SHARE

คัดลอกแล้ว

กว่า 3 ปีแล้วที่กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB) ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ พร้อมจัดตั้งบริษัทแม่ SCBX เพื่อดูแลและบริหารธุรกิจทั้งหมดในเครือ

แม้เวลาจะผ่านไป แต่หลายคนยังคงสงสัยว่า SCBX คืออะไร มีบทบาทอย่างไร และ SCB แตกต่างจาก SCBX อย่างไรบ้าง

วันนี้ TODAY Bizview ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ จำกัด (DataX)

ดร.อารักษ์จะมาไขข้อข้องใจ พร้อมเผยทุกแง่มุมเกี่ยวกับ SCBX ตั้งแต่เหตุผลในการแยกหลายบริษัท ไปจนถึงทิศทางธุรกิจธนาคารในอนาคต มาร่วมพูดคุยและค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน!

[ SCBX คืออะไร ]

ที่มาที่ไปของ SCBX คือโครงสร้างที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะต่อยอดให้องค์กร ซึ่งก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมี 3 กลุ่มธุรกิจ และ 1 กลุ่มงาน ได้แก่

1. กลุ่มธุรกิจธนาคาร หรือ Generation 1 คือธุรกิจที่กำลังทำอยู่วันนี้ เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ถ้าเราเปรียบกับแปลงปลูกพืช SCB ก็เหมือนพืชที่พร้อมเก็บเกี่ยวเต็มที่

2. กลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนการเติบโตถัดไป (Next Growth Engine) หรือ Generation 2 คือธุรกิจในอีก 1-3 ปีต่อจากนี้ เป็นแปลงที่เริ่มออกดอกออกผล เริ่มเห็นศักยภาพ เช่น คาร์ด เอกซ์ (CardX) ออโต้ เอกซ์ (AutoX) และมันนิกซ์ (MONIX) ซึ่งธุรกิจกลุ่มนี้เริ่มจะกำไรกันทุกบริษัทแล้ว

3. กลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต หรือ Generation 3 คือธุรกิจในอีก 3-5 ปีต่อจากนี้ เป็นธุรกิจที่โลกในอนาคตจะหมุนไป เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ธุรกิจที่เกี่ยวกับภูมิอากาศ (Climate) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ อาจจะเป็นธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นต้น เปรียบเป็นเมล็ดที่หว่านออกไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเปรียบเสมือนระบบสาธารณูปโภคอย่าง น้ำประปา และไฟฟ้า ที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะดูแลแปลงเหล่านี้ให้แข็งแรง ซึ่งก็จะมีทั้งข้างบน คือ SCBX และข้างล่าง คือ ธุรกิจอย่าง เดต้า เอกซ์ (DataX) เทคเอกซ์ (TechX) และพอยท์เอกซ์ (PointX) ที่คอยสนับสนุน

SCBX เป็นคนคอยดูอยู่ข้างบนว่า ตรงไหนต้องทำอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เป็นคนคอยกำกับดูแลในภาพรวม บริษัทข้างล่างก็เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะสนับสนุนให้บริษัทที่อยู่ในแปลงต่างๆ มีโอกาสเจริญเติบโตในเวอร์ชันที่ดีที่สุด

[ แยกหลายบริษัททำไม ]

ก่อนที่เราจะจัดโครงสร้างใหม่ เรามีธนาคาร ธนาคารก็กำไรอยู่ สมมติ 100 บาท แต่ใน 100 บาท วันนี้จัดโครงสร้างปุ๊ป กำไรของธนาคารอยู่ที่ 110 บาททันที

เพราะค่าใช้จ่าย (Expense) บางส่วนเราดึงออกมา ธุรกิจที่ขาดทุนอยู่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) คลาวด์ (Cloud) ดาต้า (Data) เราดึงออกมาอยู่กับ SCBX และบริษัทลูกล่าง SCBX

ทำให้สิ่งที่เคยเป็นต้นทุนของธนาคาร หรือธุรกิจที่ขาดทุน มันถูกดึงออกมา กำไรก็เลยเป็น 110 บาท แต่ที่เหลือยัง -10 บาท จึงยังบวกกันได้ 100 บาทเท่าเดิม หลักการทางคณิตศาสตร์มันเป็นแบบนั้น

แต่พอทำไปในแต่ละปีๆ เรามีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม เช่น สร้าง DataX ขึ้นมา สร้าง Cyber สร้าง PointX ขึ้นมา สร้าง TechX ขึ้นมา พวกนี้เป็นเม็ดเงินลงทุน ซึ่งพอเป็นคำว่า ‘ลงทุน’ มันไม่ได้ผลลัพธ์ทันที มันจะค่อยๆ ได้รับผลลัพธ์

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วันนี้ถ้าเอาภาพรวมของกลุ่มมารวมกัน กำไรจะน้อยกว่าธนาคาร ถ้ากำไรของธนาคารผ่านไปอีก 2-3 ปี จากเดิมเมื่อกี้ 110 บาท ก็อาจจะเป็น 120 บาท

ถ้าดูเฉพาะธนาคารก็ควรจะกำไร 120 บาท แต่วันนี้กำไรของ SCBX ที่ประกาศออกมาอาจจะอยู่ที่ 105 บาท เพราะอีก 15 บาทไปเป็นต้นทุนของการทำสิ่งใหม่ๆ ในอนาคต

แต่ถ้า SCBX ประสบความสำเร็จ มันจะเข้าสู่โหมดที่ธุรกิจ Gen 2 และ Gen 3 จะใหญ่เพียงพอที่จะคัฟเวอร์เงินลงทุนที่ได้ลงไปแล้ว ทำให้เป็นผลบวกกับธนาคาร และทำให้ SCBX ภาพรวม ใหญ่กว่าธนาคาร

ปีนี้เป็นปีที่มีความคาดหวังว่า ธุรกิจ Gen 2 และ Gen 3 จะมีผลประกอบการที่มาเพียงพอที่จะมาคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายต่างๆ เงินลงทุนต่างๆ ที่ได้ทำไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และปีต่อๆ ไป เราน่าจะเห็นผลรวมสูงกว่าเงินลงทุนแล้ว

[ ธุรกิจแบงก์ไม่ยั่งยืน ]

ถามว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ จะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราถือเป็น ‘ผู้มาก่อนกาล’ ของกลุ่ม (ธนาคาร) ในหลายๆ ครั้ง ซึ่งการมาก่อนกาลก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีการลองผิดลองถูก เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เราทำแล้วจะสำเร็จ

แต่มันเป็นเหมือนดีเอ็นเอขององค์กร เราเป็นคนที่พยายาม ‘ทำ’ ก่อนที่จะถูกสถานการณ์มา ‘กระทำ’ เรา

อย่างเช่นวันนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์ของเราเล่าว่าเป็น ‘โลก 2 ใบ’ ที่การกลับมาของเศรษฐกิจมันไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม ตอนนี้ขีดความสามารถของประเทศไทยวันนี้ จีดีพีโตบางๆ มาหลายปีมาก

และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ตลาดหุ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ก็เท่ากับตลาดหุ้นวันนี้ มันสะท้อนว่า เศรษฐกิจไม่โต พอเศรษฐกิจไม่โต โอกาสที่ธนาคาร ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเศรษฐกิจจะโต มันไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น มันก็มีคำถามตามมาว่า ‘ทำอย่างไรให้องค์กรยั่งยืน’

ประกอบกับวันนี้ ประเทศไทยที่เรามองว่าแย่ ในอนาคต หากไม่ปรับเปลี่ยนจะแย่กว่านี้อีก คอนเซปต์ของสังคมสูงวัย (Aging Society) คือเรียลมากๆ เฉลี่ยคนไทยอายุประมาณ 40 ปี แต่เวียดนามกับอินโดนีเซีย ค่าเฉลี่ยอายุคือ 28-29 ปี

คือถ้าแรงงาน (Workforce) เขาต่างกับเราตั้ง 12 ปี เราเข้าสู่การเกษียณ แต่เขายังทำงานกันอยู่ โครงสร้างเศรษฐกิจของเราดูจะท้าทายมาก

พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ถ้าธนาคารบอกว่า เราก็ไปกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เราถ้าเศรษฐกิจมันอยู่นิ่งๆ หรือลง ธนาคารในระยะยาวก็จะไม่แข็งแรง ซึ่งถ้าธนาคารไม่แข็งแรง โอกาสที่จะทำให้เป็นบริษัทที่ยั่งยืนก็แทบจะไม่มี

บวกกับมองไปข้างหน้า เทคโนโลยีเข้ามา ตัวทดแทนมีเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และฟินเทค (FinTech) ก็เข้ามากระทบภาพรวมของธนาคาร จึงเป็นที่มาที่ไปว่า เอางี้…

ธนาคารมีหน้าที่เติบโตอย่างยั่งยืน ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่ารับความเสี่ยงเยอะจนเกินไป ลงทุนให้เหมาะสม ค่อยๆ โตไป

ส่วนเรื่องที่ต้องไปหาการเติบโตรูปแบบใหม่ ก็คือ Gen 2 ระยะสั้น Gen 3 ระยะยาว ทั้งในธุรกิจที่อยู่ใกล้ๆ ธนาคาร เช่น เราไม่เคยทำสินเชื่อรถ (Title Loan) วันนี้ก็จัดการทำ Title Loan ออกมา ซึ่งถ้าทำในแบงก์ ไม่มีทางเกิด

หรือธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเราอยู่ในความเชื่อที่ว่า มันไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถที่จะมีขีดความสามารถในการทำแบบนั้นได้ บางครั้งเราก็ไปกับพาร์ทเนอร์ หรือแม้แต่ธุรกิจใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยในเมืองไทย เราก็ต้องทำกับพาร์ทเนอร์

[ โอกาสในการสร้างผู้นำ ]

กลับมาพูดถึงโครงสร้างว่า ถ้าเอาตามทฤษฎี คือ โครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบไหน คุณอยากทำธุรกิจอะไรคุณก็ทำได้ ไม่ต้องมาแตกอะไรกันเยอะแยะแบบนี้ แต่ชีวิตจริงมันต่างกัน

อย่างวันนี้ เห็นเลยว่า เรามีน้องๆ ที่ถ้าให้เขาอยู่ในธนาคารเหมือนเดิม เขาก็ทำงานของเขาไปได้เรื่อยๆ แต่วันนี้เราบอกว่า เราอยากจะสร้างวัฒนธรรม (Culture) รูปแบบใหม่ ที่สนับสนุนเรื่องของการกล้าทดลองทำ เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) และเป็นผู้นำธุรกิจ (Business Leader)

ถ้าเขาอยู่ในกรอบเดิม สั่งงานอะไรก็ทำไปตามนั้น แต่พอเราจัดเป็นบริษัทเล็กๆ ขึ้นมา เราก็จะเริ่มเห็นว่า น้องๆ เหล่านี้มีศักยภาพที่พาธุรกิจไปเติบโตได้

บางคนไม่ใช้น้อง เช่น ‘พี่กบ-อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์’ AutoX ที่สร้างธุรกิจจากศูนย์ วันนี้ถ้ารายงานผลประกอบการออกมา จะเห็นว่าเติบโตอย่างมีนัย

หรืออย่าง MONIX ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ถ้าผลประกอบการออกมา เราจะบอกว่า ไม่น่าเชื่อ จากบริษัทที่ตอนเริ่มมีกันอยู่ไม่กี่คน วันนี้จับมือกับเมืองจีน เติบโตมาเป็นตัวขับเคลื่อน (Growth Engine) ที่ดีมากๆ

ก็เป็นน้องๆ ที่เคยเป็นเหมือนผู้บริหารระดับกลาง (Middle Management) คนหนึ่งในองค์กร ถ้าเราปล่อยให้เขาอยู่ที่เดิม เขาก็อาจจะไม่มีโอกาสในการแสดงศักยภาพ โครงสร้างแบบนี้ก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรที่เรากล้าที่จะทำของใหม่ๆ และสนับสนุนให้น้องๆ เหล่านี้ทำ

แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าทุกองค์กรต้องทำท่านี้ แต่ตัวเรา ที่เราเป็นมา เราค้นพบว่า การจัดแบบนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับตัวเรา คนอื่นอาจจะบอกว่าไม่จำเป็น ซึ่งก็คงจริง

[ ธุรกิจใหม่ DataX ]

สำหรับธุรกิจของ SCBX ข้อดีคือ เราจะเห็น Data ค่อนข้างเยอะ แต่ข้อเสีย หรือข้อท้าทาย คือ มันดันอยู่คนละนิติบุคคล พออยู่คนละนิติบุคคล โดยกฎหมาย โดยอะไรหลายๆ อย่าง มันไม่ได้ใช้ได้ง่ายๆ

ขณะที่โลกในอนาคต ธุรกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นบนช่องทางดิจิทัล มันไม่ได้เกิดขึ้นที่สาขา การมาเจอกันมันน้อยลง เพราะฉะนั้น วิธีเดียวที่เราจะดูแลและเข้าใจลูกค้าได้เต็มที่ คือเราต้องดูผ่านข้อมูล

ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจลูกค้า และสามารถดูแลลูกค้าได้ในอนาคต ถ้าไม่มีขีดความสามารถนี้ โอกาสในการที่จะเป็นบริษัทที่มีความแข็งแรงและยั่งยืนในโลกอนาคต แทบจะไม่มี

จุดยาก จุดสำคัญ คือ นิติบุคคล ถ้าไม่ได้ขอความยินยอมจากลูกค้าอย่างชัดเจน คุณจะเอาข้อมูลไปใช้ข้ามกันไม่ได้ ต่อให้ขอคำยินยอมแล้ว การใช้ตาม PDPA ก็มีข้อจำกัดว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง

ถ้าเรามีข้อมูล แต่เราไม่มีบริษัทที่บริหารจัดการเรื่องนี้จากตรงกลาง อย่างเหมาะสม โอกาสจะใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ในต้นทุนที่ต่ำ และถูกกฎหมาย แทบจะไม่มี

เพราะต่างคนต่างมีข้อมูล เราเอามาแบ่ง เอามาแชร์กัน วันหนึ่งลูกค้าเปลี่ยนคำยินยอม อีกคนหนึ่งไม่รู้เอาไปใช้ก็ผิดกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องยุ่ง

ดังนั้น การที่เราจัดกลุ่มในรูปแบบนี้ เราต้องมีองค์กรตรงกลางที่สามารถที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลของกลุ่มได้ โดยที่บริษัทลูกสามารถเอาข้อมูลที่ตัวเองมีเอาเข้ามาอยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน หรือถังข้อมูลตรงนี้

[ มิชชันของ DataX ]

ภารกิจที่ 1 คือสร้าง และให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน คือเป็นเหมือน ‘ศูนย์ข้อมูล’ (Data Center) ของกลุ่ม DataX จะทำหน้าที่พัฒนาและให้บริการการเข้าถึงข้อมูล โดยที่ดูเรื่องของความยินยอม คอยอัปเดตตลอดเวลา และกำหนดว่าใครสามารถนำไปใช้ได้

เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์อยากใช้ข้อมูลของ CardX อยากใช้ข้อมูลของอินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) เดิมทีต้องขอเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งมีความเสี่ยงในวันที่ลูกค้าเปลี่ยนความยินยอม ยังไม่นับว่าต้องสร้างถังข้อมูลซับซ้อน ฯลฯ

อันนี้คือเราสร้างระบบตรงกลาง ใครจะมาใช้ก็เดินเข้ามา โดยสามารถสอบถามได้ว่า ข้อมูลลูกค้าคนนี้ ที่ได้ให้ความยินยอมไว้แล้ว สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้ไปใช้พัฒนาต่อได้ เพื่อทำให้ต้นทุนมันถูกที่สุด จัดอยู่ในที่เดียวกัน ปลอดภัย และใช้ได้อย่างสบายใจ

ภารกิจที่ 2 คือ พัฒนาเรื่องของ ‘การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง’ (Advanced Analytic) ที่สามารถที่จะเอาไปใช้ เอาไปช่วยหน้างานได้ เช่น เอาข้อมูลที่มองลูกค้าทุกมุม (Customer 360) ไปช่วย CardX ในการวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตและปล่อยสินเชื่อ

หรือไปช่วยธนาคารในช่วยในเชิงของการดูว่า ลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง (Wealth) คนไหน ควรจะลงทุนในผลิตภัณฑ์อะไร พวกนี้สามารถเอาไปทำได้

จริงๆ ธนาคาร CardX หรือ AutoX ฯลฯ สามารถทำเองได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่เราพยายามจะดึงความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมาอยู่ใน DataX เพื่อให้กอง (Pool) ของทาเลนต์ที่วันๆ นั่งคิดว่า เราจะทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับข้อมูล ก่อนจะไปประสานกับหน้างาน

ทุกคนก็มีข้อมูลของตัวเอง แต่เรากำลังจะบอกว่า ให้มันสมองของการใช้ข้อมูลอยู่ที่ DataX ให้เยอะที่สุด เพื่อไปช่วยหน้างาน ไปประกบกับหน้างาน

ซึ่งหน้างานก็อาจจะมาด้วยการบอกว่า ฉันมีความเข้าใจธุรกิจ ฉันเข้าใจลูกค้า แต่ไม่ค่อยชำนาญเรื่องของการใช้ข้อมูล ก็เอา DataX มาช่วยทำให้เกิดประโยชน์

[ พัฒนา Gen AI เอง ]

ภารกิจที่ 3 ซึ่งจะต่อยอดทำให้เรากลายเป็นบริษัทที่เป็นมากกว่าบริษัทที่เซิร์ฟในกลุ่ม หรือไปทำธุรกิจข้างนอกได้ คือการสร้างความสามารถขั้นสูง (Advanced Capability) พวกปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ในการที่จะทำแพลตฟอร์มขึ้นมา และใช้ให้เป็นประโยชน์กับบริษัทหลายๆ บริษัท

เราได้ยินเรื่องของ Generative AI (Gen AI) เราใช้ ‘แชทจีพีที’ (ChatGPT) กันแทบทุกวัน แต่การเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระดับบริษัทยังคงเป็นคำถาม

คือเราใช้ ChatGPT ให้ทำนู่นนี่นั่นค่อนข้างได้สะดวกในงานที่เป็นงานส่วนบุคคล แต่ถ้าจะให้มันเป็นโซลูชันขององค์กร (Enterprise Solution) ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงหน้างาน เป็นเรื่องที่มีความยากและท้าทาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบเอง เรื่องของความปลอดภัยของการใช้ข้อมูล เรื่องของการที่จะทำให้มันถูกต้องตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย

สิ่งที่ DataX พยายามทำวันนี้ คือ สร้าง Common Generative AI Platform ขึ้นมาตรงกลาง และนำไปใช้ในบริษัทต่างๆ ยกตัวอย่างแบบเอาให้เห็นภาพ เช่น เวลาเซลของ AutoX ไปแนะนำผลิตภัณฑ์สินเชื่อกับลูกค้า

มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม’ (Market Conduct) หรือสิ่งที่ผู้นำเสนอสินเชื่อจะต้องพูด 5-6 เรื่องดังต่อไปนี้ ถ้าคุณไม่พูด เช่น ดอกเบี้ยคือเท่าไหร่ เงินกู้คือเท่าไหร่ ไม่กู้เกินตัว ผ่อนเท่าไหร่ ฯลฯ ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์และมีประเด็น

วันนี้ทีมตรวจสอบภายใน (Internal Auditor) ต้องไปเปิดคลิปฟัง นั่งฟังไปครึ่งชั่วโมง และก็นั่งติ๊กว่า อันนี้พูดหรือยัง อันนี้พูดหรือยัง นั่งสุ่ม วันๆ หนึ่งเขาทำเป็นหมื่นๆ คอล แต่สุ่มฟังได้อย่างมากก็หลักสิบหลักร้อย

แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ก็อาจจะมาสุ่มตรวจแล้วพบว่า วันนี้คุณลืมพูดอันนี้ แล้วก็มีการส่งเป็นคำเตือน ตักเตือนอะไรกันมา

สิ่งที่เราเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย คือ ส่งให้ AI ฟัง และถาม AI ว่า เขา (เซล) ได้พูด 5 ข้อนี้หรือไม่ ถ้าพูดครบ ช่วยติ๊กและแคปเจอร์เสียงให้หน่อยว่าเขาพูดตรงไหน ถ้าไม่พูด ช่วยมาร์กหน่อยว่าไม่พูด ซึ่ง AI ต้องเข้าใจภาษาของมนุษย์ที่จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ในแต่ละเรื่อง

หลังจากนั้น AI ก็จะส่งกลับมา ถ้าพูดครบก็ผ่าน ถ้าไม่พูดระบบก็จะส่งอีเมลไปให้หน้างานเลยว่า คุณลืมพูดอันนี้ กรุณาโทรไปหาลูกค้าและเคลียร์ตัวเองซะ เพราะไม่งั้นจะมีปัญหาตอนจบวัน เป็นต้น

[ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ]

เราอยากทำอย่างนี้เพื่อที่จะตอบโจทย์เรื่องการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) ได้เต็มที่ และมีต้นทุนที่ไม่แพง ว่าง่ายๆ คือค่าน้ำค่าไฟ แทนที่จะเป็นมนุษย์ และก็รวดเร็ว

พอทำอันนี้เสร็จปุ๊ป เราก็เริ่มไปหาโซลูชันกันหน้างานว่ามันมีใครทำอะไรได้บ้าง ก็จะมีคนมาพูดเยอะไปหมดว่าทำนู่นทำนี่ได้ ก็มาทดลอง แล้วก็ค้นพบว่า ภาษาไทยก็ไม่ค่อยแข็งแรง ยิ่งเป็นภาษาถิ่น แหลงใต้ เว่าอีสานนี่เสร็จเลย

มาถึงเราก็ต้องมีทีมงาน R&D กับ DataX ร่วมกันพัฒนา โจทย์คือ ฟังเสียงแล้วแปลให้ออกว่าพูดอะไรบ้าง ซึ่งก็ต้องใช้ Generative AI ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยิน ‘ไต้ฝุ่น’ (Typhoon) โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ที่พัฒนาขึ้นสำหรับภาษาไทยของ SCBX

พอได้มาเสร็จปุ๊ป ก็แปลงเสียงให้เป็นข้อความ (Text) ก่อน หลังจากนั้นก็ต้องไปถามว่า Text นี้พูด 5 ข้อนี้หรือเปล่า AI ก็ต้องมานั่งไล่ หลังจากนั้นถึงจะเอากลับเข้าไปในขั้นตอนการทำงาน (Workflow) นี่คือตัวอย่างของการทำแพลตฟอร์มที่เป็น Gen AI Solution

พอเราทำเสร็จปุ๊ป เราก็ค้นพบว่า มันไม่ได้มี AI ในตลาดที่ทำภาษาไทยได้ เราก็เลยต้องพยายามทำเอง พอทำเองเสร็จปุ๊ป บริษัทอื่นๆ ในเครือได้ยิน เช่น CardX ก็อาจจะขอใช้ด้วย

ถ้าไม่มี DataX สิ่งที่เกิดขึ้นคือ CardX ก็จะไปทำเอง AutoX ก็ทำเอง แบงก์ก็ทำเอง ที่นี้ก็ต้นทุนคูณสามเลย เราก็เลยบอกว่า งั้นทำตรงนี้ (DataX) แล้วจะเอาไปใช้หน้างานก็ค่อยปรับของตัวเอง ต้นทุนก็แค่หนึ่งครั้ง

DataX ก็เลยเป็นคนที่คอยอยู่ตรงกลาง พัฒนาโซลูชันที่เป็น Generative AI ให้กับกลุ่ม เราก็จะมีแบบนี้เยอะเลย นั่งนับก็ประมาณ 50-60 ยูสเคส

อีกอันคือ Employee Service Chatbot เริ่มจากฝ่ายบุคคล (Human Resource: HR) ก่อน ซึ่งวันๆ หนึ่งนั่งรับโทรศัพท์ว่า วันลาของนาย A เหลือเท่าไหร่ ไปถอนฟันเบิกได้กี่บาท ฯลฯ พนักงานก็เบื่อที่ต้องมาตอบคำถามซ้ำๆ

เลยคุยกันว่า ให้มีแชทบอท (Chatbot) ขึ้นมา และนำนโยบายของกลุ่มอัปโหลดเข้าไป ใครถามก็ตอบตามข้อมูลนี้ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในบริการที่เราพัฒนาอยู่

เราพยายามจะพัฒนา (Modernize) งานที่มนุษย์เองก็ไม่อยากทำ ไม่มี HR คนไหนอยากจะมานั่งตอบคำถามแบบนี้ ไม่มี Auditor คนไหนอยากจะมานั่งฟังคลิปคุณครึ่งชั่วโมงเพื่อที่จะมานั่งติ๊ก

สิ่งเหล่านี้ น้องๆ พนักงานหน้างานไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาแย่งงาน เพราะเป็นงานที่คุณไม่ได้อยากทำอยู่แล้ว และเราก็พยายามจะใช้โซลูชันเหล่านี้ทำขึ้นมาให้ดีที่สุด

อันนี้ก็คือบริการต่างๆ (Service Line) ที่เราพยายามตั้งขึ้นมา ก็มีตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล (Database) เอาข้อมูลไปวิเคราะห์ สร้างโซลูชันที่เกี่ยวกับ AI

ระยะสั้น DataX เกิดขึ้นมาเพื่อจะเสิร์ฟบริษัทในกลุ่ม SCBX ก่อน แต่ความสามารถสุดท้ายที่เล่า คือเรื่องของ Gen AI Solution อีกหน่อยอาจจะสามารถแพ็กเกจเป็นซอฟต์แวร์โซลูชัน แล้วนำไปขายข้างนอกได้

อย่างเช่น บริษัท A เจอปัญหาเดียวกับ AutoX สนใจใช้บริการหรือไม่ หรือเอาไปคุยกับบริษัท B ที่ทำเรื่องสินเชื่อเหมือนกัน บริษัท B อยากใช้บริการหรือไม่

สอดคล้องกับการที่บอกว่า เรามองตัวเอง ต้องไม่ใช่เป็นผู้เอาเทคโนโลยีมาใช้ แต่เป็นผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ และอีกหน่อยทำให้เป็นธุรกิจได้

DataX จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้กลุ่มไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ที่ว่านี้ ก็เป็น 3 มิชชันหลักที่กำลังมอง ระยะสั้นคือดูแล ตอบโจทย์ สร้างมูลค่าให้กับกลุ่ม แต่ 3-5 ปีต่อจากนี้ ต้องเป็นคนที่สามารถสร้างธุรกิจจากนอกกลุ่มได้ นั่นคือความตั้งใจที่จะทำให้เกิดขึ้น

[ แข่งกับ ChatGPT ยังไง ]

เราค้นพบว่า เรื่องของการแข่งขันกับเจ้าตลาด (เช่น ChatGPT) ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะไปแข่ง และเห็นด้วยเลยว่า แข่งไปก็ไม่ชนะ

แพลตฟอร์มที่เราสร้าง คือการพัฒนาโซลูชันที่นำหลายๆ อย่างมา เช่น บูรณาการ (Integrate) เข้ากับ Workflow ของคอลเซ็นเตอร์ เอาเอกสารมา 100 ฉบับ แล้วพยายามจะย่อยให้อ่าน

ซึ่งท้าให้ลองได้เลย มันจะไม่ง่าย สมมติ ChatGPT เราถามนู่นนั่นนี่ไป มันก็จะตอบมาเหมือนฉลาดมาก ตอบอะไรมาก็ไม่รู้ซึ่งดูเมคเซนส์อยู่

แต่ถ้าลองสั่งให้ไปลองอ่านมาหน่อยว่าในเอกสารที่อยู่ใน 20 ฉบับนี้ ในเรื่องนี้ มันมีอะไรบ้าง มันจะเริ่มมีปัญหา เพราะมันไม่ได้ถูกมาให้หาข้อมูลในเอกสารฉบับเหล่านั้น กลับกัน มันไปเอาข้อมูลจากข้างนอกมาประดิษฐ์เป็นคำพูดเหมือนดูจะได้

