SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรค โดยทั่วไปอาจใช้เวลามากถึง 10 ปี ถึงจะได้วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ซึ่งถึงแม้วัคซีนโรคคางทูมจะเป็นวัคซีนที่ใช้เวลาคิดค้นได้เร็วที่สุดแล้ว แต่นั่นก็ใช้เวลาถึง 4 ปี

สาเหตุเป็นเพราะการพัฒนาวัคซีนต้องอาศัยขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่การคิดค้นวัคซีนต้นแบบ จากนั้นจึงทำการทดลองในหนู, สัตว์ใหญ่ เช่น ลิง

เมื่อผ่านถึงจะทำการทดลองในคน ซึ่งจะทดลองทั้งหมด 3 ระยะ และเมื่อผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3 หากผลออกมาว่ามีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถผลิตต่อไปได้

แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ความหวังเดียวในตอนนั้นของคนทั้งโลกคือวัคซีน ที่ยิ่งออกมาเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

บริษัทยาหลายแห่งของโลก จึงต่างเร่งคิดค้นและพัฒนาวัคซีนให้เร็วที่สุด

หนึ่งในนั้นคือ ‘ไฟเซอร์’ ที่ใช้เวลาเพียง 8 เดือนก็ประสบความสำเร็จ ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และได้รับการยอมรับ ทั้งยังอาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัทอีกด้วย

ไฟเซอร์ทำได้อย่างไร? TODAY Bizview จะเล่าให้ฟัง

ย้อนกลับไปในช่วงเดือน ม.ค. 2563 ที่เริ่มมีข่าวว่าโควิด-19 ระบาดในอู่ฮั่น ไฟเซอร์ที่ลงทุนมาตลอดกับการวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อและวัคซีน ก็ให้ความสนใจข่าวนี้เช่นกัน

ก่อนที่ในเดือน ก.พ. โควิดเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก ไฟเซอร์คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้วิกฤติในครั้งนี้

จนวันที่ 1 มี.ค. ไฟเซอร์ได้รับการติดต่อจากไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ว่าไบโอเอ็นเทคสามารถคิดค้นวัคซีนโควิดตัวต้นแบบได้ 20 ตัว โดยใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นการนำพันธุกรรมของเชื้อมาสังเคราะห์ จึงทำให้สร้างวัคซีนได้เร็วกว่าปกติมาก

ไบโอเอ็นเทคถามไฟเซอร์ว่าสนใจมาร่วมกันพัฒนาและทดสอบวัคซีนนี้ด้วยกันได้หรือไม่ แน่นอนว่าไฟเซอร์ตอบตกลง

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อมั่นที่มีต่อกัน

ไบโอเอ็นเทคเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งโดยใช้เทคโนโลยี mRNA ทั้งยังเคยทำงานร่วมกับไฟเซอร์มาแล้วในปี 2561 เพื่อพัฒนาวัคซีนไข้หวัด การร่วมงานกันอีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดนาน

จนถึงช่วงกลางเดือน ทั้งสองบริษัทตกลงเซ็นสัญญาร่วมกันโดยที่ยังไม่คุยกันเรื่องเงินด้วยซ้ำ เพราะต้องการจะผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุด

ภายใต้งบมหาศาล 3,000 ล้านดอลลาร์ กับเป้าหมายของซีอีโอไฟเซอร์ในตอนแรกที่ว่าต้องใช้เวลาน้อยกว่า 6 เดือนในการทดสอบวัคซีน นั่นดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปกติการพัฒนาวัคซีน 10 ปี ใช้งบราว 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์

แต่มันก็เป็นไปได้!

ทั้งสองบริษัทตัดสินใจทดสอบวัคซีนหลายตัวควบคู่กันไป แทนที่จะทดสอบตัวที่มีแนวโน้มดีตามลำดับเหมือนครั้งก่อนๆ

ซึ่งในความเป็นจริงนี่ถือเป็นความเสี่ยงทางการเงินมาก แต่ก็จะช่วยให้ได้ผลการทดลองที่เร็วขึ้น

จนถึงเดือน เม.ย. ผลการทดลองในหนูปรากฏว่ามีวัคซีนที่ผ่านเข้ารอบ 4 ตัว

และหลังจากนั้นต้องไปทดลองในสัตว์ใหญ่ ถึงจะไปทดลองในคนที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน

ถ้ารอถึงขนาดนั้นก็อาจไม่ทันการณ์ ไฟเซอร์จึงขออนุญาตองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ, หน่วยงานกำกับดูแลของเยอรมนี และสถาบัน Paul Ehrlich ให้สามารถทดลองแบบควบคู่กันไปได้

