SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ภาษีทรัมป์’ นโยบายกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา อาจไม่ใช่เพียงแค่นโยบายเศรษฐกิจ แต่กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของระบบการค้าโลก

ผลกระทบไม่เพียงกระทบกับประเทศคู่ค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนัก ราคาสินค้าและวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกและพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลกจึงอาจต้องเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อ สภาพคล่องตึงตัว และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

วันนี้ TODAY Bizview มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ภัทรนันท์ ธนียวัน ลิ้มอุดมพร’ นักกลยุทธ์การลงทุน และผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด (XSpring AM) ที่จะมาเล่าถึงที่มาที่ไป ผลกระทบ รวมถึงการปรับพอร์ตลงทุนในช่วงเวลานี้

[ ‘ภาษีทรัมป์’ คืออะไร ]

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา (3 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย) ทรัมป์ประกาศกำแพงภาษีกับทุกประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. 10% สำหรับทุกประเทศทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Global Tariff มีผลตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ราวๆ เที่ยงคืนวันเสาร์ ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา) ที่เหลือนอกจาก 10% ของแต่ละประเทศ จะมีผลวันที่ 9 เม.ย. 2568

2. กรมศุลกากรสหรัฐฯ ออกประกาศให้ช่วงเวลายกเว้น 51 วัน สำหรับสินค้าที่โหลดขึ้นเรือหรือเครื่องบินที่มีปลายทางสหรัฐฯ โดยจะต้องมาถึงสหรัฐฯ ก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 27 พ.ค. จะได้รับการยกเว้นภาษี 10%

(หลักการคือ สินค้าลงเรือหรือขึ้นเครื่องบินไปแล้วก่อนช่วงเวลาการประกาศขึ้นภาษี โดยหลักการจึงมีการยกเว้นให้ เพราะสินค้ายังมาไม่ถึงปลายทาง)

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประกาศยกเลิกการให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับสินค้ามูลค่าต่ำ (De Minimis) กับสินค้าที่ส่งมาจากจีนและฮ่องกงผ่านระบบไปรษณีย์ด้วย

(ในสมัยนายกเศรษฐา ทวีสิน เคยมีการเรียกร้องให้เก็บภาษีกับสินค้าที่ส่งมาจากประเทศผ่านช่องทางไปรษณีย์ทุกอัน แต่หากต่ำกว่า 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีอากร สรรพสามิต และศุลกากร

ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยใช้ Universal Tariff เก็บ 7% สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ก็ยังมีสินค้าบางประเทศที่ยังรอดมาได้อยู่)

การประกาศนี้ใช้อำนาจตาม International Emergency Economic Powers Act of 1977 (IEEPA) หรืออำนาจในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินแก่ประธานาธิบดีด้านเศรษฐกิจที่ออกมาในปี 2540 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจประธานาธิบดี แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้กันตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

[ หุ้นทั่วโลกร่วงหนัก ]

ประเทศและคู่ค้าอื่นๆ ประเมินว่า อาจจะมีการขึ้นภาษีตอบโต้ เช่น จีน ที่ท่าทีออกมาค่อนข้างชัดว่าพร้อมที่จะเปิดหน้าสู้จนถึงที่สุด โดยตอนนี้ประกาศตอบโต้คืนแล้วที่ 34% ซึ่งหลังจีนประกาศ ทรัมป์ก็ตอบโต้กลับทันทีว่าจะขึ้นภาษีอีก 50%

ในส่วนของการคำนวณภาษีของจีน 54% ต้องอธิบายก่อนว่า จีนโดนเก็บไปแล้ว 20% และโดนเพิ่มอีก 34% ทำให้ตอนนี้ภาษีที่เก็บกับจีนอยู่ที่ 54%

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังมีความคลุมเครือในการคำนวณ คือ 20+34 = 54 หรือใช้วิธีเก็บภาษี 20% ก่อนครั้งแรก แล้วค่อยคิดทั้งก้อนอีก 34%

ดังนั้น หากสินค้าราคา 100 หยวน บวกไปบวกมาอาจโดนเก็บภาษีสูงถึง 64% โดยประมาณ

(ล่าสุด ณ วันที่ 11 เม.ย. 2568 ทรัมป์เรียกเก็บภาษีจีนเป็น 145% ขณะที่ระงับการขึ้นภาษีกับ 75 ประเทศที่ไม่ตอบโต้ 90 วัน)

ในฝั่งของตลาดทุน ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สัปดาห์ที่แล้ว S&P 500 ปรับตัวลง -9.08% MSCI Emerging Markets Index -1.25% (ตลาดประเทศเกิดใหม่ทั้งหมด รวมถึงไทย) STOXX 600 -7.04% (ตัวแทนฝั่งยุโรป) และ US 10Y Yield ถูกกดลงเหลือ 3.897%

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงราว 1.14% (DXY Index) ขณะที่ราคาทองคำถูกเทขายออกมาหลังแตะจุดสูงสุด 3,134.17 ดอลลาร์ต่อออนซ์

[ ของแพงขึ้นทันที ]

ในฝั่งของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้ผลิตเองทุกอย่าง เช่นเดียวกับไทย ส่งผลให้ต้องนำเข้าสินค้าบางอย่าง วันนี้ ปรากฏการณ์ที่เห็น คือ คนแห่ซื้อไอโฟน (iPhone) ในสหรัฐฯ เพราะกลัวว่าราคาจะแพงขึ้น

บทวิเคราะห์ของ ‘ทีเอส ลอมบาร์ด’ (TS Lombard) พันธมิตรของ XSpring AM ระบุว่า จากผลสำรวจของ ‘ริชมอนด์ เฟด’ (Richmond Fed) พบว่า บริษัทในสหรัฐฯ เกือบ 50% มีแผนส่งผ่านต้นทุนของบริษัทที่มาจากภาษีให้กับลูกค้า ทำให้โอกาสที่เงินเฟ้อจะกดลงนั้นเป็นไปได้ยาก

ลองจินตนาการเล่นๆ ว่า วันนี้เดินห้างแล้วจู่ๆ ของทุกอย่างแพงขึ้น 10% หมดเลย

หนึ่ง คือ ประชาชนกำลังซื้อลดลง เพราะเงินเดือนยังไม่ทันจะขึ้น แต่ภาษีดันขึ้นหมดแล้ว 10% สอง คือ กำลังซื้อลดลงตามมาด้วยความไม่มั่นใจของการบริโภค การบริโภคหดตัว สาม คือ กำไรของแต่ละบริษัทลดลง สี่ คือ คนไม่กล้าใช้จ่าย ไม่กล้าลงทุน

ท้ายที่สุด 4 ข้อนี้นำมาสู่การถูกเทขายของตลาดหุ้น เพราะไม่รู้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงแค่ไหน เมื่อคนไม่กล้าใช้จ่าย ไม่กล้าลงทุน บริษัทรัดเข็มขัดเพราะของแพง สุดท้ายเศรษฐกิจก็จะหดตัว กลายเป็นสภาวะ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ (Recession)

[ เศรษฐกิจชะลอตัว ]

ในฝั่งของประเทศไทยที่ 2 ใน 3 เป็นคนส่งออก โดยในปี 2023 (2566) ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เกือบ 10% ของจีดีพี ขณะที่ปี 2024 (2567) คาดว่าตัวเลขอาจสูงกว่านั้น

แน่นอนว่า ภาคการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดักเตอร์ สินค้าการเกษตร ซึ่งครอบคลุมกลุ่มข้าวสารอาหารแห้ง โดนเต็มๆ ท้ายที่สุดภาคการส่งออกของไทยจะถูกกระทบแน่นอน

สิ่งที่ตามมา คือ การจ้างงานลดลง ของแพงขึ้น เราส่งออกไม่ได้ ของอยู่ในประเทศเพิ่มขึ้น บวกกับอุปสงค์ในประเทศ (Domestic Demand) ของเราอ่อนแอ สังเกตได้ว่า เราพึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากในการรักษาดีมานด์ตรงนี้ให้อยู่รอด

เมื่อเป็นแบบนี้ ท้ายที่สุดประเทศไทยจะเจอกับเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทบจีดีพีแน่นอน เศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในสภาวะยากลำบากพอสมควร

[ ไทยอาจเจอเงินฝืด ]

นอกจากนี้ เนื่องจากจีนไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้เต็มประสิทธิภาพ สิ่งที่จีนทำมาโดยตลอด คือ การส่งสินค้าราคาถูกของตัวเองเข้าไปยังประเทศกำลังพัฒนา หรือ Emerging Markets เช่น เหล็ก ซึ่งเรามีการพูดถึงกันจากเหตุแผ่นดินไหว

ดังนั้น จีนมีการส่งออกสินค้าที่เป็น Deflation Export คือการส่งออกสินค้าราคาถูกจำนวนมาก เพื่อให้ประเทศอย่างไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ พึ่งพาจีนในกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สภาพเศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม บวกกับเจอสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นปัญหา

ผลที่เกิดขึ้น คือ เงินเฟ้อของไทยก็จะตกต่ำ ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า เงินเฟ้อต่ำแล้วไม่ดีหรือ? คำตอบคือ ถ้าเงินเฟ้อต่ำ แล้วบวกกับการเจริญเติบโตที่ไม่ดี เราอาจจะเข้าสู่สภาวะเงินฝืด ซึ่งอันตรายมาก

เราอาจจะกลับไปเป็นเหมือนญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว ที่กว่าญี่ปุ่นจะพ้นสภาวะเงินฝืดมาได้คือหลังโควิด-19 ซึ่งต้องอัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก

หากไทยเผชิญภาวะเงินฝืดคล้ายกับญี่ปุ่น คาดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ และท้ายที่สุด ไทยจะเป็นประเทศที่ไม่มีการเจริญเติบโตใดๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ

ดังนั้น ผลกระทบสำหรับไทย คือ ข้าวของบ้านเราอาจไม่ได้แพงขึ้นเหมือนกับสหรัฐ แต่หากรัฐบาล หรือผู้ควบคุมกฎเกณฑ์อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีการลดดอกเบี้ย กระทรวงการคลังไม่มีการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมเข้ามาในระบบ

เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะชะลอตัวลงอย่างหนัก ไปจนถึงเข้าขั้นเงินฝืดได้ ซึ่งถ้าเข้าขั้นเงินฝืดเมื่อไหร่ ถือเป็นความโชคร้ายของเมืองไทยที่การแก้ไขปัญหาคงเป็นไปได้ยากมาก ดูจากบทเรียนของญี่ปุ่นที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการแก้ไข

[ เบื้องหลังการขึ้นภาษี ]

ด้วยความเคารพถึงรัฐบาล คือเรารู้ว่าปัญหานี้ (การขึ้นภาษี) เป็นปัญหาที่กะทันหัน แม้ทรัมป์จะมีการกล่าวถึงการขึ้นกำแพงภาษีมาประมาณหนึ่งแล้วก็ตาม เท่าที่ติดตามจากข่าวของเมืองไทย เรามีการตั้งคณะกรรมการแล้ว ได้แต่หวังให้คณะกรรมการบินไปให้เร็วที่สุดเพื่อไปเจรจา

ยกตัวอย่างเวียดนาม ซึ่งไปเจรจามาแล้ว แต่ข่าวกลับออกมาชัดเจนว่า ข้อเสนอของเวียดนามโดนสหรัฐฯ ตีตกกลับมา ด้วยเงื่อนไขที่เวียดนามจะยอมลดกำแพงภาษีให้สินค้าที่มาจากสหรัฐฯ ให้เป็น 0% ทุกรายการ แต่กลับโดนตีตกกลับมา

โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า ต้องหยุดให้จีนใช้เป็นฐานการผลิต นี่คือเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่ง แม้จะมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ต้องไม่ลอกเลียนแบบสินค้า ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงไม่เก็บภาษีกับสินค้าสหรัฐ แต่ใจความสำคัญเลยคือ ต้องไม่ให้จีนใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก

ในบรรดาภาษีที่เก็บทั้งหมด หากดูให้ดีจะพบว่า ละตินอเมริกาโดน 10% ยุโรปโดน 20% (ยกเว้นอังกฤษโดน 10%) ออสเตรเลียโดน 10% และนิวซีแลนด์โดน 10% แต่ที่เหลือที่โดนเก็บค่อนข้างสูงคือประเทศที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์ ‘จีนบวกหนึ่ง’ (China Plus One)

