Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 22 เม.ย. รายการ Workpoint Today ทางเฟซบุ๊ก Workpoint News คุยกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถึงข้อเสนอทางออกวิกฤติโควิด-19 โดยสนทนากันผ่าน VDO Call เริ่มจากคุณหญิงสุดารัตน์ ต่อด้วยนายธนาธร และนายอภิสิทธิ์ โดยช่วงรอยต่อระหว่างการสนทนากับแต่ละคน ได้เปิดให้แขกรับเชิญได้สนทนาแลกเปลี่ยนกันเองด้วย
.
โดยนายธนาธร และคุณหญิงสุดารัตน์ เห็นตรงกันเรื่องต้องมองไปที่แนวทางการคลายล็อกบางส่วนเพราะประชาชนเดือดร้อนมาก ส่วนนายอภิสิทธิ์และนายธนาธร มองเรื่องการจัดการกับการเยียวยาของภาครัฐว่าควรมีแนวทางที่ดีกว่าที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องของการใช้เงินงบประมาณที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

จากโจทย์ที่ทีมงานตั้งเรื่องให้มองเรื่องแนวทางการจัดการกับโควิดที่ผ่านมาของรัฐบาล คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า แม้เป็นฝ่ายค้านก็เอาใจช่วยรัฐบาลให้แก้วิกฤติได้สำเร็จ และได้พยายามแชร์ประสบการณ์ตอนที่ตนทำงาน เคยผ่าน ซาร์ส และไข้หวัดนก ว่าต้องมีมาตรการที่แม่นยำ ฉับไว ซึ่งประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีบุคลากรที่มีความสามารถและเสียสละอยู่แล้ว
.
ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านมายังทำเป็นข้อๆ ไม่ครบวงจร ตนเสนอตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ว่า ต้องให้เหมือนการรับมือโรคซาร์ส เรื่องจัดการคนเข้าประเทศ โดยแจ้งไปยังประเทศต้นทางว่าเมื่อมาไทยต้องกักตัวโดยรัฐ 14 วัน สมัยก่อนเราเช่าโรงแรม กักตัวเฝ้าดูอาการ มีการคิดค่าใช้จ่าย ปิดประตูไม่ให้เชื้อเข้าประเทศแต่ครั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ได้ทำ
.
ต้นเดือน ก.พ. ตนเสนอมาตรการ 21 วันสยบโควิด ที่จะบริหารจัดการให้เชื้ออยู่ในระดับต่ำได้ ด้วยการเอ็กซเรย์หาผู้ติดเชื้อ และแยกผู้ที่ติดเชื้อไปกักตัว หยิบคนติดเชื้อออกจากสังคม รัฐบาลมีการหยิบบางมาตรการไปใช้โดยไม่ครบวงจรทำให้ศึกยืดเยื้อและต้องเกิดการปิดบางธุรกิจ เกิดผลกระทบต้นทุนทางเศรษฐกิจตามมา ซึ่งระยะเวลาปิดกิจการหรือปิดเมืองยิ่งปิดนานยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
.
ส่วนมาตรการที่จะเกิดขึ้นต่อไป คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า มาถึงวันนี้ มีเรื่องสำคัญที่ไม่อยากให้พลาดเหมือนตอนปิดเมือง ที่กลับทำให้คนกระจายออกไป คือ การเปิดเมืองที่จะยากมากกกว่า ต้องมีมาตรการเข้มงวด รัดกุม รอบคอบ เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย และต้องเริ่มเตรียมทำแล้วไม่อย่างนั้นก็ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ และจะส่งผลต่อไปที่เรื่องเศรษฐกิจ
.
วันนี้คุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้แล้ว ต้องมาดูมาตรการเปิดเมือง ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก วางเกณฑ์ให้ธุรกิจต่างๆ และเยียวยาทำอย่างไรให้ทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งหลายประเทศส่งถึงอย่างรวดเร็ว
.
ส่วนเรื่องงบประมาณเห็นว่าควรจะออก พ.ร.ก.ตัดงบประมาณ ปี 2563 และปรับลดงบประมาณ 2564 ก่อนจะกู้เงิน แต่รัฐบาลเลือกกู้เงินก่อน ซึ่งจะส่งผลต่อคนรุ่นหนุ่มสาวแบกจนหลังแอ่น
.
