SHARE

คัดลอกแล้ว

ถ้าไม่หลอกตัวเองจนเกินไปก็จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยของเรานั้น ไม่ไปไหนมาแล้วหลายปี ย้อนกลับไปในปี 2561 ที่ผู้เขียนเข้ามาทำงานปีแรก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) วิ่งอยู่ที่ประมาณ 1,700 จุด แต่วันนี้กลับปรับตัวลงมาวิ่งอยู่แถวๆ 1,300 จุดเท่านั้น

TODAY Bizview หยิบยกประเด็นดังกล่าวไปพูดคุยกับ ‘ยศกร ฟอลเล็ต’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด (XSpring AM) ถึงมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในสายตาของนักลงทุนสถาบัน และการลงทุนต่อจากนี้ ยังมีโอกาสอีกหรือไม่?

[ โลกปั่น ตลาดหุ้นป่วน ]

เริ่มจากภาพรวมของตลาดหุ้นโลก โดยพบว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความเปราะบาง เพราะความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นต้น

ส่งผลให้เขามองว่า ในไตรมาส 1 ปี 2568 นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวน โดยจะต้องติดตามการขยับตัวของทรัมป์ในแต่ละครั้ง ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไน หรือจะมีคำสั่งใหม่ๆ อะไรออกมาบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำของทรัมป์น่าจะหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐบวกค่อนข้างแรง

แม้จะมีปัจจัยลบเรื่องของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ‘ดีปซีค’ (DeepSeek) เข้ามากระทบตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (27-31 ม.ค. 2568) แต่มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยรบกวน (Noise) เท่านั้น

[ 3 ปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยไม่ไปไหน ]

สำหรับตลาดหุ้นไทย ในเชิงเทคนิค หากไม่มีข่าวดีเข้ามาหนุน อาจส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปรับตัวลงต่อได้ โดย XSpring AM มองแนวรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่ 1,240-1,250 จุด โดยมอง 3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทย คือ

1. มูลค่า (Valuation) ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายอยู่บนค่า P/E (ราคาต่อกำไร) ประมาณ 14.5-15 เท่า แม้ดัชนีจะถูกกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5-10 ปีก็ตาม แต่ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อบ้าน ตลาดหุ้นไทยก็ยังถือว่าค่อนข้างแพง ไม่ได้มีเสน่ห์มาก

2. กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) และโมเมนตัม ปัจจุบัน Fund Flow เลือกที่จะเข้ามาพักเงินในตลาดตราสารหนี้ไทยมากกว่า เมื่อได้กำไรจากค่าเงินบาทแล้วจึงจะถอนเงินออกไป

ขณะที่โมเมนตัมตลาดหุ้นไทย ต้องบอกว่าไม่ค่อยดีนัก ยกตัวอย่างเช่น หุ้นที่เข้าจดทะเบียนในปี 2567 ของ SET พบว่ามีไม่ถึง 20 บริษัท ขณะที่มูลค่าระดมทุน รวมกันแล้วอยู่ที่ระดับประมาณ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น

หากมีมาตรการที่สนับสนุนให้หุ้นดีๆ เข้ามาจดทะเบียน ก็น่าจะมีผลต่อกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในต่างประเทศจะเห็นว่ามีแคมเปญหรือโปรโมชั่นต่างๆ ออกมาดึงดูดให้หุ้นดีๆ เข้ามาจดทะเบียนค่อนข้างเยอะ

สุดท้ายคือเรื่องของกองทุนลดหย่อนภาษีเดิม (LTF) ควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างจริงๆ จังๆ อีกครั้ง ซึ่งหากนำ LTF กลับมาได้สำเร็จ เชื่อว่าจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนในประเทศให้กลับเข้ามา

3. ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ของตลาดหุ้นไทย ต้องยอมรับว่าปีที่ผ่านมา (2567) เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าเป้า ถ้าปีนี้ทำได้ดี เศรษฐกิจมหภาคเติบโตสูงกว่าเป้าหมาย น่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยได้

