SHARE

คัดลอกแล้ว

ให้เอาไม้กวาด ไปดับไฟ? ความพร้อมของไทยรับมือไฟป่า ด้วยงบประมาณคนละโลกกับความเป็นจริง

หลังแผ่นดินไหว กระแสข่าวที่ยังไม่ทันซา ประเทศไทยถูกโหมกระหน่ำด้วยไฟป่าที่เรียงต่อกันมาทันที เวลา 13.00 น. ณ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2568 ตามมาตรฐาน IQAIR ประเทศไทยติด Top 10 เมืองที่อากาศแย่ที่สุดของโลกต่อเนื่อง อย่าง เทศบาลนครเชียงใหม่อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก ในเวลาเดียวกัน

เราอาจจะชินชากับการขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะมีคำถามตามมาในใจว่า “เชียงใหม่อีกแล้วเหรอ?” เชียงใหม่อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้ค่าฝุ่นสูงจนติดอันดับโลกหลายอย่าง เช่น ทิศทางลม ภูมิศาสตร์ แต่ความเป็นจริงคือ หลายพื้นที่ของไทยกำลังลุกเป็นไฟ และลุกไหม้ผืนป่าทีละไร่ ทีละไร่

1 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ (ณ เวลาเขียนบทความนี้ 14.30 น. ของวันที่ 2 เมษายน 2568) บนเฟซบุ๊กของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าภูเมี่ยง-ภูทอง เข้าดับไฟบริเวณเชิงเขาบ้านนา จ.พิษณุโลก พื้นที่เสียหาย 30 ไร่

16 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จ.อุตรดิตถ์  ดับไฟป่า 2 กลุ่มสำเร็จ พื้นที่เสียหาย 55 ไร่

22 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ สถานีควบคุมไฟป่าแม่วะ จ.ลำปาง ดับไฟในอุทยานแห่งชาติแม่วะ 2 จุด เผาวอดกว่า 200 ไร่

และ 1 เมษายน 2568 เวลา 14.33 น. เจ้าหน้าที่พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.มุกดาหาร พื้นที่เสียหายรวม 8 ไร่

กระทั่ง 1 คืนก่อนหน้านั้น อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ ระดมเจ้าหน้าที่และอาสาดับไฟป่า 2 จุด ความเสียหายรวม 11 ไร่ และในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวม จ.แม่ฮ่องสอน ดับไฟป่า 5 จุด พร้อมทำแนวกันไฟและเฝ้าระวังในพื้นที่ต่อเนื่อง พื้นที่เสียหายรวม 60 ไร่

เช่นเดียวกันกับ สถานีควบคุมไฟป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้โดรนบินตรวจสอบจุดไฟไหม้ป่า ก่อนนำเจ้าหน้าที่และชาวบ้านเข้าดับไฟ พบป่าเต็งรังเสียหาย 30 ไร่

นี่เป็นเพียงการมองย้อนกลับไปราว แค่ 2 วันเท่านั้น แต่ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไฟค่อยๆ ลามขึ้นในป่าใหญ่ ที่ทำให้ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และหลายจังหวัดมีค่าฝุ่นทะลุสีม่วง-แดง อย่างที่เราเห็นข่าวตั้งแต่สุดสัปดาห์

[ แล้วปัญหาที่แท้จริงคืออะไร? ]

ตามหาว่า ใครเป็นคนเผา คงเป็นเรื่องยากมาก เพราะเราคงไม่สามารถถามหาความจริงจากต้นไม้ได้ ว่าใครเป็นคนถือไม้ขีดไฟ หรือ ไฟแช็กตัวจริง และความจริงที่ว่า ไฟป่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติทุกปี ก็อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูโหดร้ายไปหน่อย แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น 

แต่สิ่งที่เราอยากชวนมองก็คือ ความสมเหตุสมผลของการบริหารจัดการไฟป่า ที่ทำให้คำพูดนี้ของ พี่หนูหริ่ง— สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ  บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ที่บอกว่า ‘ยังเห็นชาวบ้านเอาไม้กวาดไปดับไฟ’ ไม่เกินจริง 

นั่นก็คือ งบประมาณประจำปีเพื่อซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าปีนี้ (2568) ไม่สะท้อนปัญหาที่แท้จริงที่เรากำลังเจอ

“ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้ ขนมถุงนึง 10 บาทเราต้องใช้เงิน 10 บาทซื้อ ปีแรกเราโดนตัดงบเราได้แค่บาทเดียว ต้องไปหาอะไรมาทดแทน ซึ่งไม่ได้ใกล้เคียงเลย ปีที่ 2 มาเราได้ค่าขนมมา 2 บาท แต่เราก็ซื้อขนมนี้ไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นนี่ คือปัญหา เพิ่มขึ้นไหมเพิ่ม แต่อาจจะไม่ได้เพียงพอต่อการแก้ปัญหา”

ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคประชาชน ให้ความเห็นต่อเรื่องงบประมาณ ที่ต่อให้ปีนี้ (2568) การดับไฟป่าได้งบเพิ่มเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (2567) แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่ดี พร้อมกับขยายความว่า ปีนี้งบที่แต่ละหน่วยงานยื่นขอไปถูกหั่นลงเหลือไม่ถึงครึ่ง

“3 หน่วยงานที่ดูแลเรื่องดับไฟป่า ก็คือ กรมอุทยานฯ ดูแลป่าอนุรักษ์ องค์การแกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดูแลป่าสงวน และก็กรมป่าไม้ที่จะสนับสนุนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไฟป่า ในเขตป่าสงวน” ส.ส.ภัทรพงษ์อธิบาย ก่อนจะกล่าวต่อว่า

“ซึ่งกรมอุทยานฯ ของบไปประมาณ 1,500 ล้านบาท ก็ได้มาอยู่ประมาณ 500 โดนตัดไปแล้ว 1,000 ล้าน ท้องถิ่นขอไปประมาณ 1,300 ล้าน ได้ 122 ล้าน โดนตัดไปประมาณ 1,000 ล้าน และกรมป่าไม้ ขอไปประมาณ 500 ล้าน ได้อยู่ประมาณ 100 ล้าน ก็คือโดนตัดไป 400 ล้านบาท รวมๆ แล้วโดนตัดไปประมาณ 2,400 ล้านบาท นี่คือปัญหาที่เราเจอ”

นี่คือปัญหาที่ภารกิจการดับไฟป่าของประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ แต่การตัดงบไม่ใช่ปัญหาเดียว เพราะปัญหาที่สอดไส้อยู่ข้างในเงินแต่ละก้อนก็คือ การจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นอยู่ที่ไหน?

“ก่อนเข้าสู่ช่วงก่อนไฟป่าหน่อยนึง รัฐบาลก็ได้อนุมัติงบกลาง ให้กระทรวงทรัพย์ฯ ไปดำเนินการ แต่งบก้อนนี้ประกอบไปด้วยเรื่อง งบการให้ความรู้ งบจัดจ้างชาวบ้าน เป็นเบี้ยเลี้ยงให้ข้าราชการตรวจสอบการลาดตระเวน อาจจะมีอุปกรณ์ด้วยบางส่วน แต่ผมก็ยังไม่เจอ เวลาที่ผมขึ้นไปดับไฟก็ยังเห็นว่าชาวบ้านขาดแคลนอุปกรณ์อยู่เลย ยังถือไม้กวาดกันอยู่เลย” พี่หนูหริ่งสะท้อนจากคนทำงานหน้างานจริง

ภาพจาก เพจ อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว กับการระดมคนมาเป็นอาสาดับไฟป่า ของมูลนิธิกระจกเงา ที่ปีนี้ก็ประจำการช่วยดับไฟป่าอยู่ที่จังหวัดลำพูน

“เราได้รับเชิญจากนายกอบจ.ลำพูน ขอเราไปช่วย เนื่องจากจัดงบประมาณและกองกำลังกันไม่ทัน เราอยู่ที่นี่ได้ 40 วันแล้ว ดับไฟป่าได้ 40 กว่าวันแล้วที่ทางใต้ของลำพูน ตรง อ.ลี้ แล้วก็เก็บไฟกันมา ปีนี้เราดับได้เยอะมาก ตอนนี้เราขึ้นมาทางเหนือของลำพูน มาตั้งฐานที่ลำพูนทางเหนือ และมาดับไฟตรงช่วงบนและช่วงกลางของลำพูน” พี่หนูหริ่งกล่าว

เช่นเดียวกัน ในอีกหลายจังหวัดที่เรื่องงบประมาณยังขาดแคลน อย่างอีกพื้นที่หนึ่งที่มูลนิธิกระจกเงาเคยช่วยดับไฟอย่างจังหวัดเชียงรายก็สะท้อนปัญหาเดียวกัน

“ผมว่าถ้าไม่มีงบกลาง จังหวัดก็ไม่มีงบ เพราะก่อนไฟป่ามีการประชุมที่เชียงราย ผู้ว่าฯ เชียงราย บอกว่าจังหวัดมีเงินอยู่ล้าน 5 แสนบ้าน จะใช้ทำอะไร ก็ประหยัดกันหน่อยนะ ปีที่แล้วผู้ว่าเชียงใหม่ไม่มีงบ ผู้ว่าฯ เนี่ยไม่มีเงินในมือ มีแต่คำสั่งให้ไปจัดการแต่ไม่มีเงินในมือ ปีนี้ก็เลยไปขอเงินมา ได้มา 200 กว่าล้าน แล้วก็ทำได้เท่านี้ อย่างที่เราเห็นกันตอนนี้”

นักรบกับไฟที่ต้องประหยัด เพราะโล่ที่สำคัญที่สุด อย่าง ‘โดรนตรวจจับความร้อน’ ไม่มีงบให้ซื้อ

จากคนดับไฟป่าหน้างาน ทั้ง สส.ภทรพงษ์ และพี่หนูหริ่ง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจำเป็น โดยได้ฉายภาพให้เห็นขั้นตอนสำคัญที่สุด อย่างการใช้โดรนตรวจจับความร้อนเพื่อนำทัพ

ซึ่งก่อนที่จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำภารกิจดับไฟ ต้องมีการนำโดรนขึ้นไปบิน เพื่อให้เห็นภาพถ่ายก่อนว่า หัวไฟอยู่ตรงไหน หางไฟอยู่พิกัดไหน แล้วจึงส่งม้าเร็ว ซึ่งก็คือ ทีมมอเตอร์ไซด์วิบาก ที่เอาคนซ้อนและเครื่องเป่าลมขึ้นไปที่หัวไฟก่อน แล้วค่อยให้ทีมไปที่หางไฟ แล้วค่อยๆ ดับขึ้นไปจนชนที่หัวไฟ เพื่อควบคุมพื้นที่เผาไหม้ให้น้อยที่สุด คือ  เป้าหมายหลักของการดับไฟป่า ซึ่ง สส.จังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ส.ส.ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

 “โดรนที่เราจะต้องใช้จับความร้อนซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่หน่วยงานขอเข้าไปกัน โดนตัดงบหมดเลย ในงบปี 2568”

[ และถึงแม้จะมีบทเรียนกันแล้วว่าสิ่งที่สำคัญคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิม ]

“ตอนปี 2567 เราสะท้อนปัญหานี้กันหนักมาก ตอนนั้นเองอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสินก็ถึงขั้นเอาเงินตัวเองซื้อโดรนตรวจจับความร้อนให้มูลนิธิกระจกเงา คือ ขนาดขั้นที่นายกฯ รู้ปัญหาขนาดนั้นแล้ว แต่ปีงบประมาณ 2568 กับตัดงบหมดเลย นี่เป็นปัญหาที่เราเจอกันในปี 2568 นี้” ส.ส.ภัทรพงษ์กล่าว

“งบประมาณที่ใช้ในการดับไฟป่า โดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์ ที่อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ที่เป็นงบจัดซื้ออุปกรณ์ถูกตัด เวลาเราพูดถึงการตัดงบประมาณในชั้นกรรมธิการ ผมมีข้อสังเกตอย่างนี้ เวลาแต่ละกระทรวงทำงบมาว่าต้องการงบเท่าไร รวมทั้งหมดแล้วมันเยอะมาก ดังนั้นแล้วในที่ประชุมสำนักงบฯ จะเป็นผู้ที่มีบทบาทมาก ที่จะเป็นคนขีดตัวเลข ขีดยังไงก็ได้ให้ได้ตัวเลขแค่นี้ (ไม่เกินนี้) เพราะถ้าเห็นด้วยกันทั้งหมด ก็ไม่มีเงิน”

พี่หนูหริ่งขยายความต่อว่า ปัญหาก็คือ 

“เราไม่มีคนไปชี้แจงว่า งบตรงนี้สำคัญ (งบจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า) สุดท้ายก็โดนตัดเกลี้ยง ทั้งๆ ที่ปีที่แล้ว เราพูดถึงบทบาทของโดรนตรวจจับความร้อน ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการดับไฟป่า หรือแม้แต่อุปกรณ์อย่างเช่นเครื่องเป่าก็ยังไม่มี ราคาก็ไม่ใช่ว่าแพง เงินก็ยังไม่มีให้”

