การกลับมาของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อดีตผู้นำสหรัฐอเมริกา สร้างความผันผวนให้กับโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และตลาดการเงินทั่วโลก จากท่าทีและแนวทางการดำเนินนโยบายที่มักเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ความเด็ดขาดในการใช้นโยบายการค้าแบบสุดโต่ง ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก หรือ ‘America First’ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ล้วนส่งผลสะเทือนต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และการลงทุนในหลายภูมิภาค
เพื่อไขข้อข้องใจว่า หากทรัมป์กลับมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง จะเกิดผลกระทบอะไรต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะนักลงทุนไทยควรรับมือหรือปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรบ้าง
TODAY Bivziew มีโอกาสพูดคุยกับ ‘คุณเผ่า-ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จิตตะ เวลธ์ จำกัด (Jitta Wealth) ถึงมุมมองต่อสถานการณ์ดังกล่าว
พร้อมเจาะลึกถึงกลยุทธ์การลงทุนที่ควรจับตามองในช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้นำระดับโลกที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้…
[ ศึกระหว่างสหรัฐฯ vs จีน ]
สำหรับปี 2568 คาดว่าความปั่นป่วนจะมีมากขึ้น และคาดว่าในอีก 3-5 ปีต่อจากนี้ จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในการจัดการเศรษฐกิจโดยรวมของทั้ง 2 ประเทศ เพราะต่างคนต่างก็มีปัญหาในประเทศตัวเองที่ต้องแก้ไข
ในฝั่งของสหรัฐฯ ปัญหาของเขาไม่ใช่เทคโนโลยี การเติบโต หรือการเป็นเจ้าโลก แต่เป็น ‘การบริโภคที่เกินตัว’ สะท้อนจากหนี้ที่ค่อนข้างสูง เป็นที่มาว่าทำไมทรัมป์เข้ามาถึงพยายามจะเพิ่มรายได้ผ่านการขึ้นภาษีต่างๆ และลดรายจ่าย
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ แจกจ่ายเงินช่วยยุโรป ช่วยเอเชีย ประเทศไหนมีสงครามก็เข้าไปวุ่นวายกับเขา แต่พอทรัมป์กลับมา ทรัมป์กลับใช้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First)
ทั้งนี้ เพราะรู้แล้วว่าหากปล่อยให้สหรัฐฯ เป็นแบบนี้ต่อไป ประเทศจะเข้าสู่ขาลง ทรัมป์จึงพยายามจะยืดขาลงของสหรัฐฯ ให้ได้นานที่สุดด้วยความพยายามลดหนี้ อย่างล่าสุดที่ประกาศจะลดเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งเป้าหมายหลักก็เพื่อลดภาระที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องจ่ายในแต่ละปี
ส่วนการขึ้นภาษี มีที่มาจากที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่บริโภคสินค้าต่างประเทศสูงมาก นำเข้าเยอะ และโลกสมัยก่อนก็ผลิตนอกสหรัฐฯ เป็นหลัก ดังนั้น การขึ้นภาษี นอกจากจะเพื่อเพิ่มรายได้ให้สหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการกลับไปที่สหรัฐฯ อีกด้วย
เบื้องกลังการขึ้นภาษี นอกจากเรื่องของรายได้และการทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของสินค้าโลกแล้ว ยังเป็นผลจากปัญหาเรื่องความมั่นคง ที่หากสหรัฐฯ ตัดขาดจากจีนตอนนี้ จีนอาจจะเจ็บบ้าง แต่ไม่มาก
ยกตัวอย่างเช่น การผลิตโทรศัพท์มือถือ สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตโทรศัพท์มือถือเองได้ ซึ่งกว่าจะกลับมาผลิตได้ก็ต้องใช้เวลา เพราะหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมาผลิตในจีน แต่สำหรับจีน คาดว่าจะใช้เวลาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เพื่อกลับมาผลิตได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าทันที
