SHARE

คัดลอกแล้ว

กระแส #จดหมายปรีดี กลายเป็นเรื่องพูดถึงอย่างล้นหลามหลังจากเข้าสู้ปีมังกรได้ไม่ทันเต็มวัน เหตุเพราะส่วนหนึ่งหลายคนเข้าใจว่า จดหมายจะได้รับการเปิดในปี 2567 ทันทีหลังจากขึ้นปีใหม่ และคาดหวังว่าปลายปากกาของปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นทั้งอดีตนักการเมือง ผู้สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบุคคลสำคัญในกลุ่มคณะราษฎร์ที่จรดลงบนจดหมาย (หรือเอกสาร) จะสร้างปรากฏการณ์ต่อการเมืองไทยบ้างไม่มากก็น้อย

ทว่า หลังจากมีคณะเดินทางไปยังหอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเพื่อเผยแพร่จดหมายฉบับดังกล่าว พบว่าเอกสารที่เปิดอ่านไปกว่าครึ่งกลายเป็นเอกสารที่อนุญาตให้เข้าถึงได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว และเอกสารของปรีดีที่ถูกกำหนดให้เปิดในปีนี้จะเข้าถึงได้ในวันที่ 5 ม.ค. นำมาซึ่งการกระหน่ำตั้งคำถามทุกสารทิศถึงสถานะว่าจริงๆ แล้วเป็น ‘จดหมาย หรือเอกสารทางการทูต’ ซึ่งเขียนโดยทูตชาวฝรั่งเศสไม่ใช่ปรีดีกันแน่

TODAY LIVE เปิดบทสัมภาษณ์ ดิน บัวแดง อ.ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อ.สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เกียวโต สามเสาหลักกับทัศนะต่อ ‘#จดหมายปรีดี’

จดหมาย/เอกสาร กับข้อมูลปรีดีในหอจดหมายเหตุ

ดิน บัวแดง อ.ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ อธิบายว่า ข้อมูลที่ของปรีดีจากหอจดหมายเหตุการทูตกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ไม่ใช่จดหมาย 100% โดย อ.ดิน เริ่มต้นเปิดเอกสารปรีดีที่หอจดหมายเหตุการทูตกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสขณะกำลังศึกษาปริญญาเอกประวัติศาสตร์สงครามโลก ณ กรุงปารีส เพื่อใช้ในภาพยนตร์ Friendnomy ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี พนมยงค์และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่ง อ.ดิน ได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าข้อมูลของปรีดี พนมยงค์จึงได้พบกับเอกสารของปรีดีที่หอจดหมายเหตุทางการทูต

อย่างไรก็ตามหลังจากพูดคุยกับ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีข้อสันนิษฐาน 2 ข้อ ว่าเอกสารปรีดีเป็นเอกสารของกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส หรือเป็นเอกสารที่ปรีดีฝากเอาไว้

หลังจากนั้นก็มีกระแสเกี่ยวกับจดหมายปรีดี กระจายออกไปจนกระทั่งคนเข้าใจว่า เอกสารปรีดี เป็นจดหมายปรีดีที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสรับฝากเอาไว้ กลายเป็นข่าวลือที่หาที่มาไม่ได้

อ.ดิน ได้ค้นหาเพิ่มเติมช่วงปี 2019 ได้มีการเข้าค้นเอกสารของปรีดีอีกครั้ง ซึ่ง อ.ดิน ได้ถามเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสถึงชนิดของข้อมูลของปรีดีที่ถูกเก็บเอาไว้ เจ้าหน้าที่ได้ให้คำตอบว่าไม่ใช่จดหมายที่ปรีดีฝากเอาไว้แน่นอน เป็นเอกสารการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ

โดยหลังจาก อ.ดิน ที่ได้ค้นเอกสารของปรีดีชุดก่อนหน้าเอกสารปรีดีจะมี 2 ชุดในบัญชีเอกสารของหอจดหมายเหตุ ชุดแรกถูกเผยแพร่ในปี 2017 หลังจากนั้น อ.ดิน ได้ค้นอีกครั้งในปี 2019 เนื้อหาเกี่ยวข้องการลี้ภัยของปรีดีจากจีนไปยังฝรั่งเศสและไม่ได้เป็นจดหมายปรีดี และไม่มีเอกสารสักชิ้นที่เป็นลายมือของปรีดี พนมยงค์

อ.ดิน ยังเรียกร้องให้สื่อมวลชน นักวิชาการ และคนที่สนใจงดเรียกว่าเป็น ‘จดหมายปรีดี’ เพราะไม่มีจดหมายของปรีดีอยู่จริง มีเพียงเอกสารปรีดีที่เป็นเอกสารทางการทูตที่หอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเศสเก็บเอาไว้ การเรียกจดหมายปรีดีจึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่

เอกสารปรีดี 2017 มีเนื้อหาการ ‘ลี้ภัย’ ของปรีดีเท่านั้น

อ.ดิน ระบุว่า แฟ้มเอกสารปรีดีชื่อว่า 147QO/158 สามารถเข้าถึงเอกสารฉบับนี้ได้ตั้งแต่ปี 2017 เอกสารครอบคลุมตั้งแต่ปี 1965-1967 มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการลี้ภัยจากจีนไปยังฝรั่งเศสของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งปรีดีได้ลี้ภัยไปประเทศจีนหลังการรัฐประหารในประเทศไทยปี 1947 หลังจากลี้ภัยปรีดีกลับมาไทยหนึ่งครั้ง และอาศัยอยู่ในประเทศจีนระยะยาวตั้งแต่ปี 1948

เอกสารปรีดี (ซึ่งมีข้อมูลการลี้ภัยของปรีดีระหว่างปี 1965-1967) พูดถึงความพยายามของปรีดี ที่ต้องการออกจากประเทศจีน มีการต่อรองกับทูตฝรั่งเศส และทางการฝรั่งเศส ในเอกสารระบุถึงการส่งบุตรชายของปรีดีเดินทางผ่านประเทศลาวเพื่อเข้าประเทศไทยเพื่อเจรจากับทูตฝรั่งเศสถึงความต้องการลี้ภัยมายังฝรั่งเศส

ในเอกสารปรีดีฉบับดังกล่าวจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการประเมินของทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เป็นการประเมินข้อดี-ข้อเสียการเมืองระหว่างประเทศจากการอนุญาตให้ปรีดีลี้ภัยมายังฝรั่งเศสบนฐานความกังวลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศส-ไทย ซึ่งในเอกสารมีการยืนยันว่าจะไม่ออกหนังสือเดินทางหลังจากประเมินว่ารัฐบาลไทยจะเกิดความไม่พอใจ และในขณะนั้นประเทศไทยมีสหรัฐฯหนุนหลังอยู่ ฝรั่งเศสเริ่มมีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เนื่องจากช่วงนั้นฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีน

เอกสารของปรีดีจึงเป็นการตอบกลับไปกลับมาระหว่างทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ทูตฝรั่งเศสประจำประเทศจีน และกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเกี่ยวกับการประสงค์จะลี้ภัยของปรีดีจากจีนสู่ฝรั่งเศส ไม่ใช่จดหมายส่วนตัวของปรีดี พนมยงค์แต่อย่างใด

อ.ดิน ชี้ว่า แม้ว่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของปรีดีเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 หรือการประเมินจุดยืนทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทว่าก็เป็นการประเมินโดยทูตชาวฝรั่งเศสไม่ใช่ปรีดีเป็นผู้เขียน และมั่นใจว่าเอกสารปรีดีที่กำลังจะถูกเผยแพร่ในปี 2024 ก็จะเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาแบบเดียวกัน

ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดจึงต้องแยกเอกสารปรีดีเป็นสองชุด คือชุดที่สามารถเข้าถึงได้ก่อนหน้านี้และเอกสารชุดที่จะสามารถเข้าถึงได้ในปี 2024 เนื่องจากว่าหอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเศสมีระบบเก็บแฟ้มแบบแบ่งตามระยะเวลา ซึ่งเอกสารที่บันทึกช่วงปี 1965-1967 เป็นเอกสารที่ถูกเก็บในแฟ้มใหญ่รวมกับเอกสารทางการทูตทั่วไป ซึ่งเรื่องราวของปรีดียังต่อเนื่องหลังจากปี 1967 จึงมีเอกสารอีกส่วนที่ไม่ได้ถูกเก็บในแฟ้มนี้ เอกสารปรีดีจึงถูกแยกเป็นสองชุด

ทำไมถึงเพิ่งเปิดได้ตอนนี้?

อ.ดินระบุว่า หอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเศสมีกฎหมายว่าเอกสารทางการต้องเผยแพร่สู่สาธารณะเช่นเดียวกันกับหอจดหมายเหตุของประเทศไทย โดยกฎหมายปี 2008 กำหนดให้เผยแพร่เอกสารผ่านไป 25 ปี หลังจากปีในเอกสาร ยกเว้นว่าเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงของรัฐ สามารถยืดระยะเวลาออกไปเป็น 50 ปีได้

ซึ่งเอกสารของปรีดีเข้าหมวดหมู่ตัวบุคคลและเกี่ยวข้องกับคนยังมีชีวิตอยู่ด้วย จึงมีการยืดเอกสารของปรีดีไปอีก 50 ปี อีกทั้งในบัญชีของหอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสยังมีจดหมายประเภทเดียวกันและสามารถเผยแพร่ได้ในปี 2024 อยู่จำนวนมาก การเปิดเอกสารหลังผ่านไป 50 ปีจึงไม่ได้เสริมความสำคัญของเอกสารปรีดีมากขนาดนั้น

เมื่อเอกสารปรีดีไม่ใช่จดหมายส่วนตัว แล้วกระแส #จดหมายปรีดี เกิดจากอะไร

อ.ดิน ระบุว่ากระแสจดหมายปรีดีดังกล่าวเป็นความไม่มีวุฒิภาวะของกลุ่มปัญญาชน เช่น นักวิชาการสื่อมวลชนและกลุ่มนักกิจกรรม เนื่องจากเอกสารปรีดีจำเป็นที่จะต้องทำการค้นคว้าก่อนจะถูกนำมาเผยแพร่ว่าเป็นจดหมายหรือเอกสารปรีดี ดังนั้นการระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์เป็นจดหมายของปรีดีนั้นจึงเป็นการปล่อยข่าวปลอม

อาจารย์ดินระบุว่า แม้ว่าตนจะไม่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเอกสารปรีดีว่าเป็นจดหมายหรือเป็นเอกสารทางการทูต กลุ่มนักวิชาการเหล่านี้ก็ควรวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางการตั้งคำถามว่า จดหมายปรีดีมีจริงหรือไม่ แต่เมื่อตนได้เขียนบทความที่ชี้ให้เห็นว่าเอกสารของปรีดีมิใช่จดหมาย กลุ่มปัญญาชนยังคงตามกระแสและมองว่านี่เป็นจดหมายปรีดี อ.จึงมองว่านี่เป็นปัญหาของปัญญาชนไทย

อ.ดิน ตั้งคำถามว่า ในเมื่อกลุ่มของ อ.จรัล และคุณเล็ก ที่เดินทางไปเปิดเอกสารปรีดีในวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมารู้อยู่แล้วว่าข้อมูลการลี้ภัยของปรีดี พนมยงค์จากจีนไปยังฝรั่งเศสไม่ใช่จดหมาย และได้อ่านบทความของตนแล้วเหตุใดจึงสนใจเอกสารชุดนี้ขนาดนั้น หากสนใจเนื้อหาการลี้ภัยของปรีดี เหตุใดจึงต้องเข้าไปถ่ายทอดสด อีกทั้งยังมีเนื้อหาจากแหล่งอื่นๆ ที่พูดถึงการลี้ภัยของปรีดีอยู่เช่นกัน

อ.ดิน เสริมว่า สิ่งที่สะท้อนความไม่มีวุฒิภาวะของคนกลุ่มนี้คือยังเชื่อว่าเอกสารปรีดีเป็นจดหมาย หวังจะสามารถนำเอาจดหมายมาใช้เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองได้ อีกประเด็นคือจดหมายปรีดีเป็นนั้นอยู่ในกระแสจึงต้องการเข้าไปเปิดเป็นกลุ่มแรกๆ โดยไม่สนเนื้อหาด้านในว่าเป็นอย่างไร จึงมองว่านี่เป็นการปั่นให้เกิดกระแสเกินข้อเท็จจริง และกลุ่มปัญญาชนควรช่วยกันทานกระแสจดหมายปรีดีและสนใจในตัวเนื้อหาอย่างแท้จริง หากยังคงสนใจเนื้อหาอยู่

มุมมองต่อปฏิบัติการเปิดจดหมายปรีดี ในทัศนะของ อ.ประวัติศาสตร์

อ.ดิน ระบุว่า หากเป็นผลสะท้อนกลับมีผู้คนสนใจเรื่องราวของปรีดีมากขึ้นก็เป็นเรื่องดี และตนก็สนับสนุนความสนใจของผู้คนในทิศทางนั้น อย่างไรก็ตามตนตีความว่าทิศทางของกระแสการเปิดจดหมายปรีดีไม่ใช่เช่นนั้น

สิ่งที่ผู้ติดตามกระแสการเปิดจดหมายปรีดีคือ ‘จดหมายผิดซอง’ หากว่ามีสักคนหนึ่งที่สนใจเอกสารปรีดีจริงๆ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ทั้งนี้กลุ่ม (ปัญญาชน) หรือกลุ่มของ อ.จรัล ที่เข้าไปเปิดเอกสารปรีดี ณ หอจดหมายเหตุการทูตฝรั่งเศสพยายามที่จะสื่อปฏิบัติการนี้ไปในทิศทางนั้น เพียงเน้นเพื่อความตื่นเต้นทำให้กระแสจดหมายปรีดียังคงไปต่อเช่นเดียวกัน

เบื้องหลังไลฟ์เปิด ‘เอกสารปรีดี’

ด้าน ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ยืนยันมานานแล้วว่าเป็นเอกสารปรีดีไม่ใช่จดหมาย ไม่มีเหตุผลที่ปรีดีจะเขียนจดหมายไปให้กับกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส อีกทั้งปรีดีไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสที่ต้องขึ้นกระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานของรัฐฝรั่งเศส นอกจากจะมีข้อเขียนของปรีดีที่ต้องการเขียนถึงกระทรวงการต่างประเทศซึ่งก็ไม่น่าจะมีเนื้อหานี้เช่นเดียวกัน

ผศ.จรัล ระบุถึงการเดินทางไปเปิดเอกสารปรีดีที่หอจดหมายเหตุการทูตฝรั่งเศสว่าตนไม่ได้สนใจเอกสารฉบับนั้นมาก และส่วนตัวอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสจะเดินทางไปดูเอกสารฉบับนั้นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่พอดีว่า จรรยา ลิ้มประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยได้เดินทางมาเยี่ยมคณะไฟเย็นประจวบเหมาะกับใกล้วันที่เอกสารปรีดีครบกำหนดให้เข้าชมได้ จึงมีการนัดแนะกันไปดู

