
(ภาพลิขสิทธิ์ BBC Thai)
เปิดรายงานชะตากรรมแรงงานไทยในอิสราเอล ถูกเอาเปรียบ-ละเมิดสิทธิ์ ขณะที่ ในรอบ 6 ปี มีแรงงานไทยเสียชีวิตถึง 172 คน โดยหลายคนไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและไม่มีการสืบสวนจากทางการ
สำนักข่าว บีบีซีไทย เปิดเผยรายงานข่าวสืบสวนสอบสวน ที่เขียนโดย อิสสริยา พรายทองแย้ม เรื่อง แรงงานงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล ซึ่งพบเรื่องราวการถูกเอาเปรียบ และละเมิดสิทธิ์ โดยแรงงานหลายคนบอกกับผู้เขียนว่า ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สภาพการทำงานไม่ตรงตามสัญญา และมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ และที่น่าตกใจก็คือ รายงานระบุว่า ในรอบ 6 ปี แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 170 คน
รายงานข่าวสืบสวนสอบสวน ฝีมือผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยฉบับนี้ได้รับการรายงานใน BBC World ด้วย
ผู้เขียนนำเสนอชีวิตแรงงานหลายแห่ง ในโมชาฟ หรือชุมชนเกษตร และได้พบว่า แรงงานไทยต้องทำงานยาวนาน เกินกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ต้องพักอยู่ในที่พักซอมซ่อไม่ต่างจากสลัม ขณะที่ทุกปีมีแรงงานราว 5,000 คน สมัครไปทำงานด้านเกษตรกรรม ตามโครงการความร่วมมือไทยอิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand – Israel Cooperation on the Placement of Workers หรือ TIC) ที่เริ่มต้นแต่ปลายปี ค.ศ. 2012 จนถึงปัจจุบัน มีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลกว่า 25,000 คน
“อิสราเอล” เป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกผักและผลไม้ ไปในหลายภูมิภาคของโลก มีผลิตผลวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งในยุโรปและรัสเซีย แต่แรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่ คือ คนไทย!!
เรื่องการไม่จัดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายระหว่างการทำงานให้กับแรงงานไทย เป็นเพียงเสี้ยวเดียวที่แรงงานในอิสราเอลต้องเผชิญ สำคัญกว่านั้น คือ เรื่องการไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างตามกฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันอิสราเอลกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงละ 29.12 เชเกล หรือประมาณ 264 บาท เป็นรายเดือนอยู่ที่ 5,300 เชเกล หรือประมาณเดือนละ 47,900 บาท จากการทำงานสูงสุดไม่เกิน 182 ชั่วโมงต่อเดือน แต่แรงงานไทยต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน หรือแทบทุกวันตลอดทั้งปี โดยมีวันหยุดเพียง 5-6 วันต่อปี
และยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) จนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ที่เริ่มโครงการ TIC มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปแล้ว 172 คน โดยบางคนเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วย บ้างก็ฆ่าตัวตาย และจำนวนมากที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
ในรายงาน ยังระบุด้วยว่า มีการสอบถามสถานทูตไทยในอิสราเอลถึงเหตุผลที่ไม่สืบสวนการเสียชีวิตของแรงงานไทย หนึ่งในนั้น เพราะทางการอิสราเอล จะไม่สืบสวนหากไม่เห็นว่า เป็นการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ
อ้างอิง : แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล