SHARE

คัดลอกแล้ว

TODAY Bizview รวบรวมกำไรของกลุ่มธนาคาร (กำไรแบงก์) งวดไตรมาส 9 เดือนของปี 2567 โดยพบว่า 10 ธนาคาร (ตามภาพ) มีกำไรรวมกันกว่า 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่มีกำไร 1.8 แสนล้านบาท

แน่นอนว่า ธนาคารที่มีกำไรสูงเป็นอันดับต้นๆ ยังคงเป็น 4 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 38,104 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 34,806 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย (KTB) 33,380 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 32,236 ล้านบาท

แต่ธนาคารที่มีอัตรากำไรเติบโตสูงเป็นอันดับ 1 คือ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เติบโต 17% YoY รองลงมาคือ KBANK เติบโต 15% YoY ส่วน KTB และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เติบโตเท่ากัน 9% YoY และสุดท้าย BBL เติบโต 6% YoY

อย่างไรก็ดี ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ มีหลายแบงก์ที่กำไรสุทธิลดลง YoY เช่นกัน โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ลดลงหนักสุด 25% YoY รองลงมาคือ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ลดลง 16% YoY ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลดลง 7% YoY บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ลดลง 6% YoY และ SCB ลดลง 1% YoY

[ กำไรตามคาด แต่หนี้เสียสูงขึ้น ]

ในขณะที่ความเห็นของผู้รู้ ‘ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ’ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด ระบุว่า กำไรสุทธิกลุ่มฯ (8 ธนาคาร ไม่รวม CIMBT และ LHFG) งวดไตรมาส 3 ปี 2567 ออกมาตามคาดที่ 6.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ เติบโต 1.1% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน (QoQ) และเติบโต 6.6% YoY เติบโตจากต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ที่ลดลง ขณะที่ฝั่งรายได้ไม่ได้โดดเด่นมากจากฐานสินเชื่อลดลง

ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เติบโต 5% YoY คิดเป็นสัดส่วน 80% ของประมาณการกำไรกลุ่มฯ (คาดว่าทั้งปีจะเติบโต 2.3 แสนล้านบาท เติบโต 2.8% YoY) เชื่อว่าสอดคล้องกับแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 2567

ทั้งนี้ อ่อนตัวจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ตามฤดูกาล และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-interest Income: NII) ตามการลดดอกเบี้ย M-Rate ของ 6 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มฯ ปี 2568 เติบโตจำกัด

ด้านคุณภาพสินทรัพย์กลุ่มฯ ยังอ่อนแอ จากระดับหนี้เสีย (NPL) ที่สูงขึ้น และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage Ratio) ที่ลดลง สะท้อนการฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมกันของเศรษฐกิจไทย จึงคาดว่าวัฏจักรขาขึ้นของ NPL ยังดำเนินต่อไปในกลุ่มลูกหนี้

ภาพดังกล่าวทำให้ฝ่ายวิจัยมองว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มี Coverage Ratio สูงกว่ากลุ่มฯ อย่าง BBL และ KTB จะมีความเสี่ยงด้านการตั้งสำรองจากภาวะเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่ม

โดยรวม กลุ่มธนาคารขาดปัจจัยขับเคลื่อนในช่วงสั้น แต่อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (PBV) ซื้อขายไม่แพง และอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ยังน่าสนใจ

สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แนะนำ BBL และ KTB มากกว่า KBANK เพราะ Coverage Ratio สูงกว่า และมองว่าทั้งคู่มูลค่า (Valuation) ไม่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่มฯ จาก PBV ที่ 0.5 และ 0.6 เท่า ตามลำดับ

ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่ให้ Dividend Yield สูง แนะนำ TISCO รองลงมาคือ SCB (ปรับราคาเหมาะสมจาก 109 เป็น 118 บาท) TTB และ KKP

กำไรแบงก์

[ NPL กลุ่มอาจพุ่งแตะ 3.9%  ]

สำหรับคุณภาพสินทรัพย์กลุ่มฯ ณ สิ้นงวดไตรมาส 3 ปี 2567 ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลหนี้ NPL ที่ 5.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% QoQ เพิ่มขึ้น 5.7% YoY และ เพิ่มขึ้น 5.8% YTD แม้มีการตัดขายหนี้ (Write-off) และขาย NPL (เฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ)

โดย BAY มีการขาย NPL ราว 941 ล้านบาท, KBANK มีการ Write-off ราว 3.2 พันล้านบาท (ไตรมาส 2 ปี 2567 ราว 7.5 พันล้านบาท), SCB มีการ Write-off และขาย NPL รวมกัน 1.15 หมื่นล้านบาท (ไตรมาส 2 ปี 2567 ราว 1.25 หมื่นล้านบาท) และ TTB มีการ Write-off และขาย NPL รวม 6.4 พันล้านบาท (ไตรมาส 2 ปี 2567 ประมาณ 7.5 พันล้านบาท)

