SHARE

คัดลอกแล้ว

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีเสวนา ปฏิรูปงบแก้เหลื่อมล้ำเพื่อเด็กและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ในประเด็น “ปักหมุดจุดเหลื่อมล้ำ”  ซึ่งครั้งนี้ปักหมุดที่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล  อ.สังขละบุรี และ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

รศ.ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์   อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการงานวิจัยแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  เปิดเผยว่า ปัญหาหลักในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล คือ  1.จำนวนของนักเรียนน้อย ทำให้ได้รับงบประมาณน้อย  2.นักเรียนและคนในชุมชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน   3.ขาดแคลนครูและบุคลากรในโรงเรียน และ 4. เสียเปรียบเรื่องลักษณะภูมิประเทศ ทำให้การเดินทางไปอบรมสัมมนาของครูต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าโรงเรียนในเมือง  ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ดังนั้นการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาของภาครัฐต้องปรับให้เพียงพอและเหมาะสมกับสภาพปัญหาของโรงเรียน  โดยข้อค้นพบจากงานวิจัย จึงเสนอแนวทางปฏิรูปอัตราการอุดหนุนงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 4 ข้อ

  1. อุดหนุนเพิ่มเติมตามขนาดโรงเรียน คือ โรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง มีนักเรียนเยอะ ได้รับงบประมาณการอุดหนุนจากภาครัฐมาก ต้องปรับลดลง และอุดหนุนเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน
  2. อุดหนุนเพิ่มเติมตามความแตกต่างของนักเรียน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล  เด็กนักเรียนมีความแตกต่าง ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ เด็กพิการเรียนรวม เด็กยากจนมาก เด็กที่จำเป็นต้องพักที่โรงเรียน ทำให้โรงเรียนมีภาระค่าใช้จ่ายกับเด็กมากขึ้น ดังนั้นรัฐต้องอุดหนุนเพิ่มเติมตามความจำเป็นของเด็ก
  3. อุดหนุนเพิ่มเติมตามลักษณะภูมิประเทศ   คือ โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น   อยู่บนพื้นที่สูง อยู่แนวชายขอบ อยู่ตามเกาะแก่ง และพื้นที่เสี่ยงภัย  การเดินทางและการขนส่งยากลำบาก รัฐต้องอุดหนุนงบให้โรงเรียนเพิ่มมากขึ้น
  4. อุดหนุนเพิ่มเติมอัตรากำลังครู คือ ต้องเพิ่มครูให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู เพื่อให้ครูผู้สอนมีเวลาและสอนเด็กแต่ละชั้นเรียนอย่างมีคุณภาพ และอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรอื่น ๆ เช่น ธุรการ นักการภารโรง

ส่วนค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรสายสนับสนุน กำหนดให้เท่ากับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของบุคลากรกลุ่มนี้ ข้อมูลจากการสำรวจในปีงบประมาณ 2564 พบว่าโรงเรียนจ้างบุคลากรสายสนับสนุนเฉลี่ยเดือนละ 9,899 บาท   โดยคาดว่าหากมีการอุดหนุนตามแนวทางที่นำเสนอ รัฐต้องใช้งบประมาณ 770 ล้านบาท ในการอุดหนุนโรงเรียนจำนวน 907 โรง  โดยงบประมาณที่ใช้กว่า 92.8 % เป็นงบประมาณในการอุดหนุนตามความขาดแคลนของบุคลากร

 

ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโสสํานักพัฒนาคุณครูและสถานศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่โรงเรียนใน อ.สังขละบุรี และ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในครั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่เห็นภาพชัดเจนมากในมิติของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งในเรื่องของงบประมาณ และความห่างไกล    จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ได้ทรัพยากรที่น้อยกว่า แต่ได้คุณภาพที่เท่าเที่ยมกัน

ซึ่งภาพรวมในปัจจุบัน สถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. จำนวน 29,117 แห่งทั่วประเทศมีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จำนวน 14,660 แห่ง หรือกว่า 50.35% จากนักเรียนทั้งหมด 6.5 ล้านคน จะมีนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กนี้ราว 963,432 คน

 

นายชัยศักดิ์ ภูมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกองม่องทะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยากจะสะท้อน คือ ขอให้คืนอัตรากำลังของฝ่ายธุรการ และ นักการภารโรง การขาดบุคลากรเหล่านี้ทำให้คุณครูต้องจัดการงานเอกสาร ตัดหญ้า ทำความสะอาดโรงเรียนเอง ทำให้มีเวลาเตรียมการสอนน้อยลง จึงมีเสียงสะท้อนจากคุณครู “คืนครูให้ห้องเรียน”  ให้ครูได้มีเวลาเตรียมการเรียนการสอนมากขึ้น  ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องมองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของคุณภาพคน คุณภาพสังคม ไม่สามารถมองว่ามันคือการลงทุนในเชิงเศรษฐกิจและวัดความคุ้มค่าเป็นตัวเลข   ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณน้อยอยู่แล้วแต่ยังต้องแบ่งเงินมาจ้างธุรการ และ นักการภารโรง ทำให้กระทบเงินที่จะใช้ในการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ  ดังนั้นโรงเรียนจึงหาทางออกและแก้ไขกันเอง โดยระดมหาจากทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ  การทอดผ้าป่า แต่ก็ทำได้เป็นครั้งคราว ดังนั้นฝ่ายที่กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบและอัตราบุคลากรให้เป็นรูปธรรม

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย/ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุนกันดาร  กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือโรงเรียนขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การจัดสรรงบประมาณยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง  จึงเสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3 ข้อ

  1. แก้ปัญหาเรื่องการขาดบุคลากรของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ พบว่ามีการโยกย้ายของครู ทำให้อัตราครูไม่เพียงพอ เหตุเพราะไม่ใช่คนพื้นถิ่น แต่พอมีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเกิดขึ้น จึงเป็นอีกแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลได้ยั่งยืนมากขึ้น
  2. แก้ปัญหางบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ทางโรงเรียน คือ ในปัจจุบันรัฐใช้การจัดสรรเงินในอัตราเดียวกันให้โรงเรียนทุกแห่ง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนในเมืองนักเรียนเยอะได้เงินอุดหนุนเยอะ ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนน้อยได้เงินอุดหนุนน้อย แต่ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กมีมากกว่า เพราะนักเรียนมีฐานะยากจน โอกาสในการระดมทรัพยากรในพื้นที่ก็ยากกว่า เนื่องจากคนในชุมชนมีฐานะยากจน จึงเกิดความลำบากเรื่องเงินซ่อมสร้าง ปรับปรุงโรงเรียน และถ้าในโรงเรียนที่ห่างไกล การลงทุนยิ่งสูงขึ้น ทั้งเรื่องค่าขนส่ง ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าแรงต่างๆ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบตามปัญหาของโรงเรียน  ไม่สามารถจัดสรรงบให้โรงเรียนแบบเดียวกันทั้งประเทศได้
  3. ปลดล็อคแก้กติกาให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนได้ เพราะ กฎกติกาบางข้อทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถนำเงินมาช่วยเหลือโรงเรียนได้ เนื่องจากผิดระเบียบ ถ้าปลดล็อคข้อบังคับบางข้อให้โรงเรียนกับท้องถิ่นช่วยกันได้ โอกาสในการแบ่งปันทรัพยากรและช่วยเหลือกันก็ทำได้สูงขึ้น

 

ในงานเสวนาครั้งนี้ยังผลักดันโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  ที่ทาง กสศ. มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนซึ่งมีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครู ให้เข้ารับการศึกษาและได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเป็นชุมชนบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้สอดคล้องกับโจทย์การศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ที่คาดว่าจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศได้

โดยการจัดสรรงบให้โรงเรียนของภาครัฐที่ผ่านมา โรงเรียนทุกแห่งได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในโรงเรียนในอัตราเดียวกันสำหรับในแต่ละระดับการศึกษา โดยใช้สูตรการจัดสรรแบบเดียวกันทั้งประเทศ คือ งบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับจะขึ้นกับจำนวนนักเรียน   ดังนั้นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จึงได้รับงบประมาณน้อย แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่  สูตรการจัดสรรงบในปัจจุบันจึงไม่สอดคล้องต่อโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้คุณภาพของโรงเรียนเกิดความเหลื่อมล้ำ และยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น เพราะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพที่ดีได้ และโรงเรียนยังต้องดูแลเด็กที่มีปัญหาหลากหลาย แต่งบประมาณที่จัดสรรให้ กลับเท่าเดิมเหมือนกันทุกโรงเรียน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า