นอกจากโดรนตรวจจับความร้อน ที่โดนตัดงบ จากจำนวนที่ผู้ปฏิบัติหน้างาน ซึ่งก็คือ หน่วยงานต่างๆ ที่ขอเข้าไปกันหลักร้อย เหลือเพียงหลักหน่วยที่อนุมัติ ก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกที่สำคัญ แต่แย่กว่าคือ โดยตัดงบเกลี้ยง

“เครื่องเป่าลม อันนี้โดนตัดงบหมดเลย งบครุภัณฑ์ขอซื้อเครื่องเป่าลมโดนตัดงบหมดเลย อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาของงบประมาณปี 2568 ที่จัดสรรแบบคนไม่รู้ว่าปัญหานี้ต้องแก้ยังไง”

[แล้วหน่วยงานตอนนี้ใช้อะไรดับไฟ?]

“หน่วยงานตอนนี้ก็มีคราด เพื่อแยกเชื้อเพลิงที่ยังไม่ไหม้ แล้วถามว่าไฟป่าให้เอาคราดไปเป็นหลักกิโลเมตรไม่มีทางทัน”

สายเดินป่าคงจินตนาการออกว่า เป้ที่หนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัมสามารถรู้สึกเหมือนแบกของ 100 กิโลกรัมได้ เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์ที่ได้มาทุกปี แต่ไม่สามารถใช้งานตามหน้างานจริงได้ อย่างอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘ ไม้ตบไฟ’

“และอุปกรณ์ที่จัดสรรให้ทุกปีก็คือ ไม้ตบไฟ ซึ่งมันหนักมาก ที่น้ำหนักไม่น่าต่ำกว่า 15 กิโลกรัม ซึ่งไม่มีใครใช้งาน เพราะเวลาต้องเหวี่ยงตบแต่ละครั้งกล้ามปีกน่าจะมาเป็นมัดๆ ไหนจะขึ้นเขาอีก อันนี้ไม่มีใครใช้เลย เจ้าหน้าที่ได้มาทุกปี แต่ไม่เคยใช้เลย เอาแขวนไว้หน้าอุทยานฯ เป็นอนุสรณ์ว่าที่นี่คือ ศูนย์ไฟป่า แล้วก็จะซื้อกันทุกปีอีก เป็นการจัดสรรงบประมาณกันที่คนที่จัดสรรฯ นั่งอยู่ในห้องแอร์ ที่ไม่ได้รู้ว่าการจัดการไฟป่าต้องทำกันยังไงจริงๆ” สส. ภัทรพงษ์กล่าว

เช่นเดียวกันกับองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ยื่นของงบประมาณในการดับไฟป่าไปก็ผิดหวังกันส่วนใหญ่ เพราะมีบางที่เท่านั้นที่ได้เงิน

(28 ม.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติงบกลางในปี 2568 ภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 620 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

ข้อมูลจากประกาศของคณะรัฐมนตรีพูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลเพิ่มเงินให้แต่ละจังหวัดยื่นขอเพิ่มไปได้

“อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาของบฯ มา 1,300 ล้านบาท สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,800 ที่ แต่ได้รับงบประมาณเพียงแค่ 90 ที่เท่านั้น แล้วที่เหลือล่ะ” สส.ภัทรพงษ์อธิบาย นอกจากนี้ยังชี้เพิ่มด้วยว่า  ความจำเป็นที่สำคัญที่สุดถูกขีดฆ่าออกมากแค่ไหนในเงินก้อนใหม่ก้อนนี้

ภาพจาก ส.ส.ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

[ ท่องไว้ให้ขึ้นใจ ]

คราด ไม้ตบไฟ ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลม

คราด ไม้ตบไฟ ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลม

คราด ไม้ตบไฟ ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลม

คราด ไม้ตบไฟ ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลม

ท่องไว้ให้ขึ้นใจ เพราะอุปกรณ์ที่เลือกซื้อได้มีแค่นี้ ‘ไม่สามารถซื้อนอกเหนือจากนี้ได้’

“และนอกเหนือจากตัดงบแล้ว ยังล็อกสเปกอีก มีการระบุชัดเจนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งที่ได้งบประมาณไป สามารถจัดซื้ออุปกรณ์ได้แค่ คราด ไม้ตบไฟ ถังฉีดน้ำ และเครื่องเป่าลม แค่นี้เลย 4 อย่างไม่สามารถซื้อนอกเหนือจากนี้ได้ ไม่สามารถเอาเงินไปซื้อโดรน ไปซื้อมอเตอร์วิบากได้ อันนี้ก็คืออีกปัญหาหนึ่งที่เราเจอกัน นอกจากตัดงบแล้วยังล็อกสเปกอีก”

นั่นคือเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราเห็นพลังสังคมมาช่วยทำหน้าที่นี้แทน ด้วยการเปิดรับบริจาคที่เยอะมากจากกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ทั้งเครื่องเป่าลมและโดรนที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในภารกิจดับไฟ เมื่อสายที่โทรเข้ามูลนิธิกระจกเงาเพื่อขอยืมโดรน

“ผมไม่เห็นโดรน (ให้งบ) ผมยังได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งมาก มาขอยืมโดรนจากกระจกเงา แสดงว่าเขาไม่มี มันยังไปไม่ถึง” พี่หนูหริ่งกล่าว พร้อมกับให้ความเห็นเพิ่มว่า

“การจัดการบริหารงบที่น้อยแล้วไม่พอ ยังไม่ยืดหยุ่นพอกับหน้างาน สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ต้องให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการเงินได้ด้วย”

“คือจริงๆ ต้องให้เงินผู้ว่าฯ ด้วยจำนวนหนึ่ง ถ้าเราบอกว่าผู้ว่าฯ ต้องเป็นคนบังคับใช้กฎหมาย เพราะเขาก็ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ว่างบจะลงไปที่จังหวัดหรืองบที่ลงไปที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ”

“ผมมีข้อสังเกตว่า แนวทางของมันในการใช้งบประมาณมันไม่มีประสิทธิภาพ”

“ผมเคยไปร่วมประชุมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชนก็โวยว่า งบจังหวัดที่ได้มาไปเสียกับการประชุม ประชุมเรื่องไฟป่าเนี่ยนะ จัดประชุมทุกปีเลย ซึ่งเป็นเรื่องเสียเปล่า แล้วก็เอางบนี้ไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ด้วย เป็นเรื่องเสียเปล่า และเวลาให้เครื่อง (อุปกรณ์) ก็ไม่มีค่าน้ำมัน”

“แทนที่จะบริหารจัดการกันมาเป็นก้อน แล้วให้ชุมชนไปบริหารว่าคุณจะใช้เงินยังไง แบบนั้นจะคล่องตัวกว่าเยอะ บางทีเขาจะรบกับไฟแล้ว ไม่จำเป็นต้องมานั่งประชุมอะไรแบบนี้แล้ว แต่มาประชุมมาตระหนักเรื่องไฟป่าอะไรแบบนี้ไม่ควร มันคงเป็นปฏิบัติการที่น่าทึ่ง!”

พี่หนูหริ่งชี้ให้เห็นว่า การจัดการและแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับไฟป่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ตอนนี้ ที่ตอนนี้สถานการณ์ไม่ต่างอะไรจากประโยคที่ว่า ‘ผิดฝาผิดตัว’

“แล้วอย่างที่ไปลาดตระเวรอะไรแบบนี้ เสียดายเงิน คุณได้โดรนมาตัวหนึ่งแล้วใช้ลาดตระเวร เราจะเห็นไฟจริงๆ แต่ถ้าเดินเท้าอยู่จะเห็นไฟได้ยังไง นึกภาพนะ สมมติเห็นไฟ แ้วลาดตระเวรมีอยู่ 3 คน จะดับไฟยังไง เครื่องมือก็ไม่มี มันไม่สมเหตุสมผล”

นอกจากเรื่องอุปกรณ์และงบ สิ่งที่ภารกิจดับไฟป่าต้องมี ก็คือ ประสิทธิภาพในการดับไฟ และกำลังคน

[ 1 คน : 10,000 ไร่ ]

