SHARE

คัดลอกแล้ว

เคยคิดกันเล่นๆไหมครับ ว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเราจะไปจบลงตรงไหน สำหรับผมลองนึกทุกแง่มุมดูแล้ว คงไม่มีวันจะจบได้แบบสันติวิธีแน่ๆ นั่นเพราะรัฐไม่มีท่าทีจะประณีประณอมใดๆ กับผู้ชุมนุมเลย สิ่งที่รัฐทำแต่ละดอก ไม่มีการครึ่งทางใดๆทั้งนั้น คิดแต่จะรับ แต่ไม่คิดจะให้ แล้วหวังกดอีกฝ่ายด้วยความรุนแรงเพื่อให้ยอมรับสิ่งที่รัฐบาลต้องการ แล้วเมื่อเป็นแบบนี้มันจะ “สร้างความเข้าใจร่วมกัน” ได้อย่างไร

การที่ผู้ชุมนุมระเบิดความแค้น และเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ โจมตีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สาเหตุมันง่ายๆ เพราะรัฐกดพวกเขาไว้ โดยไม่ให้ทางออกใดๆเลย เปรียบเทียบเหมือนกาต้มน้ำที่ร้อนระอุ แต่ไม่มีช่องทางระบายออก สักวันหม้อก็ต้องระเบิดจนได้ ซึ่งความรู้สึกของผู้ชุมนุมก็ไม่ต่างกัน เวลาคนโดนบีบ โดนกดดัน โดยไม่ให้ทางออกใดๆ สุดท้ายความอดทนก็ต้องหมดลง

เมื่อวันหนึ่ง ผู้ชุมนุมทนไม่ไหว แล้วไปใช้ความรุนแรงขึ้นมาสักวัน จุดนั้นรัฐบาลก็จะหยิบเอาเรื่องนนี้มาสร้างความชอบธรรมในการปราบปราม มันเป็นกลยุทธ์ที่มีเป้าหมาย คือให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้อย่างสิโรราบ คำถามคือ รัฐบาลทำไมต้องการแบบนั้นล่ะ ไม่ต้องการให้เรื่องนี้มันจบสวยที่สุดหรือ?

21 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ว่า “ในเวลานี้ เราต้องถอยคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆตกลงไปสู่หายนะ”

ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ทำตามที่พูดไว้คือ “ถอยคนละก้าว” จริงๆ บรรยากาศการเมืองจะดีกว่านี้มาก และมันจะไม่นำมาสู่จุดที่เต็มไปด้วยความกราดเกรี้ยวและความรุนแรงขนาดนี้แน่นอน

สิ่งที่สร้างความสับสนให้ประชาชนก็คือ คำว่าถอยคนละก้าวคืออะไร? ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์พูดขึ้นมา จนถึงเวลานี้ 1 เดือนพอดี รัฐบาลถอยอะไรไปแล้วบ้าง

คำตอบคือ “ไม่มีเลย” ฝั่งรัฐไม่มีท่าทีในการถอยใดๆเลย

ข้อเสนอ 3 ข้อ ที่เป็นหัวใจในการเรียกร้องของผู้ชุมนุม คือ

[ ข้อเสนอ 1 – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ]

ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธอย่างง่ายดายมากๆ เพียงแค่สามวันหลังจากนายกฯ ประกาศถอยคนละก้าว โดยนายกฯ กล่าวว่า “ไม่ลาออก” และไม่มีการพิจารณาใดๆทั้งสิ้น

ไม่มีการหาตัวแทนขึ้นมาบริหารประเทศแทน ไม่มีทางออกยุบสภา ไม่มีอะไรเลย นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ ถืออำนาจเอาไว้แล้วเป็นผู้นำประเทศต่อไป

[ ข้อเสนอ 2 – การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสมาชิก ]

อย่างที่เราทราบกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหามาก เพราะมันให้พลังกับวุฒิสมาชิก (ส.ว.) มากเกินไป การแก้มาตราใดๆก็ตาม คุณต้องมีวุฒิสมาชิกเห็นชอบ 1 ใน 3 ไม่อย่างนั้น ญัตติก็จะถูกปัดตกไป

ปัญหาคือ ส.ว. 250 คน ถูกแต่งตั้งโดยคสช. ดังนั้น ส.ว.ในปัจจุบัน ไม่ได้มีพลังในการเลือกโหวตอย่างอิสระ แต่จะเทคะแนนเสียงไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการทั้งสิ้น เราดูได้จากทุกการโหวต คะแนนของ ส.ว. ราว 99% จะเทไปให้ฝั่งรัฐบาลเสมอ

เหมือนตอนเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงปีที่แล้ว ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปรากฎว่า ส.ว. 250 คน เลือกพล.อ. ประยุทธ์ 249 คน และอีก 1 คน งดออกเสียง ในฐานะรองประธานรัฐสภา

มันเห็นๆกันชัดเจนอยู่แล้วว่า ส.ว. ณ ปัจจุบัน ถูกแต่งตั้งขึ้น เพื่อเวลามีการโหวตใดๆก็ตาม ที่จะเป็นภัยต่อรัฐบาล ก็จะใช้พลังของ ส.ว.โหวตบล็อค ไม่ให้การแก้กฎหมายนั้นเกิดขึ้น

เราต้องยอมรับความจริงกันก่อน ว่า ส.ว.ไม่ได้มีขึ้นเพื่อสร้างความยุติธรรม แต่มีขึ้นเพื่อเป็นฐานเสียงของฝั่งคสช.แค่นั้น

ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผู้ชุมนุมคาดหวังมากที่สุด คือร่าง 3 ร่าง 4 และ ร่าง 7 ที่เกี่ยวกับการลดอำนาจของส.ว.โดยตรง

ร่าง 3 ถูกเสนอโดยฝ่ายค้าน ระบุให้ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เรื่องการปฏิรูปประเทศ การวางยุทธศาสตร์ 20 ปี

ร่าง 4 ถูกเสนอโดยฝ่ายค้าน ระบุให้ ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ร่าง 7 ถูกเสนอจากภาคประชาชน (iLaw) ระบุให้ยกเลิก ส.ว.ชุดนี้ทั้ง 250 คนไปเลย และยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่ คสช.วางไว้ด้วย

แต่ปรากฎว่า ร่าง 3, 4, 7 ที่เกี่ยวพันกับอำนาจของส.ว.โดยตรง ถูกปัดตกไม่ให้ผ่านตั้งแต่รอบแรก โดยในการโหวต 250 คะแนนเสียงของ ส.ว.ใช้เทคนิค “งดออกเสียง” เป็นส่วนใหญ่ ว่าง่ายๆคือ ส.ว.ไม่ต้องการลดอำนาจของตัวเอง และคิดว่าตัวเองสมควรจะมีอำนาจมหาศาลแบบเดิมต่อไป

สุดท้ายในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญก็เลยผ่านแค่ ร่าง 1 กับ ร่าง 2 ซึ่งก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไร เพราะมันผ่านอยู่แล้ว

ที่เราเห็นแน่ๆ คือสภาที่บอกว่า “จะหาทางออกให้ประเทศ” หลังจากโหวตมันหาทางออกได้ไหมล่ะ? ก็ไม่ได้อยู่ดี

จุดนี้ ผู้ชุมนุมก็กลับมาคิดอีก แล้ว “มันถอยคนละก้าว” ตรงไหน ในเมื่อส.ส.ฝั่งรัฐ และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกของคสช. ไม่ได้มีท่าทีจะแสดงความจริงใจ ในการลดอำนาจตัวเองลงเลย

[ ข้อเสนอ 3 – การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ]

วิธีที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น ตามหลักการสามารถทำได้ ด้วยการแก้มาตรา 1 และ มาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่ง iLaw ได้ยื่นร่างนี้เข้ามาร่วมโหวตด้วย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก็ถูก ส.ส. ฝั่งรัฐ และส.ว. ร่วมกันปัดตกไปอย่างรวดเร็ว

