SHARE

คัดลอกแล้ว

นักวิชาการ – แพทย์ เสวนา ระดมความเห็น ทางออก แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ชี้ รัฐควรจริงใจในการแจ้งข้อมูล และมีมาตรการชัดเจนในการรับมือ ส่วนในระยะยาวอาจต้องวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบเมืองใหม่

วันที่ 5 ก.พ. 62 The Jam Factory ดวงฤทธิ์ บุญนาค ได้จัดเวทีเสวนา “ระดมสมองกรองฝุ่น” เพื่อพูดคุยถึงสาเหตุของปัญหา และทางแก้ไข ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่เวลานี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วม

คมนาคม ตัวก่อนก่อมลพิษ PM 2.5

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ชัดเจนว่ามาจากรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล และจากข้อมูลการเดินทางของประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังพบว่า เดินทางด้วยรถสาธารณะเพียงร้อยละ 20 ขณะที่การเดินทางด้วยรถส่วนตัวมีมากกว่าร้อยละ 43 ดังนั้นตัวการที่ปล่อยมลพิษ ไม่ได้มาจากรถสาธารณะเป็นหลัก

โดยระบุว่า 2 ปัจจัยหลักที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม คือ โรงสร้างสัมปทานน้ำมันดีเซล ที่รัฐควบคุมราคา ส่งผลให้ปัจจุบันรถยนต์ขนาด 7 ที่นั่งเปลี่ยนจากเครื่องเบนซิน มาใช้ดีเซลมากขึ้น และจากตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก ยังพบว่ารถดีเซลเก่าอายุเกิน 10 ปี ที่ใช้งานในกรุงเทพฯ มีมากถึงร้อยละ 43 ทำให้ตัวก่อมลพิษ PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ รถเมล์ของ ขสมก. เป็นรถเก่าอายุเกิน 20 ปีมากถึง 2,671 คัน หรือ เทียบเป็นร้อยละ 86 และเทคโนโลยีเครื่องยนต์ก็เป็นมาตรฐานยูโร 2 ตัวก่อมลพิษเช่นกัน ซึ่งหากประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะก็อาจจะไม่ช่วยลดมลพิษแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีความพยายามจัดซื้อรถใหม่เข้ามาทดแทน ก็กลับพบว่ามีการฟ้องร้องเรื่องจัดซื้อจัดจ้างซึ่งกินระยะเวลานาน จนไม่สามารถนำรถใหม่มาให้บริการประชาชนได้

“เพราะเทคโนโลยีรถเมล์มันง่าย พอทำก็มีแต่คนร้องเรียน คนไหนรู้จักกับผู้ผลิตก็จะมาขาย เวลาประมูลรถเมล์ทั้งที ก็จะมาเป็นสิบราย แล้วก็ร้องเรียนกันจนไม่ได้ซื้อ ส่วนรถไฟฟ้าเทคโนโลยีมันยาก จึงมีคู่แข่งน้อย” ดร.ชัชชาติ กล่าว

ส่วนที่รถบรรทุก ก็ถือเป็นหัวใจหลักในการสร้างมลพิษ เฉพาะในกรุงเทพฯ วิ่งรับ-ส่งสินค้ากว่า 5,000 เที่ยวต่อวัน และส่วนใหญ่วิ่งในช่วงหลางคืน ทำให้สภาพอากาศช่วงเช้าไม่ดี นอกจากนี้รถบรรทุกส่วนใหญ่ในอดีตใช้แก๊ส NGV ที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันและเป็นพลังงานสะอาดไม่สร้างมลพิษ แต่ปัจจุบันราคา NGV ลอยตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เปลี่ยนกลับมาใช้น้ำมันดีเซล

นอกจากนี้ยังพบว่า ที่พักอาศัยส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ จะอยู่แถบชาญเมืองโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่สถานที่ทำงาน โรงเรียน กระจุกตัวอยู่ใจกลางเมืองเกือบทั้งหมด ทำให้การเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางเข้าตัวเมือง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน พร้อมมีข้อเสนอว่า

