SHARE

คัดลอกแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สาเหตุที่มิจฉาชีพยังคงมีช่องทางหากินอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีอยู่ของ ‘บัญชีม้า’ หรือกลุ่มคนที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารให้มิจฉาชีพนำไปใช้ก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเงิน การฉ้อโกง หรือการหลอกให้เหยื่อโอนเงิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยในข่าว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาตรการ ‘ปิดปากม้า’ ห้ามธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีต้องสงสัย และต้องส่งแจ้งเตือนผู้ใช้งานด้วยว่า บัญชีที่ตนกำลังโอนเงินไปนั้น ปลายทางเป็นบัญชีม้า

TODAY Bizview มีโอกาสพูดคุยกับ ‘รุ่ง มัลลิกะมาส’ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และ ‘ดารณี แซ่จู’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงผู้บริหารของแบงก์ชาติอีกหลายคนที่มาร่วมแชร์ข้อมูล

[ บัญชีม้าคืออะไร ]

ตามนิยามของแบงก์ชาติ บัญชีม้า คือ บัญชีธนาคารที่ถูกใช้เพื่อรับโอนเงินผิดกฎหมาย ทั้งจากแก๊งคอลเซนเตอร์ เว็บพนัน หลอกลงทุน หรือฟอกเงิน ซึ่งอาจเป็นมิจฉาชีพเปิดเอง หรือจ้างคนอื่นให้เปิด และยังมีบัญชีม้าที่เจ้าของไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะถูกสวมรอยขโมยข้อมูลส่วนตัว

เพื่อการจัดการที่ง่ายขึ้น แบงก์ชาติแบ่งบัญชีม้าออกเป็น 3 สีด้วยกัน หลักๆ คือ สีดำ สีเทา และสีน้ำตาล แต่ก็อาจจะแยกย่อยลงไปได้อีก เช่น สีเทาเข้ม สีเทาอ่อน สีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน ฯลฯ โดยบทความนี้จะยึด 4 สีตามที่ผู้บริหารของแบงก์ชาติได้แชร์ให้ฟัง

1. ม้าดำ: บัญชีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประกาศชื่อ

2. ม้าเทาเข้ม: บัญชีที่มีคนแจ้งความดำเนินคดี

3. ม้าเทาอ่อน: บัญชีที่อยู่ในเส้นทางเงินผิดกฎหมาย

4. ม้าน้ำตาล: บัญชีที่ธนาคารตั้งข้อสงสัย

[ มาตรการปิดปากม้า ]

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการปิดปากม้าไปแล้ว ตามที่เล่าข้างต้น แม้จะเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า มาตรการดังกล่าวเห็นผลมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าเกิดความตื่นตัวในอุตสาหกรรมพอสมควร เพราะม้าดำและม้าเทาเข้มไม่สามารถทำธุรกรรมได้ แต่ก็ยังหลงเหลือม้าเทาอ่อนและม้าน้ำตาลอยู่

ล่าสุด แบงก์ชาติกำลังพูดคุยกับธนาคาร เพื่อให้ธนาคารส่งแจ้งเตือนประชาชนให้ชัดๆ เพราะตอนนี้อย่างที่บอกไปว่ามีแจ้งเตือน แต่เป็นการแจ้งเตือนแค่ว่า การทำธุรกรรมไม่สำเร็จเท่านั้น ยังไม่สามารถระบุว่าเป็นบัญชีม้าได้ ก็ต้องมาดูว่า จะใช้วิธีไหนไม่ให้เข้าข่ายปรักปรำเจ้าของบัญชี

ที่ผ่านมาจับบัญชีม้าได้เกือบ 2 ล้านบัญชีก็จริง แต่ยังไม่สามารถจับบัญชีม้าที่โอนออกไปยังบัญชีคริปโตเคอร์เรนซีได้ ซึ่งมิจฉาชีพก็มีการปรับตัวเช่นกันหลังออกมาตรการปิดปากมาก กล่าวคือ จากเดิมโอน 5-6 ทอดค่อยออกไปบัญชีคริปโตฯ ตอนนี้โอนแค่ 1 ทอดแล้วก็ไปคริปโตฯ เลย

แต่โชคยังดีที่บัญชีคริปโตฯ ที่โอนออกยังเป็นบัญชีที่ซื้อขายอยู่บนกระดานซื้อขายในไทย (ราว 75%) ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการแชร์ข้อมูลระหว่างธนาคารและกระดานเทรดคริปโตฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บัญชีม้าอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่ครอบคลุมการโอนออกไปยังกระดานเทรดต่างประเทศ

[ บัญชีม้า แก้ยังไง ]

หลังจากแบงก์ชาติเริ่มใช้มาตรการปิดปากม้าอย่างจริงจัง ก็มีเสียงสะท้อนจากคนบางกลุ่มว่าได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบางคนอาจโดนสวมรอยเปิดบัญชี หรืออยู่ในเส้นทางเงินโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ซึ่งแบงก์ชาติก็แชร์ ‘วิธีปลดม้า’ ให้ โดยหลักคิด คือ ใครเป็นคนประกาศ ก็ต้องให้คนนั้นเป็นคนปลด

