SHARE

คัดลอกแล้ว

เมืองคือปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องไปกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก อย่างในปีที่ผ่านมามีเทรนด์เมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นน่าสนใจหลายเทรนด์ด้วยกัน โดยมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก พร้อมสร้างความยั่งยืนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

TODAYBizview รวบรวม 5 เมืองโดดเด่นแห่งปี บางเมืองเริ่มพัฒนาจริงจังแล้ว และเห็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ส่วนบางเมืองแม้จะยังเป็นเพียงแผนการในอนาคต แต่ก็สะท้อนถึงแนวคิดที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบเมืองอื่นๆ ของโลกได้เช่นกัน ประกอบไปด้วย

– ปูซาน เมืองลอยน้ำแรกของโลก

– โซล เมือง Metaverse แห่งแรกของโลก

– โคเปนเฮเกน เมืองแห่งสถาปัตยกรรมและยั่งยืนที่สุดในโลก 

– อัมสเตอร์ดัม เมืองที่ใช้โดนัทโมเดล สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีที่สุดในโลก

– สิงคโปร์ เมืองสีเขียวระดับโลก ด้วยวาระการพัฒนาระดับชาติ

โดยแต่ละเมืองนั้นมีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมกันคือ ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว มีการจัดการระบบนิเวศที่ดี ผสานการใช้เทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่อง 5 เมืองต้นแบบแห่งอนาคต

  1. ‘ปูซาน’ เมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก

เกาหลีใต้ประกาศสร้าง ‘เมืองลอยน้ำแห่งแรกของโลก’ ที่เมืองปูซาน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ โดยวัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองลอยน้ำ (Oceanix City) เพื่อสร้างเมืองแห่งความยั่งยืน ผู้คนสามารถใช้ชีวิตบนผิวน้ำได้จริง ท่ามกลางการขยายตัวของประชากรในเมืองที่มีที่ดินจำกัด อีกทั้งสามารถจัดการภัยพิบัติ เช่น น้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับเมืองปูซาน แนวคิดการออกแบบเน้นไปที่ความยั่งยืนที่ชาวเมืองสามารถพึ่งพาตนเองได้ผ่านการจัดการด้านสาธารณูปโภค มีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ มีระบบกลั่นน้ำจืดสำหรับอุปโภค บริโภคได้อย่างปลอดภัย และสามารถใช้ทำการเกษตรได้ด้วย

การพัฒนาเมืองลอยน้ำแห่งแรกของเกาหลีใต้ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ฝันลอยๆ เพราะทางนครปูซาน ร่วมกับ UN-Habitat และบริษัท OCEANIX ลงนามในข้อตกลงสร้างเมืองลอยน้ำต้นแบบความยั่งยืนแห่งแรกของโลกขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564

‘เมืองลอยน้ำ’ โดย Oceanix City ถูกออกแบบให้ลอยอยู่ได้เหนือมหาสมุทรจริงๆ ลักษณะเป็นหมู่เกาะลอยน้ำรูปร่างหกเหลี่ยม ยึดติดกับโครงสร้างใต้ทะเล ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกันได้หลายเกาะจนกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ ทั้งนี้พื้นที่แต่ละส่วนจะสามารถจุประชากรได้กว่า 300 คน และเมื่อรวมทั้งหมดจะมีประชากรในเมืองกว่า 10,000 คน โดยเป็นระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์

ที่จริงแล้วโมเดลเมืองลอยน้ำเคยถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้แล้ว ในหลายๆ โปรเจ็กต์ด้วยกัน แต่คล้ายจะเป็นโลกในอุดมคติมากกว่าจะเกิดขึ้นจริง วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของพลเมือง พร้อมตั้งรับปัญหาภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่างน้ำทะเลเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้คนในบางพื้นที่เสี่ยงต้องโยกย้ายถิ่นฐาน

ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์เมืองลอยน้ำที่เคยออกแบบมาก่อนหน้านี้ เช่น Next Tokyo District, French Polynesia, Aequorea City, Lilypad: The Smart Floating City รวมถึง Oceanix City ด้วย แต่สำหรับ Oceanix City นั้นพิสูจน์แล้วว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง โครงการนี้ได้จับมือกับนครปูซานผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต

เมืองลอยน้ำแห่งนครปูซานแห่งนี้ ยังออกแบบให้คำนึงถึงเอกลักษณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ด้วย โดย Oceanix City คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2025 พร้อมขยายผลเป็นต้นแบบเมืองลอยน้ำสู่เมืองอื่นๆ ทั่วโลก

