SHARE

คัดลอกแล้ว

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่คนไทยได้รู้จักกับคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” จากคำพูดที่นายกรัฐมนตรีพูดเป็นประจำในรายการวันศุกร์ หรือจากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการที่ดูเหมือนทุกนโยบายจะถูกเชื่อมโยงกับไทยแลนด์ 4.0 เกือบทั้งหมด

แม้ในความเข้าใจของคนไทยเรายังมีความเข้าใจต่อไทยแลนด์ 4.0 ที่ไม่ตรงกันนัก แต่ในโอกาสที่นโยบายนี้เดินทางมาครบรอบ 3 ปีในเดือน พ.ค.61 ที่ผ่านมา เราจะไปติดตามดูกันว่านโยบายนี้ก้าวหน้าไปมากเพียงใด รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายตามที่ได้วางแผนไว้

  • ตรวจการบ้านไทยแลนด์ 4.0 กับ 3 ปีนโยบายนี้ไปถึงไหน?  

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมานี้เองที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่ทำเนียบรัฐบาล

ในการตรวจการบ้านเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ของนายกรัฐมนตรี หน่วยงานราชการต่างๆก็รายงานให้นายกฯทราบถึงความคืบหน้าเรื่องต่างๆ ซึ่งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การพัฒนาไปสู่รัฐบาลดิจิทัล

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

  • ตั้งเป้า 3 เดือนเลิกขอสำเนาบัตรประชาชน – สำเนาทะเบียนบ้าน

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้รายงานว่าภายในเดือน ส.ค.หรืออีก 3 เดือน หน่วยงานราชการทั้งหมดจะยกเลิกการขอสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านจากประชาชนที่ไปติดต่อหน่วยงาน จากนั้นในเดือนตุลาคมปีนี้จะเริ่มยกเลิกการขอสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลจากภาคเอกชน

จากนั้นในเดือน ม.ค. ปีหน้า จะเปิดใช้ระบบ Citizen Feedback ให้ประชาชนประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบนี้ได้อีกด้วย

  • เรียกหัวหน้าส่วนราช 200 คนรับทราบ “นโยบาย No Copy” 

ในเรื่องการยกเลิกการขอสำเนาบัตรประชาชน – สำเนาทะเบียนบ้าน นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นพิเศษว่าให้หน่วยงานภาครัฐนำไปดำเนินการให้ได้โดยเร็วที่สุด  ดังนั้น ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องรีบเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการกว่า 200 คน ที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อมอบนโยบายการยกเลิกสำเนาเอกสารราชการ (No Copy) ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

รองนายกฯวิษณุบอกว่านโยบายเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ระหว่างทดลองใช้ ในอนาคตเวลาไปติดต่อราชการประชาชนเพียงแค่โชว์บัตรประชาชน หรือแค่บอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกไม่ให้ประชาชนต้องไปเสียเวลาถ่ายเอกสารอีกต่อไป

“ต่อจากนี้อีก 3 เดือนข้างหน้าทุกส่วนราชการจะไม่เรียกสำเนาบัตรประชาชน และประชาชนที่ไปติดต่อราชการให้นำบัตรประชาชนไปอย่างเดียว และเมื่อพ้นไปอีกระยะหนึ่งบัตรประชาชนก็ไม่ต้องควักบัตรออกมาใช้ เพียงแค่บอกเลขบัตรประชาชนเท่านั้น การยกเลิกจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการถ่ายสำเนาเอกสารอีกด้วย” รองนายกฯวิษณุกล่าว

  • ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสางปัญหาเก่า – แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

สำหรับความคืบหน้าของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่หน่วยงานภาครัฐได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ โดยส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาการให้บริการของภาครัฐที่สั่งสมมาในอดีต เช่น  การลดคำขอ อย.ทั้งด้านอาหารและยาที่มีการยื่นไว้ กว่า 8,000 คำขอภายใน 6 เดือน ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาต อย.ให้ทำงานได้เร็วขึ้นเฉลี่ย 20% กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถลดคำขอค้างสะสมสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14% สำนักงานที่ดินสามารถลดระยะเวลาดำเนินการรังวัดที่ดินเหลือระยะเวลาการรอคิว 45 วันจากเดิมนานกว่า 1 ปี และพัฒนาการให้บริการข้อมูลที่ดินผ่านเว็บไซต์ของกรมที่ดินและแอพลิเคชั่น   ขณะที่การนำเข้าและส่งออกของกรมศุลกากรมีการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสินค้าวัตถุอันตรายระหว่าง 6 หน่วยงาน