เพราะฉะนั้น หากเราอยากรู้ว่า วันลาของนาย A เท่ากับ 15 วัน ไม่ได้ชัดเจนว่ามันจะตอบได้ มันอาจจะตอบ วันลา เท่ากับเท่าไหร่วันไม่รู้ เพราะมันไปเห็นข้อมูลจากข้อมูลจากข้างนอก มันก็มั่วๆ มา

แต่ถ้าเราอยากให้มันใช้ข้อมูลจากภายในองค์กรเท่านั้น ยังไง ChatGPT ก็มองไม่เห็น เราจึงต้องเป็นคนที่นำข้อมูลเหล่านี้มาย่อยอยู่ในระบบที่ทำให้ AI ของเราอ่านออก และตอบโจทย์ได้จริงๆ

กระบวนการแบบนี้ คือการพัฒนาโซลูชันที่อาจจะมี ChatGPT เป็นหัวใจหนึ่ง แต่มันต้องมีส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น นี่คือมูลค่าที่เราสามารถแพ็กเกจเป็นโซลูชันขึ้นมาได้อันหนึ่ง

ไปทำเรื่องอย่าง Compliance ไปเชื่อมต่อกับระบบหน้างาน ไปทำนู่นทำนี่ ก็เป็นโซลูชันอีกอย่างหนึ่งที่เป็นขั้นต้น แต่เราเลือกชัดเจนว่า จะไม่ทำโมเดลภาษา (Language Model) เหมือนกับเขา

[ ‘การสร้างมูลค่า’ สำคัญ ]

DataX ตั้งมาประมาณ 3 ปีแล้ว 3 ปีที่ผ่านมาใช้เวลากับภารกิจ 1 เป็นหลัก คือ จัดโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล ถ้าใครต้องดีลกับข้อมูลจะรู้เลยว่า มันปวดหัวมาก ข้อมูลชื่อนี้ผิดถูก นามสกุลสะกดผิดนี่นั่งแก้กัน

มาถึงจุดที่บอกว่า ปีนี้ (2568) เป็นปีที่เข้าสู่ภารกิจ 2 กับ 3 ได้เต็มรูปแบบ ส่วนภารกิจ 1 เราก็ไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะอีกหน่อยเราจะเอาข้อมูลจากข้างนอก เช่น ถ้าไปดีลกับพาร์ทเนอร์โทรคมนาคม (Telco) ได้ ไปดีลกับค้าปลีก (Retail) ทั้งหลาย

เมื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาบวกกันกับ SCBX เช่น นาย A มีข้อมูลของธนาคารไทยพาณิชย์และ CardX เป็นแบบนี้ นาย A มีโปรไฟล์การใช้เครือข่ายมือถือแบบนี้

เอามารวมกัน พยายามจะสร้างฐานข้อมูล โดยที่ภารกิจ 1 ก็คือ นำข้อมูลจากข้างนอกเข้ามา เพื่อให้มันใหญ่ขึ้น แล้วเดี๋ยวกลุ่มก็จะมาใช้ได้มากขึ้น

แต่ปีนี้จะเป็นภารกิจ 2 และ 3 คือ เรื่องของการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ และพัฒนา Gen AI Solution ออกมาให้กับกลุ่ม โดยเราสร้างประสิทธิภาพ ทำได้ถูก ได้ดี ได้เร็ว ในมิตินั้น

แน่นอนว่าทุกๆ บริษัทในระยะยาวมีความคาดหวังว่าจะต้องดูแลตัวเองได้ (กำไร) ในระยะสั้น บางบริษัทเป็น Growth Engine บางบริษัทเป็นกลุ่ม Capability อย่างที่เล่าไปเมื่อครู่ว่า 3 Gen และ 1 Capability ซึ่ง DataX อยู่ในกลุ่ม Capability

หลักการคือ ถ้ารายได้ในเบื้องต้น (โดยที่ยังไม่ได้ออกไปทำธุรกิจกับข้างนอก) มาจากกลุ่ม กระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา แบงก์จ่ายมา 100 บาท DataX รับมา 100 บาท ข้างบน (SCBX) เป็น 0 บาท เพราะมันรวมกัน รายได้ก็เป็นรายได้เทียม เพราะมันเป็นธุรกรรมระหว่างกัน

แต่ตัววัด (Measurement) ที่สำคัญ คือ เพราะเอาข้อมูลไปใช้ เพราะใช้ Gen AI เดิมทีที่บริษัทนี้อาจจะทำธุรกิจนี้ได้ 100 บาท สามารถทำได้ 150 บาท 50 บาทที่เกิดขึ้นมาจากการใช้ DataX อันนี้เป็น 50 บาทที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มจริงๆ

ส่วนรายได้ในส่วนนี้ จะนับว่าเป็นเท่าไหร่ในบริษัทไหน ยังไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะรวมกันมันบวก 50 อยู่ดี คุณจะไปบันทึก 30 ตรงนี้ 20 ตรงนั้น มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ดังนั้น มิชชันวันนี้คือ การเอาข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อน หลังจากนั้น ถ้าการสร้างมูลค่า (Value Creation) มันเกิดขึ้น วิธีการที่จะเอาเงินเหล่านี้ลงทุนใหม่ (Reinvest) มันก็เกิดขึ้นได้

แต่ถ้าในระยะยาว เราเริ่มจะทำธุรกิจกับข้างนอกได้ สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวมันก็จะเป็นรายได้ใหม่สุทธิ (Net New Revenue) เข้ามาจริงๆ แต่ในระยะสั้น 1-3 ปีข้างหน้า คือเน้น Value Creation ให้กับกลุ่ม แล้ววิธีการนับรายได้ค่อยไปว่ากัน

[ ทำทุกอย่างเพื่อ SCBX ]

ทุกบริษัทมีมิชชันที่จะต้องดูแลบริษัทตัวเองให้มีผลประกอบการที่ดีที่สุด ทั้งในเชิงของรายได้ ค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆ

บทบาทหนึ่งของ SCBX ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะบอกว่า เรื่องของการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) และพลังร่วม (Synergy) ที่ต้องเกิดขึ้น หมายถึงว่า การทำบางสิ่งบางอย่าง มันอาจจะเป็นรายได้ของคนหนึ่ง เป็นต้นทุนของอีกคนหนึ่ง

รายได้อยู่ที่บริษัท A แต่ต้นทุนอยู่ที่บริษัท B โดยธรรมชาติ B ก็ต้องบอกว่า แล้วฉันทำทำไม ก็ติดลบไปตรงนี้ ตรงนี้บวก ตรงนี้ลบ แต่กลุ่ม (SCBX) ก็คือผลบวกและลบจากตรงนี้ไปรวมกัน สมมติบวก 50 ลบ 30 กลุ่มคือบวก 20 คนที่ลบไป 30 บอกว่า แล้วฉันจะทำทำไม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ภายในกลุ่มจะมีการพูดคุยกันว่า การร่วมมือของบริษัทในกลุ่มคือเรื่องสำคัญ ถ้าทำออกมาแล้วภาพรวมของกลุ่มเจริญเติบโตดีขึ้น คือบวก 20 เมื่อครู่ ทุกคนจะต้องร่วมมือทำ แล้วเดี๋ยวเรามีวิธีการรับรู้ (Recognize) ผ่านตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI)

เพราะผลประกอบการของบริษัทเดียวที่อยู่ในตลาดของกลุ่มคือ SCBX ถ้ารวมกันแล้วมันบวก 20 คือสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าคนนี้จะลบ 30 คนนั้นจะบวก 50 ก็เป็นเรื่องของเขา ก็ไป Recognize ตรงนั้น

คนที่บวก 50 จริงๆ อาจจะบวกแค่ 10 แล้วตรงนี้คุณไม่ได้ลบ 30 นะ คุณบวก 10 ก็ออกมาเป็นบวก 20 เท่าเดิม ก็จะมีวิธีการสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดขึ้นมาเป็นความร่วมมือ

เรามาถึงจุดที่ เราได้ลองผิดลองถูกเกี่ยวกับเรื่องของการทำโครงสร้างรูปแบบนี้มา 2-3 ปีแล้ว วันนี้เราเห็นหลายอย่างแล้วว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายที่ให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งเดี๋ยวมีวิธีการ Recognize ผลงานกันแบบหนึ่ง เรื่องของการที่แต่ละ Engine ไปปลูก ก็เริ่มออกดอกออกผล

คิดว่าปีนี้ (2568) จะเป็นปีที่สำคัญที่จะเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เราตั้งใจทำมา เริ่มออกมาเป็นรูปธรรม

[ เรื่อง ‘คน’ ยากที่สุด ]

เมื่อถามว่าเรื่องอะไรยากที่สุด ดร.อารักษ์ตอบว่า เรื่อง ‘คน’ เพราะตัวยุทธศาสตร์ ตัวโครงสร้างองค์กร การกำกับดูแลวันนี้ค่อนข้างนิ่งแล้ว แต่เรื่องคน คือโลกมันหมุนเร็วมาก

คนของเรายังขาดทั้ง Capability และสมรรถนะ (Capacity) ที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เราต้องสร้าง Generation ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเยอะ ที่จะมาตอบโจทย์

โดยส่วนตัวที่กังวล คือ เราจะสามารถสร้างบุคลากรมาตอบโจทย์เรื่องนี้ทันหรือไม่ เพราะตัวธุรกิจวันนี้ แผนงานอะไรต่างๆ ค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว

จริงๆ Capability สำคัญกว่า Capacity แต่วันนี้หลายๆ บริษัทมักจะแก้ปัญหา Capability ด้วย Capacity ไม่มีก็ใส่คนไปเพิ่ม แทนที่จะหาคนที่ใช่

พอเป็นเรื่องคน ก็จะเป็นเรื่องของ Culture วัฒนธรรมองค์กร เรื่องสร้างดีเอ็นเอ เป็น Soft Side ของเรื่องที่จะเป็นโจทย์ยากอันต่อไปของกลุ่ม คือ จะทำอย่างไรให้เรามี Generation ใหม่ที่สามารถขึ้นมาตอบโจทย์นี้

HR ก็จะมีโครงการที่เข้าถึงน้องๆ ทั้งในและต่างประเทศ ชวนเข้ามาร่วมงานกัน แต่องค์กรก็ไม่สามารถฉีดเลือดใหม่เข้ามาอย่างเดียว ก็ต้องพัฒนาผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง ก็มีแนวความคิดของการโยกย้าย (Rotation) กันข้ามบริษัท เพื่อให้มีการพัฒนา สร้างความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มมากขึ้น

[ ภารกิจไม่มีวันเสร็จสมบูรณ์ ]

ทุกภารกิจไม่มีคำว่า ‘เสร็จสมบูรณ์’ แต่มันเป็นสเต็ปของมัน สเต็ปที่หนึ่งคือทำข้อมูลภายใน สเต็ปที่สองคือขยายฐานข้อมูลของภายใน บวกกับเอาข้อมูลข้างนอกเข้ามา

ในปี 2568 เราก็จะขยายฐานข้อมูลออกไป เช่น จัดเก็บข้อมูลภายในอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลลูกค้า ให้เป็นระบบมากขึ้น บวกกับเอาข้อมูลของข้างนอกเข้ามา อันนี้คือภารกิจของพวกที่อยู่ในภารกิจแรก ก็จะเป็นการทำพวกนั้น

ตอนจบ Data จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เขามีประโยคที่คนที่มอง AI กล่าวเอาไว้ว่า โลกหนึ่งคือ Model Centric กับอีกโมเดลหนึ่งที่เรียกว่า Data Centric

โลกเราในอดีตเคยอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Model Centric ซึ่งเชื่อว่า Data มีอยู่จำนวนหนึ่ง วิธีการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือคิดโมเดลที่ล้ำลึก ใช้ข้อมูลเท่านี้ แต่เอาโมเดลล้ำลึกมาแข่งกัน ของฉันคิดได้ดีกว่า ของฉันคิดได้เร็วกว่า

แต่พอเราเข้าสู่โลกที่เป็น AI โลกที่เป็น Generative AI สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โมเดลขาด Data องค์กรเหล่านี้ก็ต้องแข่งกันเรื่องของการจัดเก็บ ขยายฐานข้อมูลให้ใหญ่ เพราะถ้าฐานข้อมูลใหญ่ โมเดลฉลาดอยู่แล้ว เมื่อเอาข้อมูลมาใส่ คำตอบก็ดีขึ้น ฐานข้อมูลใหญ่ขึ้น ก็ดีขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น วันนี้ทุกองค์กรควรจะโฟกัสเรื่องของการจัดเก็บและขยายฐานข้อมูลให้เยอะที่สุด และอาศัยการใช้โมเดลที่มีอยู่แล้วมาใช้กับฐานข้อมูลของเรา

เหมือนที่เราบอกเมื่อกี้ เมื่อ ChatGPT ฉลาดอยู่แล้วก็ไม่ต้องไปทำแข่ง ก็เอา ChatGPT มาใช้บนฐานข้อมูลของเรา แล้วเน้นเรื่องของการจัดฐานข้อมูล

ภารกิจหนึ่งของ DataX คือการจัดฐานข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะอีกหน่อยยิ่งใครมี Data เยอะ โอกาสที่จะเข้าใจลูกค้า โอกาสที่จะตอบโจทย์ลูกค้ามันจะสูง

ซึ่งถ้าไม่ได้จัดเก็บ เราถามตัวเราเองก็ได้ ข้อมูลของเราที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ หาบางทีก็หาไม่เจอ แล้วข้อมูลที่กลุ่มมีมันใหญ่กว่านั้นเยอะ มันต้องมีการจัดเป็นระบบระเบียบ

แน่นอนว่า Data ที่ไม่มีประโยชน์ก็เยอะ แต่ข่าวดีคือ พื้นที่ (Space) ของ Database มันค่อนข้างถูก ก็เก็บไปเถอะ

[ ทุ่มงบ R&D ปีละ 2,000 ล้าน ]

ประเทศไทยมีจีดีพีมูลค่ารวมกว่า 18 ล้านล้านบาท แต่ลงทุนใน R&D ประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐ ลงทุนใน R&D เกือบ 10% เกาหลีใต้ ลงทุน 5-6% ฯลฯ

นั่นคือสาเหตุที่การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยมันถึงได้ช้า จะเห็นว่า เมื่อบริษัทอย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) มาเมืองไทย บริษัทอย่างอินวิเดีย (NVIDIA) มาเมืองไทย

แม้จะมีการพูดชมเมืองไทยในด้านต่างๆ แต่พอลงทุนจริงๆ กลับลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและเวียดนาม ประเทศไทยโดยมองข้ามตลอด

ทั้งนี้ เพราะจีดีพีประเทศไทยไม่โตมาเกือบ 10 ปี ประชากรสูงวัย (Aging Population) โอกาสเติบโตในอนาคต (Future Growth) ไม่มี นี่คือสาเหตุที่ทำไมเขาจึงไม่ลงทุน

เมื่อสักประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว เราแข่งส่งออกข้าวหอมมะลิกับเวียดนาม แต่เวียดนามเขาไม่ได้กะแข่งกับเราแล้ว เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วที่ไปเวียดนาม คนเวียดนามแชร์ว่า

สมัยก่อนตอนที่เขาเป็นเด็ก (สตาร์ทอัพอายุ 20-30 ปี) ประเทศที่เขาชื่นชมมากคือเมืองไทย ผลิตภัณฑ์จากเมืองไทยคือท็อปแบรนด์ เสื้อผ่าต้องเมืองไทย Made in Thailand เขามองเมืองไทยเป็นประเทศต้นแบบ อยากจะเป็นเหมือนเมืองไทย

แต่วันนี้เขาบอกว่า เมืองไทยไม่ได้อยู่ในเรดาร์เขาแล้ว ทั้งที่เรายังคิดว่าเขายังเป็นคู่เทียบอยู่ ตอนนี้เขามองเกาหลีใต้ ต้องเป็นอย่างเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยี มี Culture ของตัวเอง คือไปหมดแล้วจริงๆ

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เมืองไทยหมดความน่าสนใจ คือ เราขาดการลงทุนระยะยาว ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาง่ายๆ คือ R&D

R&D คือตัวชี้วัดขีดความสามารถของการพัฒนาของประเทศนั้นๆ ในระยะยาว เหมือนกับ R&D ในบริษัท ถ้าบริษัทจะมีขีดความสามารถในการเติบโต อย่าง SCBX ที่ตั้งใจจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ต้องมีการลงทุนใน R&D

ธนาคารทั้งธนาคารรันด้วยระบบเกือบทั้งหมด เรามีคน 20,000-30,000 คนก็จริง แต่คนเท่านี้ไม่สามารถดีลกับเงิน 2-3 ล้านล้านบาทได้ ไม่มีทาง มันคือระบบล้วนๆ

แต่ธนาคารไม่เคยถูกเรียกว่า Technology Company เพราะธนาคารมีหน้าที่ซื้อเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งก็คือผู้ใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ

ต่างจาก SCBX ที่มองว่าตัวเองคือ Technology Company เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาเทคโนโลยีเอามาใช้ของตัวเอง และอีกหน่อยสามารถเอาไปขายข้างนอกได้เหมือน DataX

อย่างเมืองไทย R&D เราต่ำ โอกาสที่จะพัฒนาภาพรวมของประเทศก็น้อย แต่ SCBX เองต้องการมีขีดความสามารถ Advanced Capability Technology แบบจริงจัง

ปีๆ หนึ่ง เราตั้งงบ R&D ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์โดยเอากำไรของบริษัทเป็นจีดีพีของประเทศ SCBX มีกำไรปีละประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท เราเซ็ทงบลงทุนประมาณ 5% ประมาณ 2,000 ล้านบาท

AI เทคโนโลยี ไซเบอร์ฯ คลาวด์ เรื่องของการทดลองพวก Climate ฯลฯ อยู่ในนี้หมด ต่อให้เป็น R&D ก็นับเป็นค่าใช้จ่าย นี่คือสาเหตุที่ทำให้ค่าใช้จ่ายมันสูง แล้วเราต้องหา Gen 2 และ Gen 3 มากลบพวกนี้

แต่มันเป็นค่าใช้จ่ายที่ดี เพราะเป็นการลงทุน (Investment) สำหรับอนาคต เหมือนเราลงทุนนำไปแล้วรายได้ต้องตาม ถ้าวันหนึ่งมันเริ่มตามทัน กำไรก็จะหมุนกลับมาด้วยตัวมันเอง

R&D ที่ผ่านมา เราลงทุนไปเยอะมาก อย่าง DataX เราลงทุนหลักพันล้านในการที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ออกมาโซลูชันที่เล่าไปเมื่อครู่ หรืออย่าง Typhoon ก็อยู่ในฝั่ง R&D