นอกจากนี้ โครงการลงทุนต่างๆ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นโครงการที่ดี แต่การดำเนินการ (Implimentation) อาจจะยังไม่มากนัก หากรัฐบาลกลับมาเน้นมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นอีกตัวที่ดึงดูดเม็ดเงินของบริษัทข้ามชาติได้

ขณะที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ควรจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ (Regulatory Guillotine) เพื่อให้การทำธุรกิจง่ายดายมากขึ้นด้วย

ตอนนี้ SET Index อยู่ที่ 1,300 จุด อย่างที่บอกไปว่า XSpring AM คาดการณ์ดัชนีอาจจะย่อตัวลงอีก เพราะนักลงทุนรายใหญ่ (ยกเว้นนักลงทุนสถาบัน) ต่างก็โยกย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทยไปยังตลาดหุ้นอื่นๆ

ช่วงเวลานี้ถือเป็น ‘ทศวรรษที่หายไป’ (Lost Decade) ของตลาดหุ้นไทย เหมือนกับญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยหยุดนิ่งมาก เทียบไม่ได้กับคู่แข่งอย่างเวียดนาม จีน และอินเดีย

[ ถ้าโชคดีอาจกลับไป 1,450 จุด ]

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่คาดว่าจะเข้ามากระทบในปีนี้ เช่น การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้ง โดยลดลง 0.25% เพื่อดูแลต้นทุนหนี้สินของประชาชน

ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นการลดในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ หรือหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกออก ซึ่งน่าจะเห็นผลของการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล  (Digital Wallet) 10,000 บาทเข้ากระเป๋าของประชาชนแล้ว

นอกจากการลดดอกเบี้ย คาดว่าจะเห็นมาตรการสนับสนุนการซื้อหุ้นคืนของตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Value-up Program เป็นจูงใจ (Incentive) ให้แก่บริษัทที่มีสภาพคล่องสูง

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ประกอบกับถ้ารัฐบาลมีนโยบายดีๆ และตลาดหลักทรัพย์มีหุ้นดีๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อว่าอาจหนุนให้ดัชนีในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 นี้ มีโอกาสปรับขึ้นไปอยู่ที่บริเวณ 1,400-1,450 อีกครั้ง

[ แต่ไม่แนะนำลงทุนในหุ้นไทย ]

เมื่อสอบถามถึงการลงทุน ซีอีโอของ XSpring AM แนะนำหลายเซกเตอร์ เริ่มจากหุ้นที่ได้รับประโยชน์หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ย เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน อย่างธนาคารที่ส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ยังดี เพราะแบงก์มักลดดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้

กลุ่มประกัน ที่พอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้พอร์ตของบริษัทประกันเป็นบวก กลุ่มค้าปลีกและอุปโภคบริโภค โดยมองว่าดอกเบี้ยขากู้ที่ลดลง จะส่งผลให้เงินในกระเป๋าของลูกหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มที่เกี่ยวกับระเบียงเศรษฐกิจ EEC ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโรงงานใน EEC เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์เต็มๆ

อย่างไรก็ตาม หากถามถึงสัดส่วนการจัดพอร์ตลงทุน XSpring AM ยังมีมุมมองค่อนข้างลบต่อตลาดหุ้นไทย โดยในการลงทุน 100% แนะนำหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 50% (สหรัฐ 10% ยุโรป 10% และญี่ปุ่น 10%) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 20% (ไต้หวัน 10% และอินเดีย 10%) สินทรัพย์ทางเลือก 20% และตราสารหนี้ 20%

ซึ่งการลงทุนในไทยไตรมาส 1 และ 2 จะแนะนำลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก โดยเน้นตราสารหนี้กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) เป็นหลัก รวมถึงให้พิจารณาความเสี่ยงทางด้านเครดิตควบคู่กันไปด้วย เช่น หนี้สินของบริษัท และโอกาสเติบโตของบริษัท

สำหรับคนไม่มีเวลา แนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล ซึ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ไทยก็ยังมีหลายกองที่น่าสนใจ อีกทั้งเวลาลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ นักลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย อีกด้วย

