SHARE

คัดลอกแล้ว

สรุป ปมงบฯ 65 มติกมธ. โยก 16,300 ล้านบาท เป็น ‘งบกลาง’ เหมือนตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ เมินกองทุนสวัสดิการที่ดูแลประชาชน

(คืนวันที่ 2 ส.ค. ส.ส.พรรคก้าวไกล รวมทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เปิดคลับเฮ้าท์ พูดถึงประเด็นงบฯ 65 หลังกมธ.งบประมาณ โยกงบที่ตัดจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปเป็นงบกลางทั้งหมด)

วันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้พิจารณา ลงมติแปรคืนงบประมาณที่ได้ตัดลดงบจากหน่วยงานต่าง ๆ ประมาณ 16,300 ล้านบาท ไปไว้ที่งบกลาง ด้วยคะแนน 35 ต่อ 7 เสียง

ในการพิจารณาลงมติแปรคืนงบประมาณ 16,300 ล้านบาทนั้น มีการยื่น 2 ญัตติ ได้แก่

ญัตติแรก ยื่นโดย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.งบประมาณฯ ยื่นญัตติเพื่อแปรงบประมาณไปที่งบกลางปีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท  ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 พันล้านบาท จะไปที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่จำนวนหนึ่งกระจายไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานอัยการสูงสุด และมีหน่วยงานอื่น ๆ อีกเล็กน้อย

ญัตติที่สอง ยื่นโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้แปรงบประมาณ 16,300 ล้านบาท ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินในช่วงปี 63-64 มูลค่า 13,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะถูกแปรไปยังสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ 860.24 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 631.73 ล้านบาท กองทุนการออมแห่งชาติ 460 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 500 ล้านบาท กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 100 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 509.61 ล้านบาท

แต่แล้ว กมธ.เสียงข้างมาก 35 เสียง จากพรรคร่วมรัฐบาลและกมธ. พรรคเพื่อไทย ก็ได้เห็นชอบให้แปรงบฯ 16,300 ล้านบาทไปไว้เป็นงบกลางทั้งหมด  ส่วน 7 เสียงที่คัดค้าน คือ กมธ.จากพรรคก้าวไกล 6 คน และกมธ.พรรคประชาชาติ 1 คน

ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติของกมธ.งบประมาณ น.ส.ศิริกัญญา ได้แถลงว่า ญัตติที่จะมีการแปรงบฯ ที่ตัดลดมาจากหน่วยงานอื่น ๆ ไปยังงบกลางนั้น ยังมีความไม่ชอบมาพากล และมีความไม่เหมาะสมในหลายประการ ได้แก่

ประการแรก การที่จะจัดสรร ไปเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน ถึงแม้ว่าจะใช้เหตุผลว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 แต่สภาเองก็เพิ่งอนุมัติ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเพิ่มงบกลางอีก 1 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญถึงแม้ว่างบกลางจะใช้จนหมดแล้ว รัฐบาลก็ยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 5 หมื่นล้านบาท ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ดังนั้นปัญหาของการแก้ไขโควิด-19 จึงไม่ใช่ว่าเราไม่มีเงิน และเราไม่จำเป็นต้องใส่เงินที่เราตัดมาได้ลงไปในงบกลางเพิ่ม

ประการที่สอง อย่างที่ทราบกันดีว่า งบกลางเป็นรายการที่มีการตรวจสอบได้ยากมาก เนื่องจากว่าเป็นอำนาจเต็มของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่จะอนุมัติงบประมาณโครงการต่าง ๆ จากงบกลาง โดยเฉพาะเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น ที่ผ่านมาฝ่ายค้านไม่สามารถที่จะตรวจสอบงบในส่วนนี้ได้อย่างง่ายดาย ตนขอข้อมูลงบกลางไปจากทั้งสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง หน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูล แม้แต่สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาเองที่ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์งบกลาง ก็ยังมีข้อมูลเพียงถึงแค่เดือนมีนาคม 2564 เท่านั้นเอง ดังนั้นการโอนงบที่เหลือไปยังงบกลางจะทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก และก็เป็นการให้อำนาจกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะใช้งบกลางตรงนี้ ถึงแม้ว่าใช้พาดหัวว่าเป็นการช่วยโควิดก็ตาม แต่ว่าการตรวจสอบไม่ได้เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องหลีกเลี่ยง

ประการที่สาม หน่วยงานต่าง ๆ ได้แปรญัตติเพื่อขอเพิ่มงบประมาณ วงเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้นเงินไม่ใช่ว่าไม่มีที่ไป มีอีกหลายหน่วยงานที่ขาดงบประมาณในปีนี้ เนื่องจาก มีการตั้งงบฯ ลดลงจากปีที่แล้วถึง 2 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาษีที่ดินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,000 กว่าแห่ง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้จะทำให้เด็กต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา 7 แสนคนก็จำเป็นต้องใช้เงิน การตั้งเงินสมทบที่ไม่เพียงพอสำหรับกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเงินส่วนนี้ไม่สามารถไปขอได้จากเงินกู้ 5 แสนล้านบาทแน่นอน และที่สำคัญ กองทุนประกันสังคม ในปี 63-64 ได้ควักเงินจากกองทุน เพื่อให้ผู้ว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย หรือเงินที่หายไปจากการลดเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนอีกประมาณแสนล้านบาท แต่ว่ารัฐบาลกลับยังคงติดหนี้ กองทุนประกันสังคมอีก 76,000 ล้านบาท แล้วก็ไม่ตั้งงบฯ เพื่อใช้หนี้กองทุนประกันสังคม

“ที่บอกว่ามันมีความไม่ชอบมาพากล คือมีการตั้งงบว่าจะใส่ไปในงบกลางถึง 10,000 ล้านบาท พอมีกมธ.ส่วนหนึ่งจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบกลางที่สูงขนาดนี้ ก็มีการเจรจาต่อรองลดลงมาเหลือ 5,000 ล้านบาท แต่ว่านี่มันคืออะไร 5,000 ล้านก็ได้ 10,000 ล้านก็ได้ ไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ชัดเจน หรือหลักเกณฑ์ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วงบตรงนี้ ควรจะต้องมีการใช้เท่าไหร้ ไปในโครงการอะไรกันแน่ หรือเพียงแค่การเตรียมงบประมาณไว้สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลการเลือกตั้งในอีกไม่ช้า”

ต้องจับตาว่าในเดือนสิงหาคม ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงต่อเนื่อง จนรัฐบาลต้องขยายเวลาล็อกดาวน์ ยกระดับมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ สภาจะถือเป็นไฟต์บังคับ ฝ่าวิกฤติโรคระบาด ‘เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร’ เพื่อถก ‘งบฯ 65’ วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งคาดว่าจะเป็นในวันที่ 18-20 ส.ค.นี้ หรือไม่

ขณะเดียวกัน ทางด้านเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ได้ประกาศเตรียมเคลื่อนไหวหน้ารัฐสภา ก่อนงบฯ 65 เข้าวาระ 2 เพื่อเรียกร้องให้ผู้แทนราษฏรเห็นความสำคัญของการพิจารณาเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน ‘เจ้าของเงินภาษี’

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า