ขณะที่ฐานสินเชื่อกลุ่มฯ ชะลอตัว ส่งผลให้ NPL ต่อสินเชื่อกลุ่มฯ ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.8% เทียบกับ 3.7% ณ สิ้นงวดก่อน และ ณ สิ้นปี 2566 ที่ 3.5% ขยับตัวขึ้นเกือบทุกธนาคาร มีเพียง KTB ที่ลดลง, SCB และ TISCO ที่ทรงตัว

ทั้งนี้ สะท้อนการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย

ด้านระดับความพอเพียงของการตั้งสำรอง (Loan Loss Reserve: LLR) พบว่า LLR กลุ่มฯ ณ สิ้นงวดไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 9.1 แสนล้านบาท ลดลง 0.3% QoQ เพิ่มขึ้น 1.0% YoY และเพิ่มขึ้น 0.3% YTD เพราะการ Write-off ตามข้างต้น

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ LLR สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของ NPL ทำให้ Coverage ratio (LLR ต่อ NPL) ของกลุ่มฯ อยู่ที่ 174% (ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 176%) ส่วน LLR ต่อ Loan กลุ่มฯ เท่ากับ 6.6% (ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 6.5%)

โดยแนวโน้ม NPL ยังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นต่อไป ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่สินเชื่อเช่าซื้อ บ้าน จำนำทะเบียนรถ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่มีการผ่อนชำระค่างวดหรือดอกเบี้ยคงที่ ทำให้ลูกหนี้เดิมไม่ได้ประโยชน์

ตรงข้ามกับสินเชื่อธุรกิจ อิงกับ M-Rate ได้รับประโยชน์มากกว่า ขณะที่การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังระบบเศรษฐกิจ อาจต้องใช้ระยะเวลาราว 6 เดือน

ทั้งนี้ หากมูลหนี้ NPL งวดหน้าเพิ่มในจำนวนเท่ากับไตรมาส 3 ปี 2567และฐานสินเชื่อ ณ สิ้นงวดไตรมาส 4 ปี 2567 ทรงตัว QoQ คาดว่าจะส่งผลให้ระดับ NPL กลุ่มฯ เพิ่มเป็น 3.9%

จากองค์ประกอบข้างต้น ฝ่ายวิจัยจึงมองว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มี Coverage Ratio สูงกว่ากลุ่มฯ อย่าง BBL (267%) และ KTB (179%) มีกันชนดีกว่ากลุ่มฯ ช่วยลดแรงปะทะจากการตั้งสำรองได้ดีกว่ากลุ่มฯ ในทางตรงข้าม ธนาคารพาณิชย์ที่มี Coverage Ratio ต่ำสุดในกลุ่มฯ ได้แก่ BAY (121%) และ KKP (132%)

[ รูปแบบการลดดอกเบี้ยแตกต่างกัน ]

ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาที่ 2.25% เมื่อ 16 ต.ค. 2567 ทางกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เริ่มขยับลดอัตราดอกเบี้ยตามช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยรูปแบบคล้ายเคียงกันคือ ทั้ง BAY KBANK KTB SCB และ TTB ลง MOR (วงเงิน OD: สัดส่วนประมาณ 4% ของสินเชื่อกลุ่มฯ) ที่ 0.25% และ MLR (สินเชื่อรายใหญ่) กับ MRR (SME และบ้าน) ลดเฉลี่ย 0.125% (ยกเว้น KBANK ลบ 0.120%) มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. 2567 และยังไม่มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ในขณะที่ BBL ปรับลด MOR กับ MLR อย่างละ 0.20% และ MRR เพียง 0.05% (เพราะ BBL มีการลด MRR ช่วงก่อนหน้า 0.25% เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง ตามคำขอภาครัฐตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2567)

พร้อมทั้งปรับลดเงินฝากบุคคลธธรรมดา ทั้งเงินฝากออมทรัพย์ (สัดส่วน 53% ของเงินฝาก) ลง 0.10% และเงินฝากประจำ (สัดส่วน 38% ของเงินฝาก) อายุ 3-24 เดือน ลงเฉลี่ย 0.19% มีผล 24 ต.ค. 2567

ภาพดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ คาดหวังการฟื้นตัวของ NIM เชิง QoQ ในงวดไตรมาส 2 ปี 2568 หรือไตรมาส 3 ปี 2568 หลังเงินฝากประจำทยอย Repricing เป็นต้นทุนเงินฝากใหม่ (กรณีที่ กนง.ไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม)

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า