SHARE

คัดลอกแล้ว

24 มิ.ย. 2563 ครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการรวมตัวของประชาชน นำโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่หน้าสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของปวงชนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย

ไปจนถึงการทวงคืนมรดกคณะราษฎรและสัญญารัฐธรรมนูญประชาชนที่รัฐบาลได้เคยให้ไว้ โดยมีการแสดงสัญลักษณ์อย่างหมุดคณะราษฎรจำลอง และพานรัฐธรรมนูญ ไปพร้อมกับการอ่านประกาศคณะราษฎรเนื่องในวันครบรอบเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475

กลุ่มของผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมและรับฟังประกาศคณะราษฎร มีนิสิต นักศึกษา และคนวัยหนุ่มสาวร่วมด้วย พวกเขาให้สัมภาษณ์ว่าเคยเข้าร่วมการชุมนุม มีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาแล้ว และครั้งนี้ก็มุ่งหวังว่าเสียงของคนรุ่นใหม่จะดังมากพอที่จะถึงหูผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่หลักการของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

บัณฑิตใหม่จากมหาวิทยาลัยบูรพา อายุ 23 ปี บอกว่า เธอมองเห็นถึงความอยุติธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศถูกหยุดเวลาเอาไว้มานานนับสิบๆ ปี สิ่งที่เธอคาดหวังคือเรื่องของการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ให้เอื้อเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยให้เขียนใหม่ให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้เป็นจริงได้ จำเป็นต้องอาศัยแรงพึ่งจากทางฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องให้ความร่วมมือ

“ฝ่ายค้านทำได้ดี ดีกว่าทุกฝ่ายค้านที่เคยเห็นมา เพราะเหมือนมีคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ด้วยจึงได้เห็นมุมมองใหม่ที่นักการเมืองเก่าๆ ไม่ได้พูด และเขาก็พูดแทนเราได้ด้วย แต่เขาก็อาจจะทำอะไรชัดเจนมากไม่ได้ เพราะด้วยความที่เขามีหน้ามีตา มีตำแหน่ง จะให้พูดเหมือนคนธรรมดาก็ไม่ได้ เพราะเขาถูกเพ่งเล็งได้ง่าย ก็เข้าใจในมุมของเขาเหมือนกัน”

“รัฐสภาก็เป็นสถานที่แสดงเสียงของประชาชนได้ แต่ส่วนใหญ่ก็แค่ออกมาพูดว่าประชาชนต้องการอย่างไร แต่ว่าก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี เหมือนฝ่ายค้านก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ อยากให้ฝ่ายรัฐบาลฟัง และทำตามความต้องการของประชาชนบ้าง นึกถึงประเทศบ้าง นึกถึงคนรากหญ้าบ้าง”

ทำนองเดียวกับนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 อายุ 21 ปี เขากล่าวถึงคุณภาพการทำงานของฝ่ายค้านที่ด้อยประสิทธิภาพจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กดเสียงของฝ่ายค้านลงอย่างไม่เป็นธรรม

“จะว่าฝ่ายค้านทำงานดีพอไหม ก็ทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ไม่อำนวยการทำงานของเขาให้มีประสิทธิภาพได้ ด้วยปัญหามันน่าจะมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่เป็นธรรม ให้อำนาจกับพวก ส.ว. จนทำให้สภาไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างจริงจัง”

อีกมุมหนึ่งจากบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุ 22 ปี เธอยืนยันว่าเหตุผลของการที่เธอออกมายืน ณ จุดนี้ คือเรื่องของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกลิดรอนด้วยตัวบทกฎหมาย อีกทั้งพื้นที่สาธารณะที่ถูกกำจัดสิทธิ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องขยับเพดานให้ทุกคนสามารถแสดงออกได้มากขึ้น ทั้งนี้เธอยังฝากข้อคิดเห็นไปถึงฝ่ายค้านด้วยว่า

