Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ผ่านไปแล้ววันคืนยาวนานกับการเลือก ‘สว.’ (สมาชิกวุฒิสภา) ระดับประเทศ ด้วยกติกา “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ในที่สุดเราก็ได้เห็นโฉมหน้า ‘ว่าที่ สว.’ จำนวน 200 คน

ก่อนสรุปว่าเกิดเหตุการณ์อะไรที่เป็นจุดน่าสนใจบ้าง เรามาทำความเข้าใจกติกา การเลือก สว. ระดับประเทศ กันก่อน

ต้องบอกว่ากติกาใน “ด่านสุดท้าย” นั้น ซับซ้อนยิ่งกว่า “ด่าน 1” (เลือกระดับอำเภอ) และ “ด่าน 2” (เลือกระดับประเทศ) หลายเท่า หลักๆ มีการเลือก 2 รอบ ซึ่งผู้ผ่านการเลือกและมีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าสู่รอบ “ระดับประเทศ” ที่มารายงานตัวมีทั้งหมด 2,989 คน จาก 77 จังหวัด 20 กลุ่มอาชีพ

ภาพ Thai News Pix

ขั้นตอนระดับประเทศนั้น จะต้องเลือกให้ได้ “ผู้รับเลือกเป็น สว.” กลุ่มอาชีพละ 10 คน จาก 20 กลุ่ม รวม 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน

[ รอบแรก “เลือกกันเอง” ]

– ผู้สมัครเลือกคนกลุ่มเดียวกัน ไม่เกิน 10 คน เลือกตัวเองได้ แต่ลงคะแนนให้ใครเกิน 2 คะแนนไม่ได้

– เมื่อรวมแล้วคะแนน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มได้เข้ารอบต่อไป

– กรณีได้ไม่ถึง 40 คน แต่เกิน 20 คน ให้ผ่านเข้ารอบต่อไปทั้งหมด

– แต่กรณีได้ไม่ถึง 20 คน ให้เลือกใหม่ในกลุ่มเดียวกันเองจนกว่าจะได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ให้เลือกจากกลุ่มอื่นที่อยู่สายเดียวกัน

[ เข้าสู่รอบชิงดำ “เลือกไขว้” ]

มาต่อกันที่รอบสำคัญที่สุด “รอบเลือกไขว้” เพื่อคัดให้ได้ 200 คน  มีผู้สมัคร ที่ผ่านรอบแรกมาได้ 800 คน (จาก 2,989 คน)

คีย์สำคัญของการเลือกรอบนี้คือการแบ่งสาย “กลุ่มอาชีพ” จาก 20 กลุ่ม แบ่งออกเป็น “4 สาย” สายละ 5 กลุ่ม ด้วยการจับสลาก ดังนี้

สาย ก

7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน

11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว

13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม

16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา

20. กลุ่มอื่นๆ

สาย ข

1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง

4. กลุ่มการสาธารณสุข

6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง

17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์

18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม

สาย ค

5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก

8. กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน

9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม

15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

สาย ง

2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

3. กลุ่มการศึกษา

10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกลุ่มที่ 9

14. กลุ่มสตรี

19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ความซับซ้อนของกติกา “การลงคะแนน” รอบตัดเชือกนี้ก็คือ

– ผู้สมัครต้องเลือกลงคะแนนให้ “ผู้สมัครกลุ่มอื่น” และ “สายเดียวกัน” เท่านั้น

– ลงคะแนนเลือกกลุ่มละไม่เกิน 5 คน

– เลือกตัวเองไม่ได้ เลือกคนในกลุ่มตัวเองก็ไม่ได้

– เมื่อนับคะแนนเสร็จ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้เป็นตัวจริงของกลุ่มนั้น

– ส่วนผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 11-15 เป็นตัวสำรอง

ทั้งนี้ กกต. ได้นับคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศ รอบสุดท้าย เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 03.30 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 และเปิดเผยรายชื่อในเวลา 05.55 น. เช็กชื่อ ‘ว่าที่ สว.’  200 คน คลิกที่นี่  อย่างไรก็ตาม จะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ตามไทม์ไลน์ กกต. กำหนดไว้ คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จากนั้นจะส่งชื่อยังไปสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

[ “คนดัง” มีทั้งสมหวัง-ผิดหวัง ] 

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี / ภาพ Thai News Pix

เมื่อผลการนับคะแนนออกมา ปรากฏว่าเกิดการพลิกโผครั้งใหญ่ เมื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยนายทักษิณ ชินวัตร ที่เคยมีกระแสข่าวเป็นตัวเต็งเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ กลับตกรอบเลือกไขว้ หลังได้คะแนนไปเพียง 10 คะแนนเท่านั้น รวมถึง พล.ต.อ.ชยพล ฉัตรชัยเดช อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ตกรอบนี้เช่นเดียว ส่วนพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (อดีตรองผบ.ตร.) และ “ทนายตั้ม” นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความชื่อดัง ติดสำรอง

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล) / ภาพ Thai News Pix

ส่วนคนที่ “สมหวัง” อาทิ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล), วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าฯ สมุทรสาคร, บุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต., ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (อนุทิน ชาญวีรกูล) , ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก, อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน, เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร ประชาไท, ชิบ จิตนิยม นักข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวต่างประเทศ

[ แฉขบวนการล็อกโหวต ]

