รอง ผบช.น.แจงหนังสือคำสั่งรถอุปกรณ์ตัดสัญญาณสื่อสารรอบพื้นที่ชุมนุมเป็นของจริง เพื่อความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุม หวั่นมือที่สามป่วนหลังพบวัตถุต้องสงสัย
วันที่ 24 ส.ค.2563 พล.ต.ต.ประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีกรณีมีส่งต่อภาพเอกสารคำสั่งให้มีการจัดรถอุปกรณ์ต่อต้านตัดสัญญาณการสื่อสาร เข้าปฏิบัติหน้าที่โดยรอบพื้นที่การชุมนุม เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาว่า หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือคำสั่งที่ตนเองออกคำสั่งไปจริง ไม่ได้เป็นเอกสารลับแต่อย่างใด เป็นเอกสารสั่งงานเรื่องเตรียมความพร้อมตามปกติ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลความสงบและรักษาความปลอดภัยทั้งสิ้น ไม่ได้เตรียมไว้เพื่อละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม แต่เอาไว้เพียงกรณีพบวัตถุต้องสงสัยก็จะสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างทันเวลา
พล.ต.ต.สมประสงค์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการออกหมายจับไป 15 ราย และมีการจับกุมแล้ว 11 ราย ยังเหลืออีก 4 ราย และมีการประสานมาแล้วแต่ยังไม่เข้ามามอบตัวตามนัดหมาย ส่วนหมายเรียกอีก 16 ราย ก็ยังไม่มีการรับการประสานและมาพบพนักงานสอบสวนเช่นกัน ซึ่งในส่วนของหมายเรียก เป็นข้อหาที่อยู่ในศาลแขวงมีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด หรือ พ.ร.บ.การควบคุมโรค
กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากการตรวจสอบและการรวบรวมพยานหลักฐานถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีการกระทำความผิดที่เข้าข่าย ความผิด ตามมาตรา 116 ที่ต้องถึงขั้นออกหมายจับ เป็นเพียงความผิดเล็กน้อย ที่อาจจะต้องมีการเชิญตัวมาเพื่อพูดคุยหรือทำความเข้าใจ
รอง ผบช.น. กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 บริเวณลานคนเมือง อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีแกนนำคนใดที่ศาลให้ประกันตัวไปโดยตั้งเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุม และกระทำความผิดซ้ำเดิม เข้าร่วมชุมนุมบ้าง ซึ่งหากพบว่ามีแกนนำคนใดทำผิดเงื่อนไขของศาลก็จะยื่นเรื่องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัวต่อไป เช่นเดียวกับอานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ถูกตำรวจยื่นเพิกถอนการประกันตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งศาลมีการนัดไต่สวนในวันที่ 3 ก.ย.นี้