ก่อนเกิดโควิด-19 ทุกอย่างผลิตในจีน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 จีนมีความตึงเครียดด้านการเมืองเกิดขึ้น เพราะทุกประเทศเรียกร้องให้ตรวจสอบจีนเรื่องโควิด-19 ซึ่งจีนมีท่าทีไม่ยอม

ทั้งนี้ ทำให้หลายประเทศเปลี่ยนนโยบายย้ายฐานการผลิตออกมา ในขณะที่ผู้ผลิตจีนก็เห็นแล้วว่า อาจมีสงครามการค้าเกิดขึ้นกับทรัมป์ จึงย้ายฐานการผลิตออกมา แต่ยังอยู่ในกลยุทธ์ China Plus One คือย้ายฐานผลิตไปอยู่ในประเทศใกล้เคียงอย่างไทย เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ

นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ขึ้นกำแพงภาษี เป็นกลยุทธ์ของการตีจีนจริงๆ และมีการบีบบังคับให้เปลี่ยน Supply Chain

ในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ คือ การให้ผลประโยชน์ (Incentive) ทางภาษีแก่ละตินอเมริกา 10% เพื่อจูงใจให้คนย้ายฐานการผลิตไปยังละตินอเมริกา เพื่อท้ายที่สุดประเทศต่างๆ จะได้ไม่ต้องใช้จีนเป็นฐานการผลิตของโลก

นอกจากนี้ หากการผลิตทุกอย่างย้ายไปยังละตินอเมริกา ปัญหาผู้อพยพข้ามแดนก็จะถูกแก้ไข โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ อาทิ เม็กซิโก และบราซิล เพราะหากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ดี ประชาชนของละตินอเมริกาจำนวนมากที่อยู่ในประเทศยากจน ก็ไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องย้ายเข้าไปยังสหรัฐเพื่อไปหาชีวิตที่ดีกว่า

‘กลยุทธ์การขึ้นภาษีครั้งนี้ จึงไม่ใช่การขึ้นภาษีลอยๆ หรือเอาส่งออกลบนำเข้า แล้วก็หารนำเข้า แบบที่หลายๆ คนแซวกัน มันมีนัยเบื้องหลังซ่อนอยู่ในนั้น จริงๆ เป้าหมายหลักของการโจมตีครั้งนี้คือจีนโดยเฉพาะ และคนที่เดือดร้อนคือลูกไล่จีนทั้งหมด ที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์ China Plus One นั่นเอง’

ทั้งหมดเพื่อให้ละตินอเมริกาเปิดช่องทางใหม่เพื่อย้ายฐานการผลิตทุกอย่างเข้าไปอยู่ในนั้น

สิ่งที่ตามมา คือ เมื่อเศรษฐกิจของละตินอเมริกาเจริญเติบโตได้ สาย Supply Chain อยู่ข้างล่างใกล้กับสหรัฐฯ นอกจากจะปลอดภัยกว่าการที่กระบวนการการผลิตต่างๆ อยู่ที่จีน ซึ่งควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงโควิด-19 ที่จีนสั่งปิดโรงงาน จนกระทบกับหลากหลายประเทศทั่วโลก

ดังนั้น การมองนโยบายภาษีในครั้งนี้ ต้องมองในมิตินี้ด้วย ถึงจะชัดเจนมากกว่าว่า ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

[ อเมริกาก็เจ็บตัว ]

แน่นอนว่าสหรัฐฯ ต้องเจ็บตัวอยู่แล้ว เพราะอย่าลืมว่า ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ค่อยๆ ลดดอกเบี้ยมาโดยตลอดอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อคุมเงินเฟ้อ โดยไม่อยากจะให้ซ้ำรอยที่เมื่อรีบลดดอกเบี้ยแล้ว เงินเฟ้อก็กลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งต้องขึ้นดอกเบี้ยตามอย่างช่วงปี 1970 (2513)