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ Jitta Wealth คาดว่าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเกิดสงครามร้ายแรง เพราะหากพิจารณาจากทรัมป์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งครั้งก่อน ทรัมป์ไม่ค่อยยุ่งเรื่องสงคราม และการกลับมาครั้งนี้ เขาก็พยายามสงบศึกทุกด้าน
ส่วนจีน มองว่า เข้าไม่อยากจะยุ่งเรื่องสงครามอยู่แล้ว เพราะจีนเป็นนักการค้าที่อยากจะทำให้คนในชาติอยู่ดีกินดี จึงคาดว่าความขัดแย้งในครั้งนี้จะบานปลายเพียงแค่สงครามการค้าและการต่อรอง (Negotiate) เท่านั้น
[ ทุกวิกฤตเป็นโอกาสลงทุน ]
ส่วนการปรับตัวลงของตลาดหุ้น ภายหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีจีนต่อเนื่องนั้น มองว่า สถานการณ์นี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์ในอดีต เช่น โควิด-19 หรือวิกฤตเงินเฟ้อ เนื่องจากครั้งนี้ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่ไม่แน่นอนของทรัมป์เป็นหลัก
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในการลงทุนระยะยาว ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นตกต่ำมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น วิกฤติการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ฟองสบู่ดอทคอม วิกฤติการเงินปี 2008
แม้แต่สงครามการค้าครั้งแรกภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์เอง ก็เคยทำให้ตลาดปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ตลาดสหรัฐฯ ในภาพรวมก็สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้
โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำลายสถิติมาหลายครั้งหลายคร โดยในปี 2566 และ 2567 ดัชนี S&P 500 เป็นบวกติดต่อกัน 2 ปี รวมๆ บวกไปประมาณ 50% เช่นเดียวกับอีกหลายตลาดที่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านี้
‘สถานการณ์ปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เช่น การประกาศทำสงคราม ทำให้นักลงทุนเกิดอารมณ์กลัวจนเทขายหุ้นออกมา และเมื่อปัญหาถูกแก้ไข วิกฤตต่างๆ คลี่คลายไป ดัชนีหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นมาในแบบที่ควรจะเป็น ดังนั้น วิกฤติในครั้งนี้เองก็เชื่อว่า เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย ตลาดหุ้นจะกลับมาได้ในท้ายที่สุด’
สำหรับภาพการลงทุนนับจากนี้ไป เราจะยังคงเห็นความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก โดยระยะเวลาและความรุนแรงของภาวะขาลงนี้จะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสงครามการค้านับจากนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าสหรัฐฯ และจีนจะยังคงเป็นสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก และการขยับตัวของยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ ย่อมสะเทือนไปยังประเทศต่างๆ ไม่มากก็น้อย
[ ตั้งสติใช้ EQ รักษาพอร์ต ]
ภาวะที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจจะสร้างความกังวล และนักลงทุนอาจจะต้องการเทขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ออกมาก่อน
แต่หากพิจารณาข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า การลงทุนในช่วงวิกฤต หรือลงทุนทันทีหลังเกิดวิกฤต จะสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่แข็งแกร่งมากกว่าการพยายามจับจังหวะตลาด หรือการเทขายเมื่อราคาสินทรัพย์ต่ำลงและกลับมาซื้อคืนในภายหลังที่มักจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่า
