SHARE

คัดลอกแล้ว

การแข่งขันด้วย GDP อาจไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมในยุคแห่งภาวะโลกร้อน แต่เป็นเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างหาก หลายประเทศตั้งเป้าหมาย ‘Net Zero’ ไว้ แล้วตอนนี้มีประเทศไหนเข้าเส้นชัยไปแล้วบ้าง

ในยุคที่โลกกำลังร้อนระอุขึ้นทุกวัน การแข่งขันด้วยตัวเลข GDP ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมอีกต่อไป เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงลิ่ว มักแลกมาด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล แถมยังโดนตรวจสอบกระบวนการผลิตและถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม หากใครอยากเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องอย่างล้นหลาม ต้องพยายามมุ่งเข้าสู่เลขศูนย์เข้าไว้ หรือที่เรียกกันว่า Net Zero

เลขศูนย์ที่ว่า คืออะไร?

โดย Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ

ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ ก็ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ เลขศูนย์ที่ทั้งโลกอยากเห็นคือไม่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิออกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของมนุษย์เลย

และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้นั่นเอง

มิสชั่นนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้อนไปเมื่อปี 2015 การแข่งกันเข้าสู่เลขศูนย์ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการให้คำมั่นสัญญาของสหประชาชาติในข้อตกลงปารีส เพื่อบรรลุการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยคาร์บอน เพิ่มตัวดูดซับคาร์บอน หรือซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็ตาม

แต่รู้หรือไม่ว่ามีบางประเทศบนโลกได้ทำสำเร็จแล้วโดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงอีกเกือบ 30 ปีข้างหน้า

ต้นทุนทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศเหล่านี้กลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดมหึมา สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ในประเทศได้ทั้งหมด

มาดูกันว่าคุณรู้จักประเทศทั้งแปดนี้หรือไม่

1.ภูฏาน

ประเทศเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่ป่ากว่า 72% ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 9 ล้านตันต่อปี

ด้วยนโยบายรักษาป่าที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1970 ทำให้เครื่องจักรเศรษฐกิจมาจากการเกษตรแบบยั่งยืนและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกทั้งยังทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นด้วย

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า จำนวนประชาชนที่ยากจนลดลงจาก 36% ในปี 2007 เป็น 12% ในปี 2017 หนึ่งในเสาหลักของการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness) หรือ GNH ที่เป็นดัชนีวัดความเจริญแบบเฉพาะตัวของภูฏานก็คือการรักษาสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

2.ซูรินาเม

ประเทศชายฝั่งทางตอนเหนือของอเมริกาใต้ หนึ่งในประเทศที่มีป่าไม้มากที่สุดในโลก ด้วยต้นไม้สูงใหญ่ปกคลุมถึง 93% ของพื้นที่

มีประชากรเพียง 600,000 คนที่กระจายตัวอยู่อย่างเบาบาง ด้วยอัตราส่วน 2.9 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร การปล่อยมลพิษที่เกิดจากมนุษย์จึงมีเพียงแค่ภาคการผลิตไฟฟ้า เกษตรกรรม และการขนส่งของประเทศ

3.ปานามา

ประเทศรอยต่อระหว่างอเมริกาเหนือและใต้ มีป่าฝนชุ่มฉ่ำที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 65% ทำให้ประเทศนี้มีพืชมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ และรัฐบาลปานามายังมุ่งมั่นที่จะปลูกป่าเพิ่มอีก 50,000 เฮกตาร์ภายในปี 2050

ในงาน COP26 ที่ผ่านมา ปานามา ซูรินาเม และภูฏาน ได้จัดตั้งพันธมิตรกลุ่มประเทศปล่อยคาร์บอนเป็นลบ (carbon-negative countries) อย่างเป็นทางการ เพื่อเรียกร้องสิทธิพิเศษทางการค้าและการค้าขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นธรรม ตลอดจนเชิญชวนประเทศต่างๆ ให้มาร่วมสร้างแหล่งดูดซับคาร์บอนทางธรรมชาติไปด้วยกัน

4.กายอานา

อีกหนึ่งประเทศแถบลุ่มน้ำแอมะซอนฝั่งอเมริกาใต้ ที่มีป่าฝนปกคลุมมากที่สุดในโลกถึง 85% ของพื้นที่ ป่าขนาด 14.48 ล้านเฮกตาร์ส่วนใหญ่เป็นป่าดึกดำบรรพ์ จึงมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงถึง 350 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งมากกว่าพื้นที่ป่าปกติ

แต่อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2019 กำลังท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการคาร์บอนของประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

5.มาดากัสการ์

หมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และสัตว์น้อยใหญ่อย่างที่เราคุ้นตากันในภาพยนตร์แอนิเมชั่น

แต่ในด้านเศรษฐกิจยังถือว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีประชากรเพียง 20% เข้าถึงไฟฟ้า อีกทั้งการตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่ทำให้พื้นที่ป่ากว่า 1 ใน 4 ของประเทศหายไปตั้งแต่ปี 2000 ตามรายงานของ Global Forest Watch

หากการตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินไปในอัตราเร่งเช่นนี้ มาดากัสการ์จะพลิกกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิภายในปี 2030

6.คอโมโรส

หมู่เกาะภูเขาไฟขนาดเล็กแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ประชากร 800,000 คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตามชายฝั่ง ด้วยอัตราส่วน 400 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร

เนื่องจากมีนโยบายปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทำให้พื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศไม่สามารถอยู่อาศัยได้ แต่ก็เป็นเหตุผลให้เกาะแห่งนี้ได้สถานะการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นบวก

7.กาบอง

หนึ่งในหกประเทศที่ตั้งอยู่ในป่าฝนคองโกตามแนวเส้นศูนย์สูตรในแอฟริกากลาง ซึ่งป่าคองโกได้รับการบันทึกว่ามีระดับการตัดไม้ทำลายป่าที่ต่ำที่สุดในศตวรรษที่ 21 และเชื่อว่าเป็นป่าฝนเพียงแห่งเดียวของโลกที่ยังคงมีสถานะปล่อยคาร์บอนเป็นลบ

ครั้งหนึ่ง UN เคยยกให้ประเทศกาบองเป็นต้นแบบในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ถูกท้าทายด้วยการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของ GDP

8.นีอูเอ

ไม่ต้องแปลกใจหากคุณเพิ่งเคยได้ยินชื่อประเทศนี้เป็นครั้งแรก เกาะขนาดเล็กจิ๋วจนไม่สามารถมองเห็นได้บนแผนที่โลก ตั้งอยู่เหนือประเทศนิวซีแลนด์ และมีประชากรอาศัยอยู่เพียง 2,000 คน

เมืองหลวงของประเทศเคยถูกทำลายด้วยพายุไซโคลนระดับ 5 ซึ่งเป็นผลพวงจากสภาวะโลกร้อนเมื่อปี 2004 ประเทศนีอูเอ มีส่วนปล่อยมลพิษน้อยกว่า 0.0001% เมื่อเทียบกับการปล่อยมลพิษทั้งโลก

ประเทศจิ๋วแต่แจ๋วเหล่านี้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีสิ่งประดิษฐ์ใดทรงพลังไปกว่าการให้ต้นไม้ธรรมดาๆ รักษาโลกใบนี้ แต่ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายช่วยกันปลูกต้นไม้ จนเอาชนะการปล่อยคาร์บอนของตนเอง

ตัวเลขจากสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชากรโลกกว่า 7,700 ล้านคน มีเพียง 36 ล้านคนที่ได้อยู่ในประเทศ Carbon Sink หรือการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ

เมื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอนไม่ได้ ทางออกเดียวคือการพัฒนานวัตกรรมลดคาร์บอน โดยปัจจุบันมีการรวมตัวสร้างพันธมิตรจากองค์กรทุกรูปแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ในแคมเปญ Race To Zero ของ UN เพื่อร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนในทุกวิถีทาง

ในเดือนกันยายน ปี 2022 มีผู้เข้าร่วมถึง 11,309 เจ้า รวมไปถึงบริษัทเอกชน 8,307 แห่ง สถาบันการเงิน 595 แห่ง เมือง 1,136  แห่ง รัฐ 52 แห่ง สถาบันการศึกษา 1,125 แห่ง และสถาบันสุขภาพ 65 แห่ง

โดยแต่ละแห่งจะต้องมีการให้คำมั่นสัญญา ทำแผน ปฏิบัติจริง และเข้าสู่เส้นชัย Net zero carbon ให้ได้อย่างช้าสุดภายในปี 2050

ไม่รู้ว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ เราจะได้สูดหายใจด้วยอากาศอันบริสุทธิ์เหมือนอยู่บนเกาะมาดากัสการ์ไหมนะ แต่ก็หวังว่าลูกหลานเราจะได้อยู่ในประเทศ Net Zero สักวันหนึ่ง

อ้างอิง:

https://www.weforum.org/agenda/2022/12/these-countries-achieved-net-zero-emissions/

https://www.energymonitor.ai/policy/net-zero-policy/which-countries-are-already-at-net-zero/

https://unfccc.int/climate-action/race-to-zero-campaign#Public-consultation-on-the-future-of-Race-to-Zero

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า