กระทั่งเหลือวัคซีนเพียง 2 ตัว ไฟเซอร์เลือกตัวที่ให้ผลข้างเคียงน้อยกว่าไปสู่การทดลองในคนระยะที่ 2 และ 3

ระหว่างนั้นไฟเซอร์ก็เริ่มเตรียมการผลิตและการขนส่ง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายใหม่เลยทีเดียว เพราะไฟเซอร์ไม่เคยผลิตวัคซีนโดยเทคนิค mRNA มาก่อน ทำให้ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่เพียบ

ทั้งเครื่องผสม mRNA, คิดค้นวิธีการจัดเก็บใหม่ให้อยู่ในถุงใช้แล้วทิ้งแทนถังเหล็ก ไปจนถึงออกแบบการขนส่งใหม่ และการจัดเก็บแบบแช่แข็ง

ที่บ้าบิ่นกว่าก็คือ ไฟเซอร์สั่งผลิตวัคซีนไว้ล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าผลการทดลองของวัคซีนตัวสุดท้ายที่เลือกมาจะเป็นอย่างไร

หากสำเร็จ ไฟเซอร์ก็จะมีวัคซีน 1.5 ล้านโดสพร้อมส่งทันที แต่หากล้มเหลว นั่นหมายถึงต้องทิ้งทั้งหมด

การทดลองดำเนินต่อไป แม้จะมีแรงกดดันมากมาย แต่ไฟเซอร์ก็ยืนหยัดว่าจะทำการทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน รวมถึงยังสร้างปฏิญญาให้คำมั่นร่วมกับบริษัทอื่นๆ ว่าจะทำงานตามหลักการ โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยเป็นหลัก

ข้อมูลการทดลองที่ค่อยๆ ไหลมา ทำให้ไฟเซอร์เร่งสปีดด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ทดลอง

และในเดือน พ.ย. ผลลัพธ์ก็ปรากฏ วัคซีนของไฟเซอร์ผ่านการทดสอบ ซึ่งมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 96.5% ไฟเซอร์จึงทำเรื่องขออนุญาต เร่งผลิต และจัดส่งวัคซีนในทันที

โดยในปี 2563 ไฟเซอร์ผลิตวัคซีนได้ 74 ล้านโดส ส่งมอบไปทั้งสิ้น 46 ล้านโดส และปีนี้ตั้งเป้าผลิตรวม 2,000 ล้านโดส

ถามว่าอะไรคือกุญแจความสำเร็จของไฟเซอร์?

เรื่องนี้ ‘อัลเบิร์ต เบอร์ลา’ ซีอีโอไฟเซอร์ บอกว่ามาจากปัจจัย 6 ข้อด้วยกัน

1.ความพยายามร่วมกันของทุกๆ คน ตั้งแต่ผู้บริหาร จนถึงคนขับรถขนส่ง

2.การคิดถึงเป้าหมายเป็นหลัก ซึ่งในที่นี้คือผู้ป่วย ทำให้ต้องเร่งผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุด

3.ท้าทายตัวเองให้ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้

4.ส่งเสริมความคิดนอกกรอบใหม่ๆ

5.ให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน, ปกป้องนักวิทยาศาสตร์จากการทำงานแบบระบบราชการ และไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ทำให้ไม่ต้องรายงานและอธิบายการตัดสินใจ

6.ร่วมมือกับบริษัทอื่น แบ่งปันข้อมูลและความเชี่ยวชาญร่วมกัน

แล้วความสำเร็จนี้สร้างรายได้ให้ไฟเซอร์เท่าไหร่?

ปี 2562 รายได้ 41,172 ล้านดอลลาร์ ปี 2563 รายได้ 41,908 ล้านดอลลาร์ เติบโต 2%

แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมรายได้จากค่าวัคซีนโควิด ที่สร้างยอดขายในปี 2563 ได้ 154 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,800 ล้านบาท

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/63 สวยงาม คือรายได้ 11,684 ล้านดอลลาร์ เติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปี 2562

ไฟเซอร์ยังประมาณการว่า ปี 2564 บริษัทจะมียอดขายจากวัคซีนโควิดเพียงอย่างเดียวถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.67 แสนล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น แต่เงินลงทุนในเทคโนโลยี mRNA ที่ไฟเซอร์ทุ่มไป ยังสามารถนำมาสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะปฏิวัติวงการวัคซีน ซึ่งไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคก็จะกลายมาเป็นผู้ได้เปรียบทางการแข่งขันมากเลยทีเดียว…

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า