2. ‘โซล’ เมือง Metaverse แห่งแรกของโลก

ยังอยู่ที่เกาหลีใต้ แต่ขยับมาที่เมืองหลวงอย่าง ‘โซล’ ล่าสุดทางรัฐบาลกรุงโซลได้ประกาศแผนเดินหน้า ‘เมตาเวิร์สโซล’ (Metaverse Seoul) ตั้งเป้าสร้างเมืองเมตาเวิร์สแห่งแรกของโลก ตามเทรนด์เทคโนโลยีมาแรงที่ปีที่ผ่านมาใครๆ ก็ต่างพูดถึง

การออกแบบเมืองโซล ให้กลายเป็นเมืองเมตาเวิร์ส จะเน้นไปที่การให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในกรุงโซล ซึ่งมีเกือบสิบล้านคน ยกตัวอย่าง การให้บริการจากเจ้าหน้าที่รัฐในรูปแบบอวตารบนโลกเสมือนจริง ทั้งนี้การที่ประชาชนจะเชื่อมต่อเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สได้นั้นต้องสวมแว่นตา VR

นอกจากนี้ เมตาเวิร์สโซล จะมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในโลกเสมือนจริงด้วย ยกตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวที่จะใส่เข้าไป เช่น ตลาดนัมแดมุน จัตุรัสควางฮวามุน พระราชวังต๊อกซู และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ รวมถึงเทศกาลและอีเว้นท์ต่างๆ ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเมตาเวิร์สโซลสร้างเสร็จ 100% จะมีพื้นที่ให้บริการภาคธุรกิจ ศูนย์บ่มเพาะฟินเทค และองค์กรการลงทุนภาครัฐด้วย ในภาพรวมจะช่วยเลื่อนฐานะทางสังคมของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถของเมืองในการแข่งขันระดับโลก

ซึ่งแผนการก่อสร้างเมืองเมตาเวิร์สโซล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘วิสัยทัศน์โซล 2030’ (Seoul Vision 2030) ภายใต้แนวคิด Future Emotional City ลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 3.9 พันล้านวอนหรือราว 120 ล้านบาท โดยรัฐบาลกรุงโซลตั้งเป้าสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2022 ก่อนจะเปิดตัวแพลตฟอร์มในช่วงต้นปี 2023 เริ่มจากการเปิด ‘’Metaverse 120 Center’ หรือศูนย์ให้บริการสาธารณะแห่งโลกเมตาเวิร์ส และเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2026

ทั้งนี้ ‘เมตาเวิร์สโซล’ ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนข้อตกลงดิจิทัลใหม่ของเกาหลีใต้ (Korean Digital New Deal) หรือแผนที่ต้องการนำเครื่องมือดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI)ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้ใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลในการสร้าง ‘เมืองอัจฉริยะ’ สำหรับให้บริการประชาชนด้านต่างๆ และมีแผนใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในระบบบริการสาธารณะ สามารถตรวจสอบและเก็บฐานข้อมูลทั่วเมืองในเรื่องของการจราจร ความปลอดภัย และตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อ

อาจเรียกได้ว่า เมตาเวิร์ส ได้กลายเป็นวิวัฒนาการในการสร้างเมืองอัจฉริยะของโลกยุคใหม่ ซึ่งโซลไม่เพียงแต่โฟกัสไปที่เศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา ‘คุณภาพชีวิตของประชาชน’ ให้ดีขึ้นอีกด้วย

โซล จึงนับว่าเป็นเมืองแห่งแรกที่มีแผนพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ที่มีความชัดเจน และน่าจะเป็นเมืองต้นแบบในการประยุกต์เอาเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานของเมือง

3. ‘โคเปนเฮเกน’ เมืองแห่งสถาปัตยกรรมและยั่งยืนที่สุดในโลก

เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็ได้ชื่อว่าเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในโลกแห่งปี 2021 จากการสำรวจโดยนิตยสาร Time Out นอกจากนี้ทาง UNESCO ยังยกให้ โคเปนเฮเกน เป็นเมืองแห่งสถาปัตยกรรมโลก ของปี 2023 อีกด้วย

โดยมีการวางผังเมืองที่ดี เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว รวมถึงมีการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่สวยงาม คงความเป็นเอกลักษณ์และเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมวางรากฐานการพัฒนาที่มีความยั่งยืน สามารถเป็นเมืองต้นแบบได้

