หากปัญหาโลกร้อนไม่ดีขึ้น ไม่แน่ว่าอีก 30 ปี นอกจากจะไม่มีช็อกโกแลตให้กินแล้ว ยังจะไม่มีอโวคาโดกับอัลมอนด์ด้วย
ช็อกโกแลต ขนมหวานที่หลายคนชื่นชอบ อาจกลายเป็นเพียงชื่อในตำนาน หลังมีการพูดกันมากขึ้นและจริงจังขึ้นว่าช็อกโกแลตอาจหมดไปจากโลกนี้ภายในปี 2593 แต่จริง ๆ แล้วถ้าจะพูดให้ถูก ต้องบอกว่าสิ่งที่จะหายไปไม่ใช่ช็อกโกแลตแต่เป็นต้นโกโก้ ส่วนประกอบหลักในการทำช็อกโกแลต
ต้นโกโก้โตได้ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิคงที่ตลอดทั้งปี มีความชื้นสูง มีฝนตกชุก ดินมีไนโตรเจนสูง และลมไม่แรงเกินไป ซึ่งปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเช่นที่ว่านี้คือพื้นที่บริเวณ 20 องศาเหนือ/ใต้เส้นศูนย์สูตร แถว ๆ โกตดิวัวร์กับกานา สองชาติในแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งผลิตโกโก้กว่าครึ่งหนึ่งในโลก
ถ้าปัญหาโลกร้อนไม่ดีขึ้นคาดว่าภายในปี 2593 อุณหภูมิบริเวณนั้นจะเพิ่มขึ้น 2.1 องศาเซลเซียสและจะแห้งแล้งมากขึ้นทำให้พื้นที่ที่ปลูกต้นโกโก้ลดลงมาก อาจไม่ถึงขั้นสูญพันธุ์แต่ปริมาณจะน้อยมากทำให้มีราคาแพงมากจนช็อกโกแลตไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปหาซื้อมากินกันได้อีกต่อไป
เวลานี้ มีสองทางออกที่มองกันว่าเป็นไปได้ หนึ่งคือแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งดูจะเลือนลาง กับสองคือสิ่งที่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมช็อกโกแลตอย่าง Mars ผู้ผลิตช็อกโกแลต M&M และ Snickers เลือกทำ นั่นคือการตัดแต่งพันธุกรรม ทางบริษัททุ่มเงินมหาศาล 1 พันล้านดอลลาร์สนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเรื่องการตัดต่อและดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้นโกโก้ “อึด” กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและสามารถปลูกในพื้นที่กว้างขึ้นได้
ไม่เฉพาะช็อกโกแลตเท่านั้น อาหารเพื่อสุขภาพของชอบของคนกินคลีนอย่างอโวคาโดกับอัลมอนด์ก็เสี่ยงจะกลายเป็นของหายากเพราะการปลูกอโอคาโดกับอัลมอนด์ต้องใช้น้ำปริมาณมาก ภัยแล้งจึงมีผลกระทบโดยตรงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าทางออกไม่ต่างจากโกโก้ มันก็จะไม่คลีนอีกต่อไป