต่างได้รับผลพลอยได้ไปด้วย 

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมปรากฏการณ์ Talent War หรือสงครามแย่งชิงคนสายเทค หลายบริษัทจูงใจให้คนมาสมัครงานด้วยค่าจ้างที่สูง เพิ่มเงินเดือน ให้สวัสดิการและโบนัส เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการสปอยคนสายงานเทคโนโลยีก็คงจะไม่ผิดอะไร

แต่พอตัดภาพมาปี 2022 เมื่อสถานการณ์โควิด 19 เริ่มดีขึ้น ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ความต้องการใช้อุปกรณ์ไอทีหรือเครือข่ายเทคโนโลยีที่บ้าน ไม่ได้มากเท่าเดิมอีกต่อไป ผลประกอบการของบริษัทเทคทั้งหลายเริ่มลดลง ทั้งส่วนรายได้และกำไร 

สาเหตุที่สอง คือสภาพเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับมรสุมหลายอย่าง ทั้งปัญหาซัพพลายเชนชะงัก จากการล็อกดาวน์ในแหล่งการผลิตขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน รวมถึงปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ผลพวงจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงาน สินค่าราแพงขึ้นต่อเนื่อง กระทบไปในหลายประเทศทั่วโลก 

ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และพอปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในปี 2023 จากสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มเทคโนโลยี 

ดังนั้นแผนการต่างๆ ของบริษัทที่จะลงทุนเพิ่มหรือขยายธุรกิจต่อ จำต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ ยกเลิกไปก่อนหรือเลื่อนแผนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ดังนั้นการที่บริษัทได้จ้างคนมาก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก จ้างคนทำงานจนบวมมากเกินไป  เผื่อขยายธุรกิจในระยะยาว 

สุดท้ายมันไม่เป็นตามที่ตั้งใจไว้ ค่าจ้างคนกลายเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกิน เพราะต้นทุนในการจ้างคนสายเทคค่อนข้างสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ และพอเข้าสู่มาตรการรัดเข็มขัด บริษัทจึงจำเป็นที่จะต้องปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก 

สาเหตุที่สาม มูลค่าหุ้นเทคลดลงอย่างมาก มีรายงานออกมาว่าปีที่แล้ว มูลค่าของหุ้นเทคโนโลยีบริษัทใหญ่ๆ โดยรวมลดลงมากเลยทีเดียว ยกตัวอย่าง AAPL -29%, MSFT -28%, GOOG -39%, AMZN -51%, TSLA -69% และ META -64% และยังมีอีกหลายบริษัทที่มีทิศทางเป็นแบบเดียวกันนี้ โดย %ที่ลดลง ตีมูลค่าออกมาก็เป็นตัวเลขมหาศาลเลยทีเดียว

นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าหุ้นเทคในช่วงก่อนหน้านี้มีมูลค่าสูงเกินไป พอปีที่ผ่านมาเจออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการฟื้นตัวของสินทรัพย์อื่นๆ อย่างรวดเร็ว นักลงทุนเริ่มเปลี่ยนทิศทาง หุ้นเทคไม่น่าดึงดูดเช่นเดิม ก็มีส่วนทำให้มูลค่าของมันปรับลดลง

และสาเหตุที่สี่ คือการแข่งขันในธุรกิจเทคโนโลยีที่รุนแรง ดุเดือด แย่งส่วนแบ่งตลาดกันเอง ทำให้ผลกำไรลดลงด้วย เช่น ธุรกิจสตรีมหนังออนไลน์ เจ้าตลาดอย่าง Netflix  ที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งมานานหลายปี ตอนนี้ก็เริ่มหนาวๆ ร้อนๆ เมื่อมีคู่แข่งอย่าง Disney Plus และ Amazon Prime เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดคนดูมากขึ้น ทำเอาปีที่แล้ว Netflix มีช่วงที่ยอด Subscriber และกำไรเริ่มลดลง

เช่นเดียวกับสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ตอนนี้ก็เริ่มสั่นคลอนเช่นกัน จากการ Disrupt ของ Tiktok แพลตฟอร์คลิปวิดีโอสั้นที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจเทคยังไปต่อได้ไหม ในปี 2023?

แม้ในปี 2023 ธุรกิจเทคจะยังน่าจะเป็นห่วง สารพันปัญหายังไม่จบง่ายๆ แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจเทคโนโลยีจะแย่ไปซะหมด ที่จริงยังมีบริษัทเทคบางกลุ่มที่ยังไม่อิ่มตัว ธุรกิจยังเติบโตได้เรื่อยๆ และยังต้องการคนทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม Fintech และ Cyber Security

อย่างกลุ่มธุรกิจ Fintech เติบโตมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้กับด้านการเงิน การธนาคาร รวมถึงการลงทุน ตอบโจทย์คนในยุคนี้ที่ต้องการความสะดวกสบาย ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการทำธุรกรรมต่างๆ 

สำหรับ Hub ใหญ่ของสายงานด้าน Fintech  มีอยู่ 8 ประเทศอันดับหนึ่งคือสหรัฐอเมริกามีอัตราการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 223% รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 214% ตามมาด้วยสเปน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์

ส่วนตำแหน่งงานด้าน Fintech ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ Software Engineering and Development โดยเฉพาะในซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก และสิงคโปร์ มีการว่าจ้างตำแหน่งนักพัฒนาซอฟแวร์ ค่าตอบแทนสูงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน การพัฒนาซอฟต์แวร์จึงเป็นที่ต้องการในเกือบทุกอุตสาหกรรม และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

และเมื่อเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์  เกิดการโจมตีด้านความปลอดภัย ทำให้เกิดความต้องการตำแหน่งงานเกี่ยวกับด้าน Cyber Security ด้วย เพื่อลดปัญหาการคุกคามหรือละเมิดข้อมูล ที่มักจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล 

ทาง World Economic Forum คาดการณ์วความเสียหายทางไซเบอร์ปี 2023 จะอยู่ที่ราวๆ 8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 263 ล้านล้านบาท การเผชิญหน้ากับการโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกใช้งบไปราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 หรือเพิ่มขึ้น 12.4% ต่อปี แต่เมื่อเราเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น การใช้งบในการป้องกันความเสี่ยงเพียงเท่านี้ อาจจะยังไม่เพียงพอ 

ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาทองสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนี้ จากรายงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ พบว่าตำแหน่งงานนักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 35% ไปจนถึงปี 2029 

ส่วนทางด้านของ Roger Lee ผู้สร้างเว็บไซต์ Layoffs.fyi ได้วิเคราะห์แนวโน้มการปลดพนักงานในปี 2023 จะค่อยๆ ชะลอตัวลง สาเหตุมาจาก สภาพเศรษฐกิจที่จะค่อยฟื้นตัว ธนาคารกลางสหรัฐจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และมีความเป็นไปได้สูงที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้นการปลดพนักงานอาจจะลดลงด้วยในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 

นอกจากนี้ ตลาดงานโดยรวมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้จะมีการปลดคนออกในบางบริษัท แต่กลุ่มพนักงานเทคที่ตกงาน มักจะได้รับการว่าจ้างครั้งใหม่อย่างรวดเร็ว ยังความต้องการแรงงานเทคจากบริษัทอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รายงานจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 อัตราการเลิกจ้างพนักงานในอุตสาหกรรมเทค ยังถือว่าต่ำกว่า 1% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด 

ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่ทำงานด้านเทค ด้านไอที แล้ววันนึงเกิดถูกเลิกจ้างขึ้นมา ก็ไม่ต้องกังวลมากไป เพราะอแนวโน้มการหางานใหม่ในสายอาชีพค่อนข้างจะง่ายกว่าสายอื่น มีหลายบริษัทที่ยังคงจ้างงานสายเทคอยู่ และมีอัตราการเปิดรับสมัครงานมากกว่าการเลิกจ้าง 

Roger Lee ยังได้ให้คำแนะนำต่ออีกว่า หากคุณต้องการหางานใหม่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีแต่การเลิกจ้างแบบนี้ ควรพิจารณาอะไรบ้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่รู้ตัว 

อย่างแรก ต้องดูสถานะความมั่นคงของบริษัท และดูด้วยว่าบริษัทกำลังบริหารจัดการองค์กรอย่างไร เช่น มีการปรับโครงสร้างพนักงานหรือปรับขนาดองค์กรใหม่หรือไม่ อะไรที่พวกเขาให้ความสำคัญและไม่ให้ความสำคัญ จากนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าความเชี่ยวชาญของเรา สอดคล้องไปความต้องการของบริษัทหรือไม่ 

หากเป็นบริษัทมหาชน Lee แนะนำให้พิจารณารายรับ ผลกำไร และงบการใช้จ่ายเงินของบริษัทประกอบกันด้วย เช่น พวกค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ฯลฯ จะช่วยให้เห็นสถานะของบริษัทที่ชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ ควรสอบถามข้อมูลในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา เช่น แผนเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเช่นไร, ที่ผ่านมาบริษัทเคยปลดพนักงานมาก่อนหรือไม่ ถ้าเคย พวกเขาสื่อสารกับพนักงานแบบไหน และมีวิธีเยียวยาคนที่ต้องออกจากงานอย่างไรบ้าง ฯลฯ 

ข้อมูลเหล่านี้ก็จะช่วยให้ผู้หางานเข้าใจว่าบริษัทที่เราจะร่วมงานด้วย มีแนวทางการตัดสินใจและปฏิบัติต่อพนักงานของพวกเค้าอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้หางานสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจสถานะของบริษัทนายจ้าง รวมถึงตำแหน่งงานที่เราสมัครได้ 

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการพัฒนาทักษะความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ ควร Upskill และ Reskill เพิ่มทักษะให้หลากหลายมากขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสให้การทำงานได้ต่อไปหรือกระทั่งการหางานใหม่ๆ ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเจอกับวิกฤตต้องถูกเลย์ออฟหรือไม่ก็ตาม ตราบใดที่ทักษะความสามารถที่เรามีนั้น ยังตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ 

 

ที่มา : 

https://www.ft.com/content/d1e4beab-98ea-4636-954c-3163486e9f06

https://www.cnbc.com/2023/01/11/layoffsfyi-creator-expects-more-job-cuts-when-it-could-slow.html

https://www.mckinsey.com/capabilities/risk-and-resilience/our-insights/cybersecurity/new-survey-reveals-2-trillion-dollar-market-opportunity-for-cybersecurity-technology-and-service-providers

https://emeritus.org/blog/cybersecurity-jobs-in-cybersecurity/

https://www.relocatemagazine.com/talent-management-international-assignments-fintech-growth-spurs-exceptional-182-increase-in-tech-roles-rholmes-0422

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า