อย่างไรก็ตาม อ.ชี้ว่า หากเป็นผู้ที่มีความสนใจทางการเมืองและประวัติศาสตร์เดินทางมายังฝรั่งเศสในช่วงที่สามารถเข้าถึงเอกสารปรีดีพอดีก็คงไปเปิดเอกสารเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเหตุการณ์หนึ่งตนจึงเดินทางไปกับจรรยา โดยทั้งกลุ่มที่เดินทางไปยังหอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเศสทราบอยู่แล้วว่าเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปรีดีนั้นเป็นเอกสารไม่ใช่จดหมาย เนื่องจากตนชี้แจงไว้แล้ว

แต่ปัญหาคือ ขณะที่เดินทางไปดู มีคนสนใจ และเกิดกระแสในประเทศไทย จึงมีคนโทรมาสอบถามกับ ผศ.จรัลว่าจะเดินทางไปเปิดเอกสารหรือไม่ และมีบางคนบอกให้ตนเดินทางไปดูเอกสารในวันแรกที่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากส่วนตัวมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของปรีดี พนมยงค์ ประกอบกับการเดินทางมายังฝรั่งเศสของจรรยา และมีกำหนดกลับฟินแลนด์ในอีกไม่กี่วันตนจึงเดินทางไป

เมื่อคณะของผศ.จรัลเดินทางไปถึงหอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ได้ให้ซองจดหมายจำนวน 2 ซอง อีกซองสามารถเปิดได้ในวันที่ 5 ม.ค. 2567 ซึ่งตนไม่ทราบว่าเอกสารซองใดในสองซองนี้เป็นเอกสารเก่าที่เปิดไปแล้วและอันไหนเป็นเอกสารใหม่ที่ยังไม่ได้ทำการเปิด ปรากฏว่าฉบับที่ทางคณะรับจากเจ้าหน้าที่มาเปิดในวันที่ 2 ม.ค. เป็นเอกสารฉบับเดิมที่ อ.ดิน ทำการเปิดไปแล้วก่อนหน้านี้

ผศ.จรัล ระบุว่า ไม่ได้มีการเตรียมการกันมาก่อน สำหรับการชวนคุณยัน มาร์ฉัล ด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหาในการเข้าไปยังหอจดหมายเหตุทางการทูตจะให้มาร์ฉัลเป็นผู้พูดคุย ไม่ได้มีเจตนาให้เป็นผู้แปลเอกสารดังที่เห็นในการถ่ายทอดสดตั้งแต่แรก เหตุที่ต้องให้มาร์ฉัลเป็นผู้แปลเนื่องจากในคณะมีเพียง ผศ.จรัลเท่านั้นที่เข้าใจภาษาฝรั่งเศส และเมื่อเปิดเอกสารมาแล้วต้องผ่านการแปล และหากเปิดเอกสารแล้วถ่ายรูปออกมามันก็จะเป็นอะไรที่แปลก เมื่อมาร์ฉัลที่เข้าใจภาษาฝรั่งเศสอยู่ตรงนั้นจึงช่วยแปลภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย

สำหรับ ‘จอมไฟเย็น’ ที่เดินทางมายังหอจดหมายเหตุทางการทูตฝรั่งเศสหลังคณะ ได้ถามคณะว่าสามารถถ่ายทอดสดเอกสารของปรีดีที่กำลังเปิดอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งตนดูจากระเบียบแล้วคิดว่าได้ แต่อาจจะเป็นการรบกวนบุคคลอื่นที่กำลังใช้หอจดหมายเหตุอยู่บริเวณใกล้กัน จึงตัดสินใจถ่ายทอดสด

แต่ปัญหาคือเมื่อคณะทำการเปิดเอกสารไปทีละหน้าจะไม่อ่านเอกสารเลยก็เป็นไปไม่ได้ จึงต้องให้หนึ่งในคณะแปลแบบสรุป และเมื่อมีการถ่ายทอดสดจึงไม่สามารถใช้เสียงที่ดังเกินไปได้ โดยมีเจ้าหน้าที่มาเตือนการใช้เสียงอยู่เป็นระยะ