จริงๆแล้ว การรับหลักการไปในวันนี้ ไม่ได้ถูกใช้เป็นกฎหมายทันที เพราะต้องนำเนื้อหาไปพิจารณากันอย่างละเอียดยิบในชั้นกรรมาธิการ คือต้องมีการโหวตอีกหลายครั้ง แถมยังต้องมีการทำประชามติจากคนทั้งประเทศอีก ขั้นตอนมีอีกเยอะมาก

ซึ่งถ้า ส.ส. และ ส.ว. ไม่ปัดทิ้งอย่างเลือดเย็น อย่างน้อยจะทำให้ร่างของผู้ชุมนุมได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งย่อมลดความรุนแรงลงได้มาก นี่จะเป็นการถอยหนึ่งก้าวอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่รัฐทำคือ ไม่รับร่างอย่างหนักแน่น มันเป็นการสร้างรอยแตกร้าวให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อของผู้ชุมนุม โดนรัฐบาลปฏิเสธทั้งหมด มันจึงโยงมาที่ประโยคของนายกฯ ว่า ให้ถอยคนละก้าว คือ มันอธิบายไม่ได้ว่าฝั่งรัฐถอยอะไร แล้วเมื่อรัฐไม่จริงใจกับคำที่ตัวเองพูด มันเลยทำให้ผู้ชุมนุมก็ต้องคิดว่า แล้วเราจะถอยไปทำไม ในเมื่อรัฐยังไม่เห็นทำเลย

นอกเหนือจากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุมไม่ถูกตอบสนองใดๆ ยังมีประเด็นอื่นอีกด้วยที่เพิ่มชนวนความรุนแรง ได้แก่ เรื่องความเท่าเทียมที่ภาครัฐ มีให้กับม็อบทั้งสองฝั่ง

พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตำหนิเรื่องความรุนแรงของม็อบ 2 ครั้ง คือ การใช้คีมฟาดไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 16 ตุลาคม ใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม และอีกครั้งคือวันที่ 8 พฤศจิกายน คือเหตุการณ์แกนนำม็อบได้ใช้หัวโขกชาวรัสเซียจนเลือดออก ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นโดยฝั่งม็อบราษฎร เป็นคนก่อเหตุ ซึ่งแน่นอน มันคือการใช้ความรุนแรง และไม่ถูกต้องแน่ๆ แต่ประเด็นคือพล.อ.ประยุทธ์ เลือกตำหนิ แค่เหตุการณ์ที่ฝั่งม็อบราษฎรเป็นคนทำเท่านั้น

เหตุการณ์อื่นๆ เช่น การฉีดน้ำทั้งที่ สถานีรถไฟฟ้าสยาม, ที่สนามหลวง และที่เกียกกาย ที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยิงน้ำใส่ผู้ชุมนุม จนมีคนได้รับบาดเจ็บมากมาย กลับไม่การสืบสาวต่อใดๆทั้งสิ้น จับมือใครดมไม่ได้ ว่าใครเป็นคนสั่งให้เริ่มยิง รวมถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองทุ่มลำโพงใส่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเหตุการณ์ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองรุมทุบรถที่นครศรีธรรมราช เพราะเข้าใจว่าเป็นรถของนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายกฯ ก็ไม่ได้ออกมาพูดประณามอะไรเลย

มันเลยกลายเป็นว่า อะไรก็ตามที่ฝั่งผู้ชุมนุมทำดูจะเลวร้ายไปหมด แต่ถ้าเป็นฝั่งคนที่สนับสนุนรัฐทำ ก็สามารถปล่อยผ่านได้หมด ความไม่เท่าเทียมลักษณะนี้ ยิ่งสั่งสมกลายเป็นความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมมากขึ้นและต้องหาทางระบายออกมาทางใดทางหนึ่ง

คิดตามจริง พล.อ.ประยุทธ์ จะไปหวังให้ผู้ชุมนุมลดความกราดเกรี้ยวได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาเจอความอยุติธรรมกดทับเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าฝั่งรัฐจะถอยให้เลย ล่าสุดยิ่งประกาศจะใช้ “กฎหมายทุกมาตรา” ในการเอาผิดผู้ชุมนุม ยิ่งนึกไม่ออกเลยว่าจะปรองดองกันได้แบบไหน