โดยจะเห็นว่าการลงทุนในดัชนี S&P 500 ตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 หากถือมาจนถึงปัจจุบัน 2568 จะได้ผลตอบแทน 56.69% หรือลงทุนในช่วงปี 2565 ที่เกิดวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หากถือมาถึงปัจจุบันจะได้ผลตอบแทน 15.45%
เป็นที่น่าเสียดายว่า ในภาวะวิกฤต นักลงทุนมักจะตื่นตกใจและเทขายพอร์ตออกมาก่อน ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดผันผวน ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) มีความสำคัญมากกว่าความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) มาก สิ่งที่นักลงทุนควรทำคือการสงบสติอารมณ์ หลีกเลี่ยงการขายเมื่อตื่นตระหนก และเข้าใจว่าความผันผวนของตลาดเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องคงเงินลงทุนไว้ และไม่ออกจากตลาดในช่วงขาลง ในอดีต การถือครองสินทรัพย์ผ่านวิกฤตพิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าการขายออกไปด้วยความกลัว
ซีอีโอของ Jitta Wealth ย้ำว่า โอกาสในช่วงขาลงมีอยู่เสมอสำหรับมุมมองของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) และนี่ถือเป็นโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ที่มีคุณภาพในราคาที่ต่ำลง ดังนั้น นักลงทุนควรมองหาบริษัทที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและเติบโตได้ในระยะยาว
‘ก่อนหน้านี้นักลงทุนมองว่าดัชนี S&P 500 มีราคาแพงไปแล้ว แต่การปรับตัวลดลงล่าสุด ทำให้ราคาหุ้นมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ตาม แต่หากถามหาตลาดที่มีมูลค่าหุ้นถูกและน่าสนใจอยู่ในเวลานี้ ก็ยังต้องยกให้จีนที่ในปัจจุบันราคาหุ้นถือว่าน่าสนใจมาก’
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดนั้น ยังคงแนะนำการจัดพอร์ตแบบ Core-Satellite Portfolio โดยรักษาสัดส่วนของพอร์ตหลัก หรือ Core Port ไว้ที่ 80% เน้นการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ทั่วโลก เช่น นโยบาย Global ETF
และมีสัดส่วนของพอร์ตรองหรือ Satellite Port ไว้ที่ 20% โดยเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น หุ้นจีน ที่ถือว่ามูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
และหากนักลงทุนมีการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีอยู่แล้ว กลยุทธ์การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar-Cost Averaging: DCA) ก็จะช่วยให้พอร์ตลงทุนมีการถัวเฉลี่ยต้นทุนในช่วงที่ตลาดปรับลดลง และสามารถฝ่าช่วงเวลาที่ผันผวนไปได้ และสร้างผลตอบแทนที่มีเสถียรภาพในระยะยาว
[ หุ้นไทยหาจุดลงทุนยาก ]
เมื่อถามถึงหุ้นไทย ซีอีโอของ Jitta Wealth บอกว่า ยังหาจุดลงทุนยาก หากวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยโดยไม่เอาไปเทียบกับประเทศอื่น หุ้นไทยก็ยังไม่นิ่งอยู่ดี ด้วยเหตุผลหลัก 2 ข้อ คือ
1. ปัญหาการเมือง นักการเมืองไทยไม่ได้ให้น้ำหนักตลาดหุ้นไทยมากนัก กล่าวคือ ไม่ได้สนใจที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างแท้จริง แต่สนใจการเลือกตั้งครั้งต่อไปมากกว่า เราจึงไม่เห็นนโยบายดีๆ ออกมาอย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