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร เดอะอีสานเรคคอร์ด หนึ่งในผู้สมัคร สว. กลุ่มสื่อมวลชน ออกมาเปิดเผยหลังตกรอบแรกว่า ระบบนี้เอื้อต่อการฮั้วคะแนน จากที่สัมผัสเองตั้งแต่ขั้นตอนรอบอำเภอ และรอบจังหวัด มีความพยายาม “ล็อก” อยู่ตลอดเวลา มีการเสนอสินจ้างให้ ตนก็ได้รับข้อเสนอ 1-3 แสนบาท ให้เข้าไปอยู่ในก๊วนการเมือง เป็นอดีต สส. ที่เอ่ยชื่อไปก็มีแต่คนรู้จัก

“กระบวนการวันนี้ทำให้เราเห็นว่าบ้านใหญ่น่าจะฮุบ สว. เท่าที่ทราบมี 6 กลุ่มใหญ่ๆ และเป็นพรรคการเมือง อันดับ 2 และ 3” หทัยรัตน์ ระบุตอนหนึ่ง

อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน / ภาพ Thai News Pix

[ ขั้วสีน้ำเงิน แทรกเข้าสภาสูงได้ทุกกลุ่ม ]

TODAY ได้คุยกับนักวิชาการด้านการเมืองอย่าง ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองผลที่ออกมาเห็น ‘ว่าที่ สว.’ มาจาก “สีน้ำเงิน” อย่างต่ำ 120 คน จุดสังเกตคือคะแนนที่เกาะกลุ่มกัน 6-7 อันดับแรกในแต่ละกลุ่ม ซึ่งเห็นภาพตรงนี้ชัดมากทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ

“สีแดงนี่แบบผิดฟอร์ม สีฟ้า สีม่วงก็ผิดฟอร์มหมด สู้สีน้ำเงินไม่ได้ สีน้ำเงินอาจจะแบบได้เยอะจนตกใจตัวเอง ประมาณว่าคนที่เล็งไว้อาจจะกะไว้ที่ 100 แต่ว่าคู่แข่งอ่อนเกิน จนเขาได้เกิน มีหลายคนที่เราไปสังเกตว่าเขาไม่ค่อยมีคุณสมบัติเหมาะสมเท่าไหร่ได้เข้ามา คือพวกนั้นเขาไม่ได้กะมาเท่าไหร่ มันเป็นของแถม แต่ด้วยความคู่แข่งอ่อนหัดเกินไปเขาก็เลยหลุดเข้ามาด้วย…”

“6-7 อันดับที่ได้คะแนนระดับ 50 ขึ้นไป มันร่วงลงมาที่ 20 กว่าคะแนน นี่คือสายสีส้มเพราะว่าแพ็คกันได้แค่นี้ เกาะเข้ามาที่ 7-9 ส่วนพวกหลุดจากนี้ได้คะแนน 10 กว่า คือสีแดง สีม่วง สีฟ้า หลุดมาบ้างที่ 9-10 สำรอง แพทเทิร์นเห็นอย่างนี้เลย” ดร.สติธร กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย บอกว่า นี่เป็นการยึดสภาสูงอย่างเบ็ดเสร็จของค่าย “สีน้ำเงิน” โดยตนมองว่า ตัวเลขที่ “สีน้ำเงิน” ได้ คือ 130 ส่วน “สีส้ม” นั้น ได้มา 28 คน และว่าผลจากการเลือก สว. ครั้งนี้ มีต่อการเมืองภาพใหญ่แน่นอน

“คนทำดีต้องมีรางวัล วันนี้พรรคภูมิใจไทยถูกยกระดับจะมาแทนพรรคเพื่อไทยแล้วในปีกอนุรักษ์นิยม… ที่เคยบ่นว่าทำไมต้องใช้บริการ “ทักษิณ” วันนี้ “อนุทิน” มาแล้วครับ แล้วคิดดูว่าน่าไว้วางใจกว่าหรือไม่ สมมุติตัวเต็งที่ผมมองอย่าง พล.อ.เกรียงไกร มาเป็นประธานวุฒิสภา ถามว่าฝ่ายความมั่นคงสบายใจไหม สบายใจ ทหารก็ไม่เหนื่อยที่จะต้องมาถูกข่าวปั่นเรื่องปฏิวัติ”

“เพราะ สว. สีไหน องค์กรอิสระก็สีนั้น จะกำกับพฤติกรรมก็ใช้องค์กรอิสระได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องรัฐประหารเลย บ้านเมืองก็เดินหน้าได้ ท่านว่าที่ประธานฯ คือนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีตผบ.ทบ. ต้องถามไหมว่าคือใคร เพราะฉะนั้นความไว้วางใจมันมากมายหลายเท่า แล้วคุณอนุทิน ก็ออร่าโดดเด่นเป็นประกายในช่วง 2 สัปดาห์นี้ แล้วนักเลือกตั้งมองไม่ออกเหรอว่าควรฝากอนาคตไว้กับพรรคไหน” รศ.ดร.ธนพร กล่าว

ภาพ Thai News Pix

สว. ชุดนี้ แม้จะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้เหมือนชุดก่อนแล้ว แต่ “อำนาจ” ที่เป็น “สัญญะ” ส่งสัญญาณทางการเมือง สะท้อน “เสถียรภาพ” ภาพรวมได้อย่างชัดเจน

ภาพ ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ, ชนากานต์ เหล่าสารคาม, สุภัทตรา โพล้งกล่ำ / Thai News Pix

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า