SHARE

คัดลอกแล้ว

4 เหตุผลที่ทำให้ ความยั่งยืนกลายเป็นกติกาสากลที่จำเป็นต่อการไปต่อของโลกในอนาคต

‘ความยั่งยืน’ (sustainability) จะกลายเป็นเมกะเทรนด์ในปีนี้ตามการจัดอันดับเทรนด์ธุรกิจ 2023 ของ Forbes  ในปัจจุบันแทบจะทุกวงการเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับคำนี้กันมากขึ้น อย่างในแวดวงธุรกิจก็เริ่มมีการตั้งเป้าการเติบโตโดยสนใจ ‘ความยั่งยืน’ มากขึ้นตามกระแสสถานการณ์โลกที่บีบบังคับว่าต้องคิดถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม สำนักข่าว TODAY จึงขอชวนมาสำรวจ 4 เหตุผลที่จะทำให้คำว่า ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘sustainability’ กลายเป็นกติกาสากลที่เราทุกคนต้องทำตามอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคต

เหตุผลที่ 1: ทรัพยากรโลกกำลังจะหมด

ที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาถูกคิดอยู่บนฐานของการถลุงทรัพยากร ผลิต ค้าขาย ได้กำไร รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเกินความต้องการไปจนถึงจุดที่เรียกว่าเป็น ‘การบริโภคล้นเกิน’ (over consumption) สถานการ์เช่นนี้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า ‘World Overshoot Day’ หรือ วันสุดท้ายที่มนุษย์สามารถใช้ทรัพยากรโลกได้อย่างสมดุลโดยไม่ต้องไปหยิบยืมทรัพยากรมาจากอนาคต เขยิบเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ  สำหรับในปี 2022 วัน World Overshoot Day ประจำปีคือวันที่ 28 กรกฎาคม นั่นหมายความว่าทรัพยากรที่มนุษย์โลกใช้หลังวันดังกล่าวเป็นการหยิบยืมมาจากอนาคตทั้งสิ้น พูดง่ายๆ ก็คือโควตาทรัพยากรต่อปีสำหรับเราทุกคนได้หมดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม นั่นเอง

การใช้ทรัพยากรโลกอย่างล้นเกินมาเป็นเวลานาน ประกอบกับการที่โลกมุ่งไปสู่การมีประชากรมนุษย์ 9 พันล้านคน ทำให้ทั่วโลกเริ่มมองหามาตรการและทางออกที่จะมาช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเผชิญศึกแห่งการแย่งชิงทรัพยากร แนวคิดต่างๆ อย่างเช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs) ) การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net-Zero) การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือแม้แต่แนวคิดที่ถูกตั้งคำถามอยู่อย่างคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และโมเดลเศรฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG จึงเกิดขึ้นมาเพื่อพยายามเป็นคำตอบให้กับความท้าทายที่เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าทรัพยากรโลกนั้นมีอยู่อย่างจำกัด

เหตุผลที่ 2: การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือตัวเร่งและสัญญาณเตือนที่สำคัญว่าเราจะปล่อยให้โลกและการพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปแบบเดิมไม่ได้ หลายคนน่าจะพอคุ้นหูอยู่บ้างกับประโยคที่ว่า “หากเราไม่สามารถพยุงอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาได้ เราอาจต้องรับมือกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย” อย่างจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้น คลื่นความร้อนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในยุโรป น้ำท่วมปากีสถานในฤดูร้อน น้ำทะเลสูงจนกรุงเทพฯ เสี่ยงกลายเป็นเมืองบาดาล พายุที่รุนแรงขึ้นและสิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูญพันธุ์หลายชนิด ไปจนถึงจะมีผู้คนมากกว่า 216 ล้านคนต้องอพยพถิ่นที่อยู่ภายในปี 2050 จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในมิติของเงินๆ ทองๆ เองก็เริ่มมีการศึกษาเช่นกันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นส่งผลต่อ GDP และเงินในกระเป๋าของเราทุกคน รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (AFDB) ได้เผยว่า แอฟริกากำลังสูญเสีย 15% ของ GDP จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงแม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดจากทุกทวีปบนโลก

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นตัวเร่งหลักที่ทำให้ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจการไปต่อของโลกอย่างยั่งยืนมาขึ้น อย่างในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเองตั้งแต่ปี 1980 ที่โลกเริ่มเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์

ทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดองค์กรต่างๆ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น อย่าง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือการเกิดขึ้นของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1992 เพื่อกำหนดความร่วมมือการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันระดับโลกในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จนได้มีการจัดตั้งเวทีประชุม COP การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือจะเรียกกันด้วยภาษาง่ายๆ ว่าประชุมโลกร้อนระดับสากลก็ได้ ที่จะจัดขึ้นทุกปีเพื่อพูดคุยถึงการหาแนวทางยับยั้งและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโลกร้อน

ไปจนถึงให้ประเทศที่อยู่ในกรอบอนุสัญญาโลกร้อน หรือ อนุสัญญาปารีส ทำแผนการพัฒนาประเทศว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนแล้วจัดส่งเป็นรายงานที่เรียกว่า รายงาน “เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่แต่ละประเทศกำหนดเอง” (Nationally Determined Contributions: NDCs) สำหรับประเทศไทยเองรายงานดังกล่าวก็พยายามเน้นคอนเซ็ปท์เรื่องความยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเป็นหลัก

เหตุผลที่ 3: โลกร้อนเพิ่มความเสี่ยงให้ภาคธุรกิจ

นักวิชาการหลายคนออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต่อให้เราหยุดปล่อยก๊าซทั้งหมดในวันนี้ แต่ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี” นั่นหมายความว่าเราไม่มีข้ออ้างที่จะทำให้ไปต่อแบบเดิมได้ และประเด็นนี้ยิ่งท้าทายโดยเฉพาะตอนที่เรากำลังอยู่บนทางแยกระหว่างความมั่งคั่งของธุรกิจกับความยั่งยืนของโลก

“As of now, Earth is our only shareholder.” คือ ประโยคเด็ดที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เมื่อหนึ่งในผู้เล่นจากภาคธุรกิจที่เริ่มวางการ์ดสู้กับโลกร้อนแล้วอย่าง อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) วัย 83 ปี ผู้ก่อตั้ง Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าเอาท์ดอร์จากอเมริกา ประกาศกลางสนามว่า “จะมอบผลกำไรทั้งหมดให้กับภารกิจปกป้องโลกบ้านเกิดของเรา” และหุ้นส่วนของธุรกิจเขามีเพียงโลกใบนี้เท่านั้น

แน่นอนว่าปัจจุบันทุกภาคส่วนมีความเสี่ยงและถูกกดดันจากภาวะโลกร้อน อย่างในภาคธุรกิจเอกชนเองหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องหันมาสนใจรายงานความยั่งยืน หรือ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน Environment, Social, และ Governance หรือ ESG มากขึ้นเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนที่ต้องการความมั่นใจว่าธุรกิจนั้นมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โปร่งใส และถูกพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ อย่างการศึกษาของ State Street Global Advisors ในปี 2017 ที่ได้ทำการศึกษาผู้ลงทุนสถานบัน เช่น ธนาคาร กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ กว่า 475 องค์กรใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ เอเชียแปซิฟิก พบว่า ผู้ลงทุนสถาบันกว่า 80% เลือกลงทุนกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG

หรืออย่างในต่างประเทศเองก็เริ่มมีการพูดถึงการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Disclosure) แล้ว อย่างความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) การจะจัดตั้งโรงงานหรือบริษัทจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อระบุและประเมินความเสี่ยงด้วยว่าโรงงานหรือบริษัทที่จะตั้งนั้นอยู่บนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ไฟป่า หรือภัยพิบัติอื่นๆ ที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนหรือไม่

หรือแม้แต่ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนผ่าน (transition risk) ที่ธุรกิจหรือนักลงทุนต้องการรายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งความเสี่ยงนี้ทำให้แต่ละกิจการที่ต้องการนักลงทุนหรือกู้ยืมจากแหล่งทุนธนาคารต่างๆ ต้องเผยข้อมูลในการทำธุรกิจ อย่างเช่นในประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน บริษัทอาจต้องเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมต่อแหล่งทุนด้วย

แรงกดดันในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น อย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2019 ที่ผู้ถือหุ้นของ BP บริษัทด้านพลังงานของอังกฤษ ร่วมกันลงมติให้มีการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ และในปีเดียวกันนั้นก็มีอีกหลายบริษัท เช่น  Exxon MobilOccidental Petroleum และ PPL Corporation ที่ผู้ถือหุ้นลงมติในเรื่องนี้เช่นกัน

เหตุผลที่ 4 : หมดยุค GPD ไปต่อแบบเดิม

ความท้าทายในอนาคตข้างหน้าก็คือ GDP ยังคงต้องโต แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องลดลงด้วย ในอดีตที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกโตได้จากการถลุงทรัพยากรมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย กราฟด้านล่างนี้อธิบายได้ว่าทำไมการเติบโตของ GDP จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในวิกฤตโลกร้อนและการเติบโตอย่างยั่งยืน

กราฟนี้กำลังบอกเรา 2 ประเด็นด้วยกัน สิ่งแรกที่กราฟชี้ให้เห็นก็คือ เหตุการณ์ที่ทำให้การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงในสายธารประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คือ การเกิดวิกฤตการณ์ อย่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนหลายพันล้านคนอยู่แต่ในบ้าน หลายอุตสาหกรรมชะงักหยุดสายพานการผลิต ส่งผลทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เคยไหลสู่ชั้นบรรยากาศลดลงได้ถึง 5.2% หรือช่วงหลังการเกิดวิกฤตน้ำมันและหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอเกอร์ในปี 2008-09 ที่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเช่นกัน

แต่โจทย์ใหญ่หลังวิกฤติโควิด-19 ในโลกทุนนิยมคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเดินต่ออีกครั้ง ทุกประเทศจึงเน้นการลงทุนเพื่อสร้างเม็ดเงินและดัน GDP ให้กับประเทศตัวเอง ซึ่งประเด็นที่สองที่กราฟนี้กำลังบอกกับเราคือ หลังวิกฤติทุกครั้งปริมาณการปล่อยคาร์บอนจะมากกว่าเดิม อย่างการดีดตัวขึ้นของการปลดปล่อยก๊าซหลังวิกฤตน้ำมันทั้ง 2 ครั้ง และหลังวิกฤตการเงินที่ผ่านมานั้นชัดเจนว่าไม่เคยมีสถานการณ์ปกติไหนเลยที่เราจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างถาวร มีเพียงการลดการปล่อยชั่วคราวเท่านั้น

แต่โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบโดยตรงต่อ GDP อย่างเมื่อกลางปีที่แล้ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อที่ชื่อว่า ‘Sustainable Business Summit’ ที่สิงคโปร์ ประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้ GDP ของแต่ละประเทศลดลง

‘Edris Boey’ หัวหน้าฝ่ายวิจัย ESG ที่ Maitri Asset Management Edris Boey เผยว่า หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาเซียนอาจเป็นภูมิภาคที่สูญเสีย GDP ไป 35% ภายในปี 2050 และจีนอาจสูญเสีย GDP ถึง 45% ภายในปี 2100 ซึ่งนั่นทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งเป็นเรื่องท้าทาย และเป็นคำตอบได้ว่าทำไมการคิดถึงความยั่งยืนจึงเป็นกติกาที่เป็นโจทย์ใหญ่ของเราทุกคน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า