•  ม้าดำ: ปปง.ประกาศ ต้องแจ้งให้ ปปง.ปลด

•  ม้าเทา: ตำรวจประกาศ ต้องแจ้งให้ตำรวจปลด (โทร 1441 กด 2)

•  ม้าน้ำตาล: ธนาคารประกาศ ต้องแจ้งให้ธนาคารปลด

หากมั่นใจว่าบริสุทธิ์ ซึ่งบางคนมองเผินๆ อาจจะดูเหมือน ‘เซนทอร์’ หรือครึ่งคนครึ่งม้า ก็สามารถติดต่อ ปปง. ตำรวจ หรือธนาคาร เพื่อให้ดำเนินการปลดล็อกได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการปลดล็อกยังใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ในอนาคตจะมีการปรับกระบวนการให้สามารถปลดล็อกได้ภายใน 1 วัน

ทั้งนี้ การปลดล็อกบัญชีม้า สามารถปลดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น ซึ่งแบงก์ชาติมองว่าเพียงพอกับการยังชีพแล้ว

และเพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งบัญชีอาจถูกล็อกได้ เมื่อมีคนโอนเงินผิดบัญชีเข้ามายังบัญชีเรา ไม่ควรโอนกลับเองทันที แม้จะรู้ชื่อ-นามสกุลของผู้โอนแน่ชัดก็ตาม โดยแนะนำให้ติดต่อธนาคาร เพื่อให้ธนาคารดำเนินการต่อ

บัญชีม้า

[ ม้านิติบุคคลคืออะไร ]

บัญชีม้านิติบุคคล เหมือนบัญชีม้าทั่วไปตรงที่ใช้การจ้างวานบุคคลให้ไปจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะนำหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำไปใช้ก่ออาชญากรรม

สาเหตุที่มิจฉาชีพเลือกเปิดบัญชีม้านิติบุคคล เพราะ 1) เปิดบัญชีปกติไม่ได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพที่จดทะเบียนในรูปแบบม้านิติบุคคล จะเป็นกลุ่มม้าดำและม้าเทาเข้มอยู่แล้ว 2) วงเงินในการทำธุรกรรมสูงกว่าบัญชีบุคคล ทำให้หลอกเงินประชาชนได้เยอะกว่า และ 3) ชื่อบัญชีเป็นชื่อบริษัทดูน่าเชื่อถือกว่าเป็นชื่อบุคคล

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการพูดคุยกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและธนาคารเพื่อจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งในอนาคตหากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บุคคลที่ขอจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลมีชื่อเป็นบัญชีม้า ก็จะจดไม่ได้ เป็นต้น

[ โดนหลอกโอนเงิน ใครรับผิดชอบ ]

มาในส่วนของผู้บริโภคกันบ้าง ที่ผ่านมามีการผลักดันให้ธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Telco) รับผิดชอบ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการให้ความเห็นว่าใครควรต้องร่วมรับผิดชอบเท่าไหร่บ้าง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ แต่เบื้องต้นไม่ได้กำหนดไว้เป็นเปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าผู้ใดต้องรับผิดชอบเท่าไหร่นั้น ท้ายที่สุดเป็นหน้าที่ของศาล ซึ่งอาจใช้หลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินหรือไม่ก็ได้ เช่น ถูกหลอกโอนเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง หากแบงก์มีระบบป้องกันการขโมยข้อมูลแล้ว แบงก์ก็อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบ 100% ก็ได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรณีของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา (ประมาณ 2-3 กรณี) ธนาคารเคยร่วมรับผิดชอบสูงสุดเพียง 50% เท่านั้น ยังไม่มีเคสที่แบงก์ต้องรับผิดชอบ 100% นอกจากนี้ การรับผิดชอบของธนาคาร เป็นการรับผิดชอบ ‘ตามที่เสียหาย’ ไม่ใช่โทษปรับ

แบงก์ชาติยอมรับว่า การผลักดันเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะมีหลายส่วนที่ต้องทำงานร่วมกัน และหากออกหลักเกณฑ์ไม่ได้ อาจก่อให้เกิดภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ได้ หรืออาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก เช่น แบงก์หน่วงธุรกรรมไว้ 3 ชั่วโมงค่อยอนุมัติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติเตรียมออกมาตรการดูแลความเสี่ยงบนโมบายแบงก์กิ้ง เฟส 2 ซึ่งอาจประกอบด้วย ปุ่มรีพอร์ตบัญชีต้องสงสัย (Self-Report) ปุ่มปิดแอปฉุกเฉิน (Kill Switch) การหน่วงธุรกรรม (Cooling-off Period)

ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ หากทำธุรกรรมเกิน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกิน 50% ของบัญชี จะต้องหน่วยธุรกรรมไว้ 24 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าจะได้เห็นภายในเดือน มิ.ย.นี้…

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า