2. นโยบายกระตุ้นระยะสั้น นโยบายแจกเงินไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ต้องหาตัวขับเคลื่อนที่ดีกว่าเข้ามา หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวของไทยที่ดีขึ้น ก็ไม่สามารถดีไปมากกว่านี้ได้มาก จึงไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะเวลาอันสั้นได้
เพราะฉะนั้น ปัจจัยเร่งการเติบโตของตลาดหุ้นไทยจึงไม่ค่อยมี ยิ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ จีน หรือเวียดนาม ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตได้ดีอยู่แล้ว หุ้นไทยจึงมีความน่าสนใจลดลง
ส่วนเรื่องความถูกแพง ตอนนี้หุ้นไทยปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 1,100-1,200 จุด ถือว่าไม่ถูก แต่ก็ไม่ได้แพง อยู่ในระดับที่ ‘โอเค’ สมเหตุสมผล หุ้นธนาคารอาจจะให้ปันผล 5% หุ้นกลุ่มอื่นๆ ก็ถือว่าคุ้มกับการลงทุนระยะยาว แต่ไม่ได้ถูกมาก
เพราะฉะนั้น ถ้านักลงทุนจะลงทุนในหุ้นไทยก็ลงทุนได้ แต่ต้องเลือกหุ้นให้ถูก แต่ด้วยระดับราคาแบบนี้ นักลงทุนถือไป 5-10 ปี ผลตอบแทนก็อาจจะไม่ได้สูงมาก แถมมีความเสี่ยงจากนโยบายในไทย เพราะเราไม่สามารถตอบได้ว่า อีก 5 ปีประเทศไทยจะถอยหลังหรือจะเดินหน้า
‘เราไม่มีทางรู้จริงๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รัฐประหารจะมีอีกหรือไม่ หรือการเมืองจะเปลี่ยนขั้วไปมาหรือไม่ ประเทศไทยจะหยุดนิ่งหรือจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น ลดความเสี่ยงจากการถือหุ้นไทยไว้จะดีกว่า’
แม้ว่านักลงทุนจะมั่นใจในประเทศไทย แต่หุ้นไทยก็ควรจะอยู่แค่พอร์ต Satellite หรือไม่เกิน 20% ของพอร์ตทั้งหมด ส่วนพอร์ตหลักของนักลงทุนตอนนี้ ควรจะเป็นหุ้นโลกได้แล้ว ไปลงทุนในประเทศอื่นๆ เพราะปัจจุบันเราลงทุนได้แล้ว อย่าไปคิดว่าต้องลงทุนแค่ไทย ลงทุนในตลาดโลกดีกว่า
ถ้าเปรียบเทียบกับตลาดโลก ยกตัวอย่างเช่น จีน และเวียดนาม ก็ยังน่าลงทุนกว่าหุ้นไทยตอนนี้ เป็นา่เหตุว่าทำไมกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ถึงไม่เข้าหุ้นไทย เพราะพอเขามองเทียบกับหลายประเทศแล้ว ประเทศไทยดูไม่มีความน่าสนใจ ทั้งการเติบโตและความถูก
เงินในประเทศเองก็ไหลไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ นักลงทุนรุ่นใหม่ๆ หรือแม้แต่นักลงทุนที่เคยลงทุนมานาน ทุกคนก็รู้สึกว่า ฉันต้องไปลงทุนต่างประเทศกันหมด ประเทศไทยจึงลงทุนได้ค่อนข้างยาก
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริม เช่น กองทุนประหยัดภาษี แต่สุดท้ายก็ช่วยได้ไม่มาก แค่พยุงตลาดหุ้นไม่ให้ร่วง และถ้าถามว่านโยบายของภาครัฐจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ ต้องโตมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
[ เสน่ห์ของไทยคือปันผล ]
สำหรับแนวรับ ทายอย่างไรก็ยาก หากประเมินว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 90 บาทต่อหุ้น ที่อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) 10 เท่า ซึ่งถือว่าถูก เป้าหมายดัชนี SET (SET Index) ก็จะอยู่ที่ 900 จุด ดังนั้น ดัชนีไม่ควรจะหลุด 900 จุด
แต่สมมติดัชนีถูกกระตุกขึ้นมาที่ 1,200 จุด ที่ P/E 13 เท่า ก็ไม่ถูก และไม่แพง ทำให้ปัจจุบันตลาดหุ้นเหมือนเลือกทาง คือถ้าไม่มีอะไรมากระตุ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) อาจจะร่วงลงมาด้วยความกลัว เช่น ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับไทย หุ้นร่วงแน่นอน
แต่ถ้าไม่มีปัจจัยลบมากระทบ รัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นที่ดี P/E ก็อาจจะวิ่งกลับมาได้นิดหน่อย แต่ EPS ของไทยโตยากแล้ว เพราะเราหยุดอยู่นิ่งๆ ประมาณ 90 บาทต่อหุ้นมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมา กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เติบโตเลย
เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาดูว่า ความเชื่อมั่น หรือ EPS ที่จะเติบโตขึ้น ถ้า EPS ไม่โต ความเชื่อมั่นก็ต้องมาก่อน เศรษฐกิจถึงจะโต ดังนั้น 900 จุดไม่ควรต่ำกว่านั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้
ในทางกลับกัน จุดพีกของตลาดหุ้นไทย สมมติที่ P/E 15 เท่า (แต่น่าจะยาก) คำนวณออกมาดัชนีก็ได้แค่ 1,150 จุด เพราะฉะนั้น โอกาสขาขึ้น (Upside) ไม่ได้เยอะ แต่ Downside มีมากกว่า Upside ไม่รู้จะคำนวณมาจากไหน
หรือถ้าจะให้ P/E 20 เท่าก็มโนมาก เพราะถ้า P/E 20 เท่า คนไปซื้อหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หุ้นโลก ก็จะดูคุ้มกว่า เพราะฉะนั้น Upside ของหุ้นไทยจึงมีจำกัด P/E 15 เท่าก็เต็มที่แล้ว และในความเป็นจริงคาดว่าจะวิ่งอยู่ที่ระดับ 12-13 เท่ามากกว่า
สรุปคือ ถ้าซื้อหุ้นไทยตอนนี้ ซื้อเพื่อเป็นแหล่งพักเงินเอาปันผลมากกว่า คุณไม่ต้องหวังการเติบโต ซื้อหุ้นธนาคารดีๆ ปันผล 4-5% อาจจะโอเคแล้ว เสี่ยงน้อยกว่า เพราะหุ้นไทยที่กำไรยังเติบโตได้ดีอยู่มันน้อยมากแล้ว ไม่ค่อยเหลือมากแล้ว
เสน่ห์ของหุ้นไทยตอนนี้ คือ ปันผล ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปันผลเยอะ ประมาณ 4-5% แบงก์ใหญ่ๆ ราคานี้ปันผล 5% บางที่ 6-7% แค่นี้ก็โอเคแล้ว ให้เราอยู่ได้ และค่อยๆ เรียนรู้การลงทุนในประเทศอื่นๆ ต่อไป
‘เอาเป็นว่า ลงหุ้นมั่นคงแล้วกัน แต่ไม่เติบโต รอปันผล อยู่บ้าน เรารู้จักดี เลือกหุ้นได้ง่าย เลือกธุรกิจได้ดี แต่ไม่เติบโต’
[ กระจายการลงทุนดีที่สุด ]
เมื่อถามถึงธุรกิจของ Jitta ซีอีโอแชร์ว่า ธุรกิจของกลุ่ม ‘จิตตะ’ (Jitta) ในปี 2567 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องจากปี 2566 ตามบรรยากาศการลงทุน กล่าวคือ แม้บริษัทจะมีหลักการที่ดี แต่บางครั้งก็ควบคุมอารมณ์นักลงทุนไม่ได้ บทคนอยากจะลงทุนก็ลงทุน บทจะกลัวก็ไม่ลงทุน เป็นต้น
แต่โดยภาพรวม 2 ปีที่ผ่านมา คนยังลงทุนกันค่อนข้างเยอะ และจากผลลัพธ์ที่ Jitta ทำได้ ก็ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนด้วย ซึ่งสิ่งที่บริษัทพยายามทำหลังจากเริ่มเข้าใจธรรมชาติของนักลงทุนมากขึ้นแล้วจากข้อมูลที่มี Jitta จึงเริ่มให้คำแนะนำแบบพอร์ต Core-Satellite Portfolio
ที่ผ่านมา นักลงทุนบางคนเลือกลงทุนพอร์ต Satellite 100% ซึ่งมีแต่พอร์ตที่ความเสี่ยงค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าเลือกประเทศผิด ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะยิ่งเจ็บหนัก
ส่วนที่เลือกพอร์ต Core แม้จะสามารถกระจายความเสี่ยงได้เยอะ แต่กำไรเติบโตค่อนข้างช้า แต่มาเรื่อยๆ ปีละ 8% บริษัทจึงปรับคำแนะนำว่า สำหรับคนทั่วไป ลงทุนแบบ Core-Satellite Portfolio ดีกว่า 80:20 ตามลำดับ
นอกจากนี้ Jitta พยายามนำเทคโนโลยีมาช่วยลดความผิดพลาดของนักลงทุนมากขึ้นไปอีก เช่น การเลือกประเทศที่ปัจจุบันนักลงทุนเลือกไม่ค่อยถูกสำหรับพอร์ต Satellite ซึ่งหากเป็นพอร์ต Core บริษัทลงทุนให้ทั่วโลกอยู่แล้ว
เป็นที่มาของตัวคาดการณ์ตลาด (Market Prediction) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลนักลงทุนว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นแต่ละประเทศถูกหรือแพงอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ นักลงทุนควรลงทุนประเทศไหนบ้าง ซึ่งตัวคาดการณ์นี้ถูกใช้มาตั้งแต่สิ้นปี 2565