  • ภาครัฐควรเร่งดำเนินการให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
  • สนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเดิน
  • ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถไฟฟ้า
  • จัดการรูปแบบผังเมืองใหม่ให้ดีขึ้น ให้คนทำงานใกล้บ้าน หรือที่ทำงานมีสวัสดิการที่พักให้ โรงเรียนใกล้บ้าน โดยโรงเรียนทุกแห่งจะต้องมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน
  • ยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์ ให้เป็นยูโร 5 หรือ ยูโร 6
  • จัดกองทุนช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยในการเปลี่ยนเครื่องยนต์
  • เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์การสร้างมลพิษ และสภาพอากาศ

แหล่งที่มาของฝุ่น ส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

รศ.ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง เกณฑ์ค่ามาตรฐานของฝุ่น PM 2.5 ที่ปัจจุบันไทยยังใช้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่าเกณฑ์นี้ถูกประกาศใช้ขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขบริบททางสังคม ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง และเมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง ไปตั้งแต่ปี 2554 – 2561 พบว่าตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาค่าฝุ่น PM 2.5 ของไทย ไม่เคยอยู่ในระดับต่ำว่าค่าเฉลี่ยรายปี ทั้งที่ประเทศเรามีค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนด ถึง 2 เท่า

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล PM 2.5 สูง วิเคราะห์จากแผนที่ พบว่า ที่มาของฝุ่น PM 2.5 มาจากลมบน หากตรวจสอบจากแอปพลิเคชั่น Windy จะเห็นว่าลมบน พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่ามีการเผาจำนวนมาก ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ไปเพียง 300 กิโลเมตรเท่านั้น จึงสามารถพัดมาถึงได้ในชั่วข้ามคืน และเมื่อฝุ่นละอองลอยมาตกที่กรุงเทพฯ ที่เป็นจุดที่มีโดมความร้อนลักษณะเหมือนฝาชีครอบอยู่ ทำให้มลพิษที่ลอยมาถูกครอบไว้ไม่สามารถกระจายออกไปได้ โดยคาดการณ์ว่าลมบนนี้จะพัดมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์  อาจทำให้เข้าสู่ภาวะที่เลวร้ายที่สุดในรอบปี ซึ่งขณะนี้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็มีการพูดคุยถึงปัญหานี้ร่วมกันอยู่

เสนอกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง ตามช่วงฤดูกาล

เมื่อเรามีบทเรียนว่า ฝุ่น PM 2.5 จะหนาแน่นในช่วงปลายปี คาบเกี่ยวมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดร.ภาณุ ตรัยเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ เสนอว่า กฎหมายที่ใช้ในการควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างควรนำปัจจัยเรื่องฤดูกาล และการแปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมมลพิษได้

ข้อมูล PM 2.5 จากภาครัฐมีน้อย การแก้ปัญหายังเป็นแค่การทดลอง

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปี 2561 เป็นปีแรกที่ไทยมีข่าวเกี่ยวกับ PM 2.5 เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษเพิ่งทำการจัดซื้อเครื่องตรวจ PM 2.5 มาใช้ในปี 2560 และมีการรายงาน ส่วนในปีนี้พบว่ากระแส PM 2.5 มีมากขึ้น ประชาชนตื่นตัวสูงมาก และเชื่อว่าข้อมูลที่ประชาชนได้รับส่วนใหญ่ มาจากโซเชียลมีเดีย มากกว่าข้อมูลจากทางภาครัฐ