ช่วงนั้นตลาดหุ้นก็มีปัญหามาโดยตลอด ตลาดตราสารหนี้ก็ปั่นป่วนไปทั่วโลก ดอกเบี้ยสมัยนั้นก็สูงถึง 10% ซึ่งผลกระทบค่อนข้างยาวนานพอสมควร

ดังนั้น ศึกครั้งนี้สหรัฐฯ ก็เจ็บตัว แต่อย่างที่ทรัมป์บอก คือ เลือกที่จะต้องเจ็บตัว ใช้ยาแรงบ้าง เพื่อความมั่นคงในระยะยาว ที่ว่าระยะยาว คือ การแยกตัวเองออกจาก Supply Chian ของจีน

ส่วนประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักจากการที่ทรัมป์ขึ้นภาษีในครั้งนี้ คือ เวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับจีดีพีเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วค่อนข้างสูง

รองลงมาคือ ไต้หวัน แม้กำลังแพงภาษีจะยกเว้นให้กับสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ก็จริง รวมถึงสินค้าที่มีความจำเป็นอย่างยา แต่ปัญหาคือ ไต้หวันผลิตออกมาเป็นเครื่องสำเร็จรูป เช่น ปริ้นเตอร์ ก็ผลิตออกมาสำเร็จรูป ไม่ได้แยกชิ้นส่วนแล้วนำไปประกอบในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไต้หวันเป็นฐานการผลิตของกลุ่มพีซี ไม่ใช่จีน

ถัดมาคือ จีน โดนกระทบแน่นอนอยู่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ถูกกระทบในฐานะผู้ส่งออกรายหลัก โดยในช่วงกลางปี 2566 การส่งออกไปสหรัฐสูงถึง 10% ของจีดีพี และคาดว่าในปี 2567 เบื้องต้นที่คำนวณแบบคร่าวๆ ตัวเลขดังกล่าวทะลุ 10% ไปแล้ว

ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล สหราชอาณาจักร และชิลี กล่าวคือ ประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ถูกเก็บภาษีค่อนข้างน้อย ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยตามไปด้วย

ดังนั้น หลักๆ จึงกังวลเมืองไทย เวียดนาม และไต้หวัน ส่วนจีนเองก็กังวล เพราะหากสถานการณ์ลากยาว ต่อให้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่หากโดนกำลังแพงภาษีสูงถึง 60% 80% หรือ 100% ขึ้นมา ก็ทำการค้าไม่สะดวกเท่าไหร่

‘ผู้ได้รับคือประเทศที่อยู่รอบๆ จีนทั้งหมด และเป็นฐานการผลิตของจีน รวมถึงประเทศไทย’

[ ลดน้ำหนักหุ้นเอเชีย ]

สำหรับมุมมองการลงทุนรายประเทศ XSpring AM ปรับไต้หวันเป็น ‘ต่ำกว่าตลาด’ (Underweight) แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์จะได้รับผลประโยชน์ก็จริง แต่ในเชิงของการผลิตอุปกรณ์ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มันมีปัญหา

ถัดมา อินเดีย แม้ผลกระทบจะน้อยที่สุดเมื่อดูจากตลาดหุ้น แต่ผลกระทบยังไม่ค่อยชัดเจนนัก จึงให้น้ำหนักการลงทุน ‘เท่ากับตลาด’ (Neutral)

ญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบชัดเจน เพราะเงินไหลเข้าเงินเยน ซึ่งปกติค่าเงินเยนกับตลาดหุ้นมักจะวิ่งสวนทางกัน ถ้าค่าเงินเยนแข็ง หุ้นญี่ปุ่นมักจะอ่อนตัวลง แต่หากค่าเงินเยนอ่อน หุ้นญี่ปุ่นมักจะแข็งขึ้นสวนทางกัน จึงให้น้ำหนัก Neutral ชั่วคราว

ดังนั้น ตลาดเอเชียโดยภาพรวม รวมถึง Emerging Markets ทุกคนมีปัญหาหมด จึงปรับน้ำหนักเป็น Underweight ยกเว้นละตินอเมริกาที่ให้น้ำหนัก Neutral

