SHARE

คัดลอกแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด แนะไทยควรมีมาตรการรับมือเตรียมไว้นอกจากการเจรจา

‘สักกะภพ พันธ์ยานุกูล’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า นโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย

สถานการณ์คาดว่าจะยืดเยื้อ โดยผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน

ในระยะสั้น ตลาดการเงินผันผวนขึ้น เริ่มเห็นการผลิต การค้า และการลงทุนบางส่วนชะลอเพื่อรอความชัดเจน ขณะที่จะเห็นผลของนโยบายภาษี (Tariff) ต่อการส่งออกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บเทียบกับประเทศคู่ค้า และการตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักและสหรัฐฯ ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินไทยจะมีผ่าน 5 ช่องทางหลัก ดังนี้

1. ตลาดการเงิน: ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกและไทยผันผวนมากขึ้น โดยรวมสภาพคล่องและกลไกการทำธุรกรรม (Market Functioning) ยังเป็นไปตามปกติ

ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 2 เม.ย.เล็กน้อย (2.71% ณ 12.00 น. 17 เม.ย. 2568 เทียบกับ JPY และ KRW ที่แข็งค่าขึ้น 4.75% และ 3.11% ตามลำดับ) สอดคล้องกับภูมิภาค ตามค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ส่วนตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่เห็นการทำธุรกรรมที่ผิดปกติจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน

ในส่วนของภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้โดยรวมยังเป็นปกติ โดยต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Tariff อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

2. การลงทุน: ความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่องทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน ชะลอออกไป (Wait and See) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์) ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว

จากการหารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าว มีบางส่วนรอความชัดเจนเพื่อตัดสินใจการลงทุนใหม่จากแผนเดิมที่วางไว้ ในระยะต่อไป หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

3. การส่งออก: เป็นช่องทางหลักที่ได้รับผลกระทบจาก Tariff แต่ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี เพราะมีการชะลอการบังคับใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ออกไป 90 วัน จึงคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป และน่าจะเห็นการเร่งส่งออกในไตรมาส 2 ปี 2568 เช่น อาหารแปรรูป

โดยสัดส่วนของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และคิดเป็น 2.2% ของจีดีพี โดยเซกเตอร์หลักๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป

นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย (ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ คิดเป็นประมาณ 4.3% ของการส่งออกไทย)

4. การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น: สินค้าไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง และหันมาส่งออกไปยังตลาดเดียวกับไทย รวมถึงส่งมายังไทย โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่มีอยู่เดิม

5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง: การส่งออกโดยรวมและรายรับการท่องเที่ยวอาจถูกกระทบจากเศรษกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าและเงินเฟ้อของไทยชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทาน

ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และจะจับตาโอกาสที่อาจเกิดดิสรัปชั่นในเซกเตอร์สำคัญที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้า

โดยจะติดตามข้อมูลเร็วด้าน (1) การค้า เช่น ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า (2) การผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม ม.75 พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ

(3) ภาวะการเงิน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชน และ (4) บรรยากาศการลงทุน เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน และการขอขยายเวลาการออกบัตรฯ เพื่อเลื่อนการลงทุนออกไป

นอกจากนี้ ธปท.จะดูแลการทำงานของกลไกตลาดต่างๆ ให้ดำเนินเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง

อนึ่ง นโยบายการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ถือเป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างถาวร ทำให้ต้องเร่งปรับตัว

โดยในระยะสั้น นอกจากเรื่องการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (Transshipment) เช่น

กำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าและความคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ การเร่งรัดกระบวนการไต่สวน (AD/CVD และ AC) ข้อพิพาทกับต่างประเทศ การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม เป็นต้น

ในระยะยาว ไทยควรขยายตลาดและเสริมสร้าง Supply Chain โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาค และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันในห่วงโซ่อุปทานของโลกได้ เช่น ยกระดับภาคการผลิตและภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม ทักษะแรงงาน และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า