อีกทั้งข้อกำหนดการเข้าใช้หอจดหมายเหตุทางการทูตกำหนดให้สามารถเข้าดูเอกสารได้ครั้งละ 2 คน ในระยะเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งทางคณะเดินทางไปจำนวน 5 คน ในตอนหลังจึงมีเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุขอให้ทางคณะผู้อ่านเอกสารปรีดีเหลือ 2 คน จึงมีเพียงจรรยา และอ.จรัล ที่อยู่ดูเอกสาร

สำหรับในตอนแรกที่สามารถเข้าหอจดหมายเหตุได้ทั้ง 4 คนก่อนจะเพิ่มมาเป็น 5 คนเมื่อ ‘จอมไฟเย็น’ เข้ามาสมทบ เนื่องจากได้มีการขอร้องเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุเจ้าหน้าที่จึงยอมให้เข้าไปด้านในทั้งหมด

รู้ตอนไหนว่าจดหมายผิดซอง

ผศ.จรัล ระบุว่า ตนรู้ก่อนคณะแต่ไม่ได้บอกกับคณะ เนื่องจากเมื่อเปิดเอกสารไปแล้วตนเห็นว่าเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ อ.ดิน ได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านั้นแล้ว จึงเห็นว่าเป็นเอกสารที่เปิดไปแล้ว แต่ด้วยความที่เอกสารฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการลี้ภัยของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจจึงเปิดต่อ

อีกทั้งหากบอกว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารผิดซองขณะถ่ายทอดสดก็จะเป็นเรื่องน่าเกลียด เป็นเรื่องของสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่หลังจากถ่ายทอดสดเสร็จจึงได้มีการเดินไปขอเอกสารอีกฉบับกับเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเอกสารอีกฉบับสามารถเปิดได้ในวันที่ 5 ม.ค. และสามารถอ่านได้ผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้นไม่มีการยกแฟ้มเอกสารออกมา โดยส่วนตัวมองว่าทางหอจดหมายเหตุยังโหลดไม่เสร็จจึงยังไม่สามารถดูเอกสารได้

อย่างไรก็ตามตนมองว่าการเปิดเอกสารผิดซองเป็นความผิดพลาด ซึ่งหากตนรู้ตั้งแต่เห็นซองจดหมายก็อาจจะไม่เปิดจดหมายซองนั้น และกลับมาอีกทีในวันที่ 5 ม.ค.

ผศ.จรัล ระบุว่า เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความไม่มีวุฒิภาวะส่วนตัวก็รับฟัง แต่ยังเห็นต่างกับ อ.ดิน ในแง่ที่ว่าการเปิดเอกสารทางการทูตของปรีดีในครั้งนี้เป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนที่รอคอยการเปิดเอกสารมากว่า 4-5 ปีได้ยินได้ฟัง และมองว่าเอกสารฉบับดังกล่าวมีคนไทยไม่ถึง 10 คนที่ได้เห็นและได้อ่าน เพราะงั้นการเปิดเอกสารทางการทูตของปรีดีและเผยแพร่เอกสาร ก็ทำให้คนจำนวนมากได้รับรู้ข้อมูลของเอกสาร

อ.จรัล ยังระบุว่านี่คืองานการเมืองทำให้เกิดความสนใจและตื่นตัวความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย เพราะกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยค่อนข้างต่ำมาเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 64-65 ซึ่งจากการประเมินมองว่านี่เป็นสถานการณ์ทางการเมืองอันแรกรับปีใหม่นอกเหนือจากการอภิปรายงบประมาณแผ่นดิน

อีกทั้งหากทางคณะไปค้นคว้าเอกสารปรีดีแบบเงียบๆ แล้วจะมีประโยชน์อะไร ก็มีประโยชน์เฉพาะกับอาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษา แต่เอกสารของปรีดีก็อาจไม่ถูกพูดถึง ซึ่งตนมองว่าหากวิญญาณปรีดียังอยู่แล้วเห็นว่าไม่มีใครสนใจท่าน ท่านก็คงน้อยใจ อ.จรัล ระบุ

ด้าน รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อ.สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เกียวโต ชี้ว่า การเดินทางไปเปิดเอกสารทางการทูตของปรีดี พนมยงค์ก็มีมุมมองอื่นที่คำนึงเช่นกัน ประการแรกคือการศึกษาจุดประสงค์ว่าไปเพราะเหตุใด และต้องเตรียมตัวอย่างไร ไม่ใช่บังเอิญว่าอยู่ที่ฝรั่งเศสพอดีแล้วอยากไปก็เดินทางไปได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่จะไปมองว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก

สำหรับมุมมองด้านวิชาการ รศ.ดร.ปวินระบุว่า ทุกคนที่เข้าไปค้นคว้าข้อมูลในหอจดหมายเหตุรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง เช่น การไม่ส่งเสียงดัง ห้ามถ่ายทอดสด สามารถเข้าได้กี่คน ซึ่งนี่เป็นระเบียบปฏิบัติพื้นฐานที่ต้องรู้ แต่ทางคณะกลับถือวิสาสะละเมิดระเบียบนั้นนั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

รศ.ดร.ปวิน เผยว่า ส่วนตัวรับทราบเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ ว่าเนื้อหาของปรีดีที่สามารถเปิดได้ในปี 2024 นี้เป็น ‘จดหมาย’ เนื่องจากไม่ทราบว่าเนื้อหานั้นถูกเก็บไว้ยังสถานที่ใด แต่หากทราบว่าถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุทางการทูตกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสก็จะเข้าใจว่านั่นไม่ใช่จดหมายปรีดี ซึ่งเมื่อถูกเก็บในหอจดหมายเหตุก็จะเป็นเอกสารทั่วไปๆ ที่ไม่ใช่ข้อมูลของตัวบุคคล

แต่แม้ว่าจะไม่ใช่จดหมายของปรีดี เป็นเพียงเอกสารการตอบกลับและการประเมินทางการทูตเกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดี แต่ตนก็ยังมองว่ายังคงมีความสำคัญในฐานะของผู้ที่เป็นนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการ เพราะสามารถบอกได้ว่านอกจากความคิดและความรู้สึกของปรีดี เอกสารยังพูดถึงบริบทการเมืองในยุคนั้นระหว่างปี 1968-1972 ทั้งยังพูดต่อไปถึงเรื่องมุมมองของฝรั่งเศสต่อการเมืองไทยสมัยนั้นไม่เพียงเรื่องของปรีดีเท่านั้นด้วย

รศ.ดร.ปวิน เปิดเผยว่าตนรู้สึกว่าการเดินทางไปเปิดเอกสารปรีดีที่หอจดหมายเหตุการทูตเป็นเรื่อง ‘เสียเปล่า’ เนื่องจากคณะที่เปิดเอกสารไม่ได้นำข้อมูลไปใช้ในบริบทอื่นต่อ มองว่านี่เป็นการชิงพื้นที่สื่อ และเห็นด้วยกับ อ.ดิน ที่มองว่าคณะที่เดินทางไปยังคำนวณไม่เพียงพอว่าจะใช้ประเด็นการเมืองโจมตีกลุ่มจารีตนิยม อีกประเด็นก่อนเริ่มคำถามถัดไป รศ.ดร.ปวิน ระบุว่าการพาผู้ที่ไม่สามารถแปลภาษาฝรั่งเศสไปด้วยนั้นแทบจะไม่มีความหมาย