วันนี้ถ้าถามว่า R&D เราโฟกัสอะไร คำตอบคือ A B C D คือ A-AI B-บล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล (Blockchain and Digital Asset) C-Climate และ D-เทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบ (Disruptive Technology)

ถ้าเทียบกับบริษัทอื่นๆ SCBX เป็นหนึ่งในบริษัทในเมืองไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง R&D ค่อนข้างเยอะ และโชคดีที่กรรมการค่อนข้างสนับสนุน

เพราะบางบริษัทอาจจะรู้สึกว่า ลงทุนไป เหมือนลงทุนไปในสิ่งที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะกลับมา เพราะ R&D โดยธรรมชาติ คือ มีความเสี่ยงสูง มีความไม่แน่นอนสูง ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ก็ไม่เป็นไร

ความคาดหวังคือ ลงทุนไป 10 อัน หรือพัฒนา 10 อย่าง จะต้องประสบความสำเร็จ 10 อย่าง ใช้ได้สัก 2-3 อย่างก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่เม็ดเงินอย่างเยอะ อันไหนใช้ได้ก็ค่อยๆ ทยอยใส่เงินเพิ่ม ก็เป็นหลักการแบบนี้

เพราะฉะนั้น หัวใจอันหนึ่งของ SCBX ที่เราต้องทำ คือ การพัฒนา R&D ที่ว่านี้ สำหรับสร้างขีดความสามารถและธุรกิจในอนาคต ซึ่งในระยะสั้นถ้าวัดเป็นผลประกอบการ จะเจอแรงกดดันเยอะมาก แต่โชคดีที่ Gen 2 กับ Gen 3 เริ่มออกดอกออกผล

[ เดินหน้าลงทุนคริปโต ]

Gen 2 น่าจะเห็นปีนี้แข็งแรงขึ้นมากๆ และ Gen 3 บางตัวเราควรจะเห็นว่า จะเริ่มไปในทิศทางไหน ซึ่งคณะ Digital Asset ก็อยู่ใน Gen 3 อย่าง TokenX ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่มีการพูดคุยกันเยอะ

จริงๆ TokenX ปีนี้จะมีการประกาศเกี่ยวกับการทำคาร์บอไนเซชัน (Carbonization) ของพวกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ น่าจะมีราวๆ 2-3 ตัวในอีกสัก 2-3 เดือน

แน่นอนว่าการมาของโดนัลด์ ทรัมป์ สนับสนุน Digital Asset แต่เราคิดว่า Digital Asset ที่มีโอกาสที่จะมีบทบาทและมีประโยชน์ในอนาคต คือ Digital Asset ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-backed) เช่น การแปลงหรือทำให้สินทรัพย์ต่างๆ อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Tokenization)

เอาอสังหาริมทรัพย์มา Tokenization การนำ Carbon Credit มาทำ Tokenization การโอนเงินข้ามประเทศ (Foreign Remittance)

ยกตัวอย่างเคสของ ‘ริปเปิ้ล’ (Ripple) ตอนนั้น SCB เป็นธนาคารแรกๆ ในโลกที่จับมือกับ Ripple ในการใช้โซลูชันในการโอนเงินระหว่างประเทศ วันนี้โอนเงินบนมือถือ หรือรับเงินจากต่างประเทศเข้ามา มีหลายครั้งหลายคราที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายของ Ripple ที่เราอาจจะไม่รู้ตัว

ซึ่งกำไรจากที่ทำธุรกรรมโอนเงินกับ Ripple ภายใน 5-6 ปีที่ผ่านมา มากเพียงพอที่จะสนับสนุนโปรแกรม Digital Asset ของ SCBX ที่ทำมาวันนี้

พอทำสำเร็จ เราก็เอาเงินมาลงทุนสำหรับการทดลองต่อไปในอนาคต เป็นงบที่อยู่ใน R&D เพียงแต่เราไม่เคยเปิดเผยว่าเป็นเท่าไหร่ แต่มันเพียงพอที่จะเอามาทำสิ่งเหล่านี้ ยังไม่นับผลตอบแทนของเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) จาก Ripple ซึ่งก็ค่อนข้างเยอะ

ทั้งหมดนี้ กรรมการเองก็มีความสบายใจว่าเงินลงทุนทั้งหลายที่เราลงทุนใน Digital Asset มันมาจากผลตอบแทนที่เราทำมาในอดีต ถ้ามองเป็นชิ้นๆ อาจจะคิดว่า อันนี้ขาดทุน ทำทำไม แต่ถ้ามองเป็นพอร์ตโฟลิโอ เอาอันนี้มารวมกับตรงนี้ เขาก็โอเค

ถามว่ายังมีความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงว่า Digital Asset จะเกิดขึ้นในระดับโลก ในระดับประเทศหรือไม่ แน่นอนว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ แต่สปิริตของเราคือ พยายามศึกษาต่อไป และยูสเคสไหนที่คิดว่ามีพื้นฐานที่ดี เช่น Tokenization หรือ Remittance ก็ลุยไปเต็มที่

Digital Asset เราจะทำประมาณ 3 เรื่อง คือ

1. โครงสร้างพื้นฐานของ Digital Asset เช่น การจัดเก็บ (Custody) ไม่ว่าข้างบนจะเป็นตัวอะไร มันต้องมีการจัดเก็บเพื่อความปลอดภัย เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานแบบหนึ่ง ควรจะต้องมี

2. Tokenization เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical Asset) ไปเป็น Digital Asset เช่น เปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นโทเคน เปลี่ยน Carbon Credit ให้เป็นโทเคน ภายใต้ TokenX และรักขา (Rakkar) ซึ่งคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก

3. การลงทุนในธุรกิจที่มีความไม่แน่นอน หรืออาจจะไม่ได้มีพื้นฐานที่ดี เราจะใช้ระบบศึกษา ลงทุน R&D เช่น ไปจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อศึกษา หรือลงทุนใน SCB 10X ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อดูว่ามันคืออะไร

เหมือนกับวันที่เราลงทุนใน Ripple วันนั้นคนก็ถามว่า เราลงทุนทำไม ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่วันนี้กลับรันโปรแกรมทั้งหมดของเราได้สบายๆ แถมยังเหลือเงินกลับเข้าไปเป็นกำไรอีกเยอะแยะ

ก็เพราะเราใช้สปิริตแบบนี้ เราไม่รู้ เราก็เลยไปลงทุน เราลองไปศึกษา ไปนั่งคุย เราก็เริ่มค้นพบบางสิ่งบางอย่าง และเราก็เป็นพาร์ทเนอร์คนแรกๆ ที่เอามาใช้ ก็แบบเดียวกัน ตอนนี้ก็ยังเป็นคอนเซปต์นั้น

[ คริปโตดีๆ ก็มี ]

แต่ถามว่า มันจะเติบโตถึงขั้นเป็นเงินสกุลหลักหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่า ‘มันยังไม่พร้อม’

Digital Asset เป็นคำใหญ่ ซึ่งมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ (Cryptocurrency) และโทเคน หรือเหรียญที่มีเสถียรภาพสูง (Stablecoin) อยู่ข้างใต้

โทเคนกับ Stablecoin อยู่ในกลุ่มที่มี Asset-backed อย่าง Stablecoin ก็มีสกุลเงินหลัก (Fiat Currency) หนุนหลัง ส่วนโทเคนก็มีอสังหาริมทรัพย์ คาร์บอนเครดิต หรือสินทรัพย์ในโลกจริง (Real-World Assets: RWAs) หนุนหลัง

แต่คริปโตเคอร์เรนซี ส่วนใหญ่จะมีไม่มีอะไรหนุนอยู่ข้างหลัง พอมันไม่มีอะไรหนุนอยู่ข้างหลัง มันเริ่มเข้าสู่โลกของความเชื่อของหลายๆ โลก บางคนก็บอกว่า มันไม่มีอะไรหนุนหลังอยู่ เท่ากับ ไม่มีประโยชน์ แต่จะเล่าฝั่งที่โต้กลับว่าทำไมถึงเชื่อ…

ถ้าเราเชื่อว่า Stablecoin และ Tokenization มีประโยชน์ เขาก็ต้องถามว่า แล้วคุณทำ Stablecoin และทำ Tokenization บนอะไร คำตอบคือ บล็อกเชน

บล็อกเชน หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) ทำมาจากอะไร คำตอบไล่ไปเรื่อยๆ จะพบว่า มีสิ่งที่เรียกว่า คริปโตเคอร์เรนซีอยู่ข้างหลัง

ยกตัวอย่างเช่นอีเธอเรียม (Ethereum) ซึ่งเป็นตัวที่ใช้ในการทำ Tokenization ของหลายๆ อย่าง หรือ Ripple ทำ Remittance ด้วยอะไร ก็ด้วยเอ็กซ์อาร์พี (XRP) อยู่ข้างหลัง

ฝั่งที่โต้กลับก็เลยบอกว่า ใช่ เราอาจจะไม่มี RWAs ไม่มี Fiat มาหนุนหลัง แต่อรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำ เช่น คุณสามารถทำ Remittance ได้ ก่อเป็นธุรกิจ

คุณเชื่อว่าระบบสวิฟต์ (SWIFT) ที่เราใช้โอนเงินกันมีมูลค่าหรือไม่ มี เพราะมันได้กำไรจากการทำธุรกรรม ถ้า Ripple ทำ แล้ว XRP เป็นตัวที่อยู่ข้างหลัง แล้วทำไม XRP จะไม่มีค่า

