เมื่อสภาพเศรษฐกิจทำให้สภาพคล่องทางการเงินของใครหลายคนเกิดสะดุด ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนใครบางคนอาจตามไม่ทัน ได้กลายเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงผู้อื่น
จะเห็นได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีคนจำนวนไม่น้อย เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เพราะตกหลุมพรางกลโกง ที่เข้ามาฉวยโอกาสกับความเดือดร้อนเรื่องเงิน ความรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี และรูปแบบกลลวงของมิจฉาชีพ จนต้องสูญเสียเงินเก็บในบัญชีไปจนหมด กลายเป็นหนี้สิน จากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น คือถูกปรับ ถูกจับ และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ดังเช่นกรณีเหล่านี้
-
- มิจฉาชีพอ้างเป็นหน่วยงานราชการหลอกเหยื่อโหลดแอปฯ ควบคุมโทรศัพท์มือถือ ก่อนเงินหายเกลี้ยงทั้งบัญชี
แก๊งมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ขอตรวจสอบเงินในบัญชี โดยสามารถบอกชื่อนามสกุล ที่อยู่ของผู้เสียหายได้ทั้งหมด พร้อมทั้งแจ้งว่าจะจ่ายเงินคืนให้ เป็นจำนวนเงิน 17,000 บาท แต่ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ของหน่วยงานราชการที่ส่งมาให้ทางไลน์ก่อน ถ้าไม่ทำจะโดนปรับหลักแสนบาท จึงทำให้เหยื่อหลงเชื่อ โหลดแอปฯ ปลอม ที่สามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือได้ และทำตามที่มิจฉาชีพบอก สุดท้ายพบว่าเงินในบัญชีถูกโอนออกจนหมด
กรณีนี้ผู้เสียหาย ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อนำหลักฐานไปแจ้งธนาคาร แต่ไม่สามารถดำเนินการเรื่องคดีความต่อได้ เพราะมีแต่หลักฐานแชตผ่านไลน์เท่านั้น จึงไม่สามารถระบุตัวตนจริงของมิจฉาชีพได้
-
- หลวมตัวกู้เงินนายหน้าเถื่อน เจอส่วนต่างเกินครึ่ง
ชาวบ้านที่จังหวัดปราจีนบุรี เจอมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นนายหน้า จะช่วยเหลือให้ยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยใช้เอกสารแค่บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งเมื่อธนาคารอนุมัติเงินกู้แล้ว นายหน้าได้นำโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปฯ ธนาคารมาให้ 1 เครื่อง แต่พบว่าเงินที่ได้รับเข้าบัญชีมีจำนวน 65,000 บาท แต่เอกสารแสดงยอดหนี้ของธนาคารแจ้งว่ามียอดกู้ถึง 162,000 บาท สาเหตุเพราะถูกนายหน้าหักเงินส่วนต่างไปแล้ว ทำให้ผู้กู้ต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินเกินจำนวนเงินที่ตนเองได้รับ
-
- จับหญิงเปิดบัญชีม้าแลกเงินรายเดือน
อีกหนึ่งกรณีที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ คือการให้ หรือขายบัญชีให้บุคคลอื่น ใช้เป็นช่องทางการรับเงินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือที่เรียกกันว่า “บัญชีม้า”
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้รับเปิดบัญชีม้า รับเงินแทนแก๊งมิจฉาชีพที่หลอกลวงให้คนโอนเงินลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง เพื่อแลกกับค่าจ้างเป็นรายเดือน ซึ่งสร้างความเสียหายรวมกว่า 9 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้เปิดบัญชีม้า และซื้อขายบัญชีม้า ได้ถูกจับกุม และดำเนินคดี ในข้อหาเป็นหนึ่งในแก๊งมิจฉาชีพ
โดยข้อมูลจากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง เดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ความเสียหายที่ประชาชนได้รับจากมิจฉาชีพหลอก มีมูลค่าเกินกว่า 38,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กลโกงของมิจฉาชีพไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ อาจมีการอัปเดตรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างปลอดภัย และมี “สติ” พิจารณาสถานการณ์ ว่าบุคคลที่ติดต่อมานั้นเป็นตัวแทนจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือจริง หรือเป็นผู้ประสงค์ร้าย และสามารถรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ในที่สุด สำนักข่าวทูเดย์มีคำแนะนำดีๆ จากแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ จากเคแบงก์มาฝากกัน รับรองว่าทำตามได้ไม่ยาก
วิธีป้องกันมิจฉาชีพอ้างเป็นหน่วยงานราชการหลอกเหยื่อโหลดแอปฯ ควบคุมโทรศัพท์มือถือ
-
- ตั้งสติทุกครั้ง เมื่อได้รับสายแปลกๆ ที่ชักชวน หลอกล่อ หรือข่มขู่ด้วยจำนวนเงิน หากไม่แน่ใจว่าเบอร์ที่กำลังสนทนาด้วยนั้น เป็นของจริงหรือไม่ ให้หยุดสนทนาทันที และติดต่อหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างโดยตรงเพื่อยืนยันข้อมูล
- ดาวน์โหลดแอปฯ จาก Store ทางการ เช่น App Store Google Play Store เท่านั้น หลีกเลี่ยงการโหลดแอปฯ จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น จากการกดลิงก์ที่ได้รับทาง SMS แม้จะอยู่ในกล่องข้อความเดียวกับชื่อธนาคาร เพราะธนาคารยกเลิกการส่ง SMS ที่มีลิงก์แนบ ให้ลูกค้าแล้ว
- อัปเดตแอปฯ ทางการเงิน ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด เพราะธนาคารจะมีการปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
วิธีป้องกันมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นนายหน้ากู้เงิน หลอกหักส่วนต่างเกินครึ่ง
-
- อย่าหลงเชื่อ และให้ข้อมูลส่วนตัว หรือเอกสารสำคัญกับใคร เช่น บัตรประชาชน บัญชีธนาคาร เพราะอาจถูกนำไปใช้กระทำความผิด หรือทำสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว
- ไม่หลงเชื่อคำโฆษณา ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสูงมาก หากพิจารณาแล้วว่าดีเกินจริง ต้องระวัง
- หากต้องการยื่นกู้กับธนาคารสามารถทำได้เอง ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อตามเงื่อนไขและเกณฑ์ของธนาคาร
วิธีป้องกันไม่ให้ถูกหลอกเปิดบัญชีม้า
-
- ไม่รับจ้างเปิดบัญชี ขายบัญชี หรือให้บุคคลอื่นยืมใช้บัญชีธนาคารของตนเอง
- ไม่ให้เอกสาร หรือข้อมูลสำคัญของตนเอง แก่บุคคลอื่น เช่น บัตรประชาชน บัญชีธนาคาร เพราะอาจถูกนำไปใช้กระทำความผิด หรือทำสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว
นอกจากคำแนะนำเบื้องต้นนี้แล้ว แคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ ยังมีสารานุโกงที่อัปเดตกลโกงใหม่ จากมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมรณรงค์ ให้ความรู้ และเตือนภัยการหลอกลวงด้านการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ให้ทุกคนมี “สติ” รู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพ และสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ติดตามภัยกลโกงใหม่ๆ จะได้ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อไปกับแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดสนใจร่วมเผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคลากรภายในองค์กร สามารถดาวน์โหลดข้อมูลและสื่อต่างๆ ได้ฟรี! ทาง https://kbank.co/3HP3eSD
…
อ้างอิงแหล่งข่าว