ในมุมของผู้เขียนคิดว่า ปัญหาการเมืองจะลดความแรงลงได้ ถ้ารัฐ “จริงใจ” มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่หวังจะยึดอำนาจไว้อย่างเดียว แล้วกดให้อีกฝ่ายต้องทำตามที่ตัวเองต้องการ

ในเกมการเมือง คุณไม่มีทางได้ทุกอย่างที่ต้องการหรอก ต้องผลัดกันให้ ผลัดกันรับ ไม่ใช่คุณ Take อย่างเดียว แต่ไม่ Give อะไรเลย มันจะไปรอดได้ไง

ยกเว้นแต่รัฐ อยากให้มีดราม่าแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายนั่นก็เรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็คงรักประเทศ และคงไม่คิดจะสร้างสถานการณ์ให้คนทะเลาะกัน เพื่อยึดอำนาจต่อไป

ในขณะที่ผู้ชุมนุม ในเกมนี้ก็ต้องอ่านสถานการณ์ให้ดี อย่าคิดว่าทุกสิ่งที่ตัวเองทำมันถูกหมด อะไรผิดก็คือผิด พ่นสี เขียนคำด่าทอใส่ห้างร้านเอกชน หรือป้ายรถเมล์ที่เป็นวัตถุสาธารณะ มีแต่จะเสียแนวร่วมไปมากกว่า

เข้าใจว่ามันเป็นความอึดอัดใจ ที่รัฐเล่นง่ายฝ่ายเดียว แต่ผู้ชุมนุมต้องอย่าลืมว่า ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสร้างมวลชน” ให้เห็นด้วยกับคุณมากที่สุด

เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ การลดอำนาจ ส.ว. รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สุดท้ายทุกอย่างต้องผ่าน “ประชามติ” ของคนทั้งประเทศ ถ้าหากสุดท้ายคนครึ่งหนึ่งของประเทศ ไม่เห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผู้ชุมนุมตั้งใจ และวาดฝันเอาไว้ก็สลายอยู่ดี

ดังนั้น นี่จึงเป็นเกมที่คุณต้อง “สร้างแนวร่วม” ให้มากที่สุด ให้คนทั้งประเทศ เห็นชอบกับการเคลื่อนไหวและจุดยืนของคุณ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งฝั่งรัฐ อาจจะอยากโยนบทตัวร้ายให้ผู้ชุมนุม ดังนั้นถ้าคิดอยากจะชนะในเกมนี้ ก็ต้องไม่ทำตัวเป็นตัวร้าย อย่างที่อีกฝ่ายต้องการ

การระบายอย่างเต็มที่อาจปลดปล่อยความรู้สึกได้ก็จริง แต่ต้องถามตัวเองว่า ทำแล้วจะช่วยให้ “ชนะ” ไหม อยากจะชนะศึกวันนี้ แล้วแพ้สงครามในวันหลังหรือเปล่า วันนี้ได้ระบายความอึดอัดออกไป แต่สิ่งที่ทำกลายเป็นเครื่องมือให้อีกฝ่ายเอามาโจมตีได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันคุ้มกันหรือเปล่า

ถ้าเราไปดูทั่วประเทศ ผู้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งจำนวนมาก ก็ไม่เคยเข้ามาอยู่ในม็อบ แต่ตามข่าวอย่างเดียว ซึ่งถ้าม็อบมีแต่ภาพเสียๆหายๆ เต็มไปด้วยความก้าวร้าว คนที่เป็น Swing Voter ไม่รู้ว่าจะอยู่ข้างไหนในตอนแรก ก็อาจเทไปอยู่อีกฝั่งก็ได้

เพราะการพ่นอักษร ด่าทอ บางอย่างที่แรงเกินไป และไม่มีคำอธิบายที่ดีพอว่าทำไปทำไม ไม่มีพลังพอที่จะดึงคนกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมในวิถีทางของคุณได้ ซึ่งถ้าผู้สนับสนุนไม่เพิ่มขึ้น มันย่อมไม่ดีต่อกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ชุมนุมเองในท้ายที่สุด