ในส่วนของ XSpring AM ก็มีกองทุนรวมตราสารหนี้เสนอขายด้วยเช่นกัน อย่างกองทุนเปิดเอ็กซ์สปริง ตราสารหนี้พลัส (X-Plus) โดยให้ผลตอบแทนในช่วง 3 เดือนย้อนหลัง 0.61% 6 เดือนย้อนหลัง 1.25% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) 0.19% และ 1 ปีย้อนหลัง 2.5%

[ ตั้งเป้า AUM ปีนี้ 1.6 หมื่นล้าน ]

เมื่อสอบถามถึงธุรกิจของ XSpring AM ซีอีโอบอกว่า บริษัทมีแผนออกกองทุนใหม่เพิ่มประมาณ 7-8 กองทุนในปีนี้ เฉลี่ยไตรมาสละ 1-2 กองทุน โดยเน้นกองทุนที่ลงทุนเป็นธีม (Themetic Fund) ส่วนใหญ่เป็นธีมที่ในไทยยังไม่ค่อยมี

ส่วนเป้าหมายทางธุรกิจ ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ปี 2568 จะปิดปีที่ 16,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) 11,000 ล้านบาท และกองทุนรวม (Mutual Fund) 3,000-4,000 ล้านบาท

ขณะที่ปิดปี 2567 บริษัทฯ มี AUM อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น Private Fund 5,600 ล้านบาท และ Mutual Fund 487 ล้านบาท

นอกจากนี้ XSpring AM ยังมีธุรกิจนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายกองทุนรวม (Limited Broker Dealer Underwriter: LBDU) อีกด้วย โดยมียอดเงินภายใต้การดูแล (AUA) ปีก่อนที่ 2,820 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะปิดปีที่ 3,400 ล้านบาท

จุดแข็งของบริษัทฯ คือ พยายามออกกองทุนที่แตกต่างจากตลาด และทีมเซลที่แข็งแกร่ง โดยยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นทีมที่ย้ายมาจากเครดิตสวิส (Credit Suisse) ประเทศไทย หลังเครดิตสวิสถูกซื้อกิจการไป ส่งผลให้มีลูกค้ารายใหญ่ตามเซลมาด้วย

แน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ฐานลูกค้าของ XSpring AM จึงยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ (High Net Worth: HNW) และลูกค้ารายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth: UHNW) เป็นหลัก แต่ลูกค้ารายย่อยก็มีการเติบโตควบคู่กันไปเช่นกัน

อย่างปัจจุบันบริษัทฯ ขายกองทุน X-Plus ที่ขั้นต่ำสูงถึง 50,000 บาท แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะสามารถปรับจำนวนเงินขั้นต่ำของการลงทุนลงมาอยู่ที่ 5,000 บาทได้

[ ธุรกิจการเงินอาจต้องควบรวม ]

สำหรับภาพรวมธุรกิจกองทุน เมื่อมีแอปพลิเคชันลงทุนเข้ามาแข่งขันในตลาดนั้น ธุรกิจกองทุนก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน โดยจะเห็นหลายเจ้า ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แข่งกันทำโมบาย แอปพลิเคชัน ของตัวเอง

อย่าางไรก็ตาม ด้วยเทรนด์ค่าบริหารจัดการ (Management Fee) ที่ถูกลง และยังมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ คาดว่าจะเห็นการควบรวมกิจการ (M&A) มากขึ้นในปีนี้ (ในฝั่งของ บล.) เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

ส่วนธุรกิจ บลจ. คาดว่าธนาคารที่มีธุรกิจกองทุนก็อยากขายออก หลังธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ประสบความสำเร็จในการขาย บลจ.อีสท์สปริง (ชื่อเดิม บลจ.ทหารไทยธนชาต) ในช่วงที่ธนาคารทหารไทย (TMB) ควบรวมกับธนาคารธนชาต (TBANK)

ในส่วนของ XSpring AM ก็มีการพัฒนาโมบาย แอปฯ เช่นกัน แต่โมบาย แอปฯ ของกลุ่มเอ็กซ์สปริง (XSpring) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ลูกค้าใช้บริการในช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 นี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า