ตอนนั้น Market Prediction ชี้ว่าหุ้นสหรัฐฯ ถูก และในปีต่อไป (2566) หุ้นสหรัฐฯ น่าจะขึ้น ซึ่งก็ขึ้นจริง ดัชนีปรับตัวขึ้นประมาณ 20% ส่งผลให้ผลตอบแทนจากนโยบายลงทุน Jitta Ranking America ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 44%
หรือปีที่ผ่านมา (2567) Market Prediction ประเมินว่าหุ้นจีนน่าลงทุนเพราะราคาถูก ดัชนีหุ้นจีนก็ขึ้นจริงๆ Jitta จึงประเมินว่า ตัวคาดการณ์นี้น่าจะใช้งานได้ดีแล้ว ทำให้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทออกนโยบายลงทุน Jitta Ranking Alpha
โดย Jitta Ranking Alpha จะทำการเลือกประเทศทุกๆ สิ้นปีที่นักลงทุนควรจะไปลงทุน และพอเข้าไปลงทุนแล้ว บริษัทจะปรับพอร์ตซื้อหุ้นดีราคาถูกให้เรื่อยๆ พอครบ 1 ปีก็มาเลือกประเทศใหม่ วิธีนี้ก็จะลดความเสี่ยงนักลงทุนไปได้เยอะ เป็นพอร์ต Satellite ที่ทุกคนถือได้เรื่อยๆ
‘การลงทุนมันมีปัญหาค่อนข้างมากเหมือนกัน บางคนขาดทุน ซึ่งอันนั้นมีปัญหาอยู่แล้ว แต่บางคนพอกำไรไปถึงจุดหนึ่ง เช่น กำไร 50% คำถามก็จะเริ่มมาแล้วว่า ฉันจะขายได้หรือยัง ฉันจะถือต่อไปดีหรือไม่’
แม้ในช่วงต้น ทุกคนจะตั้งใจลงทุนระยะยาว 10 ปี แต่พอจุดหนึ่งที่เริ่มขาดทุน ก็จะเริ่มคิดว่าขายดีหรือไม่ หรือเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เริ่มกำไรมาก ก็เริ่มคิดเยอะเหมือนกัน
อย่างหุ้นสหรัฐฯ หลายคนที่ลงทุนกับบริษัท 4-5 ปีที่ผ่านมาก็กำไรกว่า 100% ตอนนี้ก็เริ่มมีคำถามแล้วว่า มันยังไปต่อได้หรือไม่ เริ่มกลัวร่วงหนัก เป็นที่มาว่า งั้นก็ให้ Jitta Ranking Alpha เลือกให้ ถ้าเมื่อไหร่ที่หุ้นประเทศไหนแพงไป กองทุนนี้ก็จะสับเปลี่ยนประเทศให้
อีกสิ่งหนึ่งที่ Jitta อยากทำมากขึ้น ณ จุดที่บริษัทบริหารจัดการเงินลงทุนให้ทุกคนได้ดีมากขึ้นแล้ว คือ การออมเงินแบบถัวเปลี่ย หรือการ DCA
ข้อดีของ Jitta คือมีข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะ จึงสามารถเอาข้อมูลมากางให้นักลงทุนดูได้ว่า พอร์ตที่ลงทุนแบบ DCA กับพอร์ตที่ไม่ได้ลงทุนแบบ DCA นั้น แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งหลายคนก็ชอบ เพราะช่วยให้เขาเห็นเป็นรูปธรรมว่าตัวเลขเป็นอย่างไร
[ แตะจ่ายก็ออมเงินลงทุนได้ ]
อีกสิ่งที่จะทำเพิ่มเติมในปีนี้ คือ ‘จิตตะ การ์ด’ (Jitta Card) บัตรเติมเงินที่จะมาช่วยเรื่องการจ่าย การออม และการลงทุน เพื่อให้ทุกคนสามารถลงทุนได้ง่ายขึ้น ตามความตั้งใจของบริษัทที่ว่า อยากช่วยให้คนไทยจำนวนมากเริ่มลงทุน
โดยในมุมของการบริหารกองทุน Jitta สามารถบริหารทำผลตอบแทนได้ดี คำแนะนำทุกอย่างค่อนข้างสุขงอม (Mature) หมดแล้วว่าต้องลงทุนอย่างไร รวมถึงมีบริการที่ค่อนข้างครอบคลุมแล้ว ก็จะเหลือแค่ว่า คนทั่วไปจะลงทุนกับ Jitta ง่ายๆ ได้อย่างไร
เป็นที่มาของ Jitta Card ที่ออกมาเพื่อช่วยให้คนลงทุนได้ง่ายขึ้น เพราะโดยหลักการแล้ว บัตรใบนี้สามารถช่วยได้ทั้งกระบวนการ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องการลงทุน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ออมเงินไม่เป็น และ 2. ลงทุนไม่เป็น
เรื่องลงทุนไม่เป็น Jitta แก้ให้แล้วผ่านนโยบายการลงทุนต่างๆ แต่เรื่องออมเงินไม่ได้ บริษัทจะไปบังคับให้ลูกค้าออมเงินก็คงยาก Jitta จึงออกนวัตกรรมใหม่อย่าง Jitta Card เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้บัตรนี้ไปซื้ออะไรก็ได้ในชีวิตประจำวัน