รศ.ดร.ปวิน ยังชี้ว่า ที่ อ.จรัล อ้างว่าการเปิดเอกสารปรีดีทำไปเพื่อสร้างความตื่นตัวทางการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่าประชาชนตื่นตัวกับเรื่องนี้มานาน หนำซ้ำเมื่อมีคณะของ ผศ.จรัลทำการเปิดเอกสารแต่เป็นเอกสารผิดฉบับก็จะเป็นการลดกระแสความสนใจของประชาชนลงด้วยเช่นกัน

บริบททางการเมืองของปรีดี กับการเมืองยุคปัจจุบัน

รศ.ดร.ปวิน อธิบายว่า เป็นการยากที่จะเอาประเด็นของจดหมายปรีดีมาใส่ในบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะแยกขาดทั้งสองบริบทออกจากกันไม่ได้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับปรีดี พนมยงค์ในปี 1968-1972 มันตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทย ณ วันนี้ ก็ยังคงไม่สัมพันธ์กัน

ดังนั้นการพยายามระบุว่า ความพยายามในการเปิดเอกสารทางการทูตของปรีดีในวันที่ 2 ม.ค. เป็นการกระตุ้นทางการเมืองยังไม่สมเหตุสมผล จึงมองว่าการเดินทางไปเป็นเอกสารของปรีดีเป็นเพียงความต้องการส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ปรีดีที่จะต้องเป็นผู้เปิดเอกสารคนแรกเท่านั้น

เมื่อถามว่ามูฟเม้นต์เปิดจดหมายปรีดี เป็นการปลุกกลุ่มจารีตนิยมหรือไม่ รศ.ดร.ปวิน เผยว่า เป็นแบบนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินการเปิดเอกสารปรีดีของกลุ่ม อ.จรัล นั้นเป็นสิทธิของกลุ่ม และทุกคนมีสิทธิที่จะทำ เพียงแต่หากจะควรไปแบบมียุทธศาสตร์ ไปด้วยความสนใจ และมีแผนต่อไปว่าจะทำอะไร

ส่วนตัวมองว่าฝ่ายจารีตนิยมก็ต้องการจะรู้ว่าเอกสารทางการทูตของปรีดีมีเนื้อหาอย่างไร เพราะแม้ว่ากาลเวลาผ่านไป แต่การเขียนประวัติศาสตร์ย้อนหลังกลับไป แต่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงและสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลา ซึ่งรัฐไทยเก่งมากในการแก้ไขความทรงจำทางประวัติศาสตร์เพื่อให้ประโยชน์ต่อรัฐ อ.ปวิน เสริมว่า รัฐไทยสมัยใหม่ไปไกลมากกว่าการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่คือมีการเคลื่อนย้ายอนุสรณ์สถาน ซึ่งเป็นส่วนของการเปลี่ยนแปลงความจำทางประวัติศาสตร์ของไทย

เมื่อมีการเปิดข้อมูลภายในเอกสารของปรีดีแล้ว ฝ่ายตรงข้ามก็อาจนำข้อมูลมาแย้ง ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าเราจะทราบดีอยู่แล้วว่าสิ่งที่ฝั่งจารีตนิยมนำขึ้นมาถกเถียงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลก็ตาม แต่ก็ปล่อยให้ถกเถียงกันได้

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปวินชี้ว่า ความผิดพลาดในการนำเอกสารทางการทูตของปรีดีผิดฉบับออกเผยแพร่สู่สาธารณะ อาจเป็นช่องโหว่ให้กลุ่มจารีตนิยมใช้เป็นเป้าโจมตีว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ และจะยังผลความน่าเชื่อถือไปถึงการเปิดเอกสารปรีดีฉบับเปิดได้ในวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งในแง่การเมืองข้อมูลที่ได้จากเอกสารของปรีดีฉบับดังกล่าวอาจถูกลดทอนไป แต่ในแง่ทางวิชาการจะยังไม่ถูกลดทอนซึ่งฝ่ายจารีตอาจจะไม่โฟกัสทางด้านวิชาการ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า