“ข้อมูลข่าวสารถึงประชาชนน้อยมาก และมาในรูปแบบที่ถูกปกปิดเอาไว้ ให้สบายใจ ด้วยความกลัวว่าถ้ามากเกินไปเดี๋ยวจะแตกตื่น เดี๋ยวคนจะซื้อหน้ากากกันเกินไป หรือกิจกรรมต่างๆ จะจัดไม่ได้ อย่างงานมาราธอนที่ผ่านมา ถ้าข่าวมันแตกตื่นมากคนจะไม่มาหรือเปล่า การท่องเที่ยวเป็นอย่างไร เต็มไปด้วยความรู้สึกที่มีแต่ภาครัฐ แต่ในภาคประชาชนเองในส่วนของโซเชียลเอง เราพยายามให้ข้อมูลมากขึ้น และเราจะสงสัยในทุกครั้งที่รัฐมีมาตรการแปลกๆ ออกมา อย่างเช่น การใช้โดรนบินพ่นน้ำ เอาน้ำผสมน้ำตาลไปพ่น หรือการใช้เครื่องบินโปรยน้ำ พ่นน้ำจากตึก ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำ สิ่งที่ภาครัฐทำหลายๆ อย่างหากพูดในเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นการทดลองทั้งหมด  ถ้าหากวิธีการเหล่านี้มันได้ผลจริง ประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหามลพิษหนักกว่าเรา เช่น จีน อินเดีย ทำไปแล้ว ส่วนแอปพลิเคชั่นที่ใช้รายงานค่า PM 2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ Air4Thai พบว่า ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ไม่ปลอดภัยเพราะเป็นการรายงานค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง”  รศ.ดร.เจษฎา กล่าว

ที่สำคัญ รศ.ดร.เจษฎา ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมี บทเรียนปัญหา PM 2.5 มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และพบว่าขณะนั้นรัฐเองก็มีแผนออกมามากมาย แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ในปีนี้ และควรให้จังหวัดมีอำนาจในการตัดสินใจ เช่น การหยุดเรียน

PM 2.5 กระทบกับเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

ด้าน ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ระบุว่า ผลกระทบในระยะสั้นที่เกิดกับเด็กเวลานี้และเป็นเป็นภาพชัดเจน คือ ทั่วประเทศมีเด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ต่อระบบทางเดินหายใจจำนวนมากขึ้น ส่วนในระยะยาวที่ต้องกังวลคือ ฝุ่น PM 2.5 จะเข้าสู่ร่างกายเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา

“มีการศึกษามากมายว่าผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในที่ที่มีมลพิษสูง เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการที่เด็กในท้องมีน้ำหนักน้อย การเจริญเติบโตในท้องแย่ลง เมื่อคลอดออกมาเจอมลพิษ เด็กเล็กก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคไหลตายได้ และเมื่อโตขึ้นมาอีกก็เพิ่มโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การเพิ่มมลพิษ Pm 2.5 ครั้งละ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะลดอายุไขของคนเราทีละ 1 ปี และยิ่งหากเป็นเด็กเล็กจะยิ่งอันตรายกว่า ในฐานะกุมารแพทย์ก็ค่อนข้างกังวลเรื่องนี้” ผศ.นพ.วรวุฒิ กล่าว

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่า เด็กก่อนวัยเรียน ควรอยู่บ้านในช่วงที่สภาพอากาศมีมลพิษสูง เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน้ากากอนามัย N95 ที่ผลิตมาเพื่อเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี ซึ่งเรื่องนี้กุมารแพทย์อยากให้กระทรวงสาธรณสุขพิจารณา

เสนอปรับผังเมืองใหม่ ลดปัญหาฝุ่นพิษ

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชี่ยวชาญด้านผังเมืองกับการพัฒนาเมือง กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งเราต้องศึกษาด้วยว่า องค์ประกอบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาจากสาเหตุใดบ้าง เช่น ค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ หรือ AQI  ที่ปัจจุบันนำมลพิษทั้งหมด  6 ตัว มาร่วมคำนวณ ดังนั้นควรมีการถอดองค์ประกอบของพื้นที่ต่างๆ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เพราะจะทำให้เราเข้าใจและสามารถออกมาตรการเพื่อแก้ไขได้อย่างตรงจุด ไม่ใช่การออกมาตรการเดียวแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศ ก็ทำให้เราควรต้องกลับมาทบทวนเรื่องการออกแบบเมืองในอนาคต จะเห็นว่าแผนของกรุงเทพมหานครคือ Compact City คือ การพยายามสร้างเมืองให้แน่นขึ้น ซึ่งการออกแบบเมืองให้เป็นไปตามรถไฟฟ้า และการปล่อยให้มีคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า จะยิ่งทำให้เกิดการกระจุกตัว และสร้างมลพิษมากยิ่งขึ้น

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า