SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุเครื่องบินของสายการบิน ‘เจจูแอร์’ (Jeju Air) เที่ยวบินที่ 7C2216 ซึ่งบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติมูอัน ประเทศเกาหลีใต้ ลื่นไถลชนรั้วสนามบินฯ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 179 ราย รวมถึงผู้โดยสารชาวไทย 2 ราย

ในวันเดียวกัน มีรายงานว่า เกิดเหตุเครื่องบินของสายการบิน ‘เคแอลเอ็ม’ (KLM) เที่ยวบินที่ KL1204 ซึ่งบินจากออสโลไปอัมสเตอร์ดัม ได้ลงจอดฉุกเฉินที่นอร์เวย์เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ธ.ค. 2567) โดยเครื่องบินได้เสียหลักไถลออกนอกรันเวย์ เนื่องจากระบบไฮดรอลิกขัดข้อง

ขณะที่เช้าวันนี้ (30 ธ.ค. 2567) มีรายงานว่า สายการบิน Jeju Air เที่ยวบินที่ 7C101 ซึ่งออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกิมโป มุ่งหน้าสู่เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ พบปัญหาระบบล้อเช่นเดียวกัน แต่สามารถนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัย

ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 3 ลำที่ประสบอุบัติเหตุ ใช้งานเครื่องบินของบริษัท ‘โบอิ้ง’ (Boeing) รุ่น 737-800 เหมือนกัน

ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้เป็นเพียง ‘เหตุบังเอิญ’ หรือ ‘ความผิดพลาด’ ของ Boeing

TODAY Bizview สรุปให้ฟัง…

[ ประวัติ Boeing ]

‘โบอิ้ง’ หรือ The Boeing Company เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานและยุทโธปกรณ์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ชิคาโก รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา ถือเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Boeing ก่อตั้งโดย ‘วิลเลียม เอ็ดเวิร์ด โบอิ้ง’ (William Edward Boeing) เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 1916 (2459) หรือเมื่อประมาณ 108 ปีก่อน เริ่มต้นจากการสร้างเครื่องบินลำแรกที่ชื่อว่า ‘บีแอนด์ดับบลิว ซีเพลน’ (B&W Seaplane) โดยโบอิ้งและ ‘จอร์จ คอนราด เวสเตอร์เวลต์’ (George Conrad Westervelt)

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา Boeing ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง Boeing 747 ในปี 1969 (2512) เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น ได้ชื่อว่าเป็น ‘ราชีนีแห่งฟากฟ้า’ (Queen of The Skies)

การสร้าง Boeing 737 ในปี 1966 (2509) เครื่องบินที่ขายดีที่สุดในโลก และการสร้าง Boeing 777 ในปี 1993 (2536) และ 787 ดรีมไลเนอร์ (Dreamliner) ในปี 2007 (2550) เครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อลดการใช้พลังงาน

นอกจากเครื่องบินแล้ว Boeing ยังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น การพัฒนายานขนส่งอวกาศ ‘สตาร์ไลเนอร์’ (Starliner) และการร่วมมือกับ NASA ในโครงการต่างๆ เช่น ‘สเปซลอนช์ซิสเตม’ (Space Launch System: SLS)

Boeing 737 MAX

[ วิกฤติ Boeing ]

ในช่วงปี 2018-2020 (2561-2563) Boeing เผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ จากอุบัติเหตุของเครื่องบินรุ่น 737 แมกซ์ (MAX) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญและส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อบริษัทในประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีของ Boeing

737 MAX เป็นเครื่องบินรุ่นที่ Boeing พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันกับ ‘แอร์บัส’ (Airbus) คู่แข่งตลอดกาลของบริษัทฯ โดยเฉพาะรุ่นแอร์บัส เอ320นีโอ (Airbus A320neo) ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวไม่นาน เครื่องบินรุ่นนี้กลับมีอุบัติเหตุร้ายแรงถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาไม่ถึง 6 เดือน ได้แก่ อุบัติเหตุของสายการบินไลออนแอร์ (Lion Air) เที่ยวบินที่ JT610 (ต.ค. 2018) ตกลงในทะเลชวา อินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 189 คน

ถัดมาคืออุบัติเหตุของสายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ (Ethiopian Airlines) เที่ยวบินที่ ET302 (มี.ค. 2019) ตกในเอธิโอเปีย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 157 คน

จากการสอบสวนพบว่าสาเหตุหลักมาจากระบบควบคุมการบินอัตโนมัติที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Boeing หรือระบบ MCAS (Maneuvering Characteristics Augmentation System) ทำงานผิดพลาด

โดยระบบอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อปรับระดับเครื่องบินเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับว่ากำลังบินเงยเกินไป แต่กลับทำงานผิดพลาดและดันหัวเครื่องบินลงซ้ำๆ ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมได้

[ หลับหูหลับตาพัฒนา ]

Boeing ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามุ่งเน้นการเร่งพัฒนา 737 MAX เพื่อแข่งขันกับ Airbus มากเกินไป ทำให้การทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยถูกลดทอน

นอกจากนี้ มีข้อกล่าวหาว่า Boeing ไม่ได้แจ้งองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) และสายการบิน ถึงความซับซ้อนของระบบ MCAS อย่างเพียงพอ รวมถึงการฝึกอบรมนักบินที่ไม่ครอบคลุม

ผลกระทบคือ Boeing ต้องสั่งหยุดการผลิต 737 MAX ชั่วคราว ส่งผลให้สูญเสียรายได้มหาศาล บริษัทต้องชดเชยค่าเสียหายให้สายการบินต่างๆ ที่ไม่สามารถใช้งาน 737 MAX ได้ รวมถึงครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

มูลค่าหุ้นของ Boeing ลดลงอย่างมากในช่วงปี 2019-2020 (2562-2563) สูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า สายการบิน นักบิน และผู้โดยสาร ความสัมพันธ์กับ FAA และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เสื่อมโทรม เนื่องจากการเปิดเผยปัญหาด้านความปลอดภัยล่าช้า

สุดท้าย Boeing ใช้เวลาหลายปีในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาของ 737 MAX ปรับปรุงระบบ MCAS และเพิ่มระบบเซ็นเซอร์เสริม เพิ่มการฝึกอบรมนักบินเกี่ยวกับการจัดการ MCAS และทบทวนกระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น

ก่อนที่ในปี 2020 (2563) FAA จะอนุมัติให้ 737 MAX กลับมาบินได้อีกครั้งหลังจากตรวจสอบอย่างละเอียด

[ คนในออกมาแฉ ]

วิกฤต Boeing ดูจะไม่จบง่ายๆ เมื่อคนในของบริษัทแห่ออกมาแฉถึงปัญหาด้านความปลอดภัย ท่ามกลางกระแสข่าวไล่วิศวกรออก และการมุ่งเน้นการทำกำไรมากกว่าการดูแลรักษาความปลอดภัยของเครื่องบิน

เริ่มจาก ‘แซม ซาเลห์ปูร์’ (Sam Salehpour) วิศวกรที่ทำงานกับ Boeing มาตั้งแต่ปี 2007 (2550) ได้ออกมาเปิดเผยปัญหาด้านความปลอดภัยในการผลิตเครื่องบินรุ่น 787 Dreamliner และ 777 ของบริษัทฯ โดยระบุว่า มีการใช้วิธีลัดในการผลิตที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของเครื่องบิน

หลังจากที่เขาเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ เขาได้รับการข่มขู่และการคุกคามจากผู้บังคับบัญชา รวมถึงการถูกตำหนิอย่างรุนแรง (โทรมาด่า 40 นาที) และการถูกทำลายทรัพย์สินส่วนตัว (ถูกเจาะยางรถยนต์)

ถัดมาคือ ‘เอ็ดเวิร์ด เพียร์ซัน’ (Edward Pierson) อดีตผู้จัดการฝ่ายการผลิตของ Boeing ออกมาให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่า โรงงานผลิต 737 MAX ที่เมืองเรนตัน (Renton) มีสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดสูงและเร่งรีบ

พนักงานต้องทำงานล่วงเวลามากจนเกิดความผิดพลาดในการผลิต เช่น การติดตั้งระบบไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนที่สำคัญไม่สมบูรณ์ ซึ่งพียร์ซันได้ส่งคำเตือนถึงผู้บริหาร แต่คำเตือนดังกล่าวถูกละเลย

ขณะที่ ‘โจชัว ดีน’ (Joshua Dean) อดีตผู้ตรวจสอบคุณภาพที่ ‘สปิริต แอร์โรซิสเท็มส์’ (Spirit AeroSystems) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของ Boeing ได้ออกมาเปิดเผยปัญหาด้านความปลอดภัยในการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินรุ่น 737 MAX ซึ่งดีนอ้างว่าเขาถูกไล่ออกเนื่องจากการเปิดเผยปัญหาเหล่านี้

ที่น่าสนใจคือ ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ดีนเสียชีวิตด้วยอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งการเสียชีวิตของเขาเกิดขึ้นไม่นานหลังจากการเสียชีวิตของ ‘จอห์น บาร์เน็ตต์’ (John Barnett) ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ Boeing เช่นกัน

