TODAY Bizview รวบรวมคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (2568) ผ่านตัวเลขคาดการณ์ ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ’ (Gross Domestic Product: GDP) จากแต่ละสำนัก มาดูกันว่า เศรษฐกิจไทย น่าจะไปได้ไกลแค่ไหน…
เริ่มที่ธนาคารฮ่องกง ‘เอชเอสบีซี’ (HSBC) ให้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไว้สูงสุดในตลาดที่ 3.3% แรงหนุนจากท่องเที่ยว นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท (Digital Wallet) และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
รองลงมาคือองค์การการเงินระดับโลกอย่าง ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภาครัฐของไทย กระทรวงการคลัง และภาคเอกชน หอการค้า คาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 3%
ปัจจัยหนุนที่น่าจะทำให้ GDP น่าจะเติบโตได้สูงถึง 3% นั้น ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มาจากการใช้จ่ายทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่ขยายตัว การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ถัดมาคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และวิจัยกรุงศรี ให้คาดการณ์ GDP ปีนี้ที่ 2.9% ส่วนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้คาดการณ์ไว้เป็นช่วง (Range) ระหว่าง 2.4-2.9%
โดยปัจจัยหนุนมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง การลงทุนโดยรวม การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม GDP ที่ระดับนี้ยังถือเป็นระดับที่โตต่ำกว่าศักยภาพ แรงกดดันมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เช่น หนี้ครัวเรือน
ถัดมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ GDP ปีนี้ไว้ที่ 2.8% แรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว แต่คาดว่าการส่งออกที่ชะลอตัวจะเป็นแรงกดดัน
ถัดมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินการเติบโตไว้ที่ 2.7% แรงหนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น
รองโหล่คือ ttb analytics และ KKP Research ให้การเติบโตที่ 2.6% โดย ttb analytics วิเคราะห์ว่า แม้จะได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือน นักท่องเที่ยวที่ลดลง และการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัว
ส่วน KKP Research มองว่า เศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงนั้น มาจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลง เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ และการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงต่อเนื่อง เป็นต้น
สุดท้ายคือ SCB EIC และศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ให้การเติบโตไว้ต่ำสุดในตลาด (อย่างน้อยก็ตอนนี้) ที่ 2.4% แรงกดดันมาจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย