กลุ่มแบงก์โชว์กำไรไตรมาส 1 ปี 2568 ไตรมาสนี้กวาดไปกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท โตเด่นทั้ง QoQ และ YoY แต่นักวิเคราะห์กลับเตือนว่า ตัวเลข ‘บรรทัดสุดท้าย’ อาจดูดี แต่ไส้ใน ‘สินเชื่อ-รายได้ดอกเบี้ย-NPL’ ยังน่าเป็นห่วง
‘ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ’ รองผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธนาคาร (8 ธนาคารหลัก ได้แก่ BAY BBL KBANK KTB SCB TTB KKP และ TISCO) กำไร 6.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% QoQ และเติบโต 4% YoY ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์
ทั้งนี้ การเติบโต QoQ เป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงตามฤดูกาล ส่วนการเติบโต YoY เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไรจากเงินลงทุน
โดย BBL เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรมากที่สุด +20% YoY ส่วน KKP เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรน้อยที่สุด -30% YoY
เมื่อดูไส้ใน พบว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของกลุ่มลดลง 4% YoY และลดลง 6% YoY ถูกกดดันจากสินเชื่อที่ไม่เติบโต จำนวนวันที่ต่ำกว่าไตรมาสก่อน และการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา
สวนทางกับ NPL ที่เพิ่มขึ้น 3.7% จากสิ้นปี 2567 ที่ 3.6% ถูกกดดันจากมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่ไม่เติบโต (ตัวหารเท่าเดิม) แม้สินเชื่อรายย่อย เช่น รถ และบ้าน จะขยับขึ้นก็ตาม
แนวโน้มไตรมาส 2 และไตรมาส 3 คาดว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ จากแรงกดดันของสงครามการค้า ซึ่งคาดว่าจะกดดันให้รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลง ส่วนต้นทุนการตั้งสำรอง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
สำหรับการลงทุน แม้การเติบโตของกำไรจะยังท้าทาย แต่ปันผลยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นที่มีนโยบายปันผลต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ได้แก่ KTB BBL และ KBANK (ไม่รวมปันผลพิเศษ) อนาคตมีโอกาสปันผลเพิ่มขึ้นได้
‘วิจิตร อารยะพิศิษฐ’ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธนาคาร (7 ธนาคารหลัก BBL KBANK SCB KTB TTB TISCO และ KKP) กำไร 5.8 หมื่นล้านบาท ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ 5% ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท
โดยธนาคารที่งบออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ BBL และ KBANK ส่วนธนาคารที่งบออกมาแย่กว่าคาด คือ KKP
แม้กำไรจะโตดีกว่าคาด แต่ไส้ในกลับไม่ค่อยดีนัก โดยรายได้ดอกเบี้ยลดลงทุกธนาคาร ผลจากพอร์ตสินเชื่อที่ลดลง QoQ และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่ลดลง ทั้งนี้ ถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ และนโยบาย ‘คุณสู้ เราช่วย’ ของภาครัฐ
ขณะที่ในไตรมาส 2 คาดว่ามีความเสี่ยงที่ NIM จะลงต่อเนื่อง เพราะจะเป็นไตรมาสที่รับรู้ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของ กนง.เต็มไตรมาส อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่แบงก์ชาติอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จากความเสี่ยงขาลง (Downside) ของเศรษฐกิจ
ในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย พบว่าเติบโต QoQ ส่งผลบวกให้กำไรบางธนาคารออกมามากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการซื้อประกัน หลังมีปัจจัยเร่งจากการเข้ามาของนโยบาย C0payment
เมื่อถามถึงการลงทุน แนะนำรอความชัดเจนของผลประชุม กนง.ก่อนค่อยพิจารณาเข้าลงทุน เพราะหากผลออกมาเป็นลดดอกเบี้ย จะส่งผลเสียต่อกลุ่มธนาคาร แต่หาก กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย คาดว่ากลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวกลับขึ้นมา
ทั้งนี้ เลือก KBANK เป็นหุ้นเด่น แนะนำรอย่อค่อยเข้าสะสม แม้โทนการประชุมนักวิเคราะห์จะไม่ค่อยดีนัก แต่ KBANK มีแผนจะออกโครงการซื้อหุ้นคืน รวมถึงมีปันผล 2 ขยัก ได้แก่ วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา และ 15 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ Yield เพิ่มขึ้นสูงถึง 7%
‘กรกช เสวตร์ครุตมัต’ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้กลุ่มแบงก์ (BAY BBL KKP KTB SCB TISCO และ TTB) จะกำไร 4.2 หมื่นล้านบาท ดีกว่าที่คาด 4% แต่เป็นผลจากกำไรเงินลงทุน
เมื่อดูไส้ใน พบว่า รายได้ดอกเบี้ย สินเชื่อ และ NPL ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ค่อยดีนัก
โดยสินเชื่อลดลง 0.2% QoQ เดิมคาดการณ์ 0% หรือทรงตัว แต่จากตัวเลขที่ออกมานั้น ธนาคารเริ่มส่งสัญญาณสินเชื่อแผ่วตัวลง แม้สินเชื่อธุรกิจจะโต แต่สินเชื่อรายย่อยปรับตัวลงทั้งบ้านและรถ สะท้อนถึงการปล่อยกู้ที่ไม่ค่อยดีนัก จากเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมา
ขณะที่นโยบายภาษีของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกดดันภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 ต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจ
ในส่วนของ NIM ลดลง 16 เบสิสพอยท์ (bps) แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลงเพียง 10 bps ก็ตาม ทั้งนี้ เป็นผลจาก Loan Mix ที่ค่อนข้างแย่ โดยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงอย่าง SMEs และรายย่อยโตต่ำ แต่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างสินเชื่อภาคธุรกิจ ยังเติบโตได้
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท ลดลง 6% YoY จากปีก่อนที่ 1.45 แสนล้านบาท ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าจะลดลงอีกที่ 1.34 แสนล้านบาท (ตัวเลขอาจมีการปรับลงอีก) จากปีก่อนที่ 1.47 แสนล้านบาท ยังไม่รวมผลกระทบจากที่ กนง.อาจลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมครั้งที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี โดย OPEX เพิ่มขึ้นเพียง 1% YoY ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ ขณะที่ Cost to Income อยู่ที่ 43% พอช่วยกำไรสุทธิให้เติบโตได้
ตัวสุดท้ายอย่าง Credit Cost เพิ่มขึ้นจาก 142% มาอยู่ที่ 149% จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นว่าตลาดปรับลดคาดการณ์ GDP จาก 2% กว่าๆ มาอยู่ที่ 1% กว่าๆ ขณะที่ไตรมาส 2 และ 3 ยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ แนะนำ ‘ลดน้ำหนัก’ (Underweight) กลุ่มธนาคาร แม้กำไรสุทธิจะออกมาดี แต่ในรายละเอียดยังค่อนข้างแย่ พร้อมกับเตือนระวังคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL และ KKP โดยไม่มีหุ้นเด่นแนะนำ ณ ขณะนี้