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ โคเปนเฮเกน เคยมีปัญหามลพิษมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางน้ำและอากาศ จากการเป็นเมืองติดชายฝั่งและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แล้วปัจจุบัน เมืองนี้กลับถูกพลิกฟื้นให้เป็นเมืองสีเขียวและยั่งยืนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สิ่งสำคัญคือ ‘การพัฒนาอย่างตรงจุดและมองในระยะยาว’ โคเปนเฮเกนโฟกัสกับปัญหาและหาทางแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงานหมุนเวียน ช่วยลดมลภาวะได้เป็นอย่างดี

อย่างที่โดดเด่นคือ การสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งต่อไปยังภาคครัวเรือนเพื่อใช้งานได้จริง ซึ่งวิธีนี้เป็นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก๊าซพิษอื่นๆ ได้มากเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยมลพิษเลย อีกทั้งยังเป็นการกำจัดขยะได้อย่างชาญฉลาด

นอกจากนี้ โคเปนเฮเกน ยังมีการสร้างระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ลดการปล่อยสารพิษและสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำเน่า แม้เมืองนี้จะเป็นเมืองติดชายฝั่ง มีโรงงาน แต่ประชาชนสามารถบริโภค อุปโภคน้ำได้อย่างสะอาดและปลอดภัย

สำหรับพื้นที่สีเขียวก็มีเพียงพอต่อประชากร เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อจักรยานอย่างมาก โดยได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งจักรยาน มีการสร้างเลนสำหรับปั่นจักรยานโดยเฉพาะ มั่นใจในความปลอดภัยและเป็นระเบียบ

ทั้งนี้ผู้คนในเมือง โคเปนเฮเกน เดินทางโดยใช้วิธีนี้กันซะส่วนใหญ่ มากกว่าการขับรถยนต์ด้วยซ้ำ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต นับว่าเป็นประโยชน์ต่อเมืองอย่างมาก ช่วยลดความแออัดวุ่นวาย แก้ปัญหาการจราจรติดขัดและลดมลพิษไปในตัว

ส่วนการพัฒนาเมืองในมิติอื่นๆ โคเปนเฮเกน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วย ผ่านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจการบริหารงานอย่างเต็มที่ สามารถพัฒนาเมืองให้ตรงจุด ประกอบกับการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน สรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

4. ‘อัมสเตอร์ดัม’ เมืองที่ใช้โดนัทโมเดล สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีที่สุดในโลก

การพัฒนาเมืองสามารถใช้โมเดลทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน โดยเราขอพาไปรู้จัก ‘โดนัทโมเดล’ ซึ่งถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างแพร่หลาย ท่ามกลางการเกิดขึ้นของวิกฤติต่างๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในศตวรรษที่ 21 เมืองมีรูปแบบปัญหาที่แตกต่างไปจากในอดีต

อย่างที่เห็นได้ชัด คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตคนเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม รวมถึงการดิสรัปท์ของเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างมาก

โดนัทโมเดล ได้ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ทฤษฎีของสูตรโดนัทได้เปลี่ยนแปลงของแบบจำลองทางเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่สำคัญของมนุษยชาติ เช่น การขจัดความยากจนทั่วโลกด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

โมเดลทางเศรษฐศาสตร์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2012 โดย นักศึกษามหาวิทยาลัย Oxford เคท ราเวิร์ธ จุดเริ่มคือเธอได้ตั้งคำถามต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าทำให้คนมีความสุขจริงหรือ การที่มุ่งแต่ตัวเลขการเติบโต และมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยภายนอก แต่แล้วก็เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย กระทบต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง

ลองจินตนาการถึงภาพโดนัท ซึ่งประกอบด้วยวงแหวนชั้นนอกและชั้นใน มีวงกลมตรงกลางเป็นศูนย์กลาง ส่วนแรกคือวงกลมด้านในของโดนัท หมายถึงรากฐานทางสังคม อย่างระบบสาธารณูปโภค สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆที่จำเป็นของชีวิตที่พลเมืองควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล อาหารน้ำดื่ม พลังงาน ท่อยู่อาศัย เป็นต้น รวมแล้ว 12 ด้านด้วยกัน

และวงโดนัทรอบนอก หมายถึงระบบนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อมที่ปกป้องระบบหล่อเลี้ยงชีวิตของโลก พื้นที่ระหว่างขอบเขตทั้งสองวงนี้จะมีพื้นที่รูปโดนัทซึ่งมีความปลอดภัยทางนิเวศวิทยาและความยุติธรรมในสังคม นั่นคือพื้นที่ที่มนุษยชาติสามารถดำรงอยู่และเติบโตได้ เศรษฐกิจถูกฝังอยู่ภายใน ต้องพึ่งพาสังคมและโลกที่มีชีวิต

ปัจจุบันมีเมืองต้นแบบที่ใช้โดนัทในการพัฒนาเมืองแล้วประสบความสำเร็จ ได้แก่ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากเดิมที่เมืองนี้เคยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจ และเคยเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของโลก นั่นจึงทำให้เมืองนี้เคยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก่อน

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองอัมสเตอร์ดัม ได้เริ่มนำเอาแนวคิดโดนัทโมเดลนี้มาใช้ฟื้นฟูเมืองและขจัดปัญหาต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ มีการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีดิจิทัล นั่นคือมองไปที่ “ความยั่งยืน” เป็นทางออก

กระทั่งปัจจุบันอัมสเตอร์ดัม เป็นเมืองสีเขียว ลดการใช้พลังงานและคาร์บอนได้มาก และวางรากฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เน้นการใช้วัสดุรีไซเคิล โดยในปี 2030 ตั้งเป้าว่าประชากรในเมืองอัมสเตอร์ดัมจะสามาถลดการใช้ทรัพยากรลงได้ 20%

พร้อมทั้งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เช่น ระบบสาธารณสุข การศึกษา และผสานนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกให้พลเมือง ทั้งหมดนี้ทำให้อัมสเตอร์ดัมเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบของโลกที่น่าจับตา

โดนัทโมเดล ทำให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงว่าเศรษฐกิจ สังคม เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีชีวิต ซึ่งเป็นระบบอันซับซ้อนและต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความเป็นอยู่ของมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้เช่นเดียวกับเมืองอัมสเตอร์ดั

5. ‘สิงคโปร์’ เมืองสีเขียวระดับโลก ด้วยวาระการพัฒนาระดับชาติ

ปิดท้ายกันด้วยประเทศสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆแต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวอย่างมาก โดยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในโลกโดยมีสัดส่วนต่อจำนวนประชากรมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคน

การพัฒนาพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์มีมาอย่างยาวนานและอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาประเทศสิงคโปร์คือตัวอย่างของการบริหารจัดการเมือง ที่มองเรื่องระบบนิเวศเป็นหัวใจสำคัญ โดยการสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมให้อยู่แวดล้อมสังคมมนุษย์เพื่อความยั่งยืน

และล่าสุดสิงคโปร์ได้มีการจัดทำ Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศด้วยความยั่งยืนสอดคล้องไปกับนโยบายขององค์การสหประชาชาติใน The UN’s 2030 Sustainable Development Agenda รวมถึงข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์

โดยสิงคโปร์ได้ประกาศ Green Plan เมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา แผนนี้เป็นการผลักดันเป้าหมายลดคาร์บอน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในอาคาร ใช้พลังงานหมุนเวียน ภายในระยะเวลา 10 ปี นำการขับเคลื่อนโดยภาครัฐหลายหน่วยงาน พร้อมผลักดันแผนนี้สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นวาระระดับชาติ

ซึ่งเป้าหมาย Singapore Green Plan 2030 มีเป้าหมายสำคัญหลายอย่าง อาทิเช่น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 1,300,000 ตารางเมตร พร้อมปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ล้านต้น, ผลักดันนโยบายอาคารสีเขียวให้ได้ 80%, เน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ให้มาคืน, เพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้า พร้อมส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารภายในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรสิงคโปร์อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีแผนลดหรือยุติสิ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็น รถการใช้พลังงานให้ได้ถึง 15% ยกเลิกการจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รวมไปถึงยกเลิกการใช้ อุปกรณ์ทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศภายในสิ้น 2565 เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเมืองสีเขียวของสิงคโปร์ เป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐบาล ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนานและเป็นแผนที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคตอีกด้วย นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลและทำได้จริง

ซึ่งช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์มี GDP เติบโต มากถึง 5% โดยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่เศรษฐกิจและเต็มไปด้วยบริษัทมากมาย แต่กลับพบว่าสิงคโปร์มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพียง 2 % เท่านั้น และกำลังผลักดันวาระระดับชาตินี้ให้กลายเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของโลกให้ได้ ในอนาคตอันใกล้นี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า