เมื่อปลายปี 2564 เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ออกมายอมรับว่าไม่มีเงินคืนเจ้าหนี้แล้ว หลังผิดนัดชำระหนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจจีน เพราะปริมาณหนี้สูงถึง 2% ของจีดีพี
นอกจากนี้ ยังสร้างความกังวลว่าการล้มของ Evergrande จะกระทบไปยังบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งก็ไม่นานเกิดรอ เพราะล่าสุดเพื่อนๆ ในอุตสาหกรรมกำลังส่งสัญญาณล้มตามกันไป
[ สำรวจบริษัทที่กำลังจะล้มตาม Evergrande ]
โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนอย่างน้อย 5 บริษัท คือ Country Garden, Sunac, Shimao, Seazen และ CIFI ซึ่งเป็นบริษัทระดับน้องๆ Evergrande ส่งสัญญาณมีปัญหา และไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้
เริ่มจาก Country Garden อสังหาริมทรัพย์เบอร์ 1 ของจีน (หากนับจากยอดขาย) ที่ถูก Moody’s หั่นเครดิตเรทติ้งจาก Investment-grade หรือระดับที่นักลงทุนสถาบันทั่วไปเข้าลงทุนได้ ลงมาเป็น Junk-grade หรือต่ำกว่ามาตรฐานที่สถาบันจะลงลงทุน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังออกมาประกาศในวันที่ 18 ส.ค. โดยคาดว่ากำไรในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อาจลดลงมากกว่า 70% ท่ามกลางวิกฤตหนี้ของอสังหาริมทรัพย์ในจีน
ถัดมา Sunac อีกหนึ่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอขยายระยะเวลาจ่ายคืนหนี้จำนวน 345 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
ส่วน Shimao Group หลังจากผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท) ล่าสุด มีแผนจะจ่ายคืนหนี้มูลค่ากว่า 1.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.3 แสนล้านบาท) ในอีก 3-8 ปีข้างหน้า
ขณะที่ Seazen แม้อันดับเครดิตเรทติ้งจาก Moody’s จะไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ถูกปรับลดแนวโน้มในอนาคตเป็นลบ (Negative) จากแนวโน้มยอดขายที่ลดลง ขณะที่บริษัทฯ เองก็คาดการณ์ว่ากำไรครึ่งแรกปีนี้จะลดลง 38-42%
สุดท้าย CIFI ที่ล่าสุด ทางการจีนสั่งให้ บริษัท ไชน่า บอนด์ อินชัวรันซ์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการค้ำประกันการออกหุ้นกู้ภายในประเทศของบริษัทฯ ขณะที่ CIFI คาดว่ากำไรในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะลดลง 59-72%
[ ความเสียหายใกล้เคียงวิกฤตซับไพรม์ ]
นอกจากรายชื่อข้างบนแล้ว ยังมีอสังหาริมทรัพย์รายย่อยลงมาอีกราว 26 แห่ง (ที่มีรายงานออกมา) ที่ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้เช่นกัน จากปัญหาความต้องการซื้อ (Demand) ที่ลดลง สวนทางกับความต้องการขาย (Supply) ที่ยังคงเพิ่มขึ้น
โดย S&P Global Rating คาดว่าในกรณีเลวร้ายที่สุด ธนาคารจีนจะต้องรับมือกับหนี้เสีย (NPL) จากภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 13 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่ใกล้เคียงกับวิกฤตซับไพรม์
อย่างไรก็ตาม ลำพังมูลค่าหนี้ของ Evergrande ก็ทะลุ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ไปแล้ว อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าราว 2% ของจีดีพี คว้าแชมป์เอกชนที่มีหนี้มากที่สุดในโลก
[ คนซื้อบ้านรวมตัวกันไม่จ่ายค่างวด ]
วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนดูท่าจะไม่จบง่ายๆ เมื่อคนจีนในหลายเมืองรวมตัวกัน ‘หยุดผ่อนบ้าน’ เพราะหลายโครงการสร้างไม่เสร็จ และบางโครการประกาศปิดตัวลง
เบื้องต้นคาดว่ามีการประท้วงไม่ต่ำกว่า 301 โครงการใน 91 เมือง โดยมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้กว่า 18 บริษัท
นอกจากนี้ คาดว่าปรากฏการณ์ข้างต้นซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่องที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญอยู่แล้ว โดยธนาคารจีนประเมินความเสียหายประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท)
ถึงอย่างนั้น สถาบันการเงินบางแห่งมองว่า ความเสียหายครั้งนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 10.5 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว
[ ปัญหาปั่นราคาที่จีนแก้ไม่เคยตก ]
ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนไม่ได้เพิ่งมีปัญหาในช่วงโควิด-19 ในงานศึกษาของ NBER ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2002 (2545) ราคาที่อยู่อาศัยในเมืองระดับ 1 (China’s Tier 1 Cities) พุ่งขึ้นมากกว่า 6 เท่า (600%) เพราะปัญหาการซื้อเก็งกำไรเก็งกำไร