เพราะ XRP คือตัวที่ทำให้ธุรกรรมข้างบนมันเกิดขึ้นได้ มันก็ต้องมีประโยชน์ แต่มันหนุนด้วย Value ที่เกิดขึ้นจากข้างบน ไม่ได้หนุนด้วย Physical Asset ดังนั้น Ethereum มีประโยชน์ ดังนั้น XRP มีประโยชน์ มีประโยชน์ก็เท่ากับมีค่า พอมีค่าก็เกิดการซื้อขาย (Trading) กัน

แต่บางกลุ่มกลับเอาคริปโตเคอร์เรนซีอะไรไม่รู้มาพูดว่ามีประโยชน์ มาโม้ว่าเป็นเชนทำนู่นทำนี่ ซึ่งคนก็พร้อมปั่นอยู่แล้ว ปัญหาของโลก Digital Asset คือ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถ หรือไม่อยากจะแยก ระหว่างสิ่งที่ดี กับสิ่งที่ไม่ดี

ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ดีมันไม่หวือหวา มันเหมือนหุ้น มันไม่ได้ขึ้นทุกวัน หุ้นมันก็ค่อยๆ ไป คริปโตฯ ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ถ้าสินทรัพย์นั้นมันเติบโตอย่างช้าๆ ราคาเหรียญมันก็เติบโตอย่างช้าๆ เช่นกัน

แต่เวลาที่มันเหวี่ยงๆ เพราะคนไปเทรด ซื้อๆ ขายๆ ขายๆ ซื้อๆ ถึงจุดหนึ่งก็เริ่มไม่เชื่อมโยงกับปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) แล้ว หลายคนก็เลยชอบ ไม่ต้องมี Fundamental หรอก มาปั่นกัน ลุกทีหลังจ่ายรอบวง ประมาณนี้

มันก็เลยทำให้ของที่เหมือนกับว่าน่าจะดี ถูกรวมๆ ไปกับของที่ไม่ดี คนที่กังวลก็เหมาเข่งว่า คริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดนั้นไม่ดี แต่คนที่อยากจะซื้อขายก็จะบอกว่า คริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดนั้นดี

วันนี้เราคัดเลือกได้บางส่วน เรียกว่า อันนี้ดี และหวังว่าวันหนึ่งมันจะไปเติบโตในโลกธุรกิจอย่างเต็มที่เหมือน Remittance กับบางสิ่งที่กาวของแท้

และยังมีตัวที่อยู่ตรงกลางอย่าง Ethereum อีก ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมี เพราะถ้าไม่มีมัน ก็ไม่มีโลกในด้านที่เราพูดกันอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าไปเทรดผิดวิธี มันก็จะกาว ก็เป็นความท้าทายของเราตรงนี้

[ วิเคราะห์ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ]

กลับมาที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่ว่า เขาจะใช้อะไร ถ้าเขาจะใช้ Stablecoin เอาเงินบาทมาทำเป็น Stablecoin แล้วเอาไปเป็นตัวแทนของการแลกเปลี่ยน

เหมือนที่เราบอกว่า Remittance มีประโยชน์ Remittance คือการโอนเงินข้ามประเทศ แต่ถ้าทำ Stablecoin แล้วโอนเงินในประเทศ ก็ไม่ต่างอะไรกับข้ามประเทศ แต่มีเงินบาทหนุนหลังอยู่ ถ้าแบบนี้ มีโอกาสทำให้ประโยชน์

ที่เชื่อใน Stablecoin เพราะว่า Stablecoin มันมีประโยชน์ตรงที่ว่า มันมีฟังก์ชันหนึ่งที่เหมือนกับบัญชีรับฝากและจ่ายเงินแบบมีเงื่อนไขตามคำสั่ง (Escrow Account) ที่เราใช้เวลาซื้อบ้าน บริษัทจะไม่โอนบ้านจนกระทั่งบัญชีนี้จ่ายเงินเมื่อสัญญาเรียบร้อย

Stablecoin มีสิ่งที่เรียกว่า Programmable Money มันโปรแกรมได้เลยว่า เมื่อธุรกรรมนี้เกิดขึ้น ขอให้โอนเงิน Stablecoin นี้ จากบัญชีนี้ ไปบัญชีนั้น

ฉะนั้น เมื่อเราซื้อขายของกัน A รับของจาก B แล้ว ซึ่งไม่ต้องกดรับก็ได้ เมื่อธุรกรรมไปถึงปลายทางปุ๊ป สัญญาณก็ส่งมา แล้วเงินก็ถูกจ่ายได้เลย เกิดขึ้นทันทีเหมือนยื่นหมูยื่นแมว

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์ค คำตอบคือ ดูสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าสนใจตรงที่ว่า บางทีก็ออกมาพูดออกตัวแรง ต่อว่า Digital Asset แต่อีกมุมหนึ่งกลับพูดว่า เราจะเป็นฮับของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) ของภูมิภาค

แล้วอะไรที่สิงคโปร์โอเค? 1. Stablecoin ที่มีเงินดอลลาร์สิงคโปร์หนุนหลังอยู่ โอเค 2. เงินฝากที่ถูกเปลี่ยนเป็นโทเคน (Tokenized Deposit) โอเค (ซึ่งมีรายละเอียดว่า 2 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร) สาระคือ มีของจริงมาหนุนหลัง สิงคโปร์โอเค

3. RWAs Tokenization ทั้งหลาย โอเค และ 4. Programmable Money หรือ Purpose Bound Money: PBM ที่ผู้ว่าแบงก์ชาติของสิงคโปร์ออกมาโปรโมทด้วยตัวเอง โอเค

ซึ่งเขาบอกเลยว่า ทำ ลุย และจำเป็นต้องทำ เขาผลักดันประเทศเขา เขาสั่งให้ประเทศเขาทำเลย เขาบอกผู้เล่นของเขาว่า จงมีสิ่งเหล่านี้ เพราะนี่คือสิ่งที่จะทำให้สิงคโปร์เป็น Digital Asset Hub ของภูมิภาคได้

แต่สิ่งที่สิงคโปร์ไม่โอเค คือ การเอาคริปโตเคอร์เรนซีมาชำระเงิน (Payment) เขาไม่โอเคที่จะเอาเหรียญกาว หรือเหรียญอะไรก็ตาม มาเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP)

แต่เขาโอเคที่จะเอา Stablecoin ที่มีสิงคโปร์ดอลลาร์หนุนอยู่ มาเป็น MOP อันนี้คือสิ่งที่ชัดเจน และโครงสร้างพื้นฐานที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Custody หรือ Tokenization มีหมด

สำหรับประเทศไทย จริงๆ เราไม่ได้มีเกณฑ์ หรือการพัฒนาที่ด้อยไปกว่าเขา เพียงแต่เรามักจะไปพูดถึงเรื่องกาวๆ เยอะ เราไม่ได้พูดเรื่องการใช้งาน (Application) เพราะเด็กๆ ที่เทรด อยากเทรดกาว ไม่ได้อยากทำตรงนี้

ซึ่งบริษัทที่เข้าไปทำเกี่ยวกับ Digital Asset ที่สิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น ดีบีเอส (DBS) หรือเจพีมอร์แกน (JPMorgan) จับมือกับสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ทำสิ่งเหล่านี้อยู่

เมืองไทยทำน้อยมาก ซึ่งผู้กำกับดูแล (Regulator) ของเราก็ไม่ได้ส่งเสริมเท่าสิงคโปร์ คือไม่ได้ห้าม แต่ไม่ได้ออกตัวแรงเหมือนองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS)

เพราะฉะนั้น ถ้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เอาคอนเซปต์ของการทำ Programmable Money เข้ามา เป็นสิ่งที่ดีและควรสนับสนุนมากๆ แต่ถ้าเอาคริปโตเคอร์เรนซีเข้ามา หรือเอามาเป็นทุนสำรอง อาจจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะยังมีช่องว่างของความเหมาะสมอยู่

อยากให้มี เพราะเมื่อมีแซนด์บ็อกซ์เหล่านี้ และเอาของดีๆ ไปทดลอง และหวังว่าของดีๆ จะออกมาดี ของที่ไม่ดีก็คงจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่า มันไม่เวิร์ค ก็ให้มันตายไป แต่ถ้าไม่มีสภาวะแวดล้อมให้ทดลอง ก็คุยกันบนกระดาษตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม คริปโตเคอร์เรนซีในฐานะ MOP คือน่ากลัว แต่ถ้า Stablecoin ในฐานะ MOP คือถูกกำกับโดย Regulator ทุกกระเป๋า (Wallet) จะต้องถูกยืนยันตัวตัน (Know Your Customer: KYC)

เพราะฉะนั้น โอกาสที่เงินจะหาย ถูกฟอก โอกาสมันจะไม่ค่อยเกิด เพราะแกะรอยได้ว่า Wallet ไหนเป็น Wallet ไหน อีกทั้งถ้า KYC ทุก Wallet รู้หมด บาทนี้มันวิ่งไปไหน

แต่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่เห็น เพราะถ้าโอนออกไปข้างนอก Wallet ที่ไม่ได้ KYC ปุ๊ป เงินมันหลุดไปเลย อันนี้ยังเป็นความเสี่ยง ถ้าโลกนี้ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ โอกาสที่จะเกิดการใช้คริปโตฯ เป็น MOP ขนาดใหญ่ก็จะไม่เกิด

ส่วนตัวเชื่อว่า อะไรที่เกี่ยวกับเงินตรา รัฐบาลต้องเกี่ยว เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความไม่สบายใจ เราก็ไม่กล้าใช้ แต่นี่อาจจะเป็นความคิดแบบโบราณ ในอีก 20-30 ปีต่อจากนี้อาจจะปรับเปลี่ยนได้

แต่ถึงตอนนั้น ก็ยังเชื่อว่าภาครัฐยังมีบทบาทอยู่ และ Stablecoin เป็นตัวเชื่อมโลกปัจจุบันไปสู่โลกอนาคต แล้วถ้ามันเวิร์คก็เดี๋ยวค่อยๆ ไปคลี่คลายกันตรงนั้น แต่มันต้องเริ่มสเต็ปหนึ่งตรงใดตรงหนึ่ง

[ สรุป SCBX คืออะไร ]

เอาวิสัยทัศน์ (Vision Statement) ขององค์กรก่อน คือ Regional Financial Technology Group คีย์เวิร์ดมีอยู่ 3 อัน คือ

1. Regional ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย

2. Technology เป็นเทคโนโลยีกรุ๊ป ไม่ใช่แบงก์

3. Financial แปลว่า ยังไงก็แล้วแต่ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะฉะนั้น ยังอยู่ในหมวดบริการทางการเงิน (Financial Service)

Technology คือตัวที่ต้องขีดเส้นใต้เน้น นี่คือสาเหตุที่บริษัทอย่าง DataX TechX หรือเรื่องของการทำ R&D มันจะค่อยๆ เป็นจิ๊กซอร์สำคัญที่จะสร้าง SCBX ไปในอนาคต แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นทันที ไม่มีบริษัทไหนที่วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้จะเป็นแบบนั้น

ใครจะไปเชื่อว่า ตอนที่ทำพร้อมเพย์ ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 6-7 ปีแล้ว มองย้อนกลับไปก็ไม่น่าเชื่อว่า มันมาได้ถึงขนาดนี้แล้ว ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ก็มองว่า ไม่มีคนใช้หรอก ซึ่งไม่มีคนใช้จริงๆ จนกระทั่งโควิด-19 เข้ามาแล้วเปลี่ยนโลก กลายเป็นว่าตอนนี้ ไม่มีใครไม่ใช้พร้อมเพย์

เวลาเราจะเปลี่ยนหรือทรานสฟอร์มองค์กร มันไม่ใช่แค่หลักเดือนหรือหลักปี มันต้องเป็น 5 ปี 10 ปี แล้วมองกลับไป วันนี้ หวังว่าเรามองกลุ่ม 5 ปีที่แล้ว 10 ปีที่แล้ว เราก็คงเห็นความแตกต่างขององค์กร ว่าจากเดิมทีเคยเป็นแบบหนึ่ง แต่วันนี้มันเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

‘ก็หวังว่า 3-5 ปีต่อจากนี้ พอเรามองกลับมา เราก็อาจจะค้นพบว่า เออว่ะ วันนั้น SCBX หน้าตาเคยเป็นแบบหนึ่ง วันนี้มันมาแบบนี้ ประมาณอย่างนั้นอ่ะ มันก็ต้องใช้ห้วงเวลามองที่แตกต่างกัน’

ถ้าถามว่า SCBX จะเป็นบริษัทเทคฯ เมื่อไหร่? ต้องบอกว่า มันไม่ได้มีจุดตัดสินว่า วันนี้ใช่ หรือวันนี้ยังไม่ใช่ แต่แน่นอนว่าเราก็มีตัวเลขภายในว่า เราต้องมีฐานลูกค้าเท่าไหร่ ต้องมีอะไรเท่าไหร่

[ บริษัทเทคฯ ที่ทำแบงก์ ]

ความต่างระหว่างแบงก์ที่ใช้เทคโนโลยี กับบริษัทเทคโนโลยีที่ทำแบงก์ มันต่างกันจริงๆ คนหนึ่งซื้อเทคโนโลยีมาใช้ แต่อีกคนหนึ่งพยายามพัฒนาเทคโนโลยีแล้วเอาไปใช้ แล้วเอาไปขาย เราพยายามจะเป็นแบบหลัง

อย่างที่เราจับ Virtual Bank เกาหลีกับจีน เรากำลังเลือกระบบหลักของธนาคาร (Core Banking) อยู่ คำถามแรก คำถามคลาสสิกที่ถามวีแบงก์ (WeBank) ถามคาเคาแบงก์ (KakaoBank) คือ คุณใช้ Core Banking ยี่ห้ออะไร ของประเทศไหน

เขามองหน้ากลับมาแล้วงงว่า คุณถามอะไร? เพราะเขาพัฒนา Core Banking ของตัวเอง ซึ่งการพัฒนา Core Banking ของตัวเอง เวลาเราฟัง เรารู้สึกว่า มันไม่เกิดขึ้นจริงหรอก

เพราะ Core Banking เป็นสิ่งที่ยากที่สุด มีของเอฟไอเอส (FIS) มีของเทมีนอส (Temenos) ของซันไลน์ (Sunline) จงไปเลือก แม้แต่วันนี้เอง ไทยพาณิชย์ก็ไม่เคยคิดจะพัฒนาเอง คือดูว่า เลือกอันไหนดี

แต่พวก FinTech คือเขาทำเองหมด เพราะเขาบอกว่า ถ้าคุณไม่ทำเอง คุณจะไปแข่งได้อย่างไร ทั้งต้นทุน ซึ่งคุณไปสู้กับอีกแบงก์หนึ่งก็ไม่ได้แล้ว เพราะอีกแบงก์หนึ่งทำเอง

เพราะถ้าซื้อมาแล้วต้องจ่าย ต้นทุนเขาไปหมด ดังนั้นคือ ไม่ได้ เขาต้องทำเองจากศูนย์ ทำเองอยากจะทำอะไรก็ได้ อยากจะแก้นู่นแก้นี่ก็ได้ ทำเลย

เราถึงได้ถึงบางอ้อว่า WeBank คือใคร คือกลุ่มเทนเซ็นต์ (Tencent) กลุ่มวีแชท (WeChat) เขาเกิดมาจาก Technology Company เขาไม่เคยทำแบงก์ พอวันหนึ่งเขาอยากจะทำแบงก์ เขาก็เอาขีดความสามารถเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบแบงก์

เขาไม่ได้เปิด FIS, Temenos หรือ Sunline มาว่า Core Banking คืออะไร เขาแค่ใช้ลอจิกว่า สรุปเขาต้องทำอะไร ได้ตัวเลขมา เก็บเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องใช้หรือไม่ ก็โปรแกรมทำไป

เรายังห่างจากตรงนี้เยอะ ในเชิงของ Capability และความคิด ความคิดบางทีฟังแล้วเรายังไม่กล้าจะฝันแบบนั้นเลย แต่นั่นคือ การเป็น Technology Company ตัวจริงต้องคิดแบบนี้

วันนี้เราก็เลยเริ่มมีสเต็ปการลงทุน R&D เรื่องของการปูพื้นฐานการเป็น Technology Company คือ มี R&D มี Technology Company มี Capability ของตัวเอง ต่อยอดไปเรื่อยๆ ใช้ภายใน อีกหน่อยใช้ภายนอก อันนี้คือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ

เวลาทำงานกับพาร์ทเนอร์ทุกคน ส่วนใหญ่ถ้าไปถามว่า เขาใช้เทคโนโลยีอะไร ส่วนใหญ่คือพัฒนาเองหมด แต่เขาจะเลือกพัฒนา เขาจะไม่เลือกพัฒนาทั้งหมด

เช่น คงไม่มีใครไปเขียนไมโครซอฟท์ เวิร์ด (Microsoft Word) อันใหม่ ไม่มีใครไปเขียนไมโครซอฟท์ พาวเวอร์พอยต์ (Microsoft PowerPoint) อันใหม่ เพราะไม่มีประโยชน์ มันไม่ได้มาแข่งกันด้วยจุดนี้

แต่เขาบอกว่า Core Banking เป็นตัววัดความแพ้ชนะได้ โมบายแบงกิ้งเป็นตัววัดความแพ้ชนะได้ เพราะงั้นเขาจะไปแข่งตรงนี้

การคิดแบบนี้ ต้องบอกว่าบริษัทในเมืองไทยส่วนใหญ่มีน้อยมาก แต่ในขณะที่เวียดนามมีเยอะ แต่เวียดนามอาจจะมีเรื่องของจริยธรรมในการทำธุรกิจ (Business Ethics)

เคยไปคุยกับบริษัทหนึ่งในช่วงที่ดูบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับโปรแกรมเทรด ถามว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เขาตอบว่า เขาเคยเป็นซีอีโอของ บล.ของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง

แต่วันหนึ่งทำไปถึงจุดหนึ่งก็อิ่มตัวแล้ว รู้แล้วว่าระบบเป็นอย่างไร ดังแล้วก็แยกวง ก็ใช้โค้ดคล้ายๆ กันมาพัฒนาและทำของตัวเอง จนกลายเป็นสตาร์อัพแล้วมาตีกับบริษัทเดิมที่ตัวเองเคยทำอยู่

ไม่มีหิริโอตตัปปะใดๆ ทั้งสิ้นว่านี่คือบริษัทที่เคยทำให้ตัวเองเติบโตขึ้นมา แต่เขาก็เลยกลายเป็นสุดยอดของความเป็น Entrepreneur ว่า ทุกอย่างลุยปากกัดตีนถีบแล้วพัฒนาเองหมด

ย้อนกลับไปที่ไปถามเขาว่า ใช้ Core Banking ยี่ห้ออะไร พอนึกกลับไป สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในใจเขาคงคิดว่า เรากับเขาช่างห่างไกลกันเหลือเกิน ก็อายเขาเหมือนกันนะ…

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า