เครื่องบินตก Jeju Air

[ วิกฤต Boeing รอบใหม่ ]

กลับมาที่เหตุการณ์ของ Jeju Air และ KLM มีการตั้งข้อสังเกตว่า Boeing 737-800 ทำให้เครื่องบินตกหรือไม่ และเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันกับเหตุอื้อฉาว 737 MAX หรือไม่

TODAY Bizview รบรวบข้อมูลของ 737-800 พบว่า เครื่องบินรุ่นนี้ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย และมีสถิติการปฏิบัติการที่ปลอดภัยในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุร้ายแรงที่เครื่องบิน 737-800 มีส่วนร่วม ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน เช่น ปัญหาทางเทคนิค ความผิดพลาดของมนุษย์ หรือสภาพอากาศ

โดยกรณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ Boeing 737-800 ได้แก่

1. เตอร์กิชแอร์ไลน์ (Turkish Airlines) เที่ยวบินที่ TK1951 วันที่ 25 ก.พ. 2009 (2552) เครื่องบิน Boeing 737-800 ของ Turkish Airlines ตกในระหว่างการลงจอด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน (นักบิน 3 คนและผู้โดยสาร 6 คน)

สาเหตุพบว่า เป็นผลจากการตรวจสอบเซ็นเซอร์ของเครื่องยนต์ที่ผิดพลาดทำให้เครื่องบินตกในระหว่างการลงจอด แม้จะมีการพยายามควบคุมเครื่องบินในช่วงสุดท้ายก็ตาม

2. ฟลายดูไบ (Flydubai) เที่ยวบินที่ FZ981 วันที่ 19 มี.ค. 2016 (2559) เครื่องบิน Boeing 737-800 ของสายการบิน Flydubai ตกในระหว่างการลงจอดที่สนามบินรอสตอฟ ออนดอน (Rostov-on-Don) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 62 คน (นักบินและผู้โดยสารทั้งหมด)

3. ยูเครนอินเตอร์แนชนัลแอร์ไลน์ (Ukraine International Airlines) เที่ยวบินที่ PS752 วันที่ 8 ม.ค. 2020 (2563) เครื่องบินตกในอิหร่าน คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 176 คน แต่จากการสอบสวน พบว่า เกิดจากขีปนาวุธที่ถูกยิงโดยความผิดพลาด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาของตัวเครื่องบิน

4. เพกาซัสแอร์ไลน์ (Pegasus Airlines) เที่ยวบินที่ PC2193 วันที่ 5 ก.พ. 2020 (2563) เครื่องบิน Boeing 737-800 ของ Pegasus Airlines ลงจอดผิดพลาดในสภาพอากาศที่ฝนตกหนักและไถลออกจากรันเวย์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน (จากทั้งหมด 183 คนบนเครื่อง)

5. ศรีวิชัยแอร์ (Sriwijaya Air) เที่ยวบินที่ SJ182 วันที่ 9 ม.ค. 2021 (2564) เครื่องบิน Boeing 737-800 ของ Sriwijaya Air ตกในทะเลหลังจากบินขึ้นจากสนามบิน Soekarno-Hatta ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 62 คน (นักบินและผู้โดยสารทั้งหมด)

สาเหตุพบว่า เป็นผลจากการเสียสมรรถภาพของเครื่องยนต์ที่มีปัญหาหลังจากการบิน ทำให้เครื่องบินตก

6. ไชนาอีสเทิร์นแอร์ไลน์ (China Eastern Airlines) เที่ยวบินที่ MU5735 วันที่ 21 มี.ค. 2022 (2565) เครื่องบินตกในจีน คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 132 คน

แต่จากการสอบสวน เบื้องต้นไม่ได้พบความผิดพลาดทางเทคนิคที่เกี่ยวกับตัวเครื่องบิน แต่มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์

สรุปได้ว่า อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับ Boeing 737-800 เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาทางเทคนิค สภาพอากาศที่เลวร้าย และความผิดพลาดของมนุษย์ โดยบางกรณีไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาของเครื่องบินโดยตรง (เช่น PS752 และ MU5735)

ส่วนกรณี Jeju Air และ KLM จะเกิดจาก ‘ฝูงนกบินชนเครื่องบิน’ (Bird Strike) ล้อไม่กาง หรือนักบินลืมกางล้อ ตามที่เป็นข่าว หรือเกิดจากเหตุขัดข้องเพราะ Boeing จริงๆ คงต้องรอการพิสูจน์สาเหตุกันต่อไป…

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า