“อย่างขอกรมอุทยานฯ เฉลี่ยเจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลป่า 10,000 ไร่ ซึ่งไม่มีทางที่จะเพียงพอ แล้วใครที่จะมาช่วยอุทยานฯ หนึ่ง ก็คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทีใประจำชุมชนประจำพื้นที่ก็จะร้จักพื้นที่ ป่านี้เป็นยังไงรู้จักดีอยู่แล้ว ทีมหลักที่มาช่วย ต่อมาก็คือ ภาคประชาชน ที่เราก็จะเห็นทีมกระจกเงาที่ไปช่วยดับไฟป่าที่ลำพูนในปีนี้ ของเชียงใหม่ก็จะเห็นทีมส้มสู้ไฟที่ทำงานกับพรรคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เราจะเห็นจากภาคประชาชนไปช่วยกันดับไฟป่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ”

ในแต่ละครั้งพี่หนูหริ่งบอกว่า อาสาดับไฟป่ากระจกเงา ต้องอาศัยกำลังคนมาถึง 50 คนสำหรับออกไปดับไฟ ประจำออฟฟิศ หรือที่ทำการอีก 10 คน และฝ่ายสนับสนุน ทีมงานต่างๆ รวมกว่า 60 คน พร้อมกับเครื่องมืออุปกรณ์ครบ ที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ในการดับไฟครบ เพื่อความพร้อมในการทำภารกิจ

“เราสามารถดับไฟยาวๆ แบบ 3-5 กิโลเมตรได้ อย่าง 2 วันก่อน เราเพิ่งดับไป 10 กิโลเมตรได้แต่ใช้เวลา 2 วัน”

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า บุคลากรที่มีอยู่ตอนนี้จากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่เพียงพอ  ซึ่งคนที่ทำงานลงพื้นที่จริงก็เสนอว่า อย่างพี่หนูหริ่ง มองว่า 

“ทีมของรัฐควรมีประมาณ 20 คนต่อทีม แต่นั่นก็หมายความว่าจะต้องเพิ่มอุปกรณ์ เช่น รถจาก 1 คันต้องเป็น 2 คันในการเคลื่อนย้าย”

“คนดับจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป อย่างทีมผมใหญ่ก็เพราะว่าจะได้ไม่หนัก จะได้ดับได้เร็วขึ้น”

ประเด็นของการดับไฟคงไม่ได้อยู่ที่การให้เงินเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความสมเหตุสมผลของงบประมาณ อุปกรณืในการออกรบที่ไม่ใช่การให้ใช้ดาบไม้เพื่อไปสู้กับรถถัง เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังเปลวไฟก็คือ กลุ่มคนที่ทำงานหนักเพื่อดับไฟป่า

อย่างในปีที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ก็ออกมาเผยว่า สถิติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (วันที่ 16 พฤษภาคม 2567) พบว่ามีผู้บาดเจ็บจากการปฏิบัติงานดับไฟป่า จำนวน 33 ราย และเสียชีวิต จำนวน 3 ราย

กับเงินเยียวยากรณีเสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือ ไม่เกิน 100,000 บาท กรณีพิการได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 80,000 บาท กรณีบาดเจ็บสาหัสได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 40,000 บาท และกรณีบาดเจ็บได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 10,000 บาท

ทุกคนคงตอบได้ไม่ยากว่า นี่เพียงพอต่อ 1 ชีวิตที่เสี่ยงไปดับไฟ เพื่อคนล่างภูเขา เพื่อป่าไม้ที่ยังคงเหลือให้ลูกหลานได้เห็น เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นของเราทุกคนทุกปี หรือไม่?

“ปีนี้ทีมส้มสู้ไฟเองก็ก็ใช้โดรนตรวจจับความร้อนในการลาดตระเวน แม้ว่าตอนกลางคืน มืด สายตาคนก็จะเห็นมืดสนิท แต่พอเป็นกล้วงตรวจจับความร้อน ถ้ามีไฟก็ตาม หรือเดิมอยู่ในป่า ใต้พุ่มไม้ เรามองเห็นหมดเลยว่าเป็นคนกำลังเดิน ซึ่งเป็นการลาดตระเวนที่มีประสิทธิภาพมากว่า และเป็นการที่ใช้กำลังพลน้อยกว่า และเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเหนื่อย ให้เวลาเขาได้พัก เขาจะได้มีแรงไปลุยต่อ เพื่อให้ PM 2.5 ให้ค่ามันน้อยที่สุด” ส.ส.ภัทรพงษืกล่าวก่อนจะปิดท้ายว่า

“การบริหารต้องบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราใช้เงินในการแก้ปัญหาอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพของกำลังคนเลย ปัญหาก็จะเป็นเหมือนทุกวันนี้”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า