
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ผมมีความสุขที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งให้เกิดการลงนามในสัญญาวันนี้ได้
1.สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั่วโลก ที่เฝ้ารอดูการการเกิดขึ้นของโครงการนี้
2.รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ได้ ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท
3.จะมีการลงทุนและการจ้างงานในโครงการนี้ มูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท และ การพัฒนาที่ดิน การก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการจัดทำโครงการ โรงงานต่างๆ อีกมาก ซึ่งคาดว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ เป็นการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประชาชน และประเทศไทย
4.โครงการนี้ จะเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ถ้าจำกันได้ ผมเคยพูดว่าผมจะสนับสนุนให้มีการลงนามในสัญญาโครงการนี้ให้ได้ โดยให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด หากผู้ที่ชนะการประมูล คือ CPH มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน อย่างไร ผมจะพยายามแก้ไข และ เคลียร์ให้ได้มากท่ีสุด ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งผมได้ทำตามที่พูดไว้แล้ว คือ จะมีการลงนามในสัญญาฉบับนี้ ในวันนี้แล้ว และมั่นใจว่าผมได้รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ไว้ สำคัญที่สุด ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
ผมขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่ริเริ่มโครงการนี้ และผู้ปฏิบัติทุกท่านที่ช่วยกันคิดหาแนวทางที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น และ ขอบคุณ CPH ที่มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศไทยของเรา
สุดท้าย ที่สบายใจ คือ การลงนามสัญญาวันนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินส่วนตัวทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์ เพราะคู่สัญญาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย กับ CPH ตกลงกันได้แล้ว
ขอบคุณที่สุดคือ ประชาชน และ สื่อมวลชน ที่ช่วยกันตรวจสอบ และสนับสนุน การทำงานของรัฐบาล
https://www.facebook.com/AnutinC/photos/a.2095908953777308/2869267639774765/?type=3&theater
สำหรับการลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เกิดขึ้นวานนี้ (24 ต.ค.62) ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งมีนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินมีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของประเทศโดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่สำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public -Private-Partnership หรือ PPP กับภาครัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– อนุทิน มั่นใจ 15 ต.ค. เซ็นสัญญารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-ยันไม่หัก CPH
– ครม.ไฟเขียว ‘รฟท.-ซีพี’ ร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 1.49 แสนล้าน