สำหรับข่าวดีที่จะเกิดขึ้นเพิ่มเติมก็คือต่อไปจะมีแอพพลิเคชั่นบริหารจัดการคิวภายในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก มีระบบคิวกลางสำหรับนัดหมายเข้ารับการรักษา ระบบแจ้งเตือนก่อนวันนัด แจ้งขั้นตอนการรับบริการตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเริ่มต้นใน 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนไม่ต้องรอคิวนานเกินไป เป็นต้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

  • ย้อนรอย 3 ปีไทยแลนด์ 4.0

ที่มาที่ไปของไทยแลนด์ 4.0 ต้องย้อนกลับไปในเดือน พ.ค. 2558 หรือ 3 ปีก่อน ที่คำนี้ปรากฏในหน้าสื่อเป็นครั้งแรก เมื่อ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลโดยนำเอาโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ที่แพร่หลายในประเทศพัฒนาแล้วมาปรับใช้เป็นโมเดลการพัฒนาประเทศไทย

ต่อมาเมื่อ ดร.สุวิทย์ได้เข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีโมเดลนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดสู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้นำนโยบายนี้ไปใช้ในการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ ทำให้คำว่าไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่แค่คำคุ้นหูของคนไทยเท่านั้น แต่ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนสำคัญๆของประเทศทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวว่าจะใช้นโยบายนี้ยกระดับเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ประชาชนพ้นจากความยากจน รวมทั้งตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้คนไทยอย่างน้อย 1 เท่าตัว ภายใน 20 ปี หรือคนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่าคนละ 430,000 บาทต่อคนต่อปี

  • “สุวิทย์” ดันกระทรวงใหม่ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ระยะยาว

ในฐานะเป็นต้นตำรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจึงถามว่าท่านมีความพึงพอใจต่อการขับเคลื่อนนโยบายนี้มากแค่ไหน ซึ่ง ดร.สุวิทย์ ตอบว่าเขาพอใจที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน แต่ก็ยอมรับว่าการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในระยะที่ผ่านมาให้ความสำคัญการปรับปรุงระบบบริหารราชการ และการให้บริการประชาชนเพราะคือการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

“เรามีปัญหามากในระบบข้าราชการ ซึ่งต้องใช้แนวคิดใหม่ๆและเทคโนโลยีไปใช้ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน อย่างเรื่องการยกเลิกการถ่ายเอกสาร ขอสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เป็นเรื่องง่ายๆที่หน่วยงานรัฐบาลทำได้เมื่อเรามีระบบฐานข้อมูลที่ดีพอ” ดร.สุวิทย์อธิบาย

เขายังบอกว่าเป้าหมายระยะยาวของไทยแลนด์ 4.0 นั้นยังมีต่อไปแน่นอนเพราะโจทย์ของประเทศไม่ได้เปลี่ยน เราต้องยกระดับประเทศยกระดับรายได้ประชาชน ซึ่งต้องมีโครงสร้างที่สนับสนุนและเป็นที่มาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่จะควบรวมเอากระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานวิจัยต่างๆมารวมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้ไทยแลนด์ 4.0 ประสบความสำเร็จ

  • เงื่อนไขทางการเมืองกับตัวแปรไทยแลนด์ 4.0

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เริ่มต้นจากความพยายามยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่ด้วยเงื่อนไขทางเวลาของรัฐบาลที่มีอยู่จำกัดก่อนการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดไว้ในช่วงต้นปีหน้าถือเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่สำคัญและกลายเป็นตัวเร่งรัดให้นายกรัฐมนตรีต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้จับต้องได้มากที่สุด เน้นไปที่การแก้ปัญหาที่สั่งสมมาจากอดีต ช่วยอำนวยความสะดวกของประชาชน ถือเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าการขับเคลื่อนเป้าหมายในระยะยาว

วันนี้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงถูกนำมาใช้ในการตอบโจทย์ของรัฐบาลในระยะสั้น ที่นายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลก็พยายามจะตอบคำถามให้ได้ ว่าประชาชนได้ประโยชน์ที่ชัดเจนอย่างไรบ้างจากนโยบายนี้  ส่วนเป้าหมายระยะยาว ความหวังอยู่ที่การจัดตั้งกระทรวงใหม่ ซึ่งจะยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้

 

บทความโดย : รุจน์ รฐนนท์ 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า