เทียบกับประเทศอย่างสหรัฐ ราคาบ้านระหว่างปี 2000-2005 (2543-2548) พุ่งขึ้นเพียง 80% เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น ไอร์แลนด์ 100% และสเปน 230% ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังบูม
นอกจากนี้ ราคาบ้านในเมืองของจีนอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ยังสูงกว่ารายได้ของประชาชนถึง 40 เท่า และสูงกว่าเมื่อเทียบกับเมืองขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เช่น ลอนดอน 22 เท่า และนิวยอร์ก 12 เท่า
แม้ทางการจีนจะเฝ้าระวัง และมีมาตรการออกมาควบคุมการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะเห็นตัวอย่างจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐที่ปะทุขึ้นก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
แต่ถึงอย่างนั้น ราคาที่อยู่อาศัยในประเทศก็ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการเติบโตของประชากร และรายได้ของคนที่ลดลง ท้ายที่สุดก็ผลักให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ภาวะ Oversupply หรือภาวะอุปทานล้นตลาด
[ ทำไมรัฐบาลจีนต้องทุ่มเงินยื้อธุรกิจอสังหา ]
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนประกาศเตรียมเงินลงทุนจำนวน 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 40 ล้านล้านบาท) เพื่อใช้ในการสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
ส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยผลลบจากการล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะโควิด-19 และแน่นอนว่าอีกส่วนหนึ่งเพื่อช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่กำลังมีปัญหา
ในเวลาต่อมา สื่อต่างประเทศรายงานว่า จีนเตรียมตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อช่วยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แก้ไขวิกฤตหนี้ และเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมา
เบื้องต้น ทางการเตรียมเงินก้อนแรกไว้ราว 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.2 แสนล้านบาท) ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China: PBOC) และบุคคลที่ไม่ประสงค์ออกนาม
อีก 7.3 พันล้านเหรียญ (ราว 2.6 แสนล้านบาท) ในก้อนดังกล่าว จะมาจากธนาคารการก่อสร้างจีน (China Construction Bank) ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนที่ได้จากแบงก์ชาติจีนอีกทีหนึ่ง (Re-lending Facility)
อสังหาริมทรัพย์เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศจีนมากกว่า 1 ใน 4 ของจีดีพี อีกทั้งยังเกี่ยวโยงกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถปล่อยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ล้มลงได้
ที่มา:
- www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-22/country-garden-becomes-fallen-angel-with-downgrade-to-junk?sref=LQZclhPm
- www.ft.com/content/0b52834d-c4fb-497d-9ad0-68cf646536a8
- www.caixinglobal.com/2022-06-09/sunac-seeks-payment-extension-for-345-million-of-debt-101896598.html
- www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-03/chinese-developer-shimao-fails-to-pay-1-billion-dollar-bond?sref=LQZclhPm
- www.reuters.com/world/china/china-developer-shimao-proposes-repay-118-bln-offshore-debt-over-3-8-years-2022-08-23/
- https://finance.yahoo.com/news/seazen-holdings-co-ltd-moodys-075708645.html
- www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-16/china-builders-bonds-shares-rally-on-reported-bond-sale-help?sref=LQZclhPm
- www.marketwatch.com/story/chinese-property-developers-rise-after-pboc-signals-support-271661140312?mod=newsviewer_click
- www.bondsupermart.com/bsm/article-detail/a-list-of-26-key-chinese-developers-latest-development-ongoing-update-RCMS_255744
- www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-31/china-banks-may-face-350-billion-in-losses-from-property-crisis?sref=LQZclhPm
- www.oecd.org/daf/40899902.pdf
- www.bbc.com/news/business-62373763
- www.cnbc.com/2022/08/18/chinese-property-developers-cash-flows-have-plunged-by-more-than-20percent.html
- www.nber.org/system/files/working_papers/w27697/w27697.pdf
- www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-14/china-readies-1-1-trillion-to-support-xi-s-infrastructure-push?sref=LQZclhPm
- www.reuters.com/world/china/china-plans-set-up-real-estate-fund-worth-up-44-bln-redd-2022-07-25/