จุดนี้ เป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมสามารถ “ถอย” ได้ แสดงให้เห็นว่าเอาจริงๆเพื่อเป้าหมายหลัก ก็พร้อมจะยอมลดดีกรีลงเช่นกัน

BANGKOK, THAILAND – OCTOBER 21: Pro-democracy student protestershold up a three finger salute at Victory Monument during a rally on October 21, 2020 in Bangkok, Thailand. Pro-democracy protesters and students gathered at Victory Monument in central Bangkok and then marched to GovernmentÊHouse toÊcall for the resignationÊof Prime Minister Prayut Chan-o-cha. This event marks the latest in a string of anti-government protests that began in late July where students and pro-democracy protesters call for governmental reform. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

บทสรุปของเรื่องนี้ คำของนายกฯ ที่กล่าวว่า “ถอยคนละก้าว” ดูเหมือนเป็นคำพูดที่สวยงาม แต่ทำไม่ได้จริง อย่างไรก็ตามเอาจริงๆ มันยังมีทางเป็นไปได้อยู่

รัฐบาลไม่คิดบ้างหรือว่า ผู้ชุมนุมเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือเยาวชน และอนาคตก็จะกลายเป็นคนขับเคลื่อนประเทศนะ ในเมื่อมีช่องให้ปรองดองอยู่ จะไม่ยอมประณีประณอมกันเลยหรือ จะไล่บี้อีกฝ่ายไปถึงไหน อะไรที่ให้ได้ก็น่าจะให้ไป ไม่ใช่จะเอาชนะคะคานกันอย่างเดียว เล่นงานทั้งในสภา นอกสภา กะใช้อำนาจตัวเองกดให้อีกฝ่ายจมดิน

ขณะที่ผู้ชุมนุม จำเป็นต้องอ่านเกมของคนไทย “ทั้งประเทศ” มากกว่านี้ ถ้าอยู่ในม็อบมันก็อารมณ์หนึ่ง แต่ลองคิดถึงชาวบ้านต่างจังหวัดที่ไม่เคยเข้าใจการชุมนุมดูบ้าง ตอนนี้พ่นสี ทำลายป้ายก็เรื่องหนึ่ง มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ แต่ถ้ายกระดับถึงขั้น Looting มีการปล้นสะดมขึ้นมาแบบที่อเมริกาล่ะก็ จะคาดหวังว่าได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนทั่วๆไป มันก็คงยากมากแล้ว

ดังนั้นในทางทฤษฎี สำหรับคนที่อยากเห็นเรื่องนี้จบลงสวยๆ ยังเชื่อว่า มีทางออกอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงว่า นึกไม่ออกเหมือนกันว่าฝ่ายรัฐจะยอมถอยให้ก่อนได้หรือไม่ และ “ถ้า” รัฐยอมถอยแล้วหนึ่งก้าว ผู้ชุมนุมจะกล้าพอที่จะลดข้อเรียกร้องลงไป เพื่อเป็นการถอยหรือเปล่า ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ข้อสังเกตส่งท้ายคือ เราเห็น “วิธีคิด” ของรัฐ ว่าถ้าใช้การบีบกลุ่มผู้ชุมนุมหนักๆเข้า ตีล้อมทุกทาง ใช้อำนาจทั้งหมดที่มีเข้าโจมตี เดี๋ยวอีกฝ่ายก็หมดแรง และเลิกเรียกร้องไปเอง แต่ที่ผ่านมา 1-2 เดือน เราก็เห็นแล้วว่า กลยุทธ์นี้ไม่ได้ผล ยิ่งบังคับ ยิ่งไม่มีใครอยากจะทำ ยิ่งห้ามปรามด้วยกำลัง คนยิ่งมาชุมนุมเพิ่มขึ้น

แล้ววิธีการแก้ปัญหาการเมืองที่ดีที่สุด ที่รัฐจะทำได้คืออะไร

คำตอบคือใช้ความจริงใจ มีปัญหาอะไรก็แก้ตรงนั้น สิ่งที่จะเชื่อมทุกฝ่ายด้วยกันได้และทำให้ทุกอย่างสงบลง คือคำอธิบายและเหตุผล ไม่ใช่อาวุธ และอำนาจ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า