เมื่อถามถึงการมองต่อไปยังอนาคตแล้วอยากบอกอะไรกับประชาชน คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่าสิ่งที่อยากบอกประชาชน คือ ต้องยอมรับว่า โควิดจะอยู่ไปอีกยาวพอสมควร กรณีของไทยอัตราการตายน้อย แต่โอกาสติดเชื้อยังมี ต้องดูว่าเราจะทั้งไม่ติดเชื้อและไม่อดตายเพราะเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนบริบทโลกหลังโควิด ทั้งการใช้ชีวิตและการทำมาหากินจะเปลี่ยนไป รวมทั้งมุมมองด้านความมั่นคงซึ่งจะไม่ใช่การรบกับศัตรูแล้ว แต่คือการรบกับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น
.
หลังโควิดเศรษฐกิจจะแย่ทั้งโลกแต่ยังเชื่อว่าไทยจะพลิกวิกฤตได้ สร้างฐานด้านการเกษตรต่อยอดไปผลิตอาหารปลอดภัยป้อนคนทั้งโลก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้านการท่องเที่ยว อาจจะเป็นฮับ การท่องเที่ยวพ่วงด้านสุขภาพ สร้างความมั่นใจเที่ยวไทยปลอดโควิดเป็นจุดขาย
.
วิกฤตโควิด ด้านจิตใจทำให้เรากลับไปเลือกการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง อยู่แบบประมาณตน แข็งแรงคนเดียวไม่เป็นประโยชน์ ต้องมองคนรอบข้างให้เขาแข็งแรงไปด้วยกัน เราถึงจะอยู่รอดด้วยกัน
.
ขณะเดียวกันต้องมองไปที่เทคโนโลยีกับความรู้ใหม่ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ด้านนายธนาธร กล่าวว่า ตนติดตามข้อเสนอจากหลายๆ ฝ่าย ทุกข้อเสนอที่ดีพร้อมจะสนับสนุนและนำไปเสนอต่อ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ และที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้คลายล็อกบางส่วน เราไปฟังชาวบ้านพบว่าความเดือดร้อนใหญ่หลวงมาก
.
เราคิดคล้ายๆ กัน มาตรการการปิดเมืองไม่ใช่การเอาชนะไวรัสแต่ทำให้ซื้อเวลาได้ เพราะตอนที่โรคระบาดทั้งสังคมเราไม่มีการเตรียมการที่ดีพอจึงต้องล็อกเพื่อเตรียมการ ถ้าคลายล็อกแล้วทุกส่วนต้องมีความพร้อมมากกว่านี้
.
เมื่อให้มองถึงการทำงานของรัฐบาล นายธนาธร กล่าวว่า ช่วงแรกการสื่อสารของรัฐบาลมีปัญหา หน่วยงานต่างๆ ให้ข้อมูลไปคนละทาง ก่อนที่ต่อมาจะให้แพทย์มาบริหารจัดการซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้อง
.
ส่วนเรื่องการเยียวยา ต้องมีมาตรการอื่นๆ เดินไปพร้อมกันด้วย คือ การหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกัน การเยียวยาทางเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้คิดพร้อมกัน ออกมาคนละช่วงเวลา ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ถ้าคิดพร้อมกันทำให้หนุนเสริมกัน


นายธนาธร มองถึงมาตรการการช่วยเหลือ เช่น การแจก 5 พันบาทว่า ควรต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความจน เพราะจะรับ 5 พันบาทกลับต้องมีข้อแม้มาก หรือแม้แต่งบประมาณส่วนที่ช่วยธุรกิจ SME ก็ยังมีเงื่อนไขจำนวนมาก แต่พอช่วยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทำได้เร็วมีประสิทธิภาพ
.
เวลานี้เป็นเวลาพิสูจน์เรื่องความป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีจริงหรือไม่ เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หมายความว่าอย่างนั้นจริงหรือไม่ เพราะมีมาตรการขัดแย้งกับคำพูดเต็มไปหมด ต้องคิดว่าภาษีของประชาชนควรดูแลใครก่อน สำหรับเราคือ คนที่เดือดร้อน คนที่จะอดตายก่อน
.
อยากบอกรัฐบาลว่าไม่ต้องคุยกับเจ้าสัว ต้องคุยกับประชาชน ไม่ต้องมีบอดี้การ์ดเดินทางลงไปชุมชนแออัด ไปกับตน 2 คนก็ได้จะพาไปฟังเสียงประชาชน ยกตัวอย่างเรื่องค่าไฟ ตนไปเจอประชาชนอยู่บ้านอากาศร้อน ต้องหุงหากินเอง ค่าไฟจาก 2 พันกลายเป็น 3 พันบาท ซึ่งเขาก็ยากจนอยู่แล้ว แต่ตอนแรกภาครัฐลดค่าไฟให้ 3% รัฐบาลนำเสียงประชาชนมาปรับแก้ช้ากว่าเสมอ เช่น ถ้าไม่มีกระแสในสังคม เรื่องรถถังจะเลื่อนการจัดซื้อหรือไม่
.
เมื่อให้มองไปถึงอนาคตของประเทศไทย นายธนาธร กล่าวว่า โคโรนาไวรัสมาพร้อมโอกาส ที่จะร่วมสร้างประเทศไทย เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่ควรจะทิ้งไป ตอนนี้จะมีเรื่องงบ 2 ล้านล้านบาทเข้ามาใช้ ส่วนหนึ่งมา พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านซึ่งจำนวนเยอะขนาดนี้ไม่ง่ายเลยที่จะเกิดขึ้น
.
เงินกู้ไม่ใช่รายได้ต้องมีคนทำงานใช้คืน คือคนรุ่นเราที่ทำงาน คนรุ่นใหม่ที่ต้องเข้าสู่ระบบแรงงาน จ่ายภาษีไปคืนเงินกู้ ถ้าเงินกู้สร้างดอกผลไม่ได้ก็จะเป็นแค่ภาระ นี่คือโอกาสสำคัญ ประชาชนต้องส่งเสียงความต้องการดังๆ ให้เขาฟังเสียง
.
นี่คือการเอาเงินในอนาคตมาใช้ เราต้องบอกรัฐบาลดังๆ ว่าเงินส่วนนี้ควรใช้ทำอะไร หยุดไวรัสได้แล้วประเทศไทยต้องไม่เป็นเหมือนเดิม ประเทศไทยต้องไปไกลกว่าเดิม สร้างงานที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิ สร้างรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนได้ทั่วถึงได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่จะหวังกลุ่มทุนใหญ่มั่นคงแล้วจะดึงคนกลุ่มอื่นๆ ขึ้นไป สังคมจะเข้มแข็งต้องสร้างจากคนในสังคมที่เข้มแข็ง สวัสดิการเท่านั้นที่เป็นทางออก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นห่วงทุกๆ ฝ่ายในภาวะที่คนในประเทศไม่เคยประสบมาก่อน อยากเห็นความร่วมมือจากฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายฝ่าตรงนี้ออกไป
.
เมื่อให้มองถึงการทำงานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงแรกมีปัญหาการสื่อสารค่อนข้างมาก เพราะเป็นสถานการณ์ใหม่ แม้จนถึงวันนี้ก็มีหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้ เช่น คนติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันแค่ไหน ซึ่งแม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ผิดมา 2-3 ครั้ง ทั้งเรื่องที่บอกว่าเชื้อไม่ติดจากคนสู่คน, การไม่เห็นด้วยเรื่องการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หรือเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยก็ยังไม่ชัดเจน
.
แต่หลังจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องชมเชย นพ.ทีวศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่สื่อสารกับประชาชนย้ำในสิ่งที่ต้องขอความร่วมมือ ทำให้หลายสิ่งเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาด คือ รัฐบาล ที่ต้องมีความชัดเจนเรื่องแนวคิดอนาคต
.
ประชาชนความเดือดร้อนทั้งความกลัวโรค ทั้งด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงมากและยังไม่ชัดเจนในเรื่องทางออก จนทำให้เกิดความสับสนซึ่งควรต้องทำให้ชัดเจนโดยเร็ว การที่รัฐบาลพูดถึงภาพในอนาคตจะทำให้สังคมให้ความร่วมมือ และสะท้อนเรื่องต่างๆ ทันท่วงที ทำให้การแก้ปัญหาระยะต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
หากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง สิ่งที่ต้องพูดต่อคือ เรื่องการผ่อนคลายที่ต้องมีการเตรียมการ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อจะไม่สุ่มเสี่ยงปัญหาการระบาดรอบใหม่ ซึ่งต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า ถ้าไปบอกใกล้ๆ จะเป็นปัญหาในการปฏิบัติ

อีกส่วนที่น่าเป็นห่วง คือ ความสามารถในการตรวจเชื้อ ที่ยังไม่ได้รับการสื่อสารชัดเจน มากกว่าการบอกว่าตรวจได้มากขึ้น ตนเข้าใจข้อจำกัดบางประการ เช่น เรื่องการอุปกรณ์การตรวจ แต่รัฐบาลยังไม่ได้อธิบายตรงนี้ให้ประชาชนสบายใจ รวมทั้งรัฐบาลดูจะยังอนุรักษ์นิยม มุ่งไปตรวจเฉพาะบางวิธีการซึ่งล่าช้า สำหรับตนถ้าตรวจด้วยวิธีการอื่น แม้จะคลาดเคลื่อนร้อยละ 20 ก็ดีกว่าไม่รู้เลย เพราะถ้าไม่ตรวจเลยก็ไม่รู้เลย
.
ด้านมาตรการเยียวยาควรเป็นการประกันรายได้ ทำให้ยุ่งยากน้อยที่สุด  ตนไม่เห็นด้วยกับการคัดกรองที่สับสนในปัจจุบัน ซึ่งจะสับสนยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อจะมีการเยียวยาเกษตรกรเป็นครัวเรือน ที่จะมีการทับซ้อนกับการเยียวยาบุคคล ซึ่งมาจากการไม่ได่วางหลักให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น
.
ที่ควรทำคือตั้งหลักเยียวยาทุกคนแล้วดูว่าตัดใครออกบ้าง เช่น ดูฐานข้อมูลการเสียภาษี ประกันสังคม บัญชีเเงินฝาก ซึ่งนำมาคัดกรองได้ โดยไม่เป็นภาระประชาชนในการมากรอกข้อมูลแล้วมารอผล และจะเกิดความเสมอภาค
.
ส่วนเรื่อง พ.ร.ก. กู้เงิน ตนเห็นว่า ควรทุ่มเท 2 เรื่องหลัก คือ ลงทุนด้านสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจ อุปกรณ์ และการบำรุงขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ กับเรื่องการเยียวยาประชาชน ตนไม่เห็นด้วยกับการกัน เงินกู้ 4 แสนล้านบาท จาก 1 ล้านล้านบาทไปทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ควรจะไปใช้งบประมาณปกติปี 63-64 ดูแลได้
.
เมื่อถามถึงการมองประเทศไทยในอนาคต นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า เรายังไม่ทราบว่าภาวะไม่ปกติจะอยู่กับเรานานเท่าไร วัคซีนคงจะยังไม่แพร่หลายทั่วโลกภายในปีนี้ คงยังไม่สามารถวางใจได้ แต่ถ้ามองไปข้างหน้า บทเรียนราคาแพงสำหรับคนทั่วโลกจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ภาวะไม่ปกติจะสอนเราหลายๆ เรื่อง เช่น วันนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก การรณรงค์ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ แต่วันนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ๆ หาย เป็นตัวบ่งบอกว่าถ้าปลี่ยนวิถีชีวิตในบางอย่างสามารถทำได้ รวมทั้งด้านเทคโนโลยี ระบบการทำงานจากที่บ้าน
.
ส่วนเศรษฐกิจไทยต้องมองดูโอกาสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ภาคเกษตร อาหาร ยังเป็นจุดแข็งของเรา ต้องพลิกฟื้นแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ข้างหน้า อุตสาหกรรมในประเทศต้องแสวงหาจุดแข็ง จากการที่ห่วงโซ่อุปทานข้ามชาติมีปัญหาทำให้เห็นว่าอะไรไปได้อะไรไม่ได้ การท่องเที่ยว การหารายได้แบบจะทำให้มีคุณภาพมีมาตรฐานลดความเสี่ยงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ย่างไร ความเข้มแข็งด้านบริการสุขภาพ จุดเด่นบุคลากรทางการแพทย์ การทำงานเชื่อมโยงกับชุมชน นำมาใช้เป็นฐานเดินหน้า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต่อไป

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า