“สิ่งที่ประชาชนเจอมันเลวร้ายกว่า อยากให้ฝ่ายค้านทำงาน On Ground มากขึ้น มันก็ดีที่มีการผลักดันกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน แต่ว่ามันก็ยังไม่เพียงพอ อยากให้ฝ่ายค้านรู้สึกร่วม รู้สึกโกรธให้พอๆ กับที่ประชาชนรู้สึก และรัฐสภาไม่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน มันเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้คนมาลงถนนมากขึ้น”

ภาพกิจกรรมในช่วงย่ำรุ่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะเป็นเพียงหนึ่งในอีเวนต์ทางการเมืองที่เพียงผ่านมาแล้วก็ผ่านไปหรือไม่

นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุ 19 ปี บอกว่า แม้จะยังส่งผลอะไรไม่ได้มาก แต่หวังว่าผู้มีอำนาจจะได้ยิน

“เราคาดหวังให้เขาฟังเสียงของประชาชน ฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง”

“ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก มันก็มีมาเป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง มันก็เปลี่ยนแปลงหรือกระเทือนอะไรก็ไม่ได้มาก แต่ก็หวังว่าการออกมาทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยมันก็น่าจะกระเทือนสักวันหนึ่ง และเขาจะตระหนักรู้”


ขณะที่กราฟิกดีไซน์เนอร์ อายุ 27 ปี และศิลปินอิสระ อายุ 25 ปี เห็นตรงกันว่า ความเงียบไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และแม้เปลี่ยนไปเพียงทีละนิด ถ้าทำด้วยความหวังสักวันก็จะดีขึ้น

“แต่ก่อนเราก็อยู่แต่ในเน็ต แต่ถ้าเราอยู่แต่ในเน็ต ความเงียบก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็อยากหาโอกาสออกมาบ้าง คืออย่างน้อยก็มาแสดงให้เห็นว่ามันมีคนสนับสนุนสิ่งนี้อยู่”
“รู้สึกว่าอนาคตเราชักจะไม่มีเข้าไปทุกที เพราะถ้าการทำงานของรัฐบาลยังเป็นเช่นนี้อยู่ เราเลยต้องออกมายืนตรงนี้ อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องยากเลยนะ เพราะเรารู้สึกว่าชีวิตเราจะไม่ได้ดีขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว เราก็รู้สึกสิ้นหวัง พอเจอการทำงานแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว”
“เราอยากเห็นการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน เพราะเรื่องมันเยอะไปหมด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้มันเกิดจากเรื่องที่ผ่านมันทับถมจนจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ก็อยากให้เสียงของประชาชนมีความหมายมากกว่านี้ ให้ประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง”

ศิลปินอิสระ บอกเล่ามุมมองของเธอว่า “สิ่งที่คาดหวังคือประชาธิปไตยจริง ๆ เพราะต่อให้อย่างเราเรียนศิลปะ เราก็จะใส่ใจเรื่องของศิลปะ เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเราไม่แก้ที่ระบบ ไม่ว่าเราจะใส่ใจกับเรื่องอะไร มันก็แก้อะไรไม่ได้เลยจริงๆ สุดท้ายมันก็จะเป็นปัญหาวนกลับมาที่ระบบ และการเมืองเหมือนเดิม ถ้าการเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็ไม่มีทางเลยที่คนจะได้เข้าถึงสุนทรียะ เพราะถ้าแค่ปากท้องคนยังไม่อิ่ม คนก็จะไม่มาเสพงานศิลป์แน่นอน”

“เราว่ามันเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ทุกการเคลื่อนไหวแบบทีละนิดๆ เราเป็นคนที่ตามแล้วก็เข้าใจ … 88 ปี เรามาได้เท่านี้ก็ไกลแล้ว ถ้าเราทำด้วยความหวัง มันก็ไปเรื่อยๆ ทีละนิดอยู่แล้ว เราเห็นว่ามันดีขึ้นก็ดีแล้ว”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า