แม้สถานการณ์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อละตินอเมริกาโดยตรง แต่สาเหตุที่ไม่ปรับน้ำหนักการลงทุนเป็น ‘มากกว่าตลาด’ (Overweight) เพราะหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง สินค้าโภคภัณฑ์ที่ละตินอเมริกาส่งออกค่อนข้างมาก เช่น สินค้าเกษตร ถั่วเหลือง ข้าวโพด กาแฟ ฯลฯ การบริโภคสินค้าเหล่านี้จะมีปัญหาตามไปด้วย

รวมถึงยุโรปตะวันออก มุมมองการลงทุนเป็น Neutral แม้จะเป็นหลังบ้านของยุโรป แต่ก็โดนเก็บภาษีเช่นเดียวกัน ซึ่งบางประเทศโดนเก็บเพียง 20% เพราะเป็นประเทศที่อยู่ในสหภาพยุโรป (EU) แต่บางประเทศที่ไม่ได้อยู่ใน EU ก็อาจจะโดนเก็บแพงกว่านี้

ส่วนจีน ในฐานะที่โดนผลกระทบทางตรง ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Underweight เพราะตลาดได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ภาษีทรัมป์

[ หันไปซบตราสารหนี้ ]

ขณะที่มุมมองการลงทุนรายสินทรัพย์ เริ่มจากตราสารหนี้ สำหรับตราสารหนี้รัฐบาลภายในประเทศ ยังมองบวกจากดอกเบี้ยที่ลดลง โดยประเมินว่าดอกเบี้ยของไทยจะลดลงอย่างน้อยที่สุด 2 ครั้ง จาก 2% เหลือ 1.5% และอย่างมากที่สุด 4 ครั้ง จาก 2% เหลือ 1% เพื่อลดผลกระทบของนโยบายภาษีทรัมป์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหุ้นกู้เอกชนไทยยังค่อนข้างกังวลเป็นพิเศษ จากข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ (Issuer) ในตลาด เช่น บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) ที่ไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ได้เต็มจำนวน

ส่วนตราสารหนี้โลก มองว่า ตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุต่ำกว่า 3 ปี) ให้น้ำหนัก Overweight เพราะผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย มักจะส่งผ่านไปยังตราสารหนี้ระยะสั้นก่อนตราสารหนี้ระยะยาว

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมัน ให้น้ำหนัก Underweight เพราะหากเศรษฐกิจโลกเกิด Recession บวกกับ 8 ประเทศในกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตไปแล้ว ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง

ส่วนทองคำ ปรับน้ำหนักจาก Neutral เป็น Overweight เพราะเป็นตัวปกป้องความผันผวน อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีไม่ควรถือทองคำเกินสัดส่วน 5-10% ของพอร์ตลงทุน

สุดท้ายคือ สินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ได้แก่ หุ้นนอกตลาด (Private Equity) ดึงลงมาจาก Overweight เป็น Neutral เพราะกังวลเกี่ยวกับดีลที่อาจเปลี่ยนแปลงจากนโยบายภาษี

ภาษีทรัมป์

[ หุ้นไทยอ่อนแอลง ]

สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้ราคา (Valuation) จะค่อนข้างถูก แต่ก็ยังไม่ถูกมากเมื่อเทียบกับการเติบโตและเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ที่มีการเติบโตมากกว่า นอกจากนี้ กำไรบริษัทจดทะเบียนล่วงหน้า 12 เดือน (ณ วันที่ 4 เม.ย. 2568) ยังถูกลากลงเสมอ (ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กำไรต่อหุ้น (EPS) ไม่เคยแตะ 100 บาท)

ดังนั้น การร่วงลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับสงครามการค้าหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเกี่ยว แต่โดยปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยเองก็มีปัญหาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การเติบโตเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นไทยมีการเติบโตที่ต่ำมาก และถึงแม้ Valuation จะค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ แต่ตลาดหุ้นอื่นๆ ก็ถูกชดเชยด้วยการเติบโตที่สูงกว่า

ขณะที่มูลค่าหุ้นปัจจุบัน (ณ วันที่ 4 เม.ย. 2568) ราคาต่อกำไร (P/E) 12 เดือนล่วงหน้าของตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ประมาณ 11.57 เท่า ถูกที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ความถูกดังกล่าวก็ยังแพงกว่าหุ้นจีน หุ้นฮ่องกง หุ้นเกาหลีใต้ หุ้นฟิลิปปินส์ หุ้นอินโดนีเซีย หุ้นยุโรปตะวันออก และดัชนีรวมหุ้น Emerging Markets (MSCI EM)

‘จริงๆ แล้วหุ้นไทยมันมีปัจจัยที่จะทำให้ถูกปรับลงมาอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว หุ้นไทยที่อ่อนแออยู่แล้วโดยแต่เดิม สุดท้ายก็อ่อนแอลง’

[ กลับมาสำรวจพอร์ต ]

สำหรับจังหวะลงทุน ควรปรับพอร์ตลงทุนเลยหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาความเสี่ยงของตนเองก่อน แต่การลงทุนที่ดี คือการลงทุนที่ต่อเนื่องอยู่ตลอด

เข้าใจว่าหลายคนอาจจะตื่นตกใจ เพราะตลาดตอบรับกับปัจจัยภาษีทรัมป์ค่อนข้างโหดร้าย แต่ถึงแม้จะตกใจ ก็ต้องลงทุนต่อเนื่อง (Stay Invest) ต่อไป มีวินัยในการบริหารจัดการเงิน

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ประเมินว่า ช่วงเวลานี้อาจจะเสี่ยงเกินไป ควรจะปรับพอร์ตเลยดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า นักลงทุนรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามองว่า ความผันผวนตอนนี้มากเกินไป ก็อาจจะไม่ต้องปรับพอร์ตก็ได้

หรือบางคนลงทุนเฉลี่ยเป็นงวด (DCA) คือ ตั้งเวลาเอาไว้ทุกเดือน ไม่สนใจว่าตลาดเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับพอร์ตของนักลงทุนเป็นอย่าง พอร์ตโอเคหรือยัง มีปัญหาที่ควรกังวลหรือไม่

‘ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาทางการเงินของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น RM หรือพี่ๆ ธนาคารที่มีวิวที่ชัดเจน ปรึกษาเพื่อหาทางออก ค่อยๆ คิดร่วมกันว่า ตกลงแล้วจะต้องทำอย่างไร อย่าตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือความตื่นตระหนกตกใจ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปช้าๆ อาจจะยังดีกว่า’

[ ถือเงินสดไม่ใช่ทางออก ]

หากเรามีมุมมองว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งในทางทฤษฎี เงินเฟ้อเป็นตัวด้อยมูลค่าของเงินที่ถืออยู่ แม้การถือเงินสดเอาไว้ประมาณหนึ่งจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งในการบริหารจัดการพอร์ตเป็นแบบนั้น แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่า เงินของเราด้อยค่าลงทุนวัน

‘บางทีการกอดเงินสดไว้อาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด’

แต่ไม่ได้แปลว่า ถ้ามีเงินสดเดี๋ยวนี้ เก็บไว้ไม่ได้ ไม่ใช่ เราควรมีเงินสดเก็บเอาไว้เฉลี่ยแล้วประมาณ 10% ของพอร์ต เพื่อเป็นเงินค่าใช้จ่ายเฉลี่ยฉุกเฉิน และเพื่อเก็บไว้ลงทุน

แต่ไม่ได้แปลว่า การกอดเงินสดเอาไว้นิ่งๆ ไม่ได้ใช้จ่ายอะไรเลย จะทำให้มูลค่าของเงินนั้นงอกเร็ว สถานการณ์เดียวที่จะเป็นแบบนั้นได้คือเราต้องอยู่ในสภาวะเงินฝืดจริงๆ คือ ธนาคารไม่จ่ายดอกเบี้ย มูลค่าเงินเราจึงจะเติบโตต่อได้

ในสถานการณ์แบบนี้ การถือเงินสด กอดเงินสดเอาไว้ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องที่ดี เผื่อกรณีแบบนี้ เช่น ตลาดหุ้นดีดกลับขึ้นไป หากเราไม่มีเงินสดเลยก็ไม่ได้

ซึ่งบางคนอาจจะเถียงว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังก็เก็บเงินสดเอาไว้เยอะ แต่อย่าลืมว่าเขาเก็บอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ประมาณ 5% ซึ่งในไทยคงให้ไม่ได้…

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า