คือ ใช้เงินเท่าเดิม แต่ทุกครั้งที่ใช้งานจะมีการปัดเศษขึ้น (Round-up) เป็นหลักร้อยให้ เปรียบเสมือนเราเอาแบงก์ร้อยไปซื้อของทุกอย่าง ระบบก็จะเก็บเงินทอนไว้ให้ และเมื่อมีเงินในกระเป๋าเงิน (Wallet) ครบ 1,000 บาท ทุกๆ สิ้นเดือน 1,000 บาทนี้ก็จะถูกโอนไปลงทุนในกองทุนที่ลูกค้าเลือกไว้ได้อัตโนมัติ
‘เรามองว่า สุดท้ายเราน่าจะสามารถช่วยเด็กยุคใหม่ เพิ่งเริ่มทำงาน ยังไม่มีความรู้ทางการเงินมาก แต่สามารถเริ่มต้นลงทุนเดือนละ 1,000 บาทได้’
สำหรับคนที่กังวลว่า เงินไม่พอจะเปิดพอร์ตกับ Jitta บัตรนี้ก็จะช่วยสะสมเงินออมไปเรื่อยๆ มีครบ 10,000 บาท ซึ่งเป็นขั้นต่ำการลงทุนครั้งแรกที่ Jitta กำหนด ก็สามารถนำเงินก้อนแรกไปลงทุนในนโยบายที่ตนเองสนใจได้ทันที
ซีอีโอยกตัวอย่างว่า หากลงทุนเดือนละ 1,000 บาทได้จริงๆ และลงทุนนโยบายที่ไม่ต้องเสี่ยงมาก เช่น Global ETF ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี ประมาณ 27 ปีก็ได้เงิน 1 ล้านบาทแล้ว อย่างน้อยก็ให้ Jitta Card เป็นแผนสุดท้ายของชีวิตเพื่อที่จะมีเงิน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถใช้ Jitta Card ได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม (ยกเว้นค่าออกบัตรครั้งแรก 200 บาท) เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของ Jitta เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันก็สามารถใช้บริการได้แล้ว
[ เป้าหมายเข้าตลาดหุ้น ]
ในอนาคต Jitta ก็ยังจะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งหลังจากตั้งบริษัทมาได้ประมาณ 13 ปี ตอนนี้ก็มีผลิตภัณฑ์ 3 อย่างแล้ว ได้แก่
1. Jitta Stock Analysis เป็นปัญหาแรกที่บริษัทเข้าไปแก้ตอบโจทย์นักลงทุน คือ คนเลือกหุ้นไม่เป็น ไม่มีข้อมูลให้เลือกหุ้น ไม่มีข้อมูลงบการเงิน ฯลฯ Jitta ก็พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาและเปิดให้ใช้ฟรี
2. Jitta Wealth ตอบโจทย์ปัญหาที่ว่า มีข้อมูลแล้ว แต่ลงทุนไม่เป็น ปรับพอร์ตไม่ได้ ไม่มีเวลา บริษัทจะช่วยบริหารจัดการเงินลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำสุดในอุตสาหกรรมที่ 0.5% (ถูกกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมถึง 4 เท่า)
3. Jitta Card แก้ปัญหาคนออมเงินไม่ได้ ไม่ยอม DCA ไม่มีแผนทางการเงินที่ดี บังคับตัวเองไม่ได้ เพราะเรื่องของการเงินเป็นเรื่องวินัย ถ้ามี Jitta Card ก็เหมือนการเอาเทคโนโลยีมาบังคับว่า ทุกครั้งที่ใช้เงิน คุณต้องออม
นอกจากนี้ Jitta ยังมีแคมเปญดีๆ ที่ช่วยให้คนมีความรู้ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน กการลงทุน การจัดสรรเงินในแบบต่างๆ ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อป ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เสมอ ทำให้ฟรี
ในส่วนของผลการดำเนินงาน ปัจจุบัน Jitta มีรายได้จากการบริหารจัดการกองทุน (Management Fee) เป็นหลัก และในเชิงรายได้มีการเติบโตที่ดี โดยในปีล่าสุด กำไรขั้นต้นก็เติบโตดีมาก เพราะสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ขาดทุนลดลง และคาดว่าจะกำไรภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม มีบางปีที่เคยกำไรไปแล้ว เช่น ปี 2564 ที่บริหารกองทุนและได้กำไรค่อนข้างมาก รวมถึงได้ส่วนแบ่ง 10% จากกำไรของ Jitta Ranking เป็นผลตามภาวะตลาดที่ดี แต่หากไม่นับปัจจัยบวกจากภาวะตลาด รายได้ Management Fee ยังไม่เคยกำไร
สำหรับแหล่งที่มาของเงินทุน (Source of Fund) ของ Jitta บริษัทได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) และบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ในเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งลงทุนไว้ตั้งแต่ปี 2562
