สธ. รับไทยเข้าสู่โควิดระลอก 5 แล้ว พร้อมเตรียมรับมือ เน้นแยกกักที่บ้าน และศูนย์พักคอยในชุมชนเป็นหลัก คาดรอบนี้ระบาดในเด็กมากเพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่อาการจะไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว
วันที่ 5 ม.ค. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าจากการหารือร่วมกับ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดขงโรคโควิด-19 พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 (เวฟ 5) แล้ว ซึ่งในส่วนของการรักษานั้น สำรวจแล้วมีเตียงรองรับวันละ 52,300 เตียงทั่วประเทศ เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีว่าง 25,828 เตียง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากการระบาดเป็นไปตามฉากทัศน์ที่กรมควบคุมโรค สธ.ประเมินว่า อาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 30,000 ราย กรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา ขณะเดียวกัน แนวทางการรักษาผู้ป่วยหลังจากนี้ จะเน้นที่การแยกกักที่บ้าน (Home Isolation :HI) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation :CI) เป็นลำดับแรก แต่หากมีอาการหนักจะส่งต่อรักษายังโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีเตียงรองรับ
วันนี้มีผู้ติดเชื้อในระบบกว่า 3,899 รายและมาจากตรวจ ATK อีกกว่า 3,000 ราย รวมๆ 7 พันกว่าราย ทั้งนี้เรามีระบบติดตามโดยกรณีหากตรวจ ATK เป็นบวกที่บ้าน ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เมื่อติดต่อแล้วภายใน 6 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการ ว่าหากรักษาที่บ้านใน HI ได้ ก็รักษาที่บ้าน หากไม่ได้ให้รักษาที่ CI ซึ่งขณะนี้ 50 สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทุกเขตมีการจัดเตรียมไว้แล้ว พร้อมทั้งมีการจัดเตรียม CI สำหรับเด็กและแรงงานต่างด้าวได้แล้วเช่นกัน
นพ.สมศักดิ์ ย้ำว่ารอบนี้จะเน้นการรักษาที่บ้านและศูนย์ดูแลในชุมชน และประสานเข้าระบบผ่าน 1330 แต่หากอาการหนักให้โทร.1669 เพื่อรับส่งต่อรักษาใน รพ. ส่วนในต่างจังหวัด แม้จะสามารถโทร.1330 ได้ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ ล่าสุด นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ให้จังหวัดเตรียมศูนย์ประสานงานเรื่องนี้ในแต่ละพื้นที่แล้ว ซึ่งอาจมีเบอร์ติดต่อเฉพาะของแต่ละจังหวัดเอง
ส่วนการเตรียมพร้อมศูนย์พักคอยในชุมชนสำหรับเด็ก นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่ารอบนี้จะเกิดการระบาดในเด็กมาก เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ย้ำว่าอาการไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว ขณะนี้มีการประสาน กทม.ให้จัดทำเตียง CI สำหรับเด็กและครอบครัวเอาไว้ 6 โซน แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง โดย 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3 – 4 คน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมได้ พร้อมทั้งมอบสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินี (รพ.เด็ก) เตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็กทั่วประเทศ ซึ่ง รพ.สามารถทำได้เอง ไม่ต้องสำรอง พร้อมจัดหมอเด็กเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย นอกจากนี้ CI สำหรับแรงงานต่างด้าวด้วยโซนละ 1 แห่ง แห่งละประมาณ 100 เตียง
ส่วนกรณีเพจเส้นด้ายระบุว่า มีคนโทรหาวันละ 3,000 กว่าคน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ กรมการแพทย์ สธ.ทำงานร่วมกับเพจต่างๆ มาตลอด อย่างเพจเส้นด้ายก็เช่นกัน ซึ่งล่าสุดเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลว่า ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีคนโทร.1330 จำนวน 4,000 ราย เป็นคนไข้ 190 ราย ส่วนที่มีคนติดต่อไปทางเพจเส้นด้าย คาดว่ามาจากคนในชุมชนที่รู้จักมีการติดต่อโดยตรง ซึ่งขอยืนยันว่าสามารถโทร.1330 เพื่อประสานติดต่อกับภาครัฐได้ เราเตรียมพร้อมระบบรองรับแล้ว