เมื่อถามถึงความสนใจในการเข้าตลาดหุ้น ซีอีโอของ Jitta บอกว่า แน่นอนว่า Jitta มีเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหุ้น (IPO) แต่ก็ไม่ได้เร่งตัวเอง สิ่งสำคัญคือการทำตัวเองให้ดีที่สุดก่อน เมื่อทำได้ดีแล้ว เชื่อว่าโอกาส IPO ก็จะตามมาเอง
ซึ่งโดยศักยภาพแล้ว ตลาดการลงทุนในไทยที่ใหญ่มากกว่าล้านล้านบาท แต่มีผู้เล่นประมาณ 30 บริษัท เท่านั้น จึงเชื่อว่า หากเติบโตได้ดีจริงๆ อย่างไรก็ต้องเติบโตไปจนถึงจุดที่ IPO ได้
ก่อนจากกัน ผู้เขียนสอบถามถึงที่มีที่ไปของชื่อ ‘จิตตะ’ (Jitta) ก็เพิ่งได้รู้ว่า มาจากหลักอิทธิบาท 4 ของทางพุทธศาสนา แปลว่า ความตั้งมั่น ความตั้งใจ และความมุ่งมั่น ที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จ
‘เริ่มต้นตอนตั้งชื่อเราก็ตั้งหลายๆ แบบ เราก็อยากได้ชื่อที่มันเชื่อมโยงกลับมาถึงความเป็นไทยได้บ้าง ซึ่งหาหลายอัน เมื่อเจออิทธิบาท 4 ก็พบว่า ฉันทะ อาจจะสะกดยากไปหน่อยในภาษาอังกฤษ วิริยะ ก็เป็นประกันภัยไปแล้ว วิมังสา ก็เรียกไม่ดี ก็เลยตกมาที่จิตตะที่ดูสวยงาม’
นอกจากนี้ ตัว J จาก Jitta ก็ถือเป็นตัวอักษรที่ดี หากแบรนด์ติดตลาดแล้ว ตัว J ก็สามารถสะท้อนถึง Jitta ได้เลยทันที เพราะหากดูแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมของโลกตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครขึ้นต้นด้วยตัว J อนาคตถ้าเห็นโลโก้ตัว J คนจะได้นึกถึง Jitta…
***ผลตอบแทนเฉลี่ยแต่ละนโยบายลงทุนของ Jitta Wealth ทั้งปี 2567 (ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ลงทุนเพิ่มขั้นต่ำ 1,000 บาท)***
1. Global ETF
– Global ETF แผนเติบโต ลงทุนในหุ้น 80% พันธบัตร 20% ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 8% ต่อปี ผลตอบแทนเฉลี่ย อยู่ที่ +12.82%
– Global ETF แผนสมดุล ลงทุนในหุ้น 50% พันธบัตร 50% ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 6% ต่อปี ผลตอบแทนเฉลี่ย อยู่ที่ +8.40%
– Global ETF แผนพอเพียง ลงทุนในหุ้น 20% พันธบัตร 80% ผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 4% ต่อปี ผลตอบแทนเฉลี่ย อยู่ที่ +3.38%
2. Thematic
– Thematic Optimize มีผลตอบแทนเฉลี่ย อยู่ที่ +11.47%
Thematic DIY มีผลตอบแทนเฉลี่ย อยู่ที่ +6.88%
3. Jitta Ranking
– Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +19.10% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีจีน ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +18.53% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +16.33% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +12.70% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นจีน ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +7.98% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นฮ่องกง ลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +7.24% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นสุขภาพสหรัฐฯ ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +6.25% ในปี 2567
– Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -11.24% ในปี 2567 (มาจากเรื่องค่าเงินเยนอ่อนค่า 10-11%)
– Jitta Ranking หุ้นไทย ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -18.50%
ศึกษาข้อมูลนโยบายการลงทุนของ Jitta Wealth เพิ่มเติมได้